ก่อนจะบินไปฉีดวัคซีนที่อเมริกา

ตอนนี้สหรัฐอเมริกามีวัคซีน 3 ชนิดที่เปิดให้กับคนทุกคนคือ Pfizer-BioNTech / Moderna / Johnson&Johnson โดยเริ่มมีคนไทยบางส่วนที่เดินทางไปรับวัคซีนที่นี่ ผมขอสรุปสิ่งที่ควรรู้สำหรับท่านที่มีโอกาสหรือวางแผนจะไปจริงๆ

ช่วงเวลาแห่งความเสี่ยง

ถึงแม้ว่าตอนนี้สหรัฐอเมริกาจะมีแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันที่ลดลงมาก ตั้งแต่เริ่มมีการให้วัคซีนกันอย่างแพร่หลายกับประชาชนในประเทศ แต่ต้องอย่าลืมว่าถึงแม้จะดูลดลง แต่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันก็ยังอยู่ที่ประมาณ 25,000+ ต่อวัน และบางรัฐเริ่มมีนโยบายการลดการป้องกันลงเช่น การไม่ต้องใส่หน้ากาก ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงให้กับคนไทยที่พึ่งเดินทางไปถึงอเมริกาในช่วงนี้ได้ ค่าเฉลี่ยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ใน 7 วันในรัฐที่เรานิยมไปเช่น California อยู่ที่ 1,200 คน/วัน นิวยอร์ค อยู่ที่ 1,300 คนต่อวัน

นั่นคือแปลว่ากว่าภูมิต้านทานจะขึ้น ต่อให้ฉีดวัคซีนตัวใดตัวหนึ่งแล้ว 1 เข็ม ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อยกว่า 14 วัน ระหว่างที่ใข้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกา

ชนิดของวัคซีน

สมมติถ้าได้ไปอเมริกาจริงๆ และได้รับวัคซีนทันทีที่ลงจากเครื่องที่สนามบิน สถานการณ์จะเป็นแบบนี้ ประสิทธิภาพหลังฉีด 2 เข็มของวัคซีนแต่ละตัว อันนี้ทุกท่านคงทราบกันดีอยู่แล้ว แต่มาดูที่ประสิทธิภาพของวัคซีนหลังได้รับเพียง 1 โดสของวัคซีนแต่ละตัวดีกว่าครับ

Pfizer-BioNTech (1)

หลังได้ โดสแรก 7 วัน อยู่ที่ 68.5%

หลังได้ โดสแรก 14 วัน อยู่ที่ 92.6%

รับวัคซีนโดนสองวันที่ 21

หลังได้ โดสสอง 7 วัน อยู่ที่ 94.8%

นั่นแสดงว่า ความเสี่ยงที่สูงมากจะอยู่ที่ราวๆ อย่างน้อย 14 วันแรกหลังฉีดวัคซีนเข็มแรก และจะค่อยๆลดลงเรื่อยแต่ก็ยังคงสูงอยู่จนกว่าที่เราจะได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 และรออีกอย่างน้อย 7 วัน

Moderna (2)

หลังได้ โดสแรก 14 วัน อยู่ที่ 50.8%

รับวัคซีนโดนสองวันที่ 28

หลังได้ โดสสอง 2 อาทิตย์ อยู่ที่ 95.6%

นั่นแสดงว่า ความเสี่ยงที่สูงมากจะอยู่ที่ราวๆ อย่างน้อย 14 วันแรกหลังฉีดวัคซีนเข็มแรก และจะค่อยๆลดลงเรื่อยแต่ก็ยังคงสูงอยู่จนกว่าที่เราจะได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 และรออีกอย่างน้อย 7 วัน

Johnson&Johnson (3)

หลังได้รับวัคซีน 14 วัน อยู่ที่ 66.3%

14 วันแรกในสหรัฐอเมริกา คือ ช่วงเวลาแห่งความเสี่ยงในการติดเชื้อ

ตามข้อมูลด้านบนเลยครับ ว่าระหว่างที่เราภูมิต้านทานขึ้นหลังได้รับวัคซีน ช่วงนี้คือช่วงที่เรามีความเสี่ยงมากที่สุด ไม่ควรลดการป้องกันตนเองไม่ว่าจะในกรณีใดๆทั้งสิ้น

….

