สิ่งที่ต้องรู้ก่อนคิดจะไปทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย!!!

0
12116

สิ่งที่ต้องรู้ก่อนคิดจะไปทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย!!! มีอะไรบ้าง ตามไปดูก่อน

  • ทำไมต้องไปนั่งรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย
  • ไปเดือนไหนดี
  • ไปกี่วันดี
  • เรื่องของวีซ่า
  • ระหว่างทางมีอะไรน่าสนใจ
  • ทำความรู้จักกับขบวนรถไฟสายนี้
  • ซื้อตั๋วรถไฟที่ไหนดี
  • การดูตารางรถไฟ
  • สภาพภายในรถไฟ
  • เรื่องของเงิน
  • ค่าใช้จ่าย
  • สำหรับผู้หญิงไทยที่จะไปเที่ยวโดยเฉพาะ!!!

ถ้าใครกำลังมีคำถามนี้อยู่ในใจ ก็อ่านตามไปต่อได้เลยครับ

ทำไมต้องไปนั่งรถไฟทรานส์ไซบีเรีย

1360175016-dsc6652res-o

  • ทุกประเทศมันเชื่อมถึงกันได้หมด
    เรามักจะคุ้นเคยกับการข้ามประเทศผ่านทางเครื่องบินหรือรถยนต์ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทำไมไม่ลองข้ามทวีปด้วยรถไฟกันบ้างครับ แล้ววินาทีที่รถไฟวิ่งข้ามเส้นแบ่งทวีป ความรู้สึกมันจะเปลี่ยนไปขนาดไหน
  • No culture shock
    เวลาใช้เครื่องบินข้ามประเทศเนี่ย เวลาลงมาถึงสนามบินของปลายทางเรามักจะตกใจไปกับภาพที่เห็นตรงหน้าทุกที ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ ภาษา ผู้คน หรืออาหารที่รอเราอยู่ แต่การใช้รถไฟข้ามประเทศจากจีนสู่มองโกเลียมาจบที่รัสเซีย ความแตกต่างพวกนี้จะถูกเอาเชื่อมกันด้วยทางรถไฟจนเราจะรู้สึกว่ามันคือเนื้อเดียวที่ไร้รอยต่อ
  • ไปให้รู้ว่าภาษาอังกฤษสำคัญ แต่ไม่ใช่ที่สุด
    คนจีนพูดจีน คนมองโกลพูดมองโกล คนรัสเซียพูดรัสเซีย ไม่มีใครพูดอังกฤษสักคน!!! เราไม่อาจะใช้ข้ออ้างเรื่องภาษาในการเดินทางได้ครับ ถ้าลองได้มาที่นี่แล้ว ผมเชื่อเลยว่าทุกๆคนจะรู้สึกว่าภาษาไหนๆก็สำคัญ ไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษ!!!
  • รถไฟทรานส์ไซบีเรีย ไม่ใช่ขบวนรถนักท่องเที่ยว
    อันนี้คนมักจะเข้าใจผิดมาก คิดว่าทั้งขบวนจะมีแต่นักท่องเที่ยว ซึ่งมันผิดครับ ขบวนรถไฟสายนี้ส่วนใหญ่คือระบบรถไฟท้องถิ่นทั้งสิ้น เพื่อนร่วมขบวน เพื่อนร่วมเตียงนอน ส่วนใหญ่คือคนท้องถิ่นที่เดินทางไปมาระหว่างเมือง และนี่ก็คือโอกาสที่ดีที่สุดที่เราจะได้ผูกมิตรกับคนรัสเซียแบบ non-stop
  • สร้างตำนานให้กับชีวิตของตนเอง
    การได้ลองมาใช้ชีวิตอยู่บนรถไฟ 6 วัน 5 คืนจากปักกิ่งมามอสโคว นั่งมองภาพบ้านเรือนผู้คนที่ค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปจากอภิมหาความเจริญที่ปักกิ่ง สู่ทุ่งหญ้าสเตปป์ที่กว้างใหญ่และทะเลทรายโกบีของมองโกล เข้าสู่เขตป่าสนไทกาและทะเลสาบไบคาลในไซบีเรีย ก่อนจะมาปิดฉากเส้นทางที่จัตุรัสแดงในมอสโควคือตำนานแห่งการเดินทางของชีวิตที่แท้จริง

บทความนี้ เขียนขึ้นบนแผนการเดินทางจากปักกิ่งไปมอสโคว แต่ถ้าคนที่มีแผนการเดินอื่นๆก็สามารถที่จะเอาประยุกต์ใช้ได้เช่นกันครับ


ไปเดือนไหนดี

weather
Ref : Lonely planet Trans-Siberian railway 5th ed

ทางรถไฟวิ่งอยู่ในเขตซีกโลกเหนือทั้งหมด เพราะฉะนั้นจะมีหลักเพียง 2 ฤดู คือ ร้อน และ หนาว

  • High season : ช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมของทุกๆปี อากาศในไซบีเรียเรียกได้ว่ากำลังเย็นสบาย ใส่เสื้อหนาวเล็กๆน้อยๆก็พอไหวแล้วครับ เที่ยวได้สนุก เพราะช่วงเวลากลางวันนานพอสมควร แต่สิ่งเดียวที่ต้องแลกกลับไปคือ ราคาทุกอย่างจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะค่าตั๋วรถไฟที่บางทีตั๋วอาจจะเต็มข้ามปีเลยทีเดียว และโรงแรมก็ต้องไปแย่งกันพักอีก
  • Low season : ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ เป็นหน้าที่ไม่มีใครเที่ยว เพราะหนาวสุดๆ เสื้อกันหนาวที่จะเอาคือต้องจัดเต็ม เจอหิมะตลอดเส้นทาง แต่สิ่งดีๆที่ได้กลับมาคือ ไม่มีคนครับ จะไปไหนก็สะดวก ไม่ต้องจองตั๋วอะไรล่วงหน้าซึ่งต่างจากฤดูร้อนที่ต้องวางแผนกันเป็นปีๆ
  • Shoulder season : มีนาคมถึงเมษายน และช่วงเดือนตุลาคม ช่วงนี้คนจะไม่มากเท่าช่วง high และอากาศก็ยังไม่หนาวทารุณเหมือนหน้า low จึงถือเป็นเวลาที่ลงตัวพอสมควร และยิ่งเดือนเมษายนคนไทยมีช่วงหยุดยาวตอนสงกรานต์เลยเพิ่มความน่าสนใจเข้าไปอีกเยอะ

