ตอนที่ 1 https://worldwantswandering.com/pamir-highway/
มาถึงตอนนี้ เข้าสู่วันที่ 4 ของการดินทางบนทางปามีร์ไฮเวย์
ยังคงความทุลักทุเลเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน
อย่าถามหาถึงภัตตาคารที่เต็มไปด้วยเมนูอาหารสุดหรู
อย่าถามหาถึงโรงแรมที่เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก
และอย่าถามหาถึงความสบายแบบที่ไม่ต้องออกแรง
ถ้าคุณไม่ได้ถามหาถึง 3 อย่างด้านบน ถือว่ามาได้ถูกที่ ถูกทาง และถูกเวลาแล้วครับ
เพราะเดี๋ยวผมจะพาไปเดินทางกันต่อบนถนนที่ผจญภัยบนหลังคาโลกที่ผ่านภูเขาสูงเทียมฟ้า ทะเลสาบที่กลายเป็นน้ำแข็ง ความชนบทอย่างสุดขั้วในพื้นที่ๆห่างไกลที่สุดแห่งหนึ่งของโลกใบนี้
วัฒนธรรมที่หาไม่ได้ที่ไหนอีกแล้วบนใบนี้และอัธยาศัยของคนปามีร์แห่งหลังคาโลก
วันที่ 4 : หนึ่งวันสามฤดู
ผมตื่นนอนมาด้วยความสดชื่น นอนหลับอย่างเต็มอิ่ม
เช้าวันใหม่ก็จริง แต่บรรยากาศภายนอกมันชวนน่าหลับต่อ
เดินออกจากที่พัก น้ำฝนจากฟ้าก็ตกใส่หัวเราอย่างจัง
ทุกอย่างต้องเป็นไปตามแผน เราต้องเดินทางกันต่อไป
แต่ไม่มีวันไหนที่ธรรมชาติจะสร้างความสับสนให้กับพวกเราได้มากเท่านี้อีกแล้ว
อากาศที่แปรปรวน ทั้งลม ทั้งฝัน ความเปียกแฉะ ทำให้บรรยากาศเต็มไปด้วยความเหนอะนะมากที่สุด
สภาพอากาศที่แปรเปลี่ยนรวดเร็วอย่างกับคนใจร้อน
จะลงก็ลงไม่ได้ จะถ่ายรูปก็ถ่ายไม่ได้
ได้แต่นั่งมองกระจกทำตาปริบๆไป
ไม่เคยไม่มีที่ไหนที่จะไม่พบอุปสรรคของการเดินทาง
รสชาติของการเดินทางก็คือการรอค้นพบสิ่งที่ไม่เคยคาดหวังนี่ละครับ
หนทางที่ไม่มีจุดสิ้นสุด
ถนนเส้นนี้ก็เช่นเดียวกัน
ถึงแม้สภาพถนนมันจะห่วยแตก เลวร้ายขนาดไหนก็ตามที
ตราบใดที่มันยังพาเราไปถึงจุดหมายได้มันก็โอเค
พื้นที่ตรงบริเวณวาคันด์ ในสมัยโบราณก็มีอาณาจักรทีตั้งกันอยู่แถวๆนี้
เนื่องจากดิน ทราย และน้ำแถวนี้ถือว่าอุดมสมบูรณ์มาก
มันเลยกลายเป็นที่หมายปองของกลุ่มคนส่วนใหญ่ไปทันที
ป้อมปราการถูกสร้างขึ้นอย่างมากมายเพื่อคอยป้องกันการรุกรานจากศัตรู
ชาวปามีร์
คือชาวทาจิกทั่วๆไป แต่ด้วยความที่พวกย้ายมาอยู่กันในแถบหุบเขาปามีร์มานานมากแล้ว
เขาเลยปรับตัวเข้ากับภูมิประเทศซึ่งต่างจากชาวทาจิกที่อาศัยในเขตเมืองอย่างมาก
แก๊งค์แฟนฉัน
กล้องถ่ายรูปเป็นหนึ่งในเครื่องมือเชื่อมมิตรภาพที่ดีที่สุดในโลก
ขอเพียงแค่คุณยกมันขึ้นมา กดปุ่มชัตเตอร์เพียงแค่ครั้งเดียว
แล้วก็ส่งรูปนั้นให้คนที่อยู่ในกล้องเขาดู
เท่านี้มิตรภาพก็บังเกิดแล้ว
ป้อมยัมชุน (Yamchun fortress)
เพชรเม็ดงามของการท่องเที่ยวแห่งทาจิกิสถานอย่างแท้จริง
