How to capture “Northern Lights” เทคนิคการถ่ายภาพแสงเหนือ

0
6014

เทคนิคการถ่ายแสงเหนือ

บทความนี้ขอแบ่งออกเป็น 2 ส่วนนะครับ คือ

  • ในส่วนแรกคือขั้นเตรียมตัวซึ่งจะพูดถึงเรื่องสัพเพเหระต่างๆ และ
  • ในส่วนที่สองคือการออกไปหาประสบการณ์ภาคสนามนั่นเอง

ขั้นเตรียมตัว

1. เสื้อผ้ากันหนาว

ให้คิดภาพถึงเราต้องยืนอยู่กลางทุ่ง ที่มีแต่ความว่างเปล่า ท่ามกลางความหนาวของขั้วโลกเหนือ แถมยังมีลมที่พร้อมจะวิ่งผ่านผิวหนังสร้างความยะเยือกได้ทุกเวลา

ขอจัดเต็มนะครับ อย่าไปงกกับอุปกรณ์กันหนาวครับ จำเป็นจริง ๆ ถ้าเป็นไปได้ปิดทุกอย่าง ให้เหลือแต่ตาก็จะดีครับ พอลมมาปะทะหน้าทีทรมานสุด ๆ ล่าแสงเหนือมีแต่หนาวมากกับหนาวโคตร ๆ ครับ รองเท้า ถุงมือ อะไรนี่เอาสำหรับลุยหิมะ+กันลมเลยนะครับ เพราะส่วนที่หนาวที่สุด คือ ปลายมือปลายเท้าครับ ที่จะเริ่มชาก่อนจนไร้ความรู้สึก แล้วพวกที่ชอบถ่ายรูป ให้เลือกถุงมือที่พอใส่เข้าไปแล้ว เรายังสามารถใช้นิ้วมือได้เหมือนเดิม กดปุ่มนั่นนี่ได้เหมือนเดิม ไม่ใช่แบบใส่ที กดปุ่มอะไรไม่ได้สักอย่าง จะถ่ายรูปต้องถอดถุงมือทุกครั้ง อันนี้ตายยยยย

Iceland slide

ใส่ไปให้หมดนะครับ เริ่มตั้งแต่ Base layer > Fleece > Down jacket > ส่วน Windstopper แล้วแต่ว่าหน้างานมีลมหรือไม่ครับ
หากใครยังไม่มีเสื้อผ้าที่ว่า สามารถเข้าไปเลือกชมเพื่อสั่งซื้อสินค้าได้ที่ >>> www.thepuffinhouse.com

2. ไฟฉาย

ถ้าให้ดีควรเป็นไฟฉาย Headlight ครับ เพราะเราจะได้มีสองมือที่ว่างในการถ่ายภาพได้สะดวก ถ้าไม่มีจริง ๆ ก็คงต้องใช้ปากคาบไฟฉายแทน อย่าลืมนะครับตอนนั้นอุณหภูมิมันติดลบ หนาวสุด ๆ มือมันทำงานได้ไม่ถนัดเหมือนสาดน้ำสงกรานต์เดือนเมษายนครับ

แต่ให้ระวังนิดนึงตรงที่ ถ้าเราไปอยู่ในพื้นที่ถ่ายภาพยอดนิยมเช่น Kirkjufell การไปควงไฟฉายไปมาอาจจะโดนสวดมนต์เทศนาโดยคนแถวๆนั้นไปหลายกัณฑ์DSC_4750

3. อุปกรณ์กล้อง

ขาตั้ง (Tripod)

ขอแบบที่แข็งแรงพอสมควร ตั้งได้บนทุกสภาพพิ้นผิว จะหินดินทรายก็ไม่มีปัญหา และที่สำคัญคือบางครั้งลมแรงมาก ถ้าขาไม่แข็งแรงหรือหนักพอลมพัดปลิวไปจะซวยสุด หรืออีกอย่างไม่ใช่กางไป ขาหัก ที่จบเลยนะครับ ขาตั้งกล้องในไอซ์แลนด์มันไม่ได้หาซื้อง่ายเหมือนมาบุญครองบ้านเราครับ

สายลั่นชัตเตอร์หรือรีโมตลั่นชัตเตอร์ (Remote)