หยุดยาวสงกรานต์ ถือเป็นช่วงเวลาที่ดี สำหรับคนไทย ในแง่ของวันลาและค่าใช้จ่ายครับ

winter-summer

ภาพเดียวกัน แต่บรรยากาศของฤดูร้อนและฤดูหนาวกลับแตกต่างกันอย่างมาก ชอบแบบไหนไปแบบนั้นครับ


ไปกี่วันดี

1358779062-dsc3809-o

คำถามยอดฮิตที่ถูกถามถึงบ่อยที่สุดของทรานส์ไซบีเรีย คือ ต้องมีเวลากี่วันถึงโอเค

ถ้าจะให้ตอบแบบกำปั้นทุบดิน ก็คือไม่จำกัด เพราะว่าความน่าสนใจมีอยู่เป็นแบบไม่จำกัด แต่สำหรับคนทั่วๆไปคงทำเช่นนั้นไม่ได้ ตอบแบบกว้างๆ จำนวนวันขั้นต่ำที่ควรมีคือ 7 วัน แต่จำนวนที่เหมาะสมจะอยู่ราวๆ 15-16 วัน เพราะอะไรมาตามไปดูกันครับ ผมขอยึดตามคนทั่วๆไปรวมทั้งผมเองที่มีวันลาจำกัด ถ้าวันลาไม่จำกัดแล้วก็คงไม่มีคำถามข้อนี้แน่นอน

  1. ระยะเวลาบนรถไฟจากปักกิ่งไปถึงมอสโคว (Trans-Mongolian) ต่อให้ไม่ลงแวะพักระหว่างเมืองเลยก็คือ 6 วันแล้วครับ หรือถ้าเริ่มต้นที่ Vladivostok ก็จะเป็น 7 วันเลย (Trans-Siberian)
  2. ตลอดระยะทาง 8,000 – 9,000 กิโลเมตร มีเมืองเป็นร้อยๆเมืองที่เราเดินทางผ่าน แต่จะมี 4 เมืองหลักที่ถือเป็นภาคบังคับทุกคนต้องแวะคือ ปักกิ่ง (Beijing) , อูลาน บาทอร์ (Ulan Bator) , เอียร์คุชต์ (Irkutsk) , มอสโคว (Moscow)
  3. ปักกิ่ง (Beijing) ควรจะมีเวลาอย่างต่ำ 2 วัน เพื่อ พระราชวังกู้กง และ กำแพงเมืองจีน
  4. มองโกเลีย (Mongolia) ควรจะมีอย่างต่ำ 3 วัน เพื่อจะได้มีโอกาสไปนอนเกอร์กับชาวบ้านในทุ่งหญ้าสีเขียว
  5. เอียร์คุชต์ (Irkutsk) ต้องมีเวลาอย่างต่ำ 2 วัน เพื่อจะไปนอนชิวริมทะเลสาบไบคาล
  6. มอสโคว (Moscow) ต้องมีเวลาอย่างต่ำ 2 วัน เนื่องเมืองใหญ่และมีสถานที่ให้ไปค่อนข้างมากพอๆกับปักกิ่ง
  7. ทีนี้จะเห็นเลยว่า ถ้าเราตามอุดมคติ เราอาจจะต้องมีวันถึง 15-16 วัน เพื่อจะไปให้ครบทั้งหมด
  8. แต่ถ้าเวลาไม่พอจริงๆ ก็สามารถที่จะตัดหัวที่ปักกิ่งและตัดท้ายที่มอสโควออกไปได้ เหลือประมาณ 12-14 วัน โดยคิดว่าปักกิ่งและมอสโควไว้ค่อยมาทีหลังแทน แบบมาแกรนด์รัสเซียควบเซ็นต์ปีเตอร์เบิร์กด้วยอะไรประมาณนี้ครับ
  9. ทีนี้ ถ้าเวลายังไม่พออีก อาจจะแวะเอียรคุสต์เพียง 1 วัน หรืออาจจะตัดออกไปเลยก็ได้ โดยจะแวะแค่ 3 เมืองหลัก คือ ปักกิ่ง อูลาน บาทอร์ และมอสโควแทนเท่านั้น เวลาก็จะลดลงมาเหลือประมาณ 10-12 วัน
  10. ถ้าจนแล้วจนรอด แค่เพื่อต้องการรับฟีลลิ่งของทางรถไฟสายนี้จริงๆก็ เอาแบบนี้เลยครับ บินมาลงปักกิ่ง แล้วก็ขึ้นรถไฟไปมอสโควรวดเดียว 6 วัน 5 คืน แล้วก็บินกลับกรุงเทพเลย แบบนี้เราอาจจะใช้เวลาประมาณ 7-8 วัน เอาไปปะช่วงสงกรานต์ได้พอดีครับ
  11. แต่ก็ยังมีอีกคนที่ถามผมอีกว่าถ้ามีแค่ 7 วันแต่ไม่อยากเหนื่อยขนาดนี้ทำไง ผมก็เลยแนะให้นั่งรถไฟจากปักกิ่งเหมือนเดิม ผ่านมองโกเลีย แต่ไปจบที่เอียร์คุชต์แล้วบินกลับกรุงเทพครับ ไม่ต้องไปถึงมอสโคว ก็สามารถที่จะทำได้เช่นกัน

ทีนี้หันกลับมาดูความจริง กับตารางหยุดของเรา

7

อันนี้เป็นตารางวันหยุดของปี 2560

ถ้าให้เลือกช่วงเวลาที่พอเป็นไปได้ ทั้งจำนวนวันลา และสภาพอากาศแล้ว

“สงกรานต์” น่าจะเป็นเวลาที่โอเคที่สุดครับ เราใช้วันลา 4 วัน เพื่อจะได้วันเที่ยวทั้งหมด 12 วัน

ช่วงรอยต่อเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ก็เป็นอีกช่วงที่พอไหว แต่อากาศจะหนาวพอสมควรแล้วครับ เลยอาจะไม่โอเคนัก


เรื่องของวีซ่า

letter-with-visa-stamps_1045-12

เส้นทางรถไฟจะเกี่ยวพันกับ 3 ประเทศคือ จีน มองโกเลีย และรัสเซีย

มองโกเลีย กับ รัสเซีย คนไทยไม่ต้องทำวีซ่า ถ้าอยู่ไม่เกิน 30 วัน ซึ่งมันคือสวรรค์ชัดๆครับ

