เรื่องน่ารู้กับการเตรียมเงินไปเที่ยวต่างประเทศ
เวลาจะที่เรามีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะไปเที่ยวหรือไปทำงานในที่ๆไม่สามารถใช้เงินสกุลบาทได้ เราก็ต้องหาวิธีแลกเงินบาทของเราเป็นเงินสกุลของประเทศนั้นๆใช่ไหมครับ วันนี้ผมจะมาสรุปเรื่องวิธีการแลกเปลี่ยนเงินว่ามีวิธีไหนบ้างนะครับ มีหลักๆเลย 5 วิธีครับ ตามนี้
- แลกเงินบาทเป็นเงินสกุลนั้นๆ ที่ร้านแลกเงิน เช่น Superrich Thailand, Superrich 1965, etc.
- แลกเงินบาทเป็นเงินสกุลนั้นๆ ที่ตามสาขาธนาคารไม่ว่าจะเป็น KBank, SCB, BBL หรืออะไรก็ว่าไป
- เอาบัตรเครดิต (Credit card) ไปใช้แทน
- กด ATM เอาหน้างานหรือเอาบัตรเดบิต (Debit card) ไปใช้แทน
- ใช้บริการโอนเงินผ่านระบบ Western Union หรือ Moneygrams
ซึ่งแต่ละวิธีก็จะมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป เดี๋ยวผมจะยกตัวอย่างให้ดูกันทีละข้อครับ
แลกเงิน
การแลกเงินก่อนการเดินทาง ทำได้สองวิธีคือ คือการไปแลกเงินที่ร้านแลกเงินหรือที่ธนาคาร ซึ่งแต่ละวิธีจะมีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกัน
-
แลกที่ร้านแลกเงิน
-
แลกที่ธนาคาร
ตามธนาคารต่างๆจะมีบริการในส่วนของการแลกเงินไว้ด้วย แต่ไม่ได้มีทุกสาขา จะมีเฉพาะสาขาใหญ่ๆเท่านั้นครับ ลองเอาเรทมาดูเทียบความแตกต่างกัน
อันนี้เป็นเรทของการแลกเงินที่ธนาคารหลักๆ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559
เรทแลกซื้อกับเรทแลกขายก็จะไม่ค่อยต่างกันมากแต่จะต่างกันอย่างชัดเจนกับเรทแลกขาย
อันนี้เป็นเรทของการแลกเงินที่ร้านแลกเงินหลักๆ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559
โดยสีเขียวจะบอกถึงเรท Buying ที่ดีที่สุดในเวลานั้นๆ
และสีเหลืองจะบอกถึงเรท Selling ที่ดีที่สุดในเวลานั้นๆ
ที่ไหนเรทดีสุด
เวลาจะแลกเงิน ส่วนใหญ่มักจะสับสนว่าจะดูช่องไหนดีระหว่าง Selling หรือ Buying มาตอนนี้ผมขอสรุปอีกครั้งว่า
Selling แปลว่า ร้านแลกเงินหรือธนาคารเป็นคนขายเรา เพราะฉะนั้นถ้าเราจะเอาเงินบาทไปแลกเป็นเงินสกุลอื่นๆเราต้องดูช่องนี้ หลักการดูคือ ที่ไหนตัวเลขน้อยสุด ที่นั่นคือเรทดีที่สุดครับ หมายความว่าเราใช้เงินบาทที่จำนวนน้อยที่สุดเพื่อแลกเป็นเงินสกุลนั้นๆ
จำเลยครับ “ถ้าจะไปแลกเงินเที่ยว ให้ดูที่ Selling ที่ไหนแสดงตัวเลขน้อยสุดคือดีสุด”
Buying แปลว่า ร้านแลกเงินหรือธนาคารเป็นคนซื้อจากเรา อันนี้คือเรามีเงินต่างประเทศสกุลนั้นๆ แล้วอยากจะมาแลกเป็นเงินบาทกลับ หลักการดูข้อนี้คือ ที่ไหนตัวเลขมากสุดคือดีสุดครับ
