“เบตง” ยังคง “โอเค” บันทึกการเดินทาง 4 วัน

0
4000

“เบตง” พูดชื่อนี้ขึ้นมา ใครๆหลายคงนึกถึง เมืองในหุบเขา ไก่ตอนแสนอร่อย หรือเมืองใต้สุดแดนสยาม ผมก็เช่นเดียวกัน นึกอยากจะมาหลายครั้งต่อหลายครั้ง แผนการเดินทางก็ต้องเป็นหมันอยู่ทุกครั้งเมื่อเปิดจอโทรทัศน์หรืออ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ เรื่องราวต่างๆที่เราเห็นจากสื่อเหล่านี้ ล้วนทำให้ความคิดจะมาเยือนเป็นอันต้องมลายหายไปทุกที ครั้งนี้ผมเตรียมข้อมูลอยู่นานเพื่อจะวางแผนการเดินทางให้ปลอดภัยที่สุด แล้วสุดท้ายยังได้เพื่อนร่วมทีมที่เพียงแค่หย่อนไปคำถามเดียวว่า “ไปไหม” คำตอบที่ได้คือ “โอเค” ไดอารี่การเดินทางรอบนี้จึงบังเกิดขึ้น ผมจะพาไปพิสูจน์ว่า “เบตง” ยังคง “โอเค” อยู่เสมอครับ

จุดเริ่มต้นของการเดินทาง เริ่มต้นที่นี่ “เมืองปัตตานี”

หนึ่งในจุดหมายปลายทางของคนไทยพุทธทุกคนที่มาที่นี่ก็คงหนีไม่พ้น มาสักการะ “ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” เพื่อมาขอพรหรือขอสิ่งที่ตนเองปรารถนา

รูปปั้นที่เห็นอยู่อันนี้คือ องค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ประวัติความเป็นมาของเจ้าแม่มีมาตั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว
บรรยากาศทั้งภายในและภายยอกดูเงียบเหงาไปมากทีเดียวครับ ถามจากผู้ดูแลแล้ว ที่นี่จะคึกคักก็ช่วงเทศกาลของชาวจีนเช่น ตรุษจีน หรือกินเจ อะไรแบบนี้

คงมีแค่ดินแดนแถบนี้เท่านั้นที่เวลาจอดรถมอเตอร์ไซด์แล้วต้องเปิดเบาะออก และต้องจอดที่เกาะกลางถนนอีกด้วยครับ ชาวบ้านแถบนี้ก็พร้อมใจที่จะทำตามกันเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจซึ่งกันและกัน ทั้งรถใหญ่และรถเล็กถ้าอยู่ในเขตเมืองเท่าที่เห็นต้องมาจอดที่เกาะกลางถนนหมดครับ

ส่วนพื้นที่ริมทางเท้า ก็จะมีแผงกั้นไว้ห้ามจอดรถทุกชนิด ที่เห็นจอดอยู่น่าจะเป็นรถของเจ้าของร้านเองเหรอป่าวก็ไม่รู้ครับ

ช่วงเช้า อากาศกำลังดี แดดกำลังเหมาะเดินออกจากถนนเส้นหลักไปที่สวนริมฝั่งแม่น้ำปัตตานีคนน้อยมากครับ เดินได้สบายมากๆ

ศาลหลักเมืองประจำจังหวัด

แม่น้ำปัตตานีก็เหมือนกับแม่น้ำสายอื่นๆในประเทศไทยครับเป็นเส้นเลือดหลักของดินแดนภาคใต้ตอนล่างและของประชาชนที่นี่ความยาวกว่า 200 กิโลเมตรจากต้นน้ำเทือกเขาสันกาลาคีรีไหลลงสู่ทะเลที่อ่าวไทย