เท่ากับเราต้องทำแค่วีซ่าประเทศจีนเท่านั้น ถือว่าเป็นการเดินทางข้ามทวีปที่จ่ายค่าวีซ่าน้อยมากกกก

การทำวีซ่าจีน

ดูรายละเอียดได้ที่ เว็บไซต์ของสถานทูตจีน

หลักฐานที่ต้องมี

  • หนังสือเดินทาง —– ต้องมีอายุการใช้งานเหลือมากกว่า 6 เดือน หนังสือเดินทางต้องมีหน้าวีซ่าว่างพร้อมสำเนาหน้าข้อมูลของหนังสือเดินทาง 1 ใบ
  • รูปถ่าย —– ขนาด 2 นิ้ว (48 มม. X 33 มม.) เป็นรูปถ่ายปัจจุบัน หน้าตรง รูปสี ไม่สวมหมวก รูปถ่ายที่ใช้ในหนังสือเดินทาง 1 รูป
  • แบบฟอร์มยื่นขอวีซ่าพร้อมรูปถ่ายแบบฟอร์มยื่นขอวีซ่าสาธารณรัฐประชาชนจีน 1 ฉบับ พร้อมติดรูปถ่าย
  • ค่าวีซ่า สำหรับการเข้าออกครั้งเดียวคือ 1,500 บาทครับ

ปูพรมความรู้ขั้นพื้นฐาน

14536628_199472683807809_697964426_o

มีทางรถไฟอยู่ 3 สาย ที่เราต้องเข้าใจกันก่อน

  1. Trans-Siberia (สีแดง) : สายรถไฟแท้ๆนั้นจะอยู่ในรัสเซียล้วนง คือจากตะวันออกสุดที่ Vladivostok มาสุดที่ Moscow มีระยะทางความยาวเกือบ 10,000 กิโลเมตร เรียกว่าเป็นสายคลาสสิคเลยครับ
  2. Trans-Mongolian (สีเขียว – สีแดง) : คือเส้นทางที่พวกเรามา วิ่งจากปักกิ่ง มา อูลานบาตอร์ เมืองหลวงของมองโกเลียก่อนจะเข้าไซบีเรีย ความยาวทั้งหมด 7865 กิโลเมตร
  3. Trans-Manchurian (สีเหลือง – สีแดง) : อันนี้เป็นอีกเส้นจะวิ่งไปที่เขตแมนจูเรีย ไปที่เมืองฮาร์บิ้นก่อนจะเข้าประเทศจีน เส้นทางนี้จะไม่ผ่านประเทศมองโกเลีย

***แต่ด้วยความที่คนไทยส่วนใหญ่เรามักจะเดินทางสาย Trans-Mongolian กันค่อนข้างมากกว่าสายอื่นๆ เราก็เลยมักที่จะเรียกสาย Trans-Mongolian แทนคำว่า Trans-Siberian ไปเลยครับ ซึ่งจริงๆถามว่าถูกไหม มันก็ถูกครับ เพราะระยะทางกว่า 70% ของทางรถไฟก็จะไปบรรจบกับสาย Trans-Siberian ที่เมือง Ulan Ude ในประเทศรัสเซียอยู่ดีครับ***

***ในบทความนี้ผมเลยขอยึดความเข้าใจง่ายๆว่า Trans-Siberian ที่พูดถึงตลอดจะหมายถึง Trans-Mongolian ทั้งหมดนะครับ***


Trans-Siberia กับ 10 เมืองน่าแวะ

แผนที่นี้ผมภูมิใจนำเสนอมาก ไปดูกันครับ

transsiberian-rout-map9

เส้นทางระหว่าง ปักกิ่ง กับ มอสโคว จะผ่านทั้งหมดหลายร้อยเมืองในสามประเทศ ผมขอยก 10 เมืองหลักที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ของการเดินทางมาให้ดูกันนะครับ

1. ปักกิ่ง (Beijing) ***
พระราชวังต้องห้าม พระราชวังฤดูร้อน กำแพงเมืองจีน หอฟ้าเทียนถาน สนามกีฬารังนก

2. อูลานบาตอร์ (Ulaanbaatar) ***
จตุรัสซัคบาทาร์ วัดกานดาน อนุสาวรีย์เจงกีสข่าน อุทยานแห่งชาติเทอเรลจ์

3. เอียร์คุชต์ (Irkutsk) ***
มหาวิหารเอพิพาน ถนนคาร์ล มาร์กซ หมู่บ้านลิสต์วียันก้ ทะเลสาบไบคาล เกาะโอล์คฮอร์น

4. ครัสโนยาสค์ (Krasnoyarsk)
เขื่อน Krasnoyarsk พิพิธภัณฑ์ Krasnoyarsk

5. โนโวซีบีสค์ (Novosibirsk)

6. เอกาเทอรินเบิร์ก (Yekaterinburg)
โบสถ์ Church on the Blood อนุสาวรีย์ QWERTY จุดแบ่งทวีปเอเชียและยุโรป อนุสรณ์สถาน Ganina Yama

7. คาซาน (Kazan) ***
เครมลินแห่งคาซาน มหาวิหารแอนนันชิเอชั่น (Annunciation Cathedral) อาราม Raifa Bogorodinsky เกาะเสวียชก์

8. นิจนีนอฟโกรอด (Nizhny Novgorod)
เครมลินแห่งนิจนีนอฟโกรอด จัตุรัส Minin and Pozharsky

9. มอสโคว (Moscow) ***
พระราชวังเครมลิน มหาวิหารเซนต์บาซิล จัตุรัสแดง ห้างสรรพสินค้ากุม ถนนอารบัต สถานีรถไฟใต้ดินกรุงมอสโคว วิหารเซ็นต์ เดอซาร์เวียร์

10. เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (Saint Petersburg) ***
พระราชวังฤดูร้อนปีเตอร์ฮอฟ มหาวิหารเซนต์ไอแซค พระราชวังฤดูหนาวเฮอมิเทจ

ที่มี *** คือเมืองต้องห้ามพลาดนะครับ


เริ่มต้นจาก “มอสโคว” หรือ “ปักกิ่ง” ก่อนดี???

east-west

ต้นทางจะอยู่ “ปักกิ่ง” ปลายทางจะอยู่ “มอสโคว”