คนจะรู้จักที่นี่ได้ก็ต้องตอนที่มาถึงที่นี่เท่านั้นแหละครับ
ไม่มีกรุ๊ปทัวร์ ไม่มีทัวร์จีน ไม่มีเสียงโช้งเช้ง ไม่มีคนขายของ ไม่มีมาเฟีย
มันไม่มีอะไรเลยนอกจากกองหินที่รูปร่างเหมือนป้อมปราการ
ด้วยอารมณ์ที่ขาดการบูรณะมานานมาก แต่ร่องรอยที่เหลืออยู่ก็ยังพอเป็นหลักฐานที่ยืนยันถึงความยิ่งใหญ่นั้นได้
พื้นที่บริเวณนี้ถือว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างมาก
ในสมัย Great game ราวๆ ปี ค.ศ. 1893
จักรวรรดิรัสเซีย และ จักรวรรดิอังกฤษ ถือเอาพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่กันชน
เพื่อแยกทาจิกิสถาน ออกจากปากีสถาน แล้วเอาอัฟกานิสถานเป็นรัฐกันชนระหว่างสองมหาอำนาจ
ที่นี่ถือว่าเป็นการสร้าง landmark ของประเทศอย่างแท้จริง
ภาพ postcard ที่ขายๆกันทั่วไปของประเทศทาจิกิสถาน
ต่างต้องมีภาพของป้อมยัมชุนด้วยทั้งนั้น
ผมแทบอดนึกไม่ได้เลยว่า ในช่วงเวลาที่ป้อมแห่งนี้ถูกใช้งานจริง
มันจะยิ่งใหญ่ขนาดไหนครับ
มุมมองจากบนป้อมปราการ ที่สามารถมองเห็นได้ถึงระยะไกลมากๆ
เขาจึงใช้เป็นศูนย์บัญชาการ รักษาความปลอดภัยให้กับขบวนคาราวานจากเมืองจีนที่กำลังจะเดินทางไปทวีปยุโรป
ป้องกันภัยอันตรายจากกองโจรที่มาจากฝั่งตรงข้าม
เส้นทางสายไหมสายนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
แกะภูเขาที่ถึงแม้รูปร่างจะดูตุ้ยนุ้ย แต่กลับคล่องแคล่วว่องไวแบบไม่น่าเชื่อ
ต่อจากป้อมยัมชุน ถนนเส้นเดิมยังคงพาเราลัดเลาะไปตามตะเข็บชายแดน
ชีวิตของผู้คนสองฝั่งประเทศยังคงดำเนินต่อไปอย่างเรียบง่าย
ทุกๆอย่างดูเรียบง่ายไปหมด
มีอยู่อย่างเดียวที่ขรุขระ
มันคือพื้นถนนนั่นเอง
ฟ้าเริ่มใสขึ้นมาก แต่หมอกยังลงหนัก
หมู่บ้าน Vrang
หมู่บ้านโบราณที่เคยมีพระสงฆ์เดินธุดงค์มาจำพรรษากันที่นี่เมื่อหลายพันปีมาแล้ว
ในช่วงที่อาณาจักรแถบนี้ยังมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักอยู่
เป็นอีกศูนย์กลางการแผยแพร่ในบริเวณนี้
ก่อนที่อะไรๆจะเปลี่ยนไปในภายหลัง
ไม่ต้องไปตามหาโดเรมอนเพื่อขอเครื่องไทม์แมชชีนที่ไม่มีอยู่จริงในโลกใบนี้
แค่มาถึงที่นี่ก็เหมือนกับเรานั่งไทม์แมชชีนกลับไปอดีตจริงๆแล้ว
เขาว่ากันว่ามีสถูปทางพระพุทธศาสนาตั้งอยู่ที่นี่
สร้างมาตั้งแต่ 2000 กว่าปีที่แล้ว
ผมไม่นึกมาก่อนได้เลยว่าแม้แต่ตรงนี้ ก็เคยมีอิทธิพลของศาสนาพุทธเผยแพร่มาได้ไกลถึงขนาดนี้
รูปทรงแลดูคล้ายพีระมิด เป็นการเอาหินมาวางๆซ้อนๆกันเหลื่อมกันขึ้นไปเรื่อยๆจำนวน 5 ชั้น
สถูปตั้งตะหง่านอยู่ท่ามกลางหุบเขา ที่มีหมู่บ้านและภูเขาหันหน้าเขาหากัน