การเอามือกดลั่นชัตเตอร์ที่ตัวกล้องอาจจะทำให้กล้องสั่นได้ และการถ่ายภาพต้องใช้สปีดชัตเตอร์ที่ยาวนานหลายวินาที  จึงต้องมีเพื่อไม่ให้ภาพสั่นครับ จะเป็นสายลั่นหรือรีโมตก็ได้ตามสะดวก

แต่บางคนรวมถึงตัวผมเอง ในกล้องรุ่นที่มี Timer อยู่ เราก็สามารถที่จะตั้ง delay ตามเอาไว้ได้ กดปุ่มชัตเตอร์แล้วอีก 5 วินาที กล้องถึงจะยิงภาพ ก็จะช่วยลดปัญหาเรื่องกล้องสั่นไปได้พอสมควรครับ

กล้องถ่ายรูป (Camera)

ในตอนที่ผมไป พวกเรามีกล้อง 3 ประเภท คือ

  • Mirrorless (Sony รุ่น NEX-5R)-ปลา,
  • DSLR ชนิด กล้องตัวคูณ (Nikon D7000)-วิน และ
  • DSLR ชนิด ฟูลเฟรม (Nikon D610) –โจ้

บทสรุป คงจะไม่มีสูตรตายตัว ว่าอันไหนดีที่สุด มันขึ้นกับความต้องการของเรามากกว่า ถ้าต้องการภาพคุณภาพสูงก็คงต้องซื้อของดีๆซึ่งก็มักจะแพง แต่ถ้าไม่คิดอะไรมาก เอากล้อง Mirrorless ไปใช้ก็พอหยวนๆแบบถ่ายเอาขำๆมาอวดเพื่อนไรแบบนี้ครับ

เลนส์กล้อง (Lens)

สำหรับการเลือกเลนส์กล้อง มีสิ่งที่เราต้องคิดถึงประมาณนี้ครับ

  • เลนส์มุมกว้าง สำหรับการถ่ายแสงเหนือเราต้องถ่ายท้องฟ้ายามกลางคืน เก็บมุมกว้าง เนื่องจากเวลาแสงเหนือมาแบบจริงจัง นี่เรียกได้ว่า “ฟ้าระเบิด” มาแบบจัดเต็ม 360 องศารอบตัวเรา เลนส์มุมกว้างไม่กว้างให้ดูที่หน้าเลนส์จะเขียนไว้ เช่น 14mm, 20mm, 14-24mm, 16-35mm อะไรประมาณนี้นะครับ สรุปว่าถ้าต่ำกว่า 24 mm มาถือว่าใช้ได้ แต่จะมีข้อที่ควรทราบไว้คือ
    • กล้อง Full-frame – ตัวเลขหน้าเลนส์เท่าไร เราจะได้ระยะนั้นๆจริง เช่นใช้เลนส์ 16 mm เราก็จะได้ภาพ 16 mm  จริงๆ
    • กล้องตัวคูณ (APS) – ตัวเลขหน้าเลนส์เท่าไร เอาไปคูณประมาณ 1.4-1.5 นะครับ เช่นถ้าเราใช้เลนส์ที่ระยะ 16 mm ภาพที่เราจะได้จริงจะเป็นประมาณระยะ 24 mm
1402220666-DSC9970-o
อันนี้เป็นการใช้เลนส์มุม Normal ถ่ายนะครับ อาจจะไม่ได้เห็นมุมกว้างเต็มท้องฟ้า แต่ก็ได้รายละเอียดภาพแสงเหนือที่สวยงามไปอีกแบบ
1402219967-DSC2729-o
แต่ถ้าใช้มุมกว้าง เราจะได้ภาพที่ยิ่งใหญ่อลังการมาแทน สรุปดีคนละแบบ
  • เลนส์ที่มีความไวแสงที่มาก เลนส์ที่แนะนำว่าควรต้องมีในการล่าแสงเหนือ ควรเป็น F 2.8 หรือต่ำกว่า จะเป็น F 1.4 ก็ได้ยิ่งดี ถามว่ามีเลนส์ F 4.0 เอาไปใช้ได้มั้ย ตอบว่าได้ครับ แต่ต้องเพิ่ม ISO เพื่อถ่ายในระยะเวลา 5-12 วินาที ทำให้ภาพเกิด Noise ถ้าไม่ซีเรียสเรื่องคุณภาพมากก็เอาไปได้ครับ ถามต่อ…ก็ใช้ ISO น้อย ๆ ลาก speed shutter นาน ๆ สิ ตอบว่าได้ครับ แต่ดาวมันจะเคลื่อนที่ครับ ปกติเค้าจะใช้สูตร 400/ช่วงเลนส์ สำหรับกล้องตัวคูณเพื่อป้องกันไม่ให้ถ่ายภาพกลางคืนบนท้องฟ้าแล้วดาวเคลื่อนเป็นเส้น แทนจะเป็นจุด เช่น 400/11 mm คือ 36 วินาที หรือ สูตร 600/ช่วงเลนส์ สำหรับกล้องฟูลเฟรมครับ