ไม่ว่าจะเป็นคนไทยที่ไหนๆเราก็อยู่ห่างจากสายน้ำไม่ได้

ได้เวลาอาหารเช้าแล้วเป้าหมายของเราคือที่นี่ครับ ร้าน “นำรส”ได้ยินเสียงลือ เสียงเล่าอ้างมานาน“ซูเปอร์ราดหน้าแห่งเมืองปัตตานี” ผมเรียกแบบนั้น เปิด 9 โมงเช้า – 5 โมงเย็นของทุกๆวัน ร้านราดหน้าร้านนี้เปิดมาจะ 30-40 ปีแล้วครับ คนแถวนี้รู้จักหมด ผมว่าคนทั้งภาคใต้เลยมั๊งครับ ถามใครๆก็รู้จัก ตอนนี้เป็นทายาทรุ่นที่ 2 แล้ว

…….

หลังจากอิ่มพุง ก็เดินทางกันต่อออกจากปัตตานีมาวิ่งลงมาทางใต้มากขึ้น สู่จังหวัด “ยะลา” เมืองที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองที่ผังเมืองสวยที่สุดในประเทศไทย ศาลหลักเมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางวงเวียนประจำเมืองพอดี จึงถือได้ว่าเป็นจุดศูนย์กลางของเมืองอย่างแท้จริง ต่อจากนี้ไปเราจะวิ่งเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 410ผ่านอำเภอกรงปินัง บันนังสตา ธารโต และ เบตง

ทีนี้มาพูดถึงการเดินทางไปเบตง

ปัจจุบันเรามีทางให้เราเลือก 2 ทางคือ

1.    อ้อมไปทางมาเลเซียทางด่านสะเดา แล้วกลับเข้ามาประเทศไทยอีกครั้งที่ด่านอำเภอเบตง

2.    มาตามเส้นทางหลวง 410 วิ่งผ่านอำเภอกรงปินัง บันนังสตา และธารโต เส้นทางหลัก

ทางแรก พูดง่ายๆ ออกจากไทยไปมาเลย์ แล้วก็ออกจากมาเลย์มาเข้าไทยอีกที ทางนี้จะไม่ผ่าน 3 จังหวัดชายแดนใต้เลยครับ เขาว่ากันว่าทางนี้ “ปลอดภัย สบายใจ” ซึ่งส่วนใหญ่รถประจำทางจากหาดใหญ่จะวิ่งทางนี้กันหมดแล้ว

ทางที่สอง อันนี้ทางมาตรฐาน วิ่งผ่านจังหวัดปัตตานีและยะลา วิ่งตามเส้นทางหลักที่เป็นเส้นทางเดียว ผ่านอำเภอต่างๆจนถึงเบตง ทางนี้คือทางที่คนท้องถิ่นใช้กันเป็นปกติ

ออกจากอำเภอเมืองยะลา มีจุดตรวจทหารเป็นระยะตลอดทางจนมาถึงที่อำเภอบันนังสตา หลักกิโลเมตรที่ 46 ของทางหลวงหมายเลข 410 หลบเข้าไปจากทางสายหลักประมาณ 10 กิโลเมตร เราจะมาเจอสถานที่ๆเรียกได้ว่า เป็น “ดินแดนที่ถูกลืมจากคนภายนอก” (แต่ไม่ใช่สำหรับคนภายใน)

จุดพักผ่อนหย่อนใจบนจุดชมวิวเหนือเขื่อนทำไว้ดีถึงดีมากจริงๆครับ สภาพการดูแลก็ยังถือว่าอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มากไม่แพ้เขื่อนรัชชประภาหรือเขื่อนเชี่ยวหลานอันโด่งดังเลยครับ แต่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนที่แห่งนี้น้อยมากๆ มุมมองจากภายในศาลาพักพ่อนภาพสันเขื่อนบางบางอยู่เป็นฉากหน้า มีแนวเทือกเขาสันกาลาคีรีและป่าบาลาฮาราเป็นฉากหลัง

