เรื่องน่ารู้กับการเตรียมเงินไปเที่ยวต่างประเทศ

เวลาจะที่เรามีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะไปเที่ยวหรือไปทำงานในที่ๆไม่สามารถใช้เงินสกุลบาทได้ เราก็ต้องหาวิธีแลกเงินบาทของเราเป็นเงินสกุลของประเทศนั้นๆใช่ไหมครับ วันนี้ผมจะมาสรุปเรื่องวิธีการแลกเปลี่ยนเงินว่ามีวิธีไหนบ้างนะครับ มีหลักๆเลย 5  วิธีครับ ตามนี้

  1. แลกเงินบาทเป็นเงินสกุลนั้นๆ ที่ร้านแลกเงิน เช่น Superrich Thailand, Superrich 1965, etc.
  2. แลกเงินบาทเป็นเงินสกุลนั้นๆ ที่ตามสาขาธนาคารไม่ว่าจะเป็น KBank, SCB, BBL หรืออะไรก็ว่าไป
  3. เอาบัตรเครดิต (Credit card) ไปใช้แทน
  4. กด ATM เอาหน้างานหรือเอาบัตรเดบิต (Debit card) ไปใช้แทน
  5. ใช้บริการโอนเงินผ่านระบบ Western Union หรือ Moneygrams

ซึ่งแต่ละวิธีก็จะมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป เดี๋ยวผมจะยกตัวอย่างให้ดูกันทีละข้อครับ


แลกเงิน

การแลกเงินก่อนการเดินทาง ทำได้สองวิธีคือ คือการไปแลกเงินที่ร้านแลกเงินหรือที่ธนาคาร ซึ่งแต่ละวิธีจะมีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกัน

  1. แลกที่ร้านแลกเงิน

    Superrich ซูเปอร์ริช
    Superrich Thailand เป็นหนึ่งในร้านแลกเงินที่ดังที่สุดของเมืองไทย
  2. แลกที่ธนาคาร

ตามธนาคารต่างๆจะมีบริการในส่วนของการแลกเงินไว้ด้วย แต่ไม่ได้มีทุกสาขา จะมีเฉพาะสาขาใหญ่ๆเท่านั้นครับ ลองเอาเรทมาดูเทียบความแตกต่างกัน

Superrich ซูเปอร์ริช

อันนี้เป็นเรทของการแลกเงินที่ธนาคารหลักๆ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559

เรทแลกซื้อกับเรทแลกขายก็จะไม่ค่อยต่างกันมากแต่จะต่างกันอย่างชัดเจนกับเรทแลกขาย

Superrich ซูเปอร์ริช

อันนี้เป็นเรทของการแลกเงินที่ร้านแลกเงินหลักๆ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559

โดยสีเขียวจะบอกถึงเรท Buying ที่ดีที่สุดในเวลานั้นๆ

และสีเหลืองจะบอกถึงเรท Selling ที่ดีที่สุดในเวลานั้นๆ


ที่ไหนเรทดีสุด

เวลาจะแลกเงิน ส่วนใหญ่มักจะสับสนว่าจะดูช่องไหนดีระหว่าง Selling หรือ Buying มาตอนนี้ผมขอสรุปอีกครั้งว่า

Selling แปลว่า ร้านแลกเงินหรือธนาคารเป็นคนขายเรา เพราะฉะนั้นถ้าเราจะเอาเงินบาทไปแลกเป็นเงินสกุลอื่นๆเราต้องดูช่องนี้ หลักการดูคือ ที่ไหนตัวเลขน้อยสุด ที่นั่นคือเรทดีที่สุดครับ หมายความว่าเราใช้เงินบาทที่จำนวนน้อยที่สุดเพื่อแลกเป็นเงินสกุลนั้นๆ

จำเลยครับ “ถ้าจะไปแลกเงินเที่ยว ให้ดูที่ Selling ที่ไหนแสดงตัวเลขน้อยสุดคือดีสุด”

Buying แปลว่า ร้านแลกเงินหรือธนาคารเป็นคนซื้อจากเรา อันนี้คือเรามีเงินต่างประเทศสกุลนั้นๆ แล้วอยากจะมาแลกเป็นเงินบาทกลับ หลักการดูข้อนี้คือ ที่ไหนตัวเลขมากสุดคือดีสุดครับ

