จดเอาไว้ให้ขึ้นใจกับยาที่ควรติดตัวเอาไว้เวลาไปเที่ยว

0
7220

Medication-check-list-page-002 (1)

มีความเข้าใจผิดมากมายเกิดขึ้น ผมเลยจะมาขอสรุปยามาตรฐานที่ควรจะเอาติดตัวเวลาไปเที่ยวยังที่ต่างๆนะครับ เดี๋ยวจะว่ากันเป็นทีละตัวเลย

ยาทุกตัวเห็นเป็นชื่อยาจริงๆ (Generic name) ไม่ใช่ชื่อยี่ห้อการค้า (Trade name) นะครับ

เช่น Paracetamol คือชื่อยาจริงๆ แต่ยี่ห้อการค้าอาจจะเป็น Tylenol, Sara อะไรก็แล้วแต่ คือคนไทยเข้าใจกันเอง แต่ไปบอก Tylenol นี่ หมอต่างชาติงงครับ

ดังนั้นจะขอพูดถึงภาษาสากลเป็นหลัก คุยกับหมอ เภสัชกร พยาบาล ได้เหมือนกันทั่วโลก

ตัว Checklist ผมมีลิงค์เอาไว้ให้ดาวน์โหลดไปใช้ได้อยู่ทางด้านล่างนะครับ


ต้องเอายาไปให้ทั้งหมดนี้เหรอไม่

บางคนเห็นแล้วรู้สึกว่าทำไมมันเยอะจัง

จริงๆแล้วไม่ต้องเอาไปทั้งหมดนี้หรอกครับ มันขึ้นอยู่กับประเทศที่เราไป จำนวนวันที่เราอยู่ กิจกรรมที่เราจะทำด้วยครับ

  • ถ้าไปกับทัวร์ยุโรป อาจจะไม่ต้องนำอะไรไปเลยด้วยซ้ำ
  • ถ้าไปแบ๊คแพคอินเดีย แบบนี้ก็ต้องเตรียมไปมากหน่อย อะไรแบบนี้ครับ
  • หรือในขณะที่บางคนไม่เคยเป็นภูมิแพ้มาก่อนในชีวิตเลย ยาแก้แพ้สำหรับเขาแล้วมันอาจจะดูไม่ค่อยจำเป็นเลยก็ว่าได้

ยาแก้แพ้ 

เอาไว้ใช้ทำอะไร > ลดน้ำ ลดอาการคัดจมูกได้บ้าง ผื่นแพ้ อะไรพวกนี้ครับ

มีหลายตัวมาก คนที่ใช้เป็นประจำจะรู้จักกับมันดี ถ้าถามว่าแนะนำตัวไหน ก็คือได้ทุกตัว เพียงแต่ถ้าเป็นยารุ่นเก่าๆเช่น CPM กินแล้วมันจะง่วงก็เลยไม่ค่อยแนะนำเท่าไร

  • Loratadine หรือ Cetirizine จึงเป็นตัวที่ใช้กันบ่อยที่สุด ขนาดยาคือ 1 เม็ด หลังอาหาร วันละ 1 เม็ด
  • Fexofenadine, Levocetirizine, Desloratadine ยาพวกนี้ใหม่กว่า แต่ราคาจะแพงกว่า พวกนี้กินวันละ 1 เม็ดครับ

ยาแก้คัดจมูก

ยาตัวนี้ต้องระวังการนำเข้าประเทศให้มาก เพราะว่าบางประเทศถือว่าเป็น ยาต้องห้าม

ในอดีตเราใช้พวก Actifed ซึ่งมียา Pseudoephredine เป็นส่วนประกอบ ซึ่งดันมีคนเอาไปทำเป็นยาเสพติด ผลปรากฎคือโดนแบนยาว ประเทศในยุโรป-ญี่ปุ่นจึงห้ามเอาเข้าประเทศ

  • ในประเทศไทยเราจึงมาแนะนำให้ใช้ Phenylephrine แทนครับ ตัวนี้ไม่โดนแบน แต่ฤทธิ์แก้คัดจมูกจะสู้ตัวเดิมไม่ได้ แต่ก็ดีกว่าไม่มีอะไรเลย
  • ขนาดยาคือ 1 เม็ด หลังอาหาร ทุกๆ 6 ชั่วโมง
  • จริงๆจะมีแบบยาหยอดจมูก แต่ไม่ค่อยเหมาะกับนักเดินทางเท่าไร จึงไม่ค่อยแนะนำครับ

ยาทาแก้แพ้

ยาทาแก้แพ้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสเตียรอยด์ทั้งสิ้น ดังนั้นการใช้ต้องมีความระมัดระวัง