ที่หมู่บ้านนี้ผมได้แก๊งค์เด็กแฟนฉันประมาณ 3 คน เข้ามาประกบพวกเราทันที
พร้อมกับขออาสานำทางพาทัวร์ ผมก็โอเค
จริงๆจะเดินไปเองก็ยากหรอกครับ แต่ก็ถือว่าผมจะได้ตอบแทนอะไรเขาได้อย่างสบายใจมากยิ่งขึ้น
เงินจำนวนไม่มากของเรา มันช่วยอะไรเขาได้มาก
ผมคิดอย่างนั้นนะ
ใบหน้าที่ไม่ได้บ่งบอกถึงอายุ
ถ้าคุณต้องใช้ชีวิตในพื้นที่ๆสภาพอากาศมันสุดขั้ว ร้อนแทบดิ้น หนาวแทบตาย
นอนกลางดิน กินกลางทราย
ตัวแปรต่างๆเหล่านี้ล้วนแต่เร่งให้สภาพผิวพรรณเราแปรเปลี่ยนสภาพได้เร็วกว่าความเป็นจริงมาก
ถ้าผมบอกว่าเด็กคนนี้อายุ 14 ปี
ทุกๆคนจะเชื่อผมไหม
ด้วยความที่มีไกด์ท้องถิ่นตามมาด้วย
สถานที่บางแห่ง มุมบางมุม ที่ไม่มีทางหาได้เจอได้ด้วยตนเอง
เราก็เลยมีโอกาสได้เห็นอยู่บ้าง
ไอถ้ำที่ผมอยู่ตอนนี้ น้องเขาบอกว่าเป็นที่หลบภัยของพระสงฆ์ในสมัยนั้นครับ
นอกจากนี้ยังเป็นที่บำเพ็ญเพียรของเหล่าพระสงฆ์อีกด้วย
ออกเดินทางกันไปต่อ
วันนี้พวกผมพักกันที่หมู่บ้าน Langar
สถานที่ทางสามแพร่งของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำปามีร์
วันที่ 5 : 8 ชั่วโมง 240 กิโลเมตร
อยากจะอยู่ให้นานกว่านี้ก็ทำไม่ได้ เวลาไม่เคยคอยใคร
คนที่คอยเวลา ก็คือคนไม่เคยทันใคร
วันนี้พวกเราต้องออกเดินทางให้เร็วกว่าปกติ
เพราะระยะทางมันไกลที่สุด กันดารที่สุด และแห้งแล้งที่สุด
ทำยังไงก็ได้ ต้องถึงที่หมายก่อนพระอาทิตย์ตกครับ
ฝั่งนี้เป็นถนนฝั่งอัฟกานิสถาน
ขอคำนับวิศวกรเขานะ ออกแบบไปได้ขนาดนี้
ถนนที่ใช้ร่วมกันกับเพื่อนร่วมโลก
มีอยู่เลนเดียวใช้มันทั้งคน ทั้งรถ ทั้งแกะ ทั้งแพะ
อยู่กันแบบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันแบบนี้
สีของท้องฟ้ากำลังบ่งบอกถึงอะไรบางอย่าง
กับสิ่งที่พวกเรากำลังจะเผชิญอยู่ในเบื้องหน้า
ท้องฟ้าที่ทำหน้าทำตาเหมือนกับคนอมทุกข์มานาน
วันนี้ก็ได้เวลาปลดปล่อยเสียที
จากฟ้ากลายเป็นขาว จากน้ำตาลก็กลายเป็นขาว
ทุกอย่างมันกลายเป็นสีขาวไปเกือบหมดไม่ว่าจะท้องฟ้าหรือผืนดิน
ที่เขาบอกกันว่าที่นี่เป็นหนึ่งในถนนที่อันตรายที่สุดในโลก
ผมก็พึ่งจะเข้าใจจริงๆก็ตอนนี้เนี่ยแหละครับ
ถ้าได้ขับรถแบบบรรยากาศหิมะๆในยุโรปคงจะฟินเป็นแน่แท้
แต่ไม่ใช่ในทาจิกิสถานแน่ๆ
ไหล่ทางไม่เห็น มีแต่กองหิมะโตๆกองๆกันอยู่ ข้างๆมีแต่ขอบเหวลึก
ถ้าขับพลาด ไถลออกไปนิดนึง สภาพคงไม่ต้องตามหาร่องรอยกันเลยทีเดียว
ชีวิตของพวกเราสองคนในตอนนี้
จึงต้องไปขึ้นกับชีวิตของคนอีกหนึ่งที่อยู่หลังพวกมาลัยของรถในตอนนี้
ด้วยความถี่ของรถที่วิ่งสวนกันอยู่ที่ราวๆ 1 คันต่อ 3 ชั่วโมงที่รถวิ่งไป