หรือต้นทางจะอยู่ “มอสโคว” ปลายทางจะอยู่ “ปักกิ่ง”

จะเลือกทางไหนก็ได้ เห็นครบทุกสถานที่เหมือนกัน แต่ความฟินถ้าเริ่มต้นที่ปักกิ่งอาจจะฟินกว่าเล็กน้อย เพราะเราจะผ่านประเทศที่อ้างว้างที่สุดอย่างมองโกเลีย เข้าสู่เขตไซบีเรียที่อ้างว้างพอๆกัน แล้วจะเขยิบเข้าสู่ความวุ่นวายที่มากขึ้นๆเรื่อยๆทุกกิโลเมตร แล้วไปจบที่มอสโคว สถานที่แห่งความอลวนอลเวงอย่างหาที่สุดไม่ได้ เราจะได้เห็นความเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่ผ่านไปทุกๆวันที่เราเดินทางครับ

ดูเหมือนจะคล้ายๆกันไปหมด แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันแน่ๆคือ “ราคา” ครับ

โดยถ้าเราเริ่มต้นจากมอสโควไปปักกิ่งค่าใช้จ่ายจะถูกกว่า ส่วนเหตุผลให้อ่านในหัวข้อเรื่องค่าใช้จ่ายนะครับ ผมเขียนไว้ละเอียดแล้ว


มาทำความรู้จักกับรถไฟขบวนนี้กันก่อน

k1-k24

จริงๆรถไฟมันมีเป็นพันๆขบวนครับ แต่ขบวนที่เราควรจะรู้จักมันไว้ให้ดีมี 5 ขบวนหลัก

K1/K2 : อันนี้คือรถไฟที่วิ่งระหว่าง Moscow และ Vladivostok

ขบวนนี้คือขบวนรถไฟสายคลาสสิคของแท้ตามชื่อทรานส์ไซบีเรียครับ ฝรั่งเรียกว่า “Classical route”

วิ่งกัน 7 วัน 6 คืน ต่อเนื่อง โดยจะแวะตามสถานีรายทางตลอด

e13124162-21

K3/K4 : อันนี้คือรถไฟที่วิ่งระหว่าง Beijing และ Moscow

รถไฟสายนี้มีความพิเศษมากเนื่องจากผ่านดินแดนถึง 3 ประเทศคือ จีน มองโกเลีย และรัสเซีย

ตามในตำราของนักเดินทางเราเรียกเส้นทางนี้ว่า “ทรานส์มองโกเลียน” (Trans-Mongolian) แต่ในความเข้าใจไทยอาจจะเหมารวมเรียกว่าทรานส์ไซบีเรียเข้าไปด้วยเลย ก็พอเข้าใจได้อยู่

เส้นทางนี้วิ่งกันจริงๆ 6 วัน 5 คืน แวะตามสถานีรายทางเหมือนปกติครับ

K19/K20 : อันนี้คือรถไฟที่วิ่งระหว่าง Beijing และ Moscow

ดูเผลินๆคล้ายขบวน K3/K4 แต่ต่างกันตรงที่ขบวนรถไฟเส้นนี้ไม่ผ่านประเทศมองโกเลีย แต่จะไปอ้อมที่เขตแมนจูเรียในประเทศจีนก่อนจะเข้ารัสเซียแทน โดยจะผ่านเมืองน้ำแข็งอย่างฮาร์บิ้นด้วยครับ

ตามในตำราของนักเดินทางเราเรียกเส้นทางนี้ว่า “ทรานส์แมนจูเรียน” (Trans-Manchurian)

เส้นทางนี้วิ่งกันจริงๆ 7 วัน 6 คืน แวะตามสถานีรายทางเหมือนปกติครับ

รถไฟมีแค่ 1 ขบวนต่อสัปดาห์เท่านั้น โดยจะออกจากชานชาลากรุงปักกิ่งทุกๆวันเสาร์

K23/K24 : อันนี้คือรถไฟที่วิ่งระหว่าง Beijing และ Ulan Bator

เป็นรถไฟขบวนระหว่างประเทศจีนและมองโกเลีย (ไม่เข้ารัสเซีย)


ซื้อตั๋วรถไฟที่ไหน

train-ticket

เรื่องของการหาตั๋วรถไฟถือเป็นเรื่องใหญ่พอสมควรเลย

ผมขอมาสรุปลงตรงนี้เลยละกันครับ

china-cits

ตั๋วรถไฟที่ออกจากประเทศจีน

ย้ำอีกครั้งว่าเฉพาะที่ออกจากสถานีปักกิ่งเท่านั้น (ไอแบบที่วิ่งจากมองโกเลียมาปักกิ่งไม่เอา) ต้องซื้อผ่านบริษัท CITS ที่ถือว่าเป็นตัวแทนบริษัทเดียวที่ได้รับสัมปทานขายตั๋วเส้นทางรถไฟจากปักกิ่งไปยังเมืองต่างๆในเส้นทางทรานส์ไซบีเรียครับ ถ้าเราคิดจะเดินดุ่มๆเข้าไปที่สถานีรถไฟเพื่อซื้อตั๋ว เขาก็จะโบ้ยให้เรามาที่นี่อยู่ดี

และก็เพราะด้วยความที่ผูกขาดอยู่เจ้าเดียว และปริมาณที่นั่งก็มีจำกัด ตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว Demand มาก Supply น้อย แถมถูกผูกขาด ราคาค่าตั๋วก็เลยแพงมโหฬารเกินความเป็นจริงไปมาก (เมื่อเทียบกับเส้นทางเดียวกันแต่วิ่งมาจากมองโกเลียหรือรัสเซีย)

การจองตั๋วปัจจุบันทำได้ง่ายมาก เข้าไปที่เว็บ CITS แล้วก็เลือกเอาเลยครับจะเอาเส้นทางไหน K3, K19, K23 พอได้ก็จอง ชำระเงินผ่านบัตรเครดิต แล้วเราก็จะได้หลักฐานมา โดยให้นำหลักฐานนี้ไปยื่นรับตั๋วจริงที่ office ในวันและเวลาตามที่กำหนดไว้ครับ

mongolia-train

ตั๋วรถไฟที่ออกจากประเทศมองโกเลีย

ตั๋วรถไฟจากอูลานบาตอร์ ไม่มีระบบออนไลน์ให้ซื้อล่วงหน้าครับ ถ้าจะเอาตั๋วออนไลน์เราต้องไปซื้อผ่านตัวแทนตามอินเตอร์เน็ตทั้งหลายแหล่ซึ่งก็แน่นอนว่าราคาแพงมากอีกแล้ว