จำเลยครับ “เที่ยวเสร็จแล้ว จะแลกเงินกลับ ให้ดูที่ Buying ที่ไหนแสดงตัวเลขมากสุดคือดีสุด”
พูดไปพูดมาเดี๋ยวจะงง เรามาดูตัวอย่างกันดีกว่า
ตัวอย่างที่ 1 ต้องการจะแลกเงิน 100 USD ที่ไหนเรทดีสุด
ให้เรากวาดสายตาไปมองช่อง Selling อันไหนที่ตัวเลขน้อยสุดคืออันนั้นครับ ซึ่งทางเว็บไซต์ก็ไฮไลท์เอาไว้ให้เราแล้วนั่นเอง คือ
แลกที่ธนาคาร ธนาคารที่ให้เรทดีสุด ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) หรือยูโอบี (UOB) แบบห่างกันแบบสุดจะฉิวเฉียด
เรทที่ได้คือ Selling 35.87 บาท ต่อ 1 USD ถ้าต้องการเงิน 100 USD เราต้องใช้เงิน 3,587 บาท
แลกที่ร้านแลกเงิน กวาดสายตาไปจะเห็นว่าร้านที่ให้เรทดีที่สุดคือ Superrich Thailand กับ Pentor Exchange ครับ ส่วนร้านอื่นๆก็มาแบบใกล้เคียงกันมาก คือห่างกันที่ทศนิยมตำแหน่งที่สองครับ
เรทที่ได้คือ Selling 35.61 ต่อ 1 USD ถ้าต้องการเงิน 100 USD เราต้องใช้เงิน 3,561 บาท
ตัวอย่างที่ 2 แล้วถ้าเป็นเงินสกุลอื่นๆละ
Euro (ยูโร)
ธนาคาร : ธนาคารกรุงศรี (Krungsri) ให้เรทดีสุดที่ 38.87 บาท ต่อ 1 USD ครับ
ร้านแลกเงิน : Superrich Thailand, Siam Exchange ให้เรทเท่ากันที่ 38.35 บาท ต่อ 1 USD ครับ
Yen (เยน)
ธนาคาร : ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ให้เรทดีสุดที่ 32.13 บาท ต่อ 100 Yen ครับ
ร้านแลกเงิน : Superrich Thailand, SIA Moneyให้เรทเท่ากันที่ 31.50 บาท ต่อ 100 Yen ครับ
RMB (หยวน)
ธนาคาร : ธนาคารกรุงไทย กรุงศรี และยูโอบี ให้เรทดีสุดที่ 5.35 บาท ต่อ 1 RMB ครับ
ร้านแลกเงิน : Superrich Thailand ให้เรทต่ำที่สุดที่ 5.15 บาท ต่อ 1 RMB ครับ
ทีนี้มาดูฝั่ง AEC กันบ้าง ขอยกตัวอย่างสองประเทศที่ถือว่าเป็นไฮไลท์เลย
Indonesia Rupiah (IDR)
ธนาคาร : ธนาคารกสิกรไทย (Kbank) ให้เรทดีสุดที่ 2.83 บาท ต่อ 1,000 IDR ครับ
ร้านแลกเงิน : Superrich Thailand ให้เรทที่ 2.67 บาท ต่อ 1,000 IDR ครับ
ถ้าอยากจะแลกเงินไปเที่ยวภูเขาไฟโบรโม่สัก 20,000 บาท
ไปแลกที่ธนาคารได้ 7,067,000 IDR
ไปแลกที่ร้านแลกเงินได้ 7,520,000 IDR
Vietnamese Dong (ด่อง)
ธนาคาร : ธนาคารกรุงไทย (KTB) ให้เรทดีสุดที่ 1.62 บาท ต่อ 1,000 VND ครับ
ร้านแลกเงิน : Superrich Thailand ให้เรทที่ 1.55 บาท ต่อ 1,000 VND ครับ
สรุปเลยละกันครับ
ถ้าดูกันที่เรทล้วนๆ ร้านแลกเงินให้เรทที่ดีกว่าการไปแลกที่ธนาคารในทุกๆสกุลเงิน