สัญญาณมือถือที่ความแรงและเสถียรภาพเหมือนกับเมืองไทยเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว
ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด บอกได้คำเดียวว่าโชคร้าย
เพราะตอนนี้เรากำลังอยู่ในพื้นๆที่ห่างไกลจากโลกภายนอกมากที่สุดพื้นที่หนึ่งในโลกอยู่
ถ้าไม่นับกับรถที่นานๆมากๆกว่าจะมีสวนมาสักครั้ง
ก็ไม่มีใครในโลกนี้ที่รู้ความเป็นไปของเรานอกจากพวกเรากันเองอีกแล้วครับ
คนขับเราหน้าเครียดมากครับตอนนี้
ผมสังเกตดูเขาจับพวกมาลัยไม่ปล่อยเลย
เพลงจากแผ่นซีดีที่กำลังเล่นอยู่ ถึงแม้จะเพราะขนาดไหน แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครสนใจเลย
ทุกคนกำลังสนใจกันแต่ทางที่อยู่ข้างหน้า
ว่าเมื่อไรมันจะหมดไอโค้งเสียวๆแบบนี้ไปเสียที
ปราศจากก้อนหินหรือก้อนกรวด
มันมีเพียงแต่กองหิมะที่ถูกเทเรี่ยราดอยู่บนพื้น
ผจญภัยอยู่บนถนนสีขาวมาได้ครึ่งวัน เราก็มาถึงที่ Khargush
ทางสามแพร่ง ที่เป็นทางแยกระหว่างเดินทางต่อไปในเขตอัฟกานิสถาน
หรือว่าจะเลือกทางที่จะข้ามช่องเขา Khargush ผ่าเข้าสู่ใจกลางเทือกเขาปามีร์ หลังคาโลก
ตรงนี้เป็นด่านตรวจของทหารทาจิกิสถานด้วยครับ
แต่ก็ไม่ได้ตรวจอะไรมากมาย มาเปิดๆแง้มๆพาสปอร์ตดู พร้อมกับตรวจความเรียบร้อยพอเป็นพิธี
หลังจากผ่านจากด่านตรวจมา
จะเป็นถนนที่จะไต่ระดับขึ้นเรื่อยๆ เพื่อผ่านช่องเขา Khargush pass ที่ระดับความสูง 4,344 เมตร
การเดินทางผ่านช่องเขานี้จะเป็นการเข้าสู่ใจกลางของเทือกเขาปามีร์ที่แท้จริง
เดินทางสู่หลังคาโลก
ณ บัดนี้ ในที่สุดเราก็ข้ามช่องเขาสูงที่ขาวโพลนไปด้วยหิมะ
ทิ้งแม่น้ำาปามีร์และเทือกฮินดูกูซทางฝั่งอัฟกานิสถานไว้เบื้องหลัง
มาสู่ที่ราบสูงที่แห้งแล้ง ไร้ต้นไม้ ไร้สรรพสิ่งใดๆ
ยกเว้นเพียงแต่สายลมแห่งความว่างเปล่าที่ฟุ้งกระจายไปทุกๆตารางเมตร
มีคนบอกผมว่าถ้าเราไม่มีปัญญาไปถึงดวงจันทร์ได้
ให้มาที่นี่ คุณจะได้บรรยากาศแบบเดียวกันไม่มีผิด
เมื่อภูมิประเทศเปลี่ยน ผู้คนก็เปลี่ยนไปตาม
ถึงแม้จะยังอยู่กันในทาจิกิสถาน
แต่คนที่อยู่แถวนี้ส่วนใหญ่กลายเป็นคนคีร์กิซไปหมดแล้ว
ด้วยสภาพภูมิประเทศและสภาพอากาศที่เอาแน่เอานอนไม่ได้
ชีวิตแห่งการเร่รอนไปตามฤดูกาลจึงกลายเป็นสิ่งที่ต้องนำมาใช้
แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเพราะนั่นเป็นสิ่งที่คนคีร์กิซถนัดมากที่สุด
กระโจมอันเป็นลักษณะเด่น จะเริ่มโผล่มาให้เราเห็น
ถ้าโชคดีก็จะเห็นฝูงยัคมาเดินเล่นส่ายสะโพกให้เราดูอีกเช่นเดียวกัน
หนทางข้างไหนจะลำบากอีกแค่ไหน ผมไม่รู้