แบตกล้อง (Battery)

สำหรับกล้อง DSLR ควรมีอย่างน้อยที่สุด 2 ก้อนขึ้นไป ลองคิดดูแสงเหนือกำลังระเบิด เลนส์มุมกว้างกล้องเพิ่งซื้อมาอย่างดี กล้องอย่างแพง แต่แบตดันหมดนี่เซ็งเลยนะครับ จากประสบการณ์เลยอย่างต่ำ 3 ก้อนครับ เนื่องจากการถ่ายภาพแสงเหนือ เราจะถ่ายอย่างเพลิดเพลินได้หลายๆชั่วโมง ซึ่งกว่าจะได้มาแต่ละภาพนี่กินแบตสุดๆ แล้วบางทีในช่วงเวลากลางวันเราไม่สามารถชาร์ตแบตเติมได้ทันอีก

เมมโมรี่การ์ด (SD Card)

เป็นสิ่งหนึ่งที่ควรคำนึง เนื่องจากภาวะอาการ “ถ่ายมันส์” ที่ไอซ์แลนด์มีวิวขั้นเทพให้กดชัตเตอร์รัว ๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน การพกหน่วยความจำที่ดีและเร็วที่เพียงพอก็เป็นเรื่องจำเป็น ข้อแนะนำ คือ ควรพกเมมโมรี่การ์ด Class 10 ขึ้นไป ถ้าต้องการถ่ายภาพทำ Time-Lapse เพื่อการประมวลผลที่รวดเร็วและทันใจ ขนาดความจุจะขึ้นกับชนิดกล้อง กล้องตัวคูณย่อมใช้หน่วยความจำที่น้อยกว่ากล้องฟูลเฟรม แบบนี้ต้องใช้ประสบการณ์ดูว่าปกติไปเที่ยวถ่ายรูปทริป ๆ หนึ่ง ใช้เมมโมรี่การ์ดมากแค่ไหน แล้วก็มาเปรียบเทียบเอา แต่ผมจัดไป 64 GB คือ SD card 32 GB 2 แผ่นครับ

Laptop or Notebook

เนื่องจากการไปทริปที่ระยะเวลายาวนานเกิน 1 สัปดาห์ การจะพกเมมไปแล้วคิดว่าถ่ายพอนั้น อาจจะไม่แน่เสมอไป จึงควรพกโน้ตบุ๊คและ External Harddisk เพื่อโอนไฟล์รูปที่เราถ่ายเก็บไว้ครับ ส่วนโน้ตบุ๊คอะไร ก็มีอะไรก็เอาไปแบบนั้น เอาให้เก็บให้พอเป็นใช้ได้

หรือในกรณีที่บางคนมีพวกเครื่อง Card reader ที่สามารถโหลดลง Harddisk ได้โดยตรงที่ไม่ต้องผ่านคอมก็สามารถทำได้เช่นกัน


ด้านบนเป็นอุปกรณ์พื้นฐานสำหรับการถ่ายรูปนะครับ

ตอนนี้เรามาดูรายละเอียดพอสังเขปของกล้องแต่ละตัวกันนะครับ เผื่อสำหรับคนสนใจ ใครโอเคแล้ว ผ่านได้เลยครับ