พยายามเลือกชนิดที่มีฤทธิ์อ่อนที่สุด เพื่อผลข้างเคียงจะได้น้อยที่สุด

  • 1% Hydrocortisone เป็นยาที่ถูกแนะนำ (ไม่แนะนำยาชนิดอื่นเนื่องจากอาจจะเป็นสเตียรอยด์ที่แรงกว่า)
  • เอาไปทาบางๆ ตรงบริเวณที่แพ้ ได้วันละ 2-3 ครั้งครับ
  • ไม่ควรใช้ทาบริเวณเดิมซ้ำๆ มากกว่า 7 วันติดต่อกัน

ยาแก้ไอ

ยาแก้ไอมี 2 แบบคือ แบบไอแห้งๆ และแบบไอมีเสมหะ

  • ไอแห้งๆ เรามักจะใช้ยาที่กดการไอเป็นหลัก ไม่ได้มีฤทธิ์ขับเสมหะ คือ Dextrometrophan กินวันละ 1 เม็ด หลังอาหาร 3 เวลาครับ
  • ไอแบบมีเสมหะ เราจะไปใช้ยาที่มีฤทธิ์ขับเสมหะแทน คือ Bromhexine หรือ Acetylcysteine กินวันละ 1 เม็ด หลังอาหาร 3 เวลาเหมือนกัน

ยาแก้ไอบางตัวเป็น ยาต้องห้าม ในบางประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Codeine ไม่แนะนำให้พกไปต่างประเทศ โอกาสโดนซิวสูงมาก


ยาระบายชนิดอ่อน

  • เอาไว้กินเวลาที่มีอาการท้องผูก ตัวที่แนะนำมีฤทธิ์อ่อน จึงเหมาะกับนักท่องเที่ยว
  • Senna หรือ Bisacodyl เป็นตัวที่แนะนำ
  • ขนาดยาคือ 1-2 เม็ด ก่อนนอน กินเฉพาะตอนที่มีอาการท้องผูกเท่านั้น

ยาแก้เมารถ มาเรือ

  • คนขี้เมาจะคุ้นเคยกับมันดี คือ ยาเม็ดเล็กๆสีเหลืองนั่นแหละครับ เรียกว่า Dimenhydrinate
  • ขนาดป้องกัน : ใช้สำหรับรู้แน่ๆว่าเรากำลังจะเมาในไม่ช้านี้ กิน 1 เม็ด ก่อน 30-60 นาทีที่จะขึ้นรถ เรือ หรือเครื่องบิน
  • ขนาดรักษา : กิน 1 เม็ดทุกๆ 6 ชั่วโมง ถ้ายังมีอาการ

ยาแก้ปวดหรือลดไข้

  • Paracetamol ถือเป็นยาที่มีความปลอดภัยในการใช้สูงมาก เป็นยาครอบจักรวาล ทำได้ทุกอย่าง
  • สามารถกินได้เลย 1 เม็ดทุก 6-8 ชั่วโมง

ยาแก้อักเสบ

  • ยาแก้อักเสบ ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้ออย่างที่คนไทยเรามักจะเข้าใจผิด
  • เอาไว้ใช้แก้ปวดประจำเดือน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดฟัน ฯลฯ
  • มีหลายชนิดให้เลือก แล้วแต่ความคุ้นเคย คือ Diclofenac, Ibuprofen, Naproxen, Celecoxib, etc.
  • ขนาดยาคือกิน 1 เม็ด หลังอาหาร เท่านั้น เพราะยามีฤทธิ์กัดกระเพาะ
  • อีกรูปแบบนอกเหนือจากยาเม็ดคือ การใช้ยาแก้อักเสบชนิดที่เป็นครีมหรือสเปรย์เอาไว้ตามบริเวณที่ปวดเมื่อยครับ เช่นพวก Diclofenac spray

ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร

  • คนที่กระเพาะไม่ค่อยแข็งแรง เป็นโรคกระเพาะเป็นประจำ ควรพกติดตัวไว้
  • ยาที่แนะนำคือ Omeprazole
  • กินวันละ 1 เม็ด ก่อนอาหารเช้าครับ

ยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด

  • แนะนำ Simethicone ครับ (ในประเทศไทยมีหลายสิบยี่ห้อเลยครับ)
  • กิน 1 เม็ดหลังอาหาร เช้า-กลางวัน-เย็น-ก่อนนอน

ยาแก้ปวดท้อง

  • เวลาที่มีอาการปวดเกร็งบริเวณท้อง เกิดจากลำไส้บิดรัดตัว เช่นอาจจะมาจากการติดเชื้อในลำไส้
  • มียาคือ Hyoscine (ในประเทศไทยเรียกตัวนี้อาจจะงง เรามักจะเข้าใจในชื่อการค้าว่า Buscopan มากกว่า)
  • ขนาดยาคือ กิน 1 เม็ด หลังอาหาร 3 เวลา
  • ห้ามใช้ถ้ามีถ่ายอุจจาระเป็นเลือด

ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน

  • ใช้เวลาที่มีอาการอาเจียนจากอาหารเป็นพิษ หรือมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย
  • ยาคือ Domperidone
  • กิน 1 เม็ด ก่อนอาหาร 3 เวลา