หมู่บ้านใต้สันเขื่อน “หมู่บ้านบางลาง”กลางขุนเขาสันกาลาคีรี เขื่อนบางลาง นับเป็นโครงการพัฒนาแม่น้ำแห่งแรกของภาคใต้ตอนล่าง

ภาพความอุดมสมบูรณ์ด้านหลังคือแนวของ “ป่าฮาลา” หรือป่าอแมซอนแห่งลุ่มน้ำปัตตานี

“ป่าฮาลา” เป็นป่าที่อยู่ทางชายแดนฝั่งยะลาเป็นป่าที่อยู่ทางชายแดนฝั่งนราธิวาศ เรามักได้ยินชื่อรวมๆกันว่า “ป่าบาลาฮาลา” หรือ “ป่าฮาลาบาลา” แล้วแต่ว่าเราจะเรียกชื่อด้านไหนก่อน ถือเป็นเขื่อนที่มีทิวทัศน์และบรรยากาศที่สวยมากอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทยเลยครับ แต่ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ที่นี่ดูเงียบเหงาซบเซามาก

สะพานข้ามเขื่อนที่สร้างขึ้นใหม่ เพื่อย่นระยะเวลาการเดินทางที่คดเคี้ยวบนภูเขาแล้วยังกลายเป็นจุดชมวิวที่สวยงามมากอีกจุดหนึ่ง

ฉากหลังไกลๆนั่นก็ยังคงเป็นผืนป่าอันยิ่งใหญ่ “ป่าบาลาฮาลา” มีความสำคัญในฐานะเป็นแหล่งรวมพันธุกรรมระบบนิเวศน์ที่ยังคงสมบูรณ์อยู่มาก เป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำสายสำคัญ 3 สาย คือ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำโกลก หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

หลังจากเมารถกันได้ที่ จนกระเพาะอาหารเริ่มปั่นป่วน ระดับความโค้ง ก็น้องๆแม่ฮ่องสอนเลย เราก็มาถึงเบตงกันพอดิบพอดี

ก่อนจะมาเยือนเบตง ลองไปหาหนังเรื่องนี้มาดูก่อนเพื่อเพิ่มอรรถรสในการท่องเที่ยว

ตะลอนทัวร์กันแต่หัวรุ่ง รถยนต์ยังต้องเติมน้ำมัน ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่ คนต้องเติมพลัง กันแล้วร้านอาหารที่ผมมาใครๆเขาก็มากันคือ ร้านต้าเหยิน นี่เองครับ มีสาขาเบตงเป็นสาขาดั้งเดิม และมีสาขาที่สองที่อำเภอหาดใหญ่ด้วยนะครับ

เอกลักษณ์อีกอย่างของเบตง คือ เป็นอำเภอเดียวในประเทศไทย ที่มีป้ายทะเบียนรถยนต์เป็นของตัวเองเนื่องด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ไกลจากอำเภอเมืองมากนั่นเองครับป้ายสีเหลืองคือป้ายทะเบียนของทางฝั่งมาเลเซียครับ

“ป้ายใต้สุดแดนสยาม” ตั้งอยู่บริเวณชายแดนปลายสุดถนนทางหลวงหมายเลข 410 ห่างจากตัวเมืองประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นแนวเขตแดนระหว่างอำเภอเบตง กับรัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย ที่นี่คือหมุดแผ่นดินอันสุดท้ายที่อยู่ใต้ที่สุดของประเทศไทยครับ

ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์นี่เองที่ทุกๆด้านถูกล้อมรอบด้วยเทือกเขาและป่าดงดิบผืนใหญ่การเดินทางนอกจากถนนเส้นหลักแล้ว ทำได้ลำบากมากจึงทำให้ปัญหาความขัดแย้งจากภายนอกไม่สามารถแทรกซึมเข้ามาในพื้นของเขตเมืองเบตงได้