ถือเป็นการแชร์ประสบการณ์การใช้กล้องรุ่นต่างๆในการถ่ายภาพแสงเหนือนะครับ ใครที่ยังไม่ได้ตัดสินใจเรื่องกล้องอาจจะมีข้อมูลที่มากยิ่งขึ้นในการตัดสินใจว่าจะเอาตัวไหนไปไอซ์แลนด์ดี

cover3

การถ่าย Landscape และแสงเหนือที่ไอซ์แลนด์ด้วยกล้อง Mirrorless

ปัจจุบันกล้อง Mirrorless มีหลากหลายรุ่นมาก และบางรุ่นก็ยอดเยี่ยมกระเทียมดองสุดๆไปเลยครับ

อุปกรณ์หลักที่ใช้ถ่ายภาพครั้งนี้ ได้แก่

กล้อง Sony รุ่น NEX-5R (http://www.sony.co.th/product/nex-5rl)
เป็นกล้อง Mirrorless ที่มีเซนเซอร์แบบ Exmor™ APS HD CMOS ความละเอียด 16.1 ล้านพิกเซล
ISO Sensitivity AUTO (ISO100-25600)
ความไวชัตเตอร์ 1/4000 to 30 sec, Bulb
ข้อดี คือ น้ำหนักเบา สามารถพกใส่กระเป๋าใบเล็กได้สบาย อีกทั้งเลนส์ของกล้อง Mirrorless ก็มีขนาดเล็ก และเบา ทำให้เราสามารถแบกกล้อง พร้อมกับเลนส์ครบทุกช่วงลุยขึ้นเขา ลงห้วยได้อย่างคล่องตัว

เลนส์ที่ใช้เป็นเลนส์มุมกว้างกลุ่ม E-Mount ได้แก่ E 16mm F2.8 (SEL16F28) และ E 10-18mm F4 OSS (SEL1018) สำหรับถ่ายภาพแสงเหนือ และ Landscape ส่วนเลนส์อื่น  ๆได้แก่ เลนส์ซูมมาตรฐาน เลนส์ซูมไกล

อุปกรณ์เสริม ได้แก่

ขาตั้งกล้อง ซึ่งต้องใช้ขาตั้งกล้องที่มั่นคง รองรับน้ำหนักตัวกล้องและเลนส์ได้เหมาะสม ซึ่งจะช่วยไม่ให้อุปกรณ์สั่นไหว โดยการเลือกใช้ขาตั้งกล้อง mirrorless นั้น อาจใช้ขาตั้งกล้องที่มีน้ำหนักเบากว่ากล้อง DSLR ได้ เนื่องจากส่วนของทั้ง Body และ Lens ของ Mirrorless นั้น มีขนาดเบากว่ามากเมื่อเทียบกับกล้อง DSLR ทั่วไป

รีโมทคอนโทรล สำหรับกดสั่งชัตเตอร์จะช่วยลดการสั่นไหวจากการที่เราต้องสัมผัสกล้องในการกดชัตเตอร์ ลดความสั่นเบลอของภาพ

แบตเตอรี่สำรอง โดยส่วนตัวแล้วมีความรู้สึกว่าแบตเตอรี่หมดค่อนข้างเร็วกว่ากล้อง DSLR เมื่อเทียบจากการใช้งานที่เท่า ๆ กัน ยิ่งถ้าต้องถ่ายกลางคืนที่ต้องใช้การเปิดหน้ากล้องนาน ๆ ยิ่งหมดเร็วทีเดียว นอกจากนี้ การถ่ายแสงเหนือท่ามกลางอากาศหนาวๆก็จะทำให้แบตเตอรี่หมดเร็วขึ้นอีก ดังนั้น พกแบตเตอรี่สำรองไว้หลายก้อนหน่อยจะอุ่นใจกว่าค่ะ