ถ้าเราสามารถเดินไปซื้อตั๋วรถไฟเองได้ที่สถานีรถไฟประจำเมือง ราคาตั๋วจะถูกกว่าการซื้อผ่านตัวแทน 2-3 เท่าเลยทีเดียว โดย ticket office จะตั้งอยู่ข้างๆ อาคารผู้โดยสารตามในรูปเลยครับ

ถ้าไปหน้า low season ไปซื้อเองที่สถานีได้ครับ แต่ถ้าใครจะมาหน้า high season อันนี้โปรดระมัดระวังความเสี่ยงกันเอาเองครับ เพราะโอกาสตั๋วเต็มสูงมาก แผนการเดินทางเราอาจจะพลาดได้

ตัวแทนขายตั๋วที่มีชื่อเสียงในด้านนี้ก็คือ Realrussia ครับ

11931012_10156031111290615_7188729728045422063_o

ตั๋วรถไฟที่ออกจากประเทศรัสเซีย

เดชะบุญที่การรถไฟรัสเซียดันมีระบบการจองตั๋วรถไฟออนไลน์ที่ดีมาก เว็บไซต์ และสามารถจองล่วงหน้าได้ทุกขบวนภายในประเทศ (รถไฟที่วิ่งระหว่างประเทศไม่สามารถจองได้ แต่สามารถเช็คเวลาผ่านเว็บได้ครับ)

ราคาคนท้องถิ่นหรือนักท่องเที่ยวเท่ากันหมด ไม่มีการแบ่งแยก และปัจจุบันมีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ทำให้ทุกอย่างง่ายเหมือนกับปอกกล้วยเข้าไป โดยเราสามารถสำรองล่วงหน้าได้ 45 วันก่อนเดินทางจริง

บทความวิธีการจองตั๋วรถไฟรัสเซีย


ตารางรถไฟ ดูอย่างไร

timetable
Trans-Siberian railway timetable ref from Seat61.com

เรื่องของตารางรถไฟ เป็นอะไรที่ชวนน่าปวดหัวมากสำหรับผู้ที่กำลังเริ่มวางแผน แต่ตอนนี้ถือว่าคนอ่านมาถูกที่แล้วละ ผมจะอธิบายให้แจ่มแจ้งครบทุกรูปขุมขนของรถไฟสายนี้เลยทีเดียว

แถวแรก Train number จะเห็นเลข 1 , 3 , 5 , 19 , 23 , 263

ซึ่งก็คือหมายเลขขบวนรถตามที่ผมบอกไว้ก่อนหน้านี้ ถ้าเราจะขึ้นขบวน K3 ออกจากปักกิ่ง ก็ให้ดูเวลาที่ช่องนี้

แถวที่สอง คือ วันที่รถไฟออกเดินทางจากชานชาลา ว่าออกวันไหนบ้าง

ถ้าเป็นขบวน K3 จะวิ่งแค่อาทิตย์ละครั้งเท่านั้น ออกเดินทางทุกๆวันพุธ หมายความว่าถ้าวันพุธมาไม่ทัน ก็คือตกรถไฟ ต้องไปรออาทิตย์หน้า หรือไม่ก็ไปหาขบวนรถไฟใหม่แทนครับ

หรือถ้าเป็นขบวน K19 (Trans-Manchurian) จะออกทุกๆวันเสาร์ อะไรแบบนี้ครับ

ตัวอย่างวิธีการดู

ผมขอยกตัวอย่างขบวนรถไฟ K3 ให้ดูเป็นตัวอย่างนะ เพราะคนไทยเราน่าจะใช้บริการบ่อยที่สุดเมื่อเทียบกับอันอื่นๆ

K3 จะออกจากปักกิ่งทุกๆวันพุธ เวลา 11.22 (เวลาท้องถิ่น)

K3 จะมาถึงอูลานบาทอร์ในวันพฤหัส เวลา 14.20 (เวลาท้องถิ่น)

เวลาดูก็ให้ดูแบบนี้เรื่อยไปนะครับ

แต่ แต่ แต่ จะมีหมายเหตุเล็กน้อยตรงรอบเวลารถไฟในรัสเซียที่ทั้งหมดจะอิงกับเวลามอสโควทั้งหมด (GMT+3)

ประเทศรัสเซียนั้นใหญ่มาก ประเทศเดียวมีอยู่ 10 เส้นแบ่งเวลา ตามความจริงเวลาในไซบีเรียเช้าแล้ว ที่มอสโควอาจจะยังเป็นกลางคืนอยู่เลยก็ได้ครับ

เพราะฉะนั้นเวลาดูรอบเวลารถไฟทุกขบวนในรัสเซีย เขาจะใช้เวลามอสโควเสมอ หน้าที่ของเราคือให้ไปคำนวณเวลาจริงครับ

ตัวอย่าง

รถไฟขบวน 263 วิ่งออกจากอูลานบาตอร์ จะมาถึงที่เอียร์คุชต์ในวันที่ 3 เวลา 2.25 หรือตีสองยี่สิบห้านาที ตามเวลามอสโคว

แต่ในเวลาจริงที่รถไฟไปถึงคือ 2.25 + (5) หรือ GMT+8 = 7.25 หรือ เจ็ดโมงยี่สิบห้านาที ตามเวลาจริงครับ

ดังนั้นเวลาจะขึ้นรถไฟในรัสเซียต้องดูเวลาให้ดีๆเสมอนะครับ

หมายเหตุ

ถ้าเริ่มต้นเดินทางจากปักกิ่งจะไปอูลานบาทอร์ แต่จองขบวน K3 ไม่ทัน ทำอย่างไร???