ควรทำอย่างไรเมื่อไปถึงสหรัฐอเมริกา

  • ป้องกันตัวเท่าที่จะเป็นไปได้ ใส่หน้ากาก ล้างมือ หลีกเลี่ยงสถานที่ๆผู้คนมารวมตัวกันโดยไม่จำเป็น ประพฤติ social distancing ให้ไม่ต่างจากการที่เราอยู่ในเมืองไทย
  • ถ้าจะทำ self-quarantine จนได้รับวัคซีนครบ 2 โดส น่าจะเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด ถ้าเป็นไปได้
  • แต่ถ้าอยากจะเดินทางท่องเที่ยว ก็คงต้องเที่ยวในรัฐที่ความเสี่ยงต่ำมากๆ และเป็นการท่องเที่ยวในเขตธรรมชาติที่มีโอกาสเจอคนน้อยๆๆๆ ยิ่งน้อย ยิ่งดี เอาแบบให้มี social distancing ตามธรรมชาติ
  • เลือกไปอาศัยในรัฐที่คนท้องถิ่นได้รับวัคซีนในสัดส่วนที่สูงแล้ว ข้อมูล ณ วันที่ 25 พ.ค. 2564 ประชากรสหรัฐอเมริกาได้รับเข็มแรกแล้ว 49.5% ได้รับเข็มครบ 2 หรือ 1 เข็มแล้วแต่ชนิดคือ 39.5% โดยรัฐที่ได้รับวัคซีนคิดเป็นสัดส่วนต่อจำนวนประชากรที่สูงสุด ณ ตอนนี้เช่น (4)
    • Connecticut 110,260 / 100,000 (110%)
    • Massachusetts 112,494 / 100,000 (112%)
    • Vermont 120,276 / 100,000 (120%)
    • Maine 107,650 / 100,000 (107%)
    • District of Columbia 108,793 / 100,000 (108%)
    • Washington 96,570 / 100,000 (96.5%)

ประเด็นทีต้องพิจารณา คือ ผลข้างเคียง

ถึงแม้ผลข้างเคียงของวัคซีนทั้ง 3 ชนิด Pfizer-BioNTech / Moderna / Johnson&Johnson อาจจะถือว่าพบได้น้อย แต่ไม่ใช่ว่าไม่สามารถเกิดขึ้นได้

ดังนั้นสิ่งที่ต้องตระหนักคือ ถ้าเกิดมีผลข้างเคียงจริงๆ เราจะทำอย่างไร ถ้าอาการไม่รุนแรงหายได้เองก็ถือว่าโชคดีไป แต่ถ้าเกิดเป็นผลที่ร้ายแรง แล้วจำเป็นต้องมีการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลที่อเมริกา เราจะวางแผนได้อย่างไร ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในอเมริกานั้นเป็นที่รู้กันว่า แพงมหาโหด และเท่าที่ผมทราบมาตอนนี้คือ ประกันการเดินทางของทุกบริษัทในประเทศไทยนั้นไม่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลในกรณีนี้

สำหรับคำถามที่ว่า กรณีที่ได้รับวัคซีนจากเมืองไทยไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Sinovac หรือ Astra Zaneca ควรจะไปกระตุ้นวัคซีนที่อเมริกาอีกครั้งไหม ถ้ามีโอกาส

อย่างแรกวัคซีนที่มีใช้ในบ้านเราช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็น Sinovac หรือ Astra Zaneca ล้วนไม่มีในอเมริกา ดังนั้งการจะไปรับเข็มที่ 2 ในชนิดเดียวคงเป็นไปไม่ได้ ในกรณีจะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

  • ถ้าได้เพียง 1 เข็มไปของ Sinovac แล้วจะไปกระตุ้น Pfizer หรือ Moderna คำตอบนี้ไม่น่าจะมีใครตอบได้ และก็คงไม่มีหมอคนไหนที่แนะนำวิธีนี้แน่ๆ เพราะไม่มีข้อมูลใดๆ ณ ช่วงเวลานี้
  • แต่ถ้าได้ไปแล้ว 1 เข็มของ Astra Zaneca แล้วจะไปกระตุ้นด้วย Pfizer หรือ Moderna เพิ่ม อันนี้มีการศึกษาในสเปนแล้วว่าถ้ารอ 8 สัปดาห์หลังฉีด Astra Zaneca เข็มแรกแล้วกระตุ้นด้วย Pfizer เข็มที่สอง ระดับ Neutralizing Antibody ก็สามารถขึ้นได้ดี แต่ตัวเลขนี้ไม่ใช่ระดับประสิทธิภาพของวัคซีนนะครับ แต่ข้อสรุปอันนี้ยังเป็นเพียงแนวทางหรือหลักการเพื่อรอนำไปศึกษาวิจัยเพิ่มและรอข้อสรุปต่อไปครับ สรุปคือ ก็คงไม่มีหมอคนไหนแนะนำวิธีนี้เช่นเดียวกัน (5)

สรุป

  • ถ้าอยากไป > ไปได้
  • ไปถึงแล้ว > รับเข็มแรกให้เร็วที่สุด
  • หลังรับเข็มแรก > self-quarantine ถ้าเป็นไปได้ ถ้าไม่ได้ ก็ไปที่ๆคนน้อยๆ รัฐที่ความเสี่ยงต่ำๆ คนติดเชื้อน้อย และ มีประชากรท้องถิ่นได้รับวัคซีนเยอะๆแล้ว และทำตัวเหมือนอยู่ในเมืองไทย คือ ใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ social distancing
  • หลังได้รับเข็มสองครบ 2 อาทิตย์ > ณ จุดนี้ น่าจะถือว่าเป็นจุดที่ปลอดภัยเพียงพอในขั้นแรก
  • ผลข้างเคียง > รับความเสี่ยงและวางแผนสำหรับการจัดการผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น หรือการต้องเข้ารับรักษาตัวในโรงพยาบาลหลังจากนั้น

อ้างอิง