อีกทั้ง “เบตง” เป็นเมืองที่เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่ชัดเจนมากๆคนไทย คนจีน คนมุสลิม คนมลายูทุกๆคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของที่นี่ยังคงทำให้เบตงมีสันติสุขอยู่จนถึงทุกวันนี้ เบตง ถือเป็นเมืองเศรษฐกิจชายแดนใต้คล้ายๆกับ สุไหงโกลก ของนราธิวาส “เบตง” มีสถานะเป็นอำเภอนะครับเห็นแบบนี้แล้วบางทีคิดว่าเป็นอำเภอเมืองไปซะอีก

“โรงแรมแกรนด์ แมนดาริน เบตง” โรงแรมที่หรูที่สุด สูงที่สุด และแพงที่สุดในเบตง เริ่มต้นที่คืนละ 1,400 บาท/ห้อง

สิ่งหนึ่งที่ผมชอบมากในเมืองเล็กๆแห่งนี้คือ “ศูนย์กีฬากลางหุบเขา และสวนสุดสยาม” เขามาทำสวนสาธารณะและสนามกีฬาทุกอย่างไว้ที่เดียวกันกลางหุบเขาเลยนี่แหละครับ คนที่นี่ก็จะใช้สถานที่เหล่านี้แหละครับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจหลังจากทำงานมาทั้งวัน

“ใครจะรู้ว่าในพื้นที่กลางหุบเขาเช่นนี้ จะมีความยิ่งใหญ่ของสนามกีฬาซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญของชาวเบตง ที่นอกจากใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจแล้ว สถานที่แห่งนี้ ยังเป็นสนามกีฬาที่ตั้งอยู่ในระดับความสูงที่สุดของประเทศไทยอีกด้วย” คนเบตงคนหนึ่งได้กล่าวเอาไว้ คงมีแค่ไม่กี่เมืองในประเทศไทยที่สามารถสัมผัสความชิวได้ในทุกๆวินาทีของการดำเนินชีวิตไม่มีรถติด ไปไหนมาไหนกำหนดเวลาได้แน่นอน และยังได้ออกกำลังกายเพิ่มพลังชีวิตแบบนี้ทุกวันอีกด้วย

“พิพธภัณฑ์เมืองเบตง”บรรจุเรื่องราว เรื่องเล่าต่างๆของเบตงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และยังเป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุดของเมืองอีกด้วย

องค์ประกอบหลายๆอย่างทำให้ “เบตง” กลายเป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์ในตัวเองอย่างชัดเจนไม่เหมือนใคร และยากที่จะหาใครมาเหมือนไม่ว่าจะมองจากมุมไหนๆของเมืองหอนาฬิกาก็จะตั้งอยู่เด่นเป็นประกายเสมอ เมื่อพระอาทิตย์ลาลับไปชีวิตของคนทำงานกลางวันพึ่งจบลงแต่ชีวิตของคนทำงานกลางคืนพึ่งเริ่มต้น

เช้าวันรุ่งขึ้น ออกเดินชมเมืองอีกครั้งบรรยากาศภายในเบตงยังดูธรรมดาและปลอดภัยมากๆครับชีวิตดำเนินกันไปอย่างปกติมากๆ

“บะหมี่เบตง” อร่อยจนยังต้อง งง

“โรงเรียนจงฝามูลนิธิ” โรงเรียนที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองผลิตคนเบตงคุณภาพจากรุ่นสู่รุ่นเป็นรากฐานที่มั่นคงให้แก่เมืองนี้มาตลอด ด้วยอาคารที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ที่นี่สอนระบบสามภาษานะครับ คือ ไทย อังกฤษ และ จีน เดินลงมาด้านล่างอย่างกับมาเที่ยวเมืองจีน นับเป็นโรงเรียนที่น่ามาสัมผัสบรรยากาศการเรียนอย่างมากเลยครับ