Electronic Viewfinder เป็นช่องมองภาพแบบ Tru-Finder (เมื่อมองผ่านช่อง EVF นี้จะเห็นภาพที่เสมือนจอภาพที่แสดงบนจอ LCD กล้อง) เนื่องจากกล้อง Sony NEX-5R นี้ไม่มีช่องมองภาพติดมากับตัวกล้อง (แต่จอ LCD สามารถพับขึ้นได้ถึง 180 องศา ถือว่าได้อย่างเสียอย่าง เพราะบางคนก็ชอบที่จะปรับจอขึ้นมาถ่ายรูปตัวเองได้สบาย ๆ เลย) อุปกรณ์นี้จะมีประโยชน์สำหรับการถ่ายภาพกลางแดดจ้า ที่จะทำให้เรามองเห็นจอ LCD ไม่ชัด โดยต่อ EVFนี้เข้ากับช่องด้านบนซึ่งเป็นช่องเดียวกับ Flash ข้อเสีย คือ ราคาค่อนข้างแพง (8,990 บาท) ถ้าไม่ต้องการเสียเงินเพิ่มมากนัก อาจแก้ปัญหาเมื่อต้องไปถ่ายในที่แจ้ง คือ พับหน้าจอขึ้นเล็กน้อยเพื่อเลี่ยงแสงสะท้อนบนจอ LCD ก็จะช่วยได้ระดับหนึ่ง

ประสบการณ์ในการถ่ายแสงเหนือด้วยกล้อง Mirrorless

อุปสรรคในการถ่ายแสงเหนือด้วยกล้อง Mirrorless ครั้งนี้ คือ การโฟกัสภาพ เพราะแสงออโรร่าเมื่อดูด้วยตาเปล่า หรือมองผ่านกล้องนั้นมีความสว่างน้อยมาก จึงควรใช้การโฟกัสแบบ Manual และตั้งโฟกัสไปที่ Infinity ซึ่งเลนส์ของกล้อง DSLR หลาย ๆ ตัวก็จะมีปุ่มให้ปรับไปโฟกัส Infinity ได้เลย ไม่ต้องหมุนหาจุดโฟกัสเอาเอง แต่จากการที่ใช้เลนส์ Sony E-Mount ของกล้อง Mirrorless ทั้ง E 16mm F2.8 (SEL16F28) และ E 10-18mm F4 OSS (SEL1018) ซึ่งเลนส์ทั้งสองตัวนี้ไม่มีปุ่มให้ปรับไปโฟกัส Infinity ดังนั้น จึงต้องพยายามหมุนเลนส์ แต่ยากพอสมควรในการหมุนปรับ เพราะถ้าหมุนเลยไปนิดเดียวภาพก็จะหลุดระยะชัดได้ ทางแก้ คือ พยายามหาแหล่งกำเนิดแสงไกล ๆ เช่น ดวงไฟ แสงรถผ่าน แสงไฟบ้าน มาช่วยให้เราหมุนหาโฟกัสได้ง่ายขึ้น หรืออาจจะใช้ไฟฉายส่องไปจุดไกล ๆ ช่วย แต่กรณีนี้จะสร้างปัญหาให้กับช่างภาพคนอื่น ๆ ในละแวกนั้นที่มาล่าแสงเหนือด้วยกัน เพราะแสงของเราจะไปรบกวนการถ่ายภาพของเขาค่ะ

อาจจะมีทางเลือกใหม่ ๆ ได้แก่ หา Adapter แปลงให้สามารถนำเลนส์ของ Nikon หรือ Canon ที่สามารถปรับไปที่ระยะ Infinity ได้ มาใส่กับกล้อง Mirrorless แต่ขนาดเลนส์อาจจะไม่สมดุลและมีขนาดหนักขึ้นค่ะ สุดท้ายนี้รูปที่ออกมาอาจไม่งามดั่งใจมโนไว้…แต่ประสบการณ์และความผิดพลาดต่าง ๆ คือ การเรียนรู้เพื่อที่จะออกล่าแสงเหนืออีกครั้ง ☺

ตัวอย่างไฟล์ภาพ

1402229853-1001564910-o

สำหรับกล้องตัวคูณและเลนส์ที่ใช้ในทริป

Nikon d7000 body with Lens kit 18-105 mm F3.5 VR ราคา 20,000 บาท
Nikon AF-S DX VR 55-200mm f/4-5.6G IF-ED ราคา 4,500 บาท
Tokina AF 11-16mm f/2.8 ราคา 16,000 บาท


ประสบการณ์ในการถ่ายภาพแสงเหนือสำหรับ Nikon D7000

Nikon D7000 ถ้าเทียบในปัจจุบันนี่เรียกได้ว่าคุณปู่แล้ว แต่จากประสิทธิภาพของมันถ้าจะเอาไปถ่ายแสงเหนือ ถือว่าโอเคเลยครับ นั่นหมายความว่ากล้องรุ่นที่ใหม่กว่านี้ ย่อมเจ๋งกว่านี้แน่นอน