เกลือแร่

  • ORS เก็บเอาไว้ผสมน้ำดื่มกินเวลาท้องเสียครับ

ยาแก้ท้องเสีย

  • อันนี้เป็นข้อถกเถียงกันพอสมควรว่า ควรจะมีติดเอาไว้ในกระเป๋ายาหรือไม่
  • จากประสบการณ์คือ การเดินทางในประเทศที่ไม่เจริญ โอกาสท้องเสียจะค่อนข้างมาก และการหายาที่มีคุณภาพก็ทำได้ยาก
  • ดังนั้นการพกติดตัวเอา จึงเป็นวิธีการที่ดีกว่า แต่ต้องเข้าใจวิธีการใช้ให้ถูกต้อง
  • ปัจจุบันยังไม่มียาที่กินแล้วป้องกันไม่ให้ท้องเสียได้ เช่น Probiotic อะไรแบบนี้นะครับ
  • มีทั้งหมด 3 อย่างที่ควรพกติดตัวไว้คือ Loperamide, Ciprofloxacin, ORS

Loperamide

เป็นยาที่ทำให้ลำไส้หยุดเคลื่อนตัว อ่านให้ดีก่อนทุกครั้ง ใช้ต่อเมื่อ มีครบทุกข้อ ตามนี้

  • ใช้เมื่ออยู่ในระหว่างการเดินทางเท่านั้น เช่น ขึ้นรถไฟ/เครื่องบิน/รถบัส ซึ่งการเข้าห้องน้ำเป็นเรื่องที่โคตรลำบาก
  • กิน 2 เม็ดทันที หลังจากนั้น 1 เม็ดทุกๆการถ่ายท้องเสีย ถ้ายังไม่หยุด
  • ห้ามกินเกินวันละ 8 เม็ด
  • ห้ามใช้ถ้ามีถ่ายอุจจาระเป็นเลือดและไข้สูง***

ที่ต้องห้ามใช้ เพราะว่าถ้าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดรุนแรง การที่เราไปกินยาหยุดการเคลื่อนไหวของลำไส้ มันจะยิ่งทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น แบคทีเรียอยู่ในตัวเรานานขึ้น


 

Ciprofloxacin

เป็นยาฆ่าเชื้อที่มีฤทธิ์ค่อนข้างกว้าง ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ได้เกือบทุกชนิดในคนที่ท้องเสียจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่มีปัญหาคือการใช้ยาไม่เหมาะสมนำไปสู่การดื้อยาที่อันตรายกว่า

อ่านให้ดีก่อนทุกครั้ง ใช้ต่อเมื่อ มีครบทุกข้อ ตามนี้

  • มีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำ > 3 ครั้ง/24 ชั่วโมง
  • มีไข้ ปวดเกร็งท้อง ถ่ายเป็นเลือด คลื่นไส้อาเจียน
  • กิน 1 เม็ดเช้า-เย็น หลังอาหาร ทั้งหมด 3 วัน

คำถามคือ ถ้าไม่กินยาได้ไหม เวลาท้องเสีย???

คำตอบคือ ได้ครับ เพราะท้องเสียส่วนใหญ่มาจากเชื้อไวรัสซึ่งหายได้เอง แต่ถ้ามีอาการตามด้านบนส่วนใหญ่มักจะเป็นแบคทีเรียมากกว่า จึงให้กินยาฆ่าเชื้อได้เลย


ยาป้องกัน/รักษา Mountain sickness

ยากลุ่มนี้มักจะต้องการใบสั่งแพทย์ และมักจะไม่อยู่ในโรงพยาบาลเล็กๆ

Acetazolamide ใช้ได้ทั้งป้องกันและรักษา

  • ขนาดป้องกัน ขนาด 125 mg ทุก 12 ชั่วโมง
  • กินก่อนขึ้นเขตที่สูง 24 ชั่วโมง (ยังอยู่พื้นที่ราบ)
  • กินต่อเนื่องทุกวัน ถ้ายังเดินทางสูงขึ้นเรื่อยๆ
  • หลังจากเข้าสู่พื้นที่สูงแล้ว ถ้าความสูงไม่ได้เปลี่ยน ให้กินต่ออีก 2 วันแล้วหยุดได้
  • ขนาดรักษา ขนาด 250 mg  ทุก 12 ชั่วโมง
  • ในกลุ่มคนที่แพ้ยา Sulfa ควรหลีกเลี่ยง

Link to download

สามารถกด download เพื่อนำไป print เก็บไว้ใช้ได้ครับ ตามลิงค์ด้านล่าง

https://goo.gl/0xwbjd

12916749_1269637989730558_7933844336341050287_o

เดินทางปลอดภัยครับ


หากใครสนใจอุปกรณ์การเดินทาง เป้แบคแพค เสื้อแจ็คเก็ตกันลมกันฝน เสื้อขนเป็ด ลองจอน ถุงมือกันหนาว
สามารถเข้าไปเลือกชมสินค้าได้ที่ ร้านของพวกเรา The Puffin House