ถัดจากโรงเรียนจงฝาไปอีกนิดนึงก็จะพบกับ วัดพุทธาธิวาส หรือ วัดเบตง ภายในวัดมี“พระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ” โดยในองค์มหาธาตุเจีดย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุอยู่ครับ สถาปัยตกรรมแบบศรีวิชัยประยุกต์ขนาดความสูงเท่ากับตึก 13 ชั้น สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสมงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษา ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เขาว่ากันว่าที่นี่เป็นพระธาตุที่มีความสวยงามที่สุดในภาคใต้

ด้วยความที่วัดมีที่ตั้งทำเลอยู่บนเนินเขาทำให้ทุกอย่างถูกสร้างอย่างลดหลั่นกันมา ทำให้วัดนี้มีความโดดเด่นไม่เหมือนวัดแห่งอื่นๆ พระอุโบสถของวัดแห่งนี้ภายในจะมีรูปหล่อขนาดเท่าร่างจริงของหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดอยู่

“พระพุทธธรรมกายมงคลประยุรเกศานนท์สุพพิธาน” เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยประเภททองสัมฤทธิ์ พระพุทธรูปองค์นี้ได้หล่อจากประเทศจีนและจัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญในพระพุทธศาสนาประจำเมืองเบตง

นอกจากในเมืองแล้วสถานที่รอบนอกก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กันครับแถบนี้เป็นภูเขาหมด ต้องขับรถกันมาดีๆ โค้งเยอะมากกกกเริ่มต้นกันที่ “อุโมงค์ปิยะมิตร”

ที่นี่เป็นเครือข่ายระบบอุโมงค์ใต้ดินที่พรรคคอมมิวนิสต์มลายา ใช้เป็นที่ซ่อนกำลังและทำสงครามจรยุทธ์กับทางรัฐบาลในสมัยนั้น ในรูป : เป็นการสาธิต “เตาขงเบ้ง” หรือเตาหุงอาหาร ทำยังไงไม่ให้มีควัน เพื่อป้องกันการตรวจพบจากข้าศึกฝ่ายตรงข้าม

อุโมงค์ด้านในเปิดให้เข้าชมและเดินดูได้มีทางเข้าออกเชื่อมถึงกันถึง 9 ด้านระหว่างทางจะมีป้ายกำกับเป็นระยะว่าห้องที่เราอยู่คือห้องไหนห้องนอน ห้องครัว ห้องเก็บเสบียง ห้องบัญชาการ ดูให้รู้ว่าคนสมัยก่อนนี้อุดมการณ์ในความคิดเขาทำให้เขายอมทนลำบากได้ขนาดไหน

ในอดีตอุโมงค์แคบและเล็กกว่านี้เยอะมากครับ ตอนที่ตอนแรกสร้างนี้ใช้มือคนขุดทั้งหมดนะครับ เวลาเดินต้องก้มตัวลง แต่ปัจจุบันทางการได้ขยายขนาดให้คนเดินได้สบายๆ และติดไฟตามทางเดินส่องสว่างเดินได้ง่ายมากๆครับ ไม่ต้องกลัวที่แคบหรือที่มืดเลย

คุณอาท่านนี้เป็นคนเชื้อสายจีนแท้ๆเป็นลูกหลานของอดีตสหายพรรคคอมมิวนิสต์มลายาที่กลายเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในภายหลังเป็นคนเดินแนะนำนักท่องเที่ยวให้รู้จักเส้นทางต่างๆครับ

นอกจากอุโมงค์แล้วก็ยังมีพิพิธภัณฑ์ที่เก็บสิ่งของเครื่องใช้ในสมัยนั้นอย่างในภาพเป็นเครื่องมือแพทย์ในสมัยเป็นโรงพยาบาลสนามในสมัยนั้น

