เรื่องแบบ “ยุงๆ” กับ “นักเดินทาง”

0
3555

ช่วงนี้เรื่องของ “ยุง” กำลังดูยุ่งๆ ได้ที่เลย วันนี้ผมเลยมาเล่าอะไรให้ฟังเกี่ยว

ว่า “ยุง” มันมาเกี่ยวกันอะไรกับนักท่องเที่ยวบ้างนะครับ

จริงๆ แล้วนี่ถือว่าเป็นสัตว์ร้ายตัวหนึ่งที่นำพาโรคมากมายมาให้มนุษย์เลยละครับ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยุงคือพาหะที่นำเชื้อปรสิต ไวรัส มาคร่าชีวิตไปหลายล้านคนแล้ว

แต่ส่วนใหญ่เราจะรู้จักกันแต่ “ยุงลาย” กันเป็นหลัก

แต่จริงๆแล้วมียุงที่น่าสนใจ จะได้รู้เอาไว้ป้องกันเวลาไปเที่ยวนะครับ

“ยุงก้นปล่อง” (Anopheles)

ยุงก้นปล่องในเมืองไทย ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำในป่าตามตะเข็บชายแดนไทย-พม่า ไทย-กัมพูชา เป็นหลักครับ สำหรับคนที่อยู่ในเมืองตลอดเวลาอาจจะไม่ต้องกังวล แต่ในคนที่ชอบทำกิจกรรมผจญภัยต้องศึกษาให้ดี

ยุงก้นปล่องมักชอบออกหากินในเช้ามืด หรือพลบค่ำ ถ้าใครไปทำกิจกรรมในป่าในเวลาเหล่านี้ต้องระวังตัวเอาไว้

โดยยุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรคไข้มาลาเรีย

ไข้มาลาเรีย (Malaria)

เราคงได้ยินชื่อเหล่านี้มานานแล้ว

Malaria-Risk-Map

ประเทศในเขตสีแดงๆ พวกนี้คือแหล่งระบาดของมาลาเรียครับ

เกือบจะทุกประเทศในแอฟริกาที่อยู่ต่ำกว่าทะเลทราย Sahara ลงมา พื้นที่ในเขตลุ่มน้ำ Amazon ในทวีปอเมริกาใต้ และในประเทศอินเดียจนมาถึงเพื่อนบ้านเราใน AEC

ถ้าจะเดินทางไปในประเทศพวกนี้ควรได้รับคำแนะนำเรื่องของการป้องกันมาลาเรียและความเสี่ยงในพื้นที่ๆจากแพทย์ที่เชี่ยวชาญครับ เพราะแต่ละพื้นที่มีความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป

“ยุงลาย” (Aedes)

เป็นยุงที่ร้ายกาจและน่ากลัวรองจากยุงก้นปล่อง มันมีชื่อ “ยุงลาย” เพราะลำตัวมีลายขาวสลับดำ

ตามปกติมันชอบกัดคนในบ้านมากกว่านอกบ้าน ชอบแฝงตัวอยู่ตามผ้าสีทึบ มักหากินตอนเช้า และตัวที่กัดคือยุงตัวเมีย

และถ้ามีมือที่อุ่นกับเย็นให้ยุงเลือกเกาะ มันจะเลือกมือที่อุ่น แต่ถ้ามีมือเย็นให้เลือกเพียงตัวเดียว มันก็เกาะมือเย็นอย่างไม่ยินดีนัก

ยุงลายชอบเกาะมือที่แห้งมากกว่ามือที่เปียก

ถ้าให้ยุงลายบินหาเหยื่อในภาชนะปิดที่มีปริมาตร 27,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร มันจะใช้เวลาตั้งแต่ 5-30 วินาทีในการบินถึงเหยื่อ

ในกรณีแขนคน เมื่อบินเกาะผิวหนังแล้ว มันจะเดินอีกสองสามก้าวก่อนจะใช้จะงอยปากกดเอียงทำมุม 75 องศากับผิวหนัง ใช้ขาทั้งหกยันบนผิวหนัง แล้วใช้เวลาอีกประมาณ 50 วินาที ในการใช้ปากเจาะผ่านผิวหนัง 2.30 นาทีในการดูดเลือด และเพียง 5 วินาทีในการถอน

Ref : สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.