ให้ไปใช้บริการขบวน K23 แทนซึ่งวันละเวลาเป็นดังนี้

7 มิถุนายน 2559 – 18 ตุลาคม 2559 :  ออกทุกๆวันอังคารและเสาร์ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง

19 ตุลาคม 2559 – 1 มิถุนายน 2560 : ออกทุกๆวันเสาร์ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง

แต่ว่ารถไฟขบวนนี้จะไปสุดทางที่ Ulan Bator เท่านั้นนะครับ ไปไม่ถึงรัสเซีย


เรื่องของรถไฟ

class

มาตรฐานของรถไฟในสายทรานส์ไซบีเรียจะมี 3 ชั้นครับ

โดยที่บางขบวนอาจจะมีแค่ชั้น 2 กับ 3 หรือในอีกบางขบวนอาจจะมีครบทั้ง 3 ชั้น

และชื่อเรียกขบวนรถไฟในจีนกับรัสเซียจะไม่เหมือนกัน แต่เทียบกันได้ตามนี้

ไปดูกันเลยว่าแต่ละชั้นมันต่างกันอย่างไรบ้างครับ


ดูสภาพภายในรถไฟแต่ละชั้นกัน

ชั้น 1 สวยงามตามท้องเรื่อง

e13124162-46

ส่วนใหญ่ทางเดินจะปูพรม และผนังจะถูกหุ้มด้วยไม้เงาวับ

1 โบกี้ จะมีห้องย่อยๆประมาณ 9 ห้อง และเป็นห้องส่วนตัวทั้งหมด

first-class
Photo by Garrett Ziegler

ภายในห้องที่พักจะเป็นห้องส่วนตัว มี 2 เตียง คือเตียงบน และ เตียงล่าง หรืออาจจะเป็นเตียงล่าง 2 เตียงก็ได้ แล้วแต่โบกี้

เหมาะสำหรับคู่รักนักเดินทางที่ไว้ใช้เวลาดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ร่วมกัน

ห้องน้ำจะมีอยู่ในแต่ละโบกี้ประมาณ 1-2 ห้อง

ชั้น 2 (Soft sleeper or Kupe)

14466342_10157530296915615_558616698_o

ทางเดินของรถไฟชั้นสองก็ลดความหรูหราลงมานิดนึง

แต่จากประสบการณ์คือแล้วแต่ขบวนนะครับ บางอันก็ดูดี บางอันก็ดูธรรมดาแบบนี้

1359038252-dsc4525-o

ภายในห้องจะเป็นห้องส่วนตัวเช่นเดียวกัน เราสามารถล็อคกลอนประตูตอนนอนช่วงเวลากลางคืนได้

แบ่งเป็นเตียงบน 2 และเตียงล่าง 2

ถ้าชอบความสงบให้เลือกเตียงบนไปเลยครับ เนื่องจากเราจะสามารถขึ้นไปนอนได้ตลอดเวลา

เพราะเตียงล่างเราอาจจะถูกรบกวนได้ตลอดเวลาเช่น คนเตียงบนต้องการทานข้าว หรือเขาต้องการลงมานั่งด้านล่าง ซึ่งถือว่าเป็นธรรมเนียมที่ทุกคนเข้าใจตรงกันในเวลากลางวันครับ ดังนั้นคนจะอยู่เตียงล่างคือต้องใจกว้างเข้าไว้

การเลือกรถไฟชั้น 2 ข้อดีคือเป็นส่วนตัวและมีความปลอดภัยในทรัพย์สินระดับหนึ่ง และยิ่งถ้ามีเพื่อนร่วมห้องที่ใจกว้างและเป็นมิตรมันจะคือสวรรค์สุดๆ

ในทางตรงกันข้าม ถ้าเพื่อนร่วมห้องเป็นคนไม่เอนจอยและเครียด มันจะกลายเป็นการเดินทางที่อึดอัดแบบสุดๆ

14488835_10157530295460615_367373912_o

ถ้าไปกันแบบกรุ๊ปเพื่อนสี่คนก็จองแล้วก็ปิดห้องไปเลยก็ได้

11907819_10156031113680615_2304904184922242713_o

กิจกรรมยามว่างของรถไฟชั้น 2

ชั้น 3 (Hard sleeper or Plantzkart)

14456660_10157530330860615_121475285_o

รถไฟชั้น 3 หรือเรียกเก๋ๆ ภาษารัสเซียว่า platzkart

ไม่มีห้องส่วนตัว จะกั้นเป็นเล้าๆ เล้าละ 2 ฝั่ง

ฝั่งละ 3 เตียง ยังไม่พอ ด้านตรงข้ามของเล้านั้นจะถูกทำเป็นเล้านอนแบบยาวตั้งแต่หัวขบวนยันท้ายขบวน

สรุปใช้ทุกทุกโมเลกุลในรถไฟให้เกิดประโยชน์ที่สุด คุณจะได้เพื่อนที่หลุดโลกไปเลยที่นี่แถมราคายังเป็นมิตรมากๆด้วย

เหมาะอย่างมากสำหรับผู้ที่เดินทางคนเดียว โดยเฉพาะผู้หญิงครับ เนื่องจากมันไม่ได้อยู่ในห้องส่วนตัว ดังนั้นความปลอดภัยทางกายก็จะมากกว่าชั้นสองแน่นอน แต่ทรัพย์สินก็คือสิ่งที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้นไปอีก

แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอคือ ในรถไฟชั้น 3 เราจะไม่มีพื้นที่ส่วนตัวเลย เพราะคนจะเดินไปเดินมาตลอดเวลา

คำแนะนำ ถ้ารักความสงบ ให้เลือกจองไปที่เตียงบนสุดครับ ย้ายสัมภาระ ขึ้นลงลำบากหน่อย แต่เราจะไปพักเมื่อไรก็ได้ ในขณะที่เวลากลางวัน เตียงชั้นกลางจะถูกพับขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ให้คนนั่ง ส่วนเตียงชั้นล่างจะกลายเป็นที่รวมตัวของคนทั้ง 6 เตียงครับ

เราจะได้เจอคนรัสเซียทุกหมู่เหล่าจากรถไฟชั้นนี้ครับ

14513554_10157530332380615_921475801_o

อันนี้แบบตอนขึ้นรถไฟมาใหม่ๆ คนยังไม่ค่อยเข้าที่เท่าไร

อาหารบนรถไฟ

e13124162-44

อันนี้เป็นตู้เสบีย จะมานั่งได้คือต้องสั่งอาหารเขา

ถ้าไม่สั่งอาหารเขา ก็ไปนั่งกินในห้องของเราครับ

1359042051-dsc4789-o

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป คือ อาหารกันตายมาตรฐานสำหรับผู้ที่ต้องนั่งรถไฟเป็นระยะเวลานาน