ออกจากหมู่บ้านปิยะมิตรขับรถขึ้นเขาสูงขึ้นไปอีกสู่ “สวนหมื่นบุปผา” หรือสวนดอกไม้เมืองหนาว ด้วยระดับความสูงจากน้ำทะเลเกือบพันเมตรทำให้สภาพอากาศเย็นพอที่จะให้ดอกไม้เหล่านี้ได้มีโอกาสออกดอกออกผลให้เราได้เชยชมครับ อีกทั้งยังเป็นสวนดอกไม้เมืองหนาวแห่งเดียวในภาคใต้อีกด้วย สำหรับคนใต้เราไม่ต้องไปถึงเชียงรายก็มีดอกไม้นานาพรรณ หลากหลายสีสรรให้ดูเหมือนกัน

นอกจากสวนแล้ว ที่นี่ยังเป็นหมู่บ้านที่ทางการให้อดีตครอบครัวผู้ร่วมพัฒนาชาติเป็นผู้ดูแลสวนและสร้างอาชีพให้คนแถวนี้ครับ ดังนั้นคนที่นี่ก็คืออดีตคนจีนเก่านั่นเอง พูดได้ทั้งไทยและจีน แต่ดูเหมือนว่าพูดจีนจะชัดกว่าพูดไทยซะอีกครับอาคารที่เห็นข้างหน้าคือบ้านพักที่เราสามารถมาพักค้างคืนได้

สวนที่นี่ได้รับการดูแลให้อยู่ในสภาพที่ยังสมบูรณ์อยู่มากครับ แต่นักท่องเที่ยวน้อยถึงน้อยมากนอกจากคนไทยท้องถิ่นที่เห็นไม่กี่คนแล้วก็เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียที่มาเที่ยวบ้านเรานี่แหละ เบตงพร้อมจะต้อนรับคนไทยทุกๆคนที่มาเยี่ยมชมที่นี่เสมอ

ยามบ่ายๆ เมื่อแสงแดดเริ่มลดอุณหภูมิตัวเองลง “บ่อน้ำร้อนเบตง” เป็นอีกหนึ่งสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนเมืองที่มาผ่อนคลายกันหลังเมื่อยล้าจากการทำงานมาทั้งวัน

นอกจากบ่อน้ำร้อนแล้วยังมีรีสอร์ต แอนด์ สปา ไว้ให้บริการอีกด้วย มองเห็นไอน้ำจากความร้อนที่ลอยอยู่ผิวน้ำไหมครับ พื้นที่ริมบ่อใหญ่นี้ชาวบ้านต่างมาจับจองปูเสื่อ นอนเอกเขนก หรือมาจู๋จี๋กันตามประสาหนุ่มสาว

กลับมาที่เมืองกันอีกครั้งผมอยู่ที่นี่เป็นวันที่สามแล้ว ความปลอดภัยยังคงสัมผัสได้ทุกตารางนิ้วในเบตง คนเบตงทุกก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า“เบตงปลอดภัย”ด้วยจากหลากหลายเหตุผล

“อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ หรือ อุโมงค์เบตง”

“…… การใช้วิศวกรรมชั้นสูง ในการก่อสร้างเป็นจุดเด่นแห่งอุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์อุโมงค์รถยนต์ลอดที่ได้ชื่อว่าใหญ่ที่สุด สวยที่สุด และเป็นหนึ่งในประเทศไทยที่ตระหง่านอยู่กลางความภาคภูมิใจของชาวเบตง และชาวไทยทุกคน ……” คนเบตงได้กล่าวเอาไว้อีกเช่นกันครับ อุโมงค์นี้สร้างขึ้นโดยการเจาะทะลุภูเขาเข้าไปเลยเชื่อมกันระหว่างเขตเมืองใหม่และเมืองเก่าอยู่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองมากว่า 13 ปีแล้ว ด้านในทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กนับเป็นอุโมงค์รถลอดภูเขาแห่งแรกในประเทศไทยนอกจากจะช่วยเรื่องการจราจรแล้วยังกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ไปซะอีกด้วย

ติดตามการเดินทางของพวกเราเพิ่มเติมได้ที่ >>>https://worldwantswandering.com/

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.