สำหรับโรคที่นำโดยยุงลายมีดังนี้ครับ

ไข้เหลือง (Yellow fever)

โรคนี้พบหลักๆเลยในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้เป็นหลัก

cdc_yellow_fever_vaccine_map_africa

ใครจะเดินทางไป เคนยา เอธิโอเปีย อะไรแบบนี้ ต้องฉีดก่อนไปนะครับ

map_3-21-small

ในทวีปอเมริกาใต้ เปรู เอกวาดอร์ บราซิลที่เราชอบๆไปกัน ก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วยเหมือนกัน

ในเมืองไทยไม่มีโรคนี้ระบาดก็จริง แต่ด้วยความที่ไวรัสไข้เหลืองดันมียุงลายแบบที่บ้านเรามีเป็นพาหะ ดังนั้นในกฎหมายของไทยเราจึงบังคับให้ทุกคนที่เดินทางเข้าออกประเทศเหล่านี้ต้องฉีดวัคซีนทุกคน

ไข้เลือดออก (Dengue fever)

Dengue_fever_risk_map-1024x686

พระเอกของเราในวันนี้ ระบาดอยู่ทุกพื้นที่ในเขตร้อนชื้นครับ (Tropical area)

จริงๆแล้ว ถ้าเราไปเที่ยวประเทศอื่นใน AEC อินเดีย อเมริกากลาง อเมริกาใต้ หรือแอฟริกา แล้วเราไปโดนยุงลายกัด เราก็เป็นไข้เลือดออกเหมือกันนะครับ อย่าไปคิดว่าไข้เลือดออกมีมากแต่ในประเทศไทยเชียวละ

อาการโรคไข้เลือดออกมีตั้งแต่เป็นแล้วหายเองแบบบางครั้งยังไม่รู้ตัว จนถึงขั้นนอนไอซียูก็ยังไม่สามารถรักษาได้ ดังนั้นไปหาแพทย์ทุกคนนะครับถ้าสงสัยเป็นไข้เลือดออก

ชิคุนกุนยา (Chikungunya)

Chikun

อาการคล้ายๆไข้เลือดออก เหมือนเป็นพี่น้องกันครับ เลยมักจะเกิดที่ประเทศคล้ายๆกันกับไข้เลือดออก แต่อาการจะรุนแรงน้อยกว่า มักจะปวดตามข้อเป็นอาการเด่น และหายได้เองเช่นเดียวกัน


“ยุงรำคาญ” (Culex)

ชอบหากินเวลากลางคืน ปกติจะอยู่ตามท่อระบายน้ำ น้ำเน่าขัง มันจึงเป็นยุงที่อาศัยอยู่กับมนุษย์ในเมืองอย่างแท้จริง

โดยเฉพาะน้ำเน่าที่มีขยะด้วยยุงชนิดนี้ยิ่งชอบ

ไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese encephalitis)

map_3-08-small

โชคดีที่บ้านเราเป็นรังโรคนี้อยู่แล้ว และคนไทยเกือบทุกคนที่เกิดหลังปี พ.ศ.2530 มาจะได้ฉีดวัคซีนภาคบังคับมาตั้งแต่เด็กทุกคน เราเลยมีภูมิต้านต่อโรคนี้ไปนานแล้ว ส่วนคนที่เกิดก่อนปี พ.ศ.2530 นั้นก็อาจจะไม่ต้องกังวลมาก เพราะเชื่อว่าน่าจะเคยโดนยุงกัดมาหลายรอบและร่างกายก็สร้างภูมิต้านทานโดยธรรมชาติไปแล้ว

แต่สำหรับนักเดินทางต่างชาติ ที่เขาไม่เคยมีภูมิต้านทานมาก่อน ถ้าเขาจะมาเที่ยวบ้านเรา เขาก็ต้องได้รับการฉีดวัคซีนโดยพิจารณาเป็นกรณีไป

“ยุงลายเสือ” (Mansoni) 

ยุงลายเสือเป็นยุงที่มีลักษณะสีสันลวดลายสวยงาม เนื่องจากเกล็ดบนตัวจะมีขนาดใหญ่และลวดลายสีเข้มกว่ายุงชนิดอื่นๆ

ยุงลายเสือกัดกินเลือดของสัตว์และคน ชอบออกหากินเวลากลางคืน ตัวแก่มักจะกินเลือดสัตว์มากกว่าคน กัดกินเลือดนอกบ้าน โดยเฉพาะตามทุ่ง หนองน้ำ คลอง บึง ที่มีพืชน้ำขึ้น

มักกัดเวลาพลบค่ำหลังพระอาทิตย์ตกดิน หรือบางครั้งกัดตอนกลางวันถ้ามีเหยื่อเข้าไปใกล้บริเวณเกาะพัก

โรคพยาธิเท้าช้าง (Filariasis)

พบมากที่บริเวณชายแดนไทย-พม่าครับ ถ้าจะมีใครเข้าไปอาศัยหรือไปทำงานในบริเวณนั้นๆนาน ควรจะต้องมีความรู้และการป้องกันที่ถูกต้องเอาไว้

ยุงแต่ละชนิดจะมี ที่อยู่ พฤติกรรม นิสัย และอะไรต่อมิอะไรที่แตกต่างกันไป มนุษย์เราควรที่จะเข้าใจธรรมชาติของมัน จะได้หลีกเลี่ยงจากโรคที่มันนำพาได้ครับ


LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.