ผมรู้เพียงแต่ว่าถ้าเราพยายามมันอย่างเพียงพอ
ต่อให้ลำบากแค่ไหน เราก็ไปถึงเป้าหมายอย่างแน่นอน
จริงๆฤดูท่องเที่ยวของปามีร์ไฮเวย์ คือ ฤดูร้อน
เพราะอากาศที่ไม่หนาวจนเกินไป ถนนปลอดภัย ต้นไม้เบ่งบาน
แต่พวกเรากลับดันเลือกมาทรมานในช่วงเวลาที่เขาไม่เที่ยวกันอีกแล้ว
ในช่วงโค้งสุดท้ายวัน
ด่านทดสอบด่านสุดท้ายคือช่องเขา Ak-Baital pass ที่ถือว่าสูงที่สุดที่ระดับ 4,655 เมตร
ช่องเขานี้ ตามทฤษฎีผ่านได้ทั้งปี
แต่ในทางปฎิบัติ โอกาสผ่านทางฤดูหนาวอาจจะเหลือเพียงแค่ 50%
ฤดูหนาวอันทารุณจะพัดเอาหิมะกองโตมาขวางทางเอาไว้
ต้องรอจนกว่าพระอาทิตย์มาละลายมันไปนั่นแหละครับ เราถึงไปต่อได้
คำว่าหลังคาโลกอยู่ไม่ไกลจากคำกล่าวจริงๆ
จากจุดนี้คือจุดที่ถนนตั้งอยู่บนจุดที่สูงที่สุดของเขตปามีร์
สุดทางแต่ยังไม่สุดแรง
ผ่านเส้นทางที่หฤโหดสายหนึ่งในชีวิตการเดินทางมาได้
“Murghab” มูร์กาบ เป็นเพียงเมืองเดียวที่ไม่ได้เรียกว่าหมู่บ้าน
ถ้าความหมายว่า เมือง คือสถานที่ๆประกอบไปด้วยหน่วยงานราชการ ตลาดขายของ สถานพยาบาลพื้นฐาน ที่พักแรม มูร์กาบก็คงอยู่ในความหมายนั้น
ท่ามกลางพื้นที่หลายพันตารางกิโลเมตร มีเพียงแค่มูร์กาบที่เดียวเท่านั้นที่มีคนอาศัยอยู่อย่างถาวร
เมืองนี้พึ่งเกิดได้ไม่นาน ในช่วงที่สหภาพโซเวียตกำลังแผ่ขยายอิทธิพลในเอเชียกลาง
เพื่อมาต่อสู้กับอาณานิคมอังกฤษ (ปากีสถาน) ทางด้านใต้ และจีนทางด้านตะวันออก
Murghab จึงกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ใช้สำหรับตุนเสบียงและสะสมกำลังพลก่อนเดินทางต่อไป
ค่ำคืนที่แสนวิเศษ
ราตรีของวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา ณ หมู่บ้าน Murghab ประเทศทาจิกิสถาน
อุณหภูมิในตอนนั้นประมาณ -5 องศาเซลเซียส พร้อมกับความแรงลมอีก 10-12 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
โคตรหนาวครับ หนาวจนเข้ากระดูก หนาวจนไม่อยากทำอะไรนอกจากซ
แต่วันที่ฟ้าเปิดจนสามารถเห
เวลาตีสามกว่าๆ ผมจึงตัดใจ ยอมทิ้งความขี้เกียจไว้กับผ
เดินเปิดประตูบ้านออกไป (เราพักกันที่โฮมสเตย์) ไม่มีเสียงอะไรเลย นอกจากเสียงของลมที่วิ่งเข้
ผมค่อยๆพากล้องกับขาตั้งกล้
ฟ้าใสมาก ใสจนเห็นทุกอย่างทะลุปรุโปร
มันเป็นคืนมหัศจรรย์ที่คุ้ม
วันที่ 6 : เริ่มต้นที่ความเรียบแต่ไปจบที่ความง่าย
ผมตื่นเช้าเข้าสู่วันใหม่ด้วยความสดชื่น ถึงแม้ทั้งคืนที่ผ่านจะนอนไปเพียงไม่กี่ชั่วโมง
อาหารเช้าถูกเตรียมเอาไว้ให้พวกเราแล้ว เป็นขนมปังแผ่นแข็งๆที่ถ้าไม่เอาไปจุ่มกับน้ำก็คงกัดไม่ลง
เสิรฟ์พร้อมกับชาร้อนๆที่เหมาะกับอากาศหนาวๆในตอนนี้ได้เป็นอย่างดี