ถ้าเราแลกเงินเพียงเล็กน้อย (หลักพันบาท) ส่วนต่างนี้จะน้อยมาก จนบางทีเราอาจจะไม่สังเกตเห็นเลยก็ได้ครับ
แต่ในบางสกุลเงินเช่น Indonesia Rupiah หรือ Vietnamese Dong ถือว่ามีความแตกต่างกันพอสมควร ประมาณ 5-6% เลยทีเดียว ถ้าจะไปเที่ยวอินโดนีเซียหรือเวียดนาม แม้อาจจะแลกเงินไม่เยอะ แต่การแลกที่ร้านแลกเงินก็ค่อนข้างจะได้เรทที่ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัดครับ
ร้านแลกเงิน
ปัจจุบันมีร้านแลกเงินต่างๆมากมายในเมืองไทยครับ วิธีการแลกเงินที่ร้านถือเป็นวิธีที่เรามักจะได้ “เรทถูกที่สุด” เมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ ซึ่งแต่ก่อนในสมัยอดีตเราก็ต้องกระเสือกกระสนไปที่แถวๆราชดำริ ประตูน้ำ ที่ถือว่าเป็นพื้นที่ๆร้านแลกเงินไปกระจุกตัวกันอย่างหนาแน่น แต่ปัจจุบันร้านแลกเงินต่างๆเหล่านี้ ได้ขยายสาขากระจัดกระจายออกมาทั่วแล้ว จึงเพิ่มความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น มารู้จักร้านแลกเงินเจ้าดังๆกันดีกว่า ซึ่งโลโก้แต่ละร้านจะมีสีสันที่ฉูดฉาดสร้างความแตกต่างให้คนจดจำได้ต่างๆกันไป
โดยผมขอยกตัวอย่างร้านแลกเงินที่ดังๆ ของเมืองไทยมานะครับ
Superrich Thailand
- อันนี้ดูง่ายๆจะเป็นสีเขียว เป็นร้านแลกเงินที่ให้เรทดีที่สุด เมื่อเทียบกับร้านอื่น ในเทุกสกุลเงินดูข้อมูลได้ที่ http://www.superrichthailand.com
- จริงๆจะมี Superrich หลายชื่อมาก แต่สังเกตดูจะเห็นว่าสีไม่เหมือนกัน หลายคนอาจคิดว่าเป็นแบรนด์เดียวกัน แต่ความจริงก็คือคนละแบรนด์ คนละเจ้าของครับ
- สาขาใหญ่สุดคือที่ราชดำริและถนนวิภาวดีตรงหลังตึกการบินไทย และมีสาขาย่อยๆอีก 12 สาขา โดยทุกสาขาใช้เรทเดียวกันในการนำเงินบาทไปแลกเป็นเงินสกุลต่างประเทศ แต่ถ้าเอาเงินสกุลต่างประเทศไปแลกคืนเป็นเงินบาท จะได้เรทจะต่างกับสาขาราชดำริเล็กน้อย ซึ่งหากเราแลกคืนตามสาขาต่างๆ จะถือว่าคุ้มมากเมื่อเทียบส่วนต่างกับค่าเดินทางฝ่ารถติดเข้าไปย่านประตูน้ำ
- สามารถที่จะถือเงินบาทเพื่อไปแลกเป็นเงินสกุลนั้นๆได้ที่ทุกๆสาขาในกรุงเทพ หรือจะเอาเงินสกุลต่างประเทศไปแลกคืนเป็นเงินบาทก็ได้เช่นกัน
- ถ้าไม่สะดวกไปที่ร้านใหญ่ที่ราชดำริ ก็สามารถที่จะโทรแจ้งสกุลเงินที่ต้องการก่อน แล้วนัดเวลาเพื่อไปรับเงิน ในสาขาที่เราสะดวกได้ครับ โดยเฉพาะบางสกุลเงินที่เราอาจต้องการจำนวนมากๆ เค้าอาจไม่มีสำรองไว้ตามสาขา เช่น Indonesia Rupiah เราจะได้ไม่เสียเวลาที่ต้องรอและคอยครับ