11924345_10156031110425615_7757718268049603199_o

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่รถไฟจอดแวะพักตามเมืองใหญ่ๆ เราจะมีเวลาประมาณ 30 นาที ในการลงไป shopping อาหาร น้ำ ขนม จากพ่อค้าแม่ค้ารัสเซียที่อยู่ด้านล่างครับ

11951537_10156031111610615_5841499549341041601_o

ตู้ขายของที่เห็นได้อย่างชินตา

1359045745-dsc4967-o-1

ถึงจะเป็นในฤดูหนาวก็มีคนขายเหมือนกัน อาหารร้อนๆที่ใส่มาในกระเป๋ากักเก็บความร้อน เมื่อเอามากินในรถไฟนี่อร่อยสุดๆ

e13124162-42

รถไฟบางขบวนอาจจะมีอาหารให้ไปกินได้ฟรีในตู้เสบียงด้วยครับ ลองเช็คดู

ห้องน้ำละ

e13124162-38

ก็ตามสภาพครับ ถ้าไปตอนแรกสุดก็จะสะอาดที่สุด เข้าคนท้ายสุดก็จะเละที่สุด

มีประมาณตู้ละ 1-2 ห้องแล้วแต่โบกี้ครับ

ห้องน้ำของรถไฟชั้น 1 สามารถอาบน้ำได้ครับ

ห้องน้ำของรถไฟชั้น 2-3  ไม่สามารถอาบน้ำได้ครับ

e13124162-40

อ่างล้างมือก็จะเป็นแบบนี้ เอาไว้ล้างหน้าและแปรงฟัน

ปลั๊กไฟมีไหม???

เท่าที่เห็นภายในห้องของรถไฟชั้น 2 หรือตามทางเดินจะมีช่องปลั๊กไฟให้เสียบ แต่ปัญหาคือมันไม่มีไฟออกมา

ที่ๆสามารถชาร์ตไฟได้คือปลั๊กในห้องน้ำที่เอาไว้สำหรับต่อที่โกนหนวด ซึ่งก็ไม่แนะนำเพราะดูกระแสไฟไม่คงที่ มือถือเราอาจจะพังได้ และห้องน้ำก็มักจะมีคนเข้าออกตลอดเวลาทำให้ไม่สามารถชาร์ตไฟได้เลยในทางปฏิบัติ

วิธีการชาร์ตที่โอเคที่สุดคือ ไปฝากผู้ที่ดูแลขบวนรถไฟประจำโบกี้ชาร์ตให้ครับ แต่ต้องมีทักษะการต่อรองและสร้างมิตรภาพที่ดีมากเพราะเขาพูดภาษาอังกฤษไม่ได้และบางครั้งก็ดูอารมณ์ขึ้นๆลงๆ 555


mobile

เรื่องของโทรศัพท์มือถือ

ตอนนี้เครือข่าย 3G และ 4G มีไปครบทั้ง 3 ประเทศนี้แล้วครับ

มือถือในเมืองจีน อ่านต่อได้ที่ บทความนี้  ผมเขียนไว้ค่อนข้างละเอียดแล้ว

มือถือในมองโกเลีย ถ้าอยู่ไม่กี่วันอาจจะไม่ต้องซื้อก็ได้ แต่ถ้าต้องการใช้บริการจริงๆแนะนำ MobiCom เนื่องจากมีสัญญาณครอบคลุมมากที่สุดในประเทศ เราสามารถซื้อได้ง่ายๆจากซุ้มตามสถานีรถไฟหรือในห้างในเมืองหลวงครับ

มือถือในรัสเซีย แนะนำ MegaFon (МегаФон) ครับ มีเครือข่ายตลอดเส้นทางรถไฟ การซื้อซิมก็ไม่ลำบากครับ


money

เรื่องของเงิน

จีน ใช้เงิน RMB แลกจากเมืองไทยไปเลยโอเคที่สุดครับ

มองโกเลีย ใช้เงิน Tugrik ต้องเอาเงินจีนหรือรัสเซีย หรือ USD ไปแลกที่มองโกเลียหรือตามด่านชายแดน แต่ไม่ต้องแลกมากนะครับ เพราะโรงแรม แพคเกจทัวร์มักจะรับเงิน USD ทั้งหมดอยู่แล้ว

รัสเซีย ใช้เงิน Ruble อันนี้จะแลกจากเมืองไทยไปหรือจะเอา USD ไปแลกที่นั่นก็ได้ครับ ไม่มีปัญหา


ค่าใช้จ่าย

slide39

สำหรับบทความเรื่องค่าใช้จ่ายอย่างละเอียด อ่านได้ที่นี่ ผมเขียนไว้ละเอียดมาก ตรงนี้จะขอเอามาสรุปนะครับ

slide40

ค่าเครื่องบิน แล้วแต่ว่าจะมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่จุดใด ถ้าได้ตั๋วโปรมาก็ยิ่งถูก

slide41

อันนี้เป็นรายละเอียดเรื่องราคาตั๋วรถไฟนะครับ จุดเริ่มต้นคือปักกิ่ง

Agent คือราคาตั๋วที่เราจะได้จากการซื้อผ่านตัวแทนโดยประมาณ Office คือการซื้อตั๋วด้วยตัวเองที่หน้าสถานี

ตั๋วรถไฟที่ออกจากสถานีปักกิ่ง ซื้อหน้าสถานีไม่ได้ ต้องซื้อผ่านตัวแทนที่ชื่อ CITS เท่านั้น มันเลยดูแพงมากครับ

ราคาตั๋วจาก Ulan Bator > Irlutsk ถ้าสามารถไปซื้อเองตั๋วจะถูกกว่า 2-3 เท่า และจากประสบการณ์และข้อมูลที่มีคือส่วนใหญ่ขบวนจะเป็น soft sleeper ไม่มีชั้น hard sleeper ครับ (อาจจะมีในขบวนอื่นได้)

ราคาตั๋วจาก Irkutsk > Moscow เท่ากัน เพราะเราซื้อผ่านเว็บไซต์การถไฟรัสเซียเหมือนกัน

*** คือราคาตั๋วจากสถานีตามข้อมูลล่าสุด ซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงได้นะครับ

slide42

อันนี้เป็นรายละเอียดเรื่องราคาตั๋วรถไฟนะครับ จุดเริ่มต้นคือมอสโคว

Agent คือราคาตั๋วที่เราจะได้จากการซื้อผ่านตัวแทนโดยประมาณ Office คือการซื้อตั๋วด้วยตัวเองที่หน้าสถานี