บรรดาเสบียงที่ผมตุนกันมาตั้งแต่ที่ Dushanbe ตอนนีเกลี้ยงไปหมดแล้ว
ผมเลยขอให้เจ้าถิ่น คนขับรถของนั่นเอง ให้ช่วยพาเราไปที่ตลาดประจำเมือง
และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น กับบรรยากาศของตลาดที่ผมไม่เคยนึกถึง
ผมถามเจ้าถิ่น ว่าผมอยากไปตลาด
เขาก็พาผมมาที่ตลาด แต่ตลาดที่เขาพาผมมา ทำให้ผมอึ้ง
เพราะนี่มันไม่ใช่บรรยากาศของตลาดที่อยู่ในจินตนาการของผมเลยแม้แต่นิดเดียว
ผมไม่รู้ว่าไอเดียการเอาตู้คอนเทนเนอร์มาทำเป็นตลาดขายของไปได้มาจากไหน
แต่มันโคตรจะลงตัวสำหรับบรรยากาศแห้งๆ และเดาใจท้องฟ้ายากๆอย่างนี้
คนเดินกันบางตา ถ้าไม่นับพ่อค้าที่แอบซุ่มตัวเองอยู่ในตู้แล้ว
ก็คงมีแต่พวกเราสองคนที่ยังคงเดินกันอยู่ตรงนี้
น้ำดื่มที่สะอาดบรรจุขวด คือสิ่งที่หายากมาก
คนที่นี่เขาเอาน้ำจากภูเขา จากบ่อน้ำบาดาล มาชงชาร้อนๆกินกันทั้งนั้น
ไม่มีใครเขาดื่มน้ำบรรจุขวดกัน
น้ำดื่มที่บรรจุขวดดูจะขายได้แต่ผู้ผ่านทางอย่างพวกเรา
แต่โรงงานผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดที่อยู่ใกล้ที่สุดก็คือเมืองหลวงดูซานเบที่อยู่ห่างไปเกือบหนึ่งพันกิโลเมตร
เท่านั้นไม่พอเมื่อเทียบกับความหฤหรรษ์ในการขนส่งแล้ว
เครื่องดื่มที่มีสูตรเคมี H2O เลยมีมูลค่าเทียบเท่าทองคำเลยทีเดียว
น้ำ 600 cc มีราคาเท่ากับ 50 บาทเลยครับ
ส่วนสินค้าอย่างอื่นก็ต้องขนส่งกันมาอย่างยากลำบากจากเมืองอื่นๆเช่นเดียวกัน
ลมพัดดัง ฟิ้วววว ผ่านหูผมไป
เสียงของประตูตู้คอนเทนเนอร์ที่ขึ้นสนิมดังเอี๊ยดๆเสียดสีกัน
ร้านค้าบรรยากาศทึมๆ เหมือนจะไม่มีคนขายของอยู่
มันโคตรให้อารมณ์เหมือนกับเรากำลังอยู่ในโลกอีกใบหนึ่ง
ที่มันโคตรจะแตกต่างกับชีวิตในเมืองไทยมากเหลือเกิน
ในบางเวลา
ถ้าไม่บอกว่าเราอยู่ตรงไหน
เราก็ไม่รู้จริงๆว่าเราอยู่ตรงไหน
รู้เพียงแต่ว่าเรากำลังจะเดินทางสู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้น
ฝูง Yaks กลุ่มใหญ่ที่กำลังเล็มแทะหญ้าที่อยู่กลางทุ่งกันสบายใจ
เส้นทางในช่วงนี้มันทำให้ผมหยุดหายใจไปชั่วขณะ
เพราะอาการหวัดของคืนที่ผ่านมาทำให้ผมหายใจไม่ออก
ทะเลสาบที่ควรจะเป็นน้ำสี
แต่บัดนี้ได้เปลี่ยนสถานะเป็นน้ำแข็งหมดแล้ว
เนื่องด้วยความเย็นอย่างสุดขั้วของฤดูหนาวอันแสนโหดร้าย
โค้งสุดท้ายก่อนเข้าสู่หมู่บ้าน Karakul
จุดหมายปลายทางของพวกเรา
Back to basic
ทีหมู่บ้าน Karakul แห่งนี้ ทุกอย่างเหมือนสูงสุดกลับสู่สามัญ
หมู่บ้านที่มีจำนวนคนไม่ถึงพันคน น้อยกว่าจำนวนนักเรียนในสมัยมัธยมของผมซะอีก
ความเงียบสงบ slow life คือจุดเด่นของการท่องเที่ยวที่นี่ครับ