- สำหรับคนที่ต้องไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิพอดี สามารถไปนัดรับเงินที่สถานีสุวรรณภูมิ ตรงชั้น Airport Link เลยก็สะดวกครับ หรือถ้าสะดวกในสาย BTS ก็มีที่สถานีช่องนนทรีครับ
- สาขาตามห้างที่มีก็คือ Siam Paragon, Emporium, เซ็นทรัลพระราม 9, เซ็นทรัลปิ่นเกล้า, พาราไดซ์พาร์ค, เอเชียทิคส์
Superrich 1965
- อันนี้ดูง่ายๆจะเป็นสีส้ม เรทแลกเงินก็ประมาณกับสีเขียว พอฟัดพอเหวี่ยงกัน แต่สีเขียวชนะไปได้เล็กน้อย
- Rate สามารถเช็คได้จาก Superrich1965
- มีเรทที่หลากหลายมาก แลกเงินแต่ละที่จะได้เรทไม่เท่ากัน คือที่สาขาใหญ่ราชดำริ ก็มีเรทของตัวเอง สาขาสีลมก็มีเรทของตัวเอง สาขาหลังการบินไทยก็มีเรทของตัวเอง เลยเป็นการยากที่จะเทียบกับแบรนด์อื่นๆได้ชัดเจนครับ และถ้าเป็นสาขาย่อยๆต้องโทรไปเช็คด้วยตัวเองก่อนเสมอ
- สาขาย่อยเล็กๆ (Sub branch) ส่วนมากจะรับซื้อเงินกลับ (Buying) อย่างเดียว คือเราเอาเงินไทยไปแลกไม่ได้ครับ และเรทก็จะสู้ที่สาขาใหญ่ไม่ได้ ดังนั้นต้องเช็คให้ละเอียดจากแต่ละสาขาให้ชัวร์ก่อนจะได้ไปแล้วไม่เสียเที่ยวนะครับ
Grand Superrich
- อันนี้ดูง่ายๆจะเป็นสีฟ้า เรทแลกเงินก็ประมาณกับสีเขียวหรือส้ม
- Rate สามารถเช็คได้จาก http://www.grandsuperrich.com
- มีสาขาเดียวที่ราชดำริเท่านั้น อาจจะไม่สะดวกสำหรับคนทั่วๆไป ที่ไม่ได้เดินทางมาแถวนี้ครับ
การแลกเงินที่สนามบินสุวรรณภูมิ
สำหรับคนที่มาจากต่างจังหวัด และไม่มีเวลาไปแลกเงินที่อื่นจริง เราก็สามารถที่จะมาแลกที่สนามบินสุวรรณภูมิได้เช่นกันครับ โดยทั้งหมดจะตั้งอยู่ในกระจุกเดียวกันที่ทางเข้าออกของ Airport link โดยมีร้านแลกเงินทั้งหมด 4 เจ้าคือ
1.) Superrich Thailand
สาขานี้ตั้งขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ผู้ที่ไม่มีเข้าเมืองครับ โดยเราสามารถที่จะโทรเข้าไปที่สำนักงานใหญ่เพื่อนัดเวลามารับเงินได้ที่สาขาสนามบินสุวรรณภูมิเลยครับ สะดวกมากสำหรับผู้ที่บินมาจากต่างจังหวัดและต่อเครื่องไปต่างประเทศที่นี่
2.) Superrich 1965
3.) Yenjit
4.) Value+
โดยที่ที่เรทของแต่ละร้านก็ใกล้เคียงกัน ห่างกันเล็กน้อย ให้ลองเช็คจากเว็บไซต์ของแต่ละเจ้าอีกครั้งครับ
นอกเหนือจากการแลกเงินที่ร้านแลกเงินในสนามบินแล้ว ที่สุวรรณภูมิก็ยังมีสาขาย่อยของธนาคารตั้งอยู่เพื่อบริการแลกเงินด้วยเช่นกัน แต่ว่าเรทจะน้อยกว่าตามมาตรฐานร้านแลกเงินทั่วไปอยู่มากครับ
FAQs
คำถามที่หลายๆคนมักจะสงสัย รวมถึงตัวผมเองด้วยแต่ก่อนก็คือ ทำไมเรทราคาในร้านแลกเงินถึงดีกว่าธนาคาร ฟอกเงินหรือไม่? เป็นเงินที่ผิดกฎหมายหรือไม่?
คำตอบ คือ เงินพวกนี้ถูกกฎหมายทั้งหมดครับ แต่ที่เรทแลกเงินมันต่ำกว่าธนาคารก็เพราะว่า ธุรกิจแลกเงินเขาหากินกับส่วนต่างของการแลกเงินครับ ถ้าไม่เกิดการแลกเงินไปมา กำไรก็ไม่เกิด ดังนั้นเขาต้องลดเรทลงมาให้ต่ำกว่าธนาคาร ไม่งั้นทุกคนก็แห่กันไปแลกที่ธนาคารหมดสิครับ ถูกไหมครับ ลองสังเกตส่วนต่างจอง Buying / Selling ในร้านแลกเงินกับธนาคารดูนะครับ จะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนมาก พวกร้านแลกเงินส่วนต่างจะอยู่ในหลัก 1-1.5% เท่านั้น แต่ถ้าเป็นตามเรทธนาคารส่วนต่างจะอยู่ที่ประมาณ 3-3.5%
สรุปคำแนะนำ
- การแลกเงินที่ร้านแลกเงินมีข้อดีคือ เรทโดยทั่วไปจะดีกว่าการแลกเงินจากธนาคาร ถ้าแลกน้อยๆจะไม่เห็นความแตกต่างมาก แต่ถ้าแลกเยอะๆและได้เดินทางบ่อยๆ อันนี้จะเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนมาก
- สามารถแลกเงินได้โดยง่ายจากสาขาต่างๆที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ
- ควรจะใช้เงินสดแลก เพราะถ้าใช้บัตรเครดิต เราจะต้องเสียค่าธรรมเนียม โดยประมาณ 2% ครับ ร้านแลกเงินทั้งหมดคิดค่าธรรมเนียมครับ ถ้าจะใช้บัตรเครดิตเดินไปแลกที่ธนาคารอาจจะโอเคกว่า
- เราควรจะวางแผนแลกเงินไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะสกุลยอดฮิตในช่วงเทศกาล คนไทยเราไปต่างประเทศกันเยอะมาก บางทีเงินหมดครับ กลายเป็นเราต้องไปแลกเงินที่ธนาคารแทน T_T
แลกเงินที่ธนาคาร
- เรทแลกเงินที่ธนาคารจะสู้เรทการเงินจากร้านไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเรทเงินสกุลใหญ่ๆ เช่น US Dollar, Euro จะต่างกันเพียง 1-2% เท่านั้น แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าเป็นเงินสกุลเล็กๆเช่น Indonesia Rupiah อาจจะต่างกันถึง 5-6% เลย ชั่งน้ำหนักกันดูว่าวิธีไหนดีกว่ากันครับ
- ถ้าต้องการไปแลกเงินที่ธนาคารจริงๆต้องเทียบแต่ละธนาคารไปเลย เพราะบางธนาคารอาจจะดีกว่าหรืออาจจะแย่กว่าอีกธนาคารอย่างเห็นได้ชัด เปิดเทียบทุกๆธนาคารไปเลยครับ
- การแลกเงินที่ธนาคารดีอย่างคือ เราสามารถใช้บัตรเครดิตเพื่อแลกเงินได้ ซึ่งบางธนาคารมีโปรโมชั่นผ่อนคืนย้อนหลังได้อีก แต่ส่วนสำคัญที่ต้องรู้คือเราจะไม่ได้แต้มสะสมจากการใช้บัตรเครดิตแลกเงินนะครับ
- ไม่ใช่ทุกสาขาของธนาคารที่แลกเงินได้ ต้องเช็คทุกครั้งนะครับ และบางธนาคารอาจจะไม่ได้สต๊อคเงินไว้มากพอดี ควรโทรไปขอข้อมูลล่วงหน้าด้วยครับ
สรุปข้อดีและข้อเสีย
ร้านแลกเงิน | ธนาคาร | |
อัตราแลกเปลี่ยน | ดีกว่า | น้อยกว่าร้านแลกเงิน |
ความสะดวกสบาย | เท่าๆกัน | เท่าๆกัน |
โปรโมชั่นพิเศษ | บางร้านจะมีของที่ระลึก หรือ ส่วนลดแลกเงินในบางช่วง | ถ้าแลกด้วยบัตรเครดิตอาจมีโปรผ่อน 0% |
การเอาบัตรเครดิต (Credit) ไปใช้ที่ต่างประเทศ
บางคนไปเที่ยวอาจจะแลกเงินติดตัวไว้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่เหลือคือไปใช้บัตรเครดิตรูดเอาหน้างานล้วนๆ ซึ่งส่วนใหญ่ในประเทศที่พัฒนาไปมากๆ ก็มักจะเป็นแบบนี้กัน เขาแทบจะไม่ได้พกเงินสดใช้กันเลยครับ (Cashless society) แต่นั่นเขาใช้บัตรเครดิตในประเทศตัวเองไม่มีส่วนต่างของค่าเงินเหมือนของคนไทย ถ้าเราจะไปทำแบบเขาก็ต้องมาเทียบดีๆว่า สุดท้ายจะจ่ายมากขึ้นหรือน้อยลงกันแน่เมื่อคิดจะใช้บัตรเครดิตครับ
พูดถึงเรื่อง “อัตราแลกเปลี่ยน” ปกติการไปรูดบัตรเครดิตที่ต่างประเทศ แทบจะทุกธนาคารจะคิดเป็นเงิน US Dollar ก่อนเสมอ ถ้าประเทศนั้นใช้เงิน USD เป็นหลักแล้วก็สบายจบเลย แต่ถ้าประเทศนั้นใช้เงินสกุลอื่น เช่น เยน หยวน ยูโร ก็จะถูกคิดเป็น เงิน US Dollar ก่อนแล้วก็ค่อยเอามาแปลงเป็นเงินสกุลท้องถิ่นนั้นๆ แล้วสุดท้ายในใบสลิปที่เราได้ตอนครบรอบบิลจะถูกเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินไทย ซึ่งการที่โดยสลับไปมาหลายครั้งเนี่ย แล้วอิงกับเรทแลกเปลี่ยนของธนาคารอยู่ ทำให้สุดท้ายแล้วอัตราการแลกเปลี่ยนที่ใช้ผ่านบัตรเครดิตจะสู้การแลกเงินสดจากเมืองไทยไม่ได้ครับ
เรื่องต่อมาคือ “ค่าธรรมเนียม” อันนี้เหมือนกับเป็นค่าบริการที่เราดันไปใช้บัตรเครดิตเขา ปัจจุบันเท่าที่ผมเห็นคือทุกธนาคารแทบจะไม่คิดเงินส่วนนี้กันแล้ว ด้วยความที่สภาพการแข่งขันสูงมาก ถ้ามีบัตรไหนคิดส่วนนี้ก็มองข้ามไปเลยละกันนะครับ
เรื่องต่อมาคือ “ค่าความเสี่ยงของการแปลงสกุลเงิน” อันนี้ธนาคารจะชาร์ตที่ผู้ใช้เพราะว่า การใช้บัตรเครดิตเหมือนเป็นการยืมเงินธนาคารมาใช้ล่วงหน้า มีความเสี่ยงเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนที่ขึ้นๆลงๆตลอดเวลา ธนาคารเจ้าของบัตรเราก็เลยไม่ขอรับความเสี่ยงนี้ไว้จึงโยนความเสี่ยงกลับมาให้ผู้ใช้บัตรแทนครับ T_T โดยปกติจะอยู่ที่ไม่เกิน 2-2.5% แล้วแต่ธนาคารครับ ทีนี้บางบริษัทบัตรเครดิตอาจจะออกโปรโมชั่นดึงดูดเช่นลดค่าความเสี่ยงลงมาถึง 1% ก็มีมาแล้วเพื่อดึงดูดผู้ใช้ครับ
อ่านมาถึงตรงนี้ คงจะเริ่มสงสัยแล้วว่าบัตรเครดิตมันดีตรงไหน โดนค่าธรรมเนียมแทบจะในทุกขั้นตอน แต่จริงๆแล้วการใช้บัตรเครดิตก็มีข้อดีอยู่ค่อนข้างมากครับ เช่น
- เราไม่จำเป็นต้องพกเงินสดติดตัว
อันนี้เป็นข้อดีที่สุดของการพกบัตรครับ บางคนวางแผนจะไปช็อปปิ้ง ถ้าจะให้ขนเงินเป็นเป็นแสนออกนอกประเทศน่าจะเป็นอะไรที่เก็บลำบากมาก เอาบัตรไปดูแลง่ายกว่า
- ถ้าเราไปประเทศที่หาเงินสกุลนั้นๆในประเทศไทยไม่ได้
ตัวอย่างเช่น ประเทศไอซ์แลนด์ ซึ่งเขาใช้สกุลเงิน Icelandic Króna (ISK) ทั้งประเทศ และไม่รับเงิน Euro, USD, Norwegian Krone อะไรทั้งนั้น ถ้าเกิดเราอยากจะแลกเงินสดไป หมายความว่าเราต้องเอาเงินบาทไปแลกเป็นเงิน USD หรือ Euro ก่อน แล้วก็เอาเงินที่แลกไปแลกเป็น Icelandic Krona อีกครั้งที่ธนาคารในประเทศไอซ์แลนด์ เท่ากับโดนค่าส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนถึง 2 ครั้งครับ เท่านี้ไม่พอ เกิดตอนกลับเงินเหลือในมือเป็นฟ่อนทำไงครับ เงิน Icelandic Krona ไม่มีใครในโลกใช้ยกเว้นไอซ์แลนด์ เราก็ต้องทำการแลกเงินกลับมาเป็น USD หรือ Euro อีกครั้ง เพื่อจะแลกกลับมาเป็นบาทต่อ สรุปเสียค่าส่วนต่างอีก 2 ครั้ง ไปกลับ 4 ครั้ง สบายใจเลยครับแบบนี้ เราไปใช้บัตรเครดิตอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
- ได้สะสมแต้มไปในตัว
อันนี้เป็นอีกหนึ่งข้อดีของบัตรเครดิตครับ ยิ่งถ้าไปเที่ยวยุโรปที่เราจะใช้เงินกันอย่างสนุกมือ บางทีกลับมาแต้มในบัตรเครดิตโผล่มามากมายจนเราไม่รู้ตัว
- โปรโมชั่นพิเศษ
เช่น ผ่อน 0% นานกี่เดือนก็ว่าไป หรืออาจจะเป็นเครดิตเงินคืนเมื่อใช้จ่ายเงินในต่างประเทศ โปรโมชั่นสะสมไมล์การเดินทาง อะไรแบบนี้ครับ ซึ่งแต่ละธนาคารก็จะพยายามโฆษณาอยู่ตลอดเวลา หน้าที่ของเราก็คือไปเช็คดูว่าเราเหมาะกับเขาไหมครับ
ตัวอย่างการคิดเงินด้วยบัตรเครดิต > อันนี้สำคัญ
ตัวอย่าง (อัตราแลกเปลี่ยนของบัตรแต่ละชนิดจะไม่เหมือนกัน Visa, Mastercard แต่จะขอพูดแค่ 2 อันแรกที่ใช้บ่อยสุด)
ถ้าเราต้องการเงินไปเที่ยว Iceland ล่าแสงเหนือ วางแผนไว้ว่าจะเอาไปสัก 50,000 บาท
ถ้าใช้บัตรเครดิตก็เข้าไปที่เว็บของ Visa แล้วก็ใส่ตัวเลขและสกุลเงินที่เราจะแปลงเข้าไปครับ
อย่างของ Visa ถ้าเราใช้บัตรของธนาคารกรุงเทพที่คิดค่า Fee ที่ 2.5%
แล้วก็กดคำนวณไป ระบบก็จะคำนวณออกมาให้ว่าที่ 100 ISK เท่ากับ 31 บาท
ถ้าเอาไปเทียบกับการแลกเงินบาทเป็นยูโร แล้วเอายูโรแลกเป็น ISK จะได้ที่ 100 ISK เท่ากับประมาณ 30.3
ห่างกันอยู่ประมาณ 2-2.5% ครับ แต่ถ้าเราคิดเผื่อว่าเราต้องแลกเงินกลับด้วย ส่วนต่างนี้ก็แทบจะหายไปเลย เลยเป็นว่าเจ๊ากันไป สู้แบบนี้ถือบัตรไปใช้ที่ไอซ์แลนด์อาจจะสะดวกกว่าก็ได้ครับ เพราะฉะนั้นต้องดูเป็นสกุลเงินไปนะครับ
การเอาบัตรเดบิต (Debit) ไปใช้ที่ต่างประเทศ หรือกดเงินจากตู้ ATM
บัตรเดบิตหรือบัตร ATM เมื่อเราไปอยู่ที่ต่างประเทศ คุณสมบัติของมันจะคือเครื่องเก็บเงินของเราที่อยู่ทั่วโลก ที่จะกดมาใช้เมื่อไรก็ได้ เป็นการหักเงินคงเหลือจากบัญชีที่เรามีอยู่ โดยที่บัตรของเราต้องเป็นบัตร Debit ที่มีสัญลักษณ์ Plus, Cirrus อยู่ด้านหลังบัตร
การใช้บัตร Debit เพื่อถอนเงินผ่านตู้ ATM จะมีหลักการประมาณนี้
- ค่าธรรมเนียมการถอนเงินคือ 100 บาทต่อรายการ
- อัตราการแลกเปลี่ยนเงินหลักเดียวกับบัตรเครดิตเลยครับ คือ ถ้าเป็นเงินสกุล US ก็จบเลย แต่ถ้าไปใช้เงินที่ไม่ใช่ US จะต้องถูกแปลงเป็น US ก่อนแล้วก็แปลงเป็นเงินสกุลท้องถิ่นนั้นๆอีกครั้ง
- ค่าความเสี่ยงของการแลกเปลี่ยน เรทเดียวกับบัตรเครดิตครับ คือประมาณ 2-2.5%
- ตู้ ATM แต่ละประเทศ จะชาร์ตค่าธรรมเนียมเพิ่มอีกต่างหาก ซึ่งอันนี้บอกไม่ได้ครับว่าเท่าไร อาจจะมากหรือน้อย แต่จากประสบการณ์อยู่ที่ 100 – 150 บาทต่อการถอน 1 ครั้ง
- ตู้ ATM แต่ละประเทศ จะถูกกำหนดจำนวนเงินที่ถอนได้ไม่เท่ากัน บางประเทศให้ 20,000 แต่บางประเทศอาจจะให้แค่ 6,000 ก็เคยเจอมาแล้วครับ เพราะฉะนั้นบางทีเราต้องการเงินจำนวนมาก ก็ต้องกดหลายที โดยค่าธรรมเนียมการถอนเงินไปหลายร้อยเลยครับ
บทสรุปของการใช้ ATM
- บัตรเดบิต (Debit) เก็บไว้เป็นเงินก้นหีบของการเดินทางครับ การเอาบัตรเครดิต (Credit) เป็นเงินก้นหีบอาจจะโอเคเอาไว้ใช้ซื้อตั๋วเครื่องบิน หรือค่าที่พักโรงแรมแพงๆ แต่กับเงินที่ใช้ประจำวัน ควรจะเป็น ATM ดีสุด เพราะตู้ ATM นั้นหาง่ายและปลอดภัยกว่าการใช้บัตรเครดิตมากครับ โดยเฉพาะการเที่ยวประเทศสายผจญภัยทั้งหลาย ผมลองมาเกือบจะทั้งทวีปเอเชียและยุโรปแล้ว ใช้ได้กับตู้ ATM ใช้ได้หมดยกเว้นที่อิหร่าน
- แต่เนื่องจากเพดานการถอนเงินแต่ละวัน บางประเทศให้แค่ 6000 เท่านั้น ทำให้บางทีเวลาต้องการใช้เงินฉุกเฉิน เราจะหาเงินได้ไม่พอใช้ครับ ซึ่งถ้าเงินสดหมด บัตรเครดิตไม่พร้อมใช้ ก็ต้องไปสู่หนทางต่อไปคือการใช้บริการโอนเงินข้ามประเทศครับ
การโอนเงินผ่านระบบของ Western Union หรือ Money Grams
อันนี้เป็นไม้ตายสุดท้ายจริงๆ คือหมดสิ้นหนทางทุกอย่างแล้ว บัตรเครดิตหาย บัตรเดบิตหาย เหลือวิธีสุดท้ายคือเราต้องให้ทางบ้านโอนเงินมาให้เรา แต่การโอนเงินผ่านระบบ Western Union หรือ Money Grams มันดีตรงที่เราไม่จำเป็นต้องมีบัญชีธนาคารในประเทศนั้นๆครับ หลักการคือให้คนที่บ้านไปยังธนาคารในประเทศไทยที่มีบริการ Western Union อยู่ หรืออาจะเป็นตัวสาขาของเขาเอง ให้โอนเงินไปตามจำนวนที่ต้องการ พร้อมทั้งให้หลักฐานของผู้รับเงินปลายทางว่าเป็นใครมาจากไหน หลังจากทำเรื่องเสร็จคนที่ไปโอนเงินจะได้ code มา ซึ่งเขามีหน้าที่ต้องส่ง code นี้ให้ผู้รับที่ปลายทาง ซึ่งจะเป็นช่องทางไหนก็ได้ หลังจากปลายทางได้รับ code แล้ว เขาก็ต้องไปธนาคารที่มีบริการของ Western Union หรือสาขาของ Western Union เอง แล้วระบ code และตัวตนเช่น passport แล้วก็รับเงินได้เลย ดูเหมือนง่ายครับ แต่จริงๆยากมาก เพราะสถานการณ์ตอนที่เงินหมดระหว่างเที่ยวมันสุดแสนจะรันทดใจ แถมค่าบริการบอกเลยว่าไม่ถูกครับ
หากใครสนใจอุปกรณ์การเดินทาง เป้แบคแพค เสื้อแจ็คเก็ตกันลมกันฝน เสื้อขนเป็ด ลองจอน ถุงมือกันหนาว กระเป๋าใส่เงินกันขโมย
สามารถเข้าไปเลือกชมสินค้าได้ที่ ร้านของพวกเรา The Puffin House