ราคาตั๋วจาก Moscow > Irlutsk เท่ากัน เพราะเราซื้อผ่านเว็บไซต์การรถไฟรัสเซียเหมือนกัน

ส่วนที่ทำให้แตกต่างกันมากคือตั๋วรถหว่างประเทศที่ถ้าซื้อผ่านตัวแทนจะมีค่าธรรมเนียมที่ค่อนข้างมากครับ

*** คือราคาตั๋วจากสถานีตามข้อมูลล่าสุด ซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงได้นะครับ

slide43

อันนี้เป็นค่าใช้จ่ายทั่วๆไป

ถ้าเป็นวันที่เราอยู่บนรถไฟ เราจะไม่เสียค่าที่พัก ค่าเดินทาง หรือค่าเข้าชมสถานที่นะครับ

ในขณะที่ค่าอาหาร วันละ 600 บาท ถือว่าเป็นอะไรที่กำลังพอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไปครับ

slide44

ค่าใช้จ่ายโดยประมาณทั้งหมด สำหรับทริป 14 วันครับ

เริ่มต้น ปักกิ่ง หรือ มอสโคว จะมีค่าใช้จ่ายที่ไม่เท่ากัน

และ Soft Sleeper ก็จะแพงกว่า Hard sleeper เล็กน้อยครับ


สำหรับผู้หญิงไทยที่จะไปเที่ยวโดยเฉพาะ!!!

คือบางคำถามผมก็ไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจนมากนัก เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจกับมันดีมาก 555+ เราเลยต้องหาผู้ที่รู้ด้านนี้มาตอบซึ่งก็ได้รับเกียรติจากหมอแพร ผู้ที่ชอบตะลุยโลกเหมือนกัน โดยเธอไปยังทางรถไฟสายนี้เมื่อตอนฤดูร้อนของปีที่แล้วครับ

คำถามมีอยู่ว่า “ถ้ามีผู้หญิงอยากจะไปทรานส์ไซบีเรีย 2 คน ไปคู่กัน เราจะมีคำแนะนำอะไรเขาไหมครับ?”

คำตอบที่ได้รับคือ ตามนี้

  1. แบ่งเงินเก็บดีๆค่ะ แพรใช้กระเป๋าหน้าท้องที่ซ่อนในกางเกงได้ใส่เงินกับ passport
  2. อย่าลืมตุนเสบียงไปกินบนรถไฟค่ะ มาม่าปลากระป๋อง ฯลฯและอย่าลืมแวะซื้อผลไม้ที่ชาวบ้านเอามาขายตามจุดแวะพัก อร่อยมากก>< นั่งจาก Moscow มา Irkutsk เราจะเจอแต่คนรัสเซียมาร่วมห้องด้วย โหลดแอพ google translateไปด้วยช่วยได้บ้าง คนรัสเซียดูไม่ค่อยคุยนะ เค้าไม่ค่อยพูดอังกฤษ แต่พอเริ่มชวนเค้าคุย เค้าน่ารักมากๆเลย เราเจอมาสองคน เจอทหารคนหนึ่งสอนเราเล่นโยคะด้วย อีกคนซื้อผลไม้มาเลี้ยง คือคุยกันไม่ค่อยเข้าใจนะ แต่ใช้วาดรูปบ้าง ท่าทางบ้าง google translateบ้าง พอช่วยได้ 😉
  3. กระดาษเปียกสำคัญมากกก ห้องน้ำบนรถไฟกับห้องน้ำที่มองโกเลียคือแบบ><555 ทริปนี้เรารักกระดาษเปียกที่สุด 😉
  4. หาหนังสือ ไพ่ ไปนั่งเล่นนั่งอ่านในรถไฟยามว่าง ไพ่นี้ดีมาก ใช้ผูกมิตรกับคนอื่นได้;)
  5. อยู่มองโกเลียนานๆ 55 (ความชอบส่วนตัว) เราลงใต้ไปโกบี เหมือนอยู่อีกโลกเลย คือเราชอบวิถีชีวิตเค้ามากๆ ไม่มีตึกสูงบังทิวทัศน์ มองไปทางไหนก็สวย เรากดชัตเตอร์ไม่หยุดเลย><
  6. อีกข้อค่ะ ถ้าโดนขโมยของ อย่าตกใจ แรกๆจะรู้กสึกแย่มากเพราะตำรวจรัสเซียเค้าไม่ยอมพูดอังกฤษกับเรา บันทึกข้อความต้องให้เราเขียนเป็นภาษารัสเซียด้วย เราไม่รู้จะทำไงเลย ภาษาอังกฤษยังไม่ค่อยรอดมาหวังอารายกับภาษารัสเซีย สุดท้ายเราให้เด็กฝึกงานที่โฮสเทลที่เราไปพักช่วย เค้าน่ารักมาก คือช่วยเราจัดการทุกอย่าง และเราไปสถานทูตไทยที่นู้นด้วยเป็นครั้งแรกเลยที่รู้สึกเจอคนไทยที่ต่างประเทศแล้วอยากวิ่งเข้าไปกอด 555 เรารู้สึกว่าในเรื่องร้ายมีเรื่องดีเสมอนะ พอเจออุปสรรคแล้วเราว่าการได้รับน้ำใจจากคนแปลกหน้า มันทำให้รู้สึกซาบซึ้งมากเลยนะ;)
  7. สุดท้าย เราว่าจิงๆมันไม่อันตรายน้า ไปผู้หญิงสองคนโอเคเลย แต่ต้องระวังแค่ตอนอยู่ Moscow กับ Saint Petersburg ที่เหลือ Irkutsk กับ Mongolia นี้ปลอดภัยสุดๆ

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณ

  • Chi Chaya (น้องป๊อปปี้) สำหรับภาพวาดรูป infographic แผนที่ทางรถไฟจ้า 🙂
  • หมอแพร Juthawan สำหรับรูปภาพขบวนรถไฟในฤดูร้อนและคำแนะนำในส่วนของผู้หญิงครับ 🙂

หากใครสนใจอุปกรณ์การเดินทาง เป้แบคแพค เสื้อแจ็คเก็ตกันลมกันฝน เสื้อขนเป็ด ลองจอน ถุงมือกันหนาว
สามารถเข้าไปเลือกชมสินค้าได้ที่ ร้านของพวกเรา The Puffin House