ใครต้องการความตื่นเต้น ผมต้องขออภัยที่ต้องบอกว่า
คุณมาผิดที่แน่นอนครับ
เด็กๆที่นี่ยังคงตื่นเต้นกับคนแปลกหน้าอย่างเราสองคน
โบกไม้ โบกมือ ทักทายกันตามประสาเพื่อนร่วมโลก
โรงแรมของผมก็คือบ้านของเขา
ห้องนอนของผมก็คือห้องนอนของเขา
อาหารที่ผมกินก็คืออาหารที่เขากิน
ห้องน้ำที่ผมใช้ก็เป็นห้องน้ำเดียวกับที่เขาใช้
เขาอยู่กันอย่างไร เราสองคนก็อยู่กันอย่างนั้น
เป็นคำอธิบายที่ดีที่สุดแล้วสำหรับหมู่บ้าน Karakul
ทะเลสาบคาราคูล (Lake Karakul)
ที่เกิดจากอุกกาบาตพุ่งเข้าชนโลกเมื่อกว่า 25 ล้านปีที่แล้ว
แล้วน้ำแข็งจากภูเขาหิมะละลายจนกลายเป็นทะเลสาบ
ที่ถือว่าอยู่สูงที่สุดในโลกที่ระดับความสูง 3,900 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
และที่นี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้หมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้
เป็นการผ่านทางที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ทางผ่าน
จามรี เป็นสิ่งมีชีวิตประจำถิ่นที่พบได้เฉพาะในเขตที่ราบสูงเท่านั้น
มันแทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ไปแล้ว
เพราะทั้งร่างกายของจามรี มนุษย์เราสามารถเอามาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมดทั้งสิ้น
ช่วงบ่ายแก่ๆของแต่ละวัน ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีในการมายืนดู
ต้นตำรับวิถีชีวิต slow life ของชาวคีร์กิซกัน
ชีวิตประจำวันของเขาจะเริ่มต้นด้วยการพาเหล่าสัตว์เลี้ยงออกหากิน
และก็จบวันด้วยการพาสัตว์เลี้ยงเข้าบ้าน
หนึ่งวันของพวกเขามีเท่านี้จริงๆ
การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ล้วนเกี่ยวพันกับธรรมชาติ
เขาเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติเกือบจะ 100%
ถ้าเกิดน้ำท่วมโลกแบบภาพยนตร์เรื่อง 2012 ขึ้นมาจริงๆ
ผมว่าคนกลุ่มนี้ที่ทรหดอดทนแบบนี้แหละ ที่น่าจะเป็นกลุ่มแรกที่เอาตัวรอดได้
หัวหน้าทีมมักจะเป็น ลาตัวเล็กที่แบกสิ่งของเครื่องมือของคน อย่างเจ้าตัวเกือบจะซ้ายมือสุด
แล้วสมุนที่ตามมาก็มักจะเป็นแกะและแพะที่เป็นอาหารหลักของคนที่นี่
โดยมีมนุษย์อย่างเราๆคอยเป็นผู้จัดการทีมอยู่เบื้องหลัง
พวกเขาจะคอยๆต้อนมาเรื่อย จนในที่สุดก็มาถึงบ้าน
ก็จะมีอีกคนที่ไปเปิดประตูบ้านรอไว้ พอเจ้าพวกเพื่อนร่วมโลกเหล่านี้เข้าไปครบทุก
ก็ปิดประตู เป็นอันจบกิจกรรมไปอีกหนึ่งวัน
ปิดท้ายวันด้วยกันไปผ่อนคลาย ทานอาหารร่วมกันของคนในครอบครัว
เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแล้วผมก็ทึ่งกับมันจริงๆครับ
ผมใช้วินาทีสุดท้ายก่อนจะหมดวันไปกับการยืนอยู่กลางถนน
ที่ไม่มีเสียงแตรรถบีบไล่ ไม่มีเสียงรถที่หนวกหู หรือเสียงคนที่โวยวาย
มีเพียงแต่เสียงลมที่พัดผ่านตัวไป
คืนนี้เป็นคืนสุดท้ายที่เราจะอยู่กันในทาจิกิสถาน
หลังจากตื่นมาในพรุ่งนี้เช้าเราก็จะจบเส้นทางหลวงสายปามีร์กันแล้วที่คีร์กิซสถานครับ
วันที่สุดท้าย วันที่โลกทั้งใบกลายเป็นสีขาว
ระยะทางวันนี้ เราจะเริ่มต้นจากหมู่บ้าน Karakul
ปลายทางคือ หมู่บ้าน Sary Tash ประเทศทาจิกิสถาน
อย่างที่บอกครับ พายุหิมะถล่มทุกวัน แต่วันนี้โดนถล่มหนักสุด
พื้นที่เกือบจะถูกตารางเมตรจึงถูกเติมเต็มไม่เหลือพื้นที่ให้สีใดๆอีก นอกจากสีขาว
ผมบอกตามตรงผมไม่เห็นคำว่าเลนถนนอีกแล้ว
มันมีเพียงแต่รอยยางรถยนต์ของคันที่ผ่านไป
นั่นเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ไม่ทำให้เราหลงทางเข้าไปกลางทุ่งหิมะที่อยู่รอบข้างกาย
เฮ้ย นี่เรามาอยู่ในจุดๆนี้กันได้อย่างไร
จุดที่ไม่สามารถบอกได้เลยว่ามีอะไรอยู่ข้างหน้าบ้าง
คนขับรถต้องเชี่ยวชาญทางพอสมควร
ถนนแย่ลงเรื่อยๆ และไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น
ในที่สุดพวกผมก็เดินทางมาถึงด่านพรมแดนที่ตั้งอยู่กลางหุบเขา ที่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ และไม่มีอะไรเลย
ผมยกย่องทหารที่ประจำอยู่บริเวณนี้ ความอดทนของพวกเขาต้องสูงมากพอ
ที่จะต้องมาใช้ชีวิตในพื้นที่ความกันดารระดับสูงสุดขนาดนี้
เส้นทางต่อจากนี้ไป มันขาวมากจนผมไม่สามารถบันทึกภาพอะไรได้อีกแล้ว
นอกจากความทรงจำของผมเอง
มันคือหนึ่งในประสบการณ์ที่สุดจะเหลือเชื่ออย่างหนึ่งในชีวิตของพวกเราเลยครับ
ที่อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตก็เคยเดินทางมาถึงที่นี่
“ปามีร์ ไฮเวย์”
ขอปิดท้ายด้วยหมู่บ้านปลายทางซารีดัซ Sary Tash ที่อยู่ตรงระหว่างชายแดน 3 ประเทศ
คือทาจิกิสถาน คีร์กิซสถาน และประเทศจีน
จุดหมายปลายทางของผมสิ้นสุดลงที่นี่ เราแยกทางกับคนขับรถที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมาตลอด 7 วัน
เขาจะขับรถกลับไปที่เมือง Osh เพื่อพักผ่อนและหาครอบครัว
ส่วนผมจะใช้เมืองนี้เป็นจุดเดินทางไปต่อสู่ดินแดนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของโลก
ประเทศที่ผมกำลังหมายถึง คือ ประเทศจีนนั่นเองครับ
แต่จะไปจีนทางคีร์กิซสถานมันทำได้เหรอ เราต้องมาติดตามกันต่อไป
แล้วจะรู้ว่าไม่มีอะไรที่ง่าย แต่ก็ไม่มีอะไรที่ยาก จริงๆครับ
ประสบการณ์ ไม่ออกไปหา ไม่มีวันเจอ