จำเลยครับ “เที่ยวเสร็จแล้ว จะแลกเงินกลับ ให้ดูที่ Buying ที่ไหนแสดงตัวเลขมากสุดคือดีสุด”


พูดไปพูดมาเดี๋ยวจะงง เรามาดูตัวอย่างกันดีกว่า

Superrich ซูเปอร์ริช
อัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 6 ธันวาคม 2559

ตัวอย่างที่ 1 ต้องการจะแลกเงิน 100 USD ที่ไหนเรทดีสุด

ให้เรากวาดสายตาไปมองช่อง Selling อันไหนที่ตัวเลขน้อยสุดคืออันนั้นครับ ซึ่งทางเว็บไซต์ก็ไฮไลท์เอาไว้ให้เราแล้วนั่นเอง คือ

แลกที่ธนาคาร  ธนาคารที่ให้เรทดีสุด ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) หรือยูโอบี (UOB) แบบห่างกันแบบสุดจะฉิวเฉียด

เรทที่ได้คือ Selling 35.87 บาท ต่อ 1 USD ถ้าต้องการเงิน 100 USD เราต้องใช้เงิน 3,587 บาท

แลกที่ร้านแลกเงิน กวาดสายตาไปจะเห็นว่าร้านที่ให้เรทดีที่สุดคือ Superrich Thailand กับ Pentor Exchange ครับ ส่วนร้านอื่นๆก็มาแบบใกล้เคียงกันมาก คือห่างกันที่ทศนิยมตำแหน่งที่สองครับ

เรทที่ได้คือ Selling 35.61 ต่อ 1 USD ถ้าต้องการเงิน 100 USD เราต้องใช้เงิน 3,561 บาท


ตัวอย่างที่ 2 แล้วถ้าเป็นเงินสกุลอื่นๆละ

Superrich ซูเปอร์ริช
อัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 6 ธันวาคม 2559

Euro (ยูโร)

ธนาคาร : ธนาคารกรุงศรี (Krungsri) ให้เรทดีสุดที่ 38.87 บาท ต่อ 1 USD ครับ

ร้านแลกเงิน : Superrich Thailand, Siam Exchange ให้เรทเท่ากันที่ 38.35 บาท ต่อ 1 USD ครับ

Yen (เยน)

ธนาคาร : ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ให้เรทดีสุดที่ 32.13 บาท ต่อ 100 Yen ครับ

ร้านแลกเงิน : Superrich Thailand, SIA Moneyให้เรทเท่ากันที่ 31.50 บาท ต่อ 100 Yen ครับ

RMB (หยวน)

ธนาคาร : ธนาคารกรุงไทย กรุงศรี และยูโอบี ให้เรทดีสุดที่ 5.35 บาท ต่อ 1 RMB ครับ

ร้านแลกเงิน : Superrich Thailand ให้เรทต่ำที่สุดที่ 5.15 บาท ต่อ 1 RMB ครับ

ทีนี้มาดูฝั่ง AEC กันบ้าง ขอยกตัวอย่างสองประเทศที่ถือว่าเป็นไฮไลท์เลย

Indonesia Rupiah (IDR)

ธนาคาร : ธนาคารกสิกรไทย (Kbank) ให้เรทดีสุดที่ 2.83 บาท ต่อ 1,000 IDR ครับ

ร้านแลกเงิน : Superrich Thailand ให้เรทที่ 2.67 บาท ต่อ 1,000 IDR ครับ

ถ้าอยากจะแลกเงินไปเที่ยวภูเขาไฟโบรโม่สัก 20,000 บาท

ไปแลกที่ธนาคารได้ 7,067,000 IDR

ไปแลกที่ร้านแลกเงินได้ 7,520,000 IDR

Vietnamese Dong (ด่อง)

ธนาคาร : ธนาคารกรุงไทย (KTB) ให้เรทดีสุดที่ 1.62 บาท ต่อ 1,000 VND ครับ

ร้านแลกเงิน : Superrich Thailand ให้เรทที่ 1.55 บาท ต่อ 1,000 VND ครับ

สรุปเลยละกันครับ

ถ้าดูกันที่เรทล้วนๆ ร้านแลกเงินให้เรทที่ดีกว่าการไปแลกที่