ตอนแรกผมก็ไม่ค่อยแน่ใจครับว่าประสิทธิภาพกล้องตัวคูณจะเปิด ISO ขนาด 3200 แล้วจะ Noise บานมั้ย เพราะไม่เคยถ่ายมาก่อนครับ ปกติถ่ายแต่ ISO 100-400 พอมาถ่ายจริงก็พบว่าใช้ได้เหนือความคาดหมายเลย แน่นอนครับว่ามี Noise เกิดขึ้น ถ้าสำหรับลงภาพใน FB หรือ Pantip อาจจะโอเคครับ แต่สำหรับคุณภาพที่สำหรับไปขายภาพในเว็บไซต์นี่จะได้หรือไม่ ผมยังไม่ได้ลองครับ เลยบอกไม่ได้ แต่โดยส่วนตัวผมคิดว่าคนที่ยังไม่มีกล้อง Full Frame แล้วไม่ได้จริงจังถึงคุณภาพไฟล์ภาพที่อยากได้มุมกว้างมากกว่ากล้องตัวคูณ และ Noise ที่น้อยกว่า จากคุณสมบัติของกล้อง Full Frame กล้องตัวคูณในทุกรุ่น ไม่ใช่แค่ D7000 กับเลนส์ Wide F 2.8 ก็เป็นตัวเลือกที่น่าพอใจครับ

ตัวอย่างไฟล์ภาพ

1402232886-Jokulsarlo-o

สำหรับกล้องฟูลเฟรมและเลนส์ที่ใช้ในทริป

Nikon d610 body ราคา 45,000 บาท
Nikon 16-35 F4 VR ราคา 37,000 บาท
Nikon 70-200 F4 VR ราคา 38,000 บาท
Tamron 24-70 F2.8 VR ราคา 27,000 บาท
Samyang 14mm F2.8 ราคา 13,000 บาท


ประสบการณ์ในการถ่ายภาพแสงเหนือ สำหรับ Nikon D610

Nikon D610 ถือเป็น Full-frame ตัวแรกๆในราคาเบาๆ แต่ถ้าเทียบในปัจจุบันนี่เรียกได้ว่าคุณอาแล้ว แต่ประสิทธิภาพของมันถ้าจะเอาไปถ่ายแสงเหนือ ถือว่าสุดตรีน นั่นหมายความว่ากล้องรุ่นที่ใหม่กว่านี้ ย่อมเจ๋งกว่านี้แน่นอน

เป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญเพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์จากกล้องตัวคูณ เป็นกล้องฟูลเฟรมด้วยราคาหลักแสนบาท แน่นอนว่าคุณภาพที่ได้มันย่อมสูงกว่าและดีกว่า กล้องตัวคูณอย่างเห็นได้ชัด ทั้งมุมมองที่กว้างขึ้นจากเลนส์ Wide หรือ การลด Noise ของภาพก็ทำได้ดีมากกว่าภาพจากกล้องตัวคูณ หากใครมีงบประมาณถึง ย่อมแนะนำให้เปลี่ยนมาใช้รุ่นใหญ่เลยดีกว่า แต่ถ้าใครไม่งบไม่ถึงก็มองว่ายังไม่จำเป็นถึงขึ้นต้องซื้อกล้อง Full Frame และเลนส์ใหม่ทั้งหมด เพื่อมาถ่ายแสงเหนือ เพราะกล้องตัวคูณก็สามารถถ่ายแสงเหนือได้ดีเช่นกัน ขอให้เลือกเลนส์ที่ดีในการถ่ายก็พอ

ตัวอย่างไฟล์ภาพ

1402233024-Jokulsarlo-o

ลองมาดูกันว่าในสถานการณ์จริง ๆ แล้ว เราเตรียมตัวไปเผชิญลมหนาวด้านนอก เพื่อล่าแสงเหนือกันยังไง มีคลิปให้ชมครับ


เอาละมาสู่ช่วงขั้นตอนสำคัญแล้วนะครับ เมื่ออยู่ในหน้างานแล้ว เราต้องทำอย่างไร ถึงจะมีภาพแสงเหนือมาอวดเพื่อนได้

ขั้นตอนขณะถ่ายภาพแสงเหนือ

1. สังเกตสีของท้องฟ้าว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ แสงเหนือจะเป็นแถบสีเทา ๆ (ซึ่งมันอาจจะเป็นเมฆที่กำลังเคลื่อนที่อยู่ก็ได้) ถ้าคนไม่เคยเห็นจะไม่แน่ใจ ให้ลองยกกล้องขึ้นมาถ่าย โดยยังไม่ต้องตั้งขาตั้ง โดยอาจเซตค่ากล้อง ดังนี้ ISO 6400, Speed 3-5 sec, F2.8 ถ้าใช่รูปหลังกล้องจะมีแสงสีเขียวชัดเจน ถ้าไม่ใช่รูปหลังกล้องจะเป็นสีเทาทึมๆ (อันนี้คือเมฆ T_T) เช่นเดิม

2. พาตัวเองไปอยู่ในที่ปลอดภัย ไร้แสงรบกวนจากรถที่วิ่งมาตามถนน ตั้งขาตั้งกล้องให้มั่นคง รู้ว่ามือไม้สั่น ตื่นเต้น ทำอะไรไม่ถูก พยายามเลือกฉากหน้าเป็นภูเขา ธารน้ำแข็ง บ้านคน หรือโบสถ์เท่าที่เป็นไปได้

3. ให้ Set ค่ากล้องเป็น Mode Manual ดังนี้

ISO 800-3200 แสงเหนือสว่างมาก ก็ ISO 800 แสงเหนือสว่างน้อยก็ ISO 3200

F 2.8 หรือต่ำกว่า เพื่อเก็บภาพกลางคืนที่ให้ความสว่างที่มากกว่า ในสปีดชัตเตอร์ที่ยาวนานเท่ากัน

Shutter Speed 5-30 sec. ถ้าแสงเหนือสว่างมากก็แค่ 5 sec ถ้าแสงเหนือสว่างน้อยก็ 30 sec แต่ระยะเวลาที่แนะนำ คือ 5-15 sec เพราะแสงเหนือมันเปลี่ยนรูปร่างอยู่ตลอดเวลาครับ ถ้าอยากถ่ายให้มันดูเหมือนมีรูปร่างต้องเปิดชัตเตอร์ไม่นานมากครับ

เปลี่ยน Mode Auto focus เป็น Manual focus พร้อมโฟกัสไปที่ระยะอนันต์ ระวังฉากหน้าที่เลือกมา เพราะการเลือกฉากหน้าที่ใกล้มาก ๆ เมื่อโฟกัสภาพไปที่ระยะอนันต์ จะทำให้ฉากหน้าเบลอได้

ถอดฟิลเตอร์ทุกชนิดที่ติดอยู่กับตัวเลนส์ให้หมดครับ

ปรับโหมดจากกดชัตเตอร์ด้วยมือ เป็นกดชัตเตอร์ด้วยการควบคุมจากสายลั่นหรือรีโมทไร้สาย

เปิดโหมด High ISO Noise Reduction ให้เป็น ON

เปิดโหมด Long Exposure Noise Reduction ให้เป็น ON ข้อแนะนำสำหรับโหมดนี้ ถ้าคนที่ต้องการถ่ายภาพ Time lapse จำเป็นต้อง OFF ครับ

ถ่ายภาพในโหมดไฟล์ RAW เพื่อนำมาปรับแต่ง White Balance ได้ในภายหลัง

ปิดไฟฉาย ไฟรถ ไฟทุกชนิดที่ทำให้เกิดมลภาวะทางแสงที่จะรบกวนการถ่ายภาพแสงเหนือ

เพลิดเพลินกับแสงเหนือ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ให้เหมือนกับว่าคืนนี้อาจเป็นคืนสุดท้ายที่จะได้เห็นแสงเหนือแล้วในชีวิต


หากใครสนใจอุปกรณ์การเดินทาง เป้แบคแพค เสื้อแจ็คเก็ตกันลมกันฝน เสื้อขนเป็ด ลองจอน ถุงมือกันหนาว
สามารถเข้าไปเลือกชมสินค้าได้ที่ ร้านของพวกเรา The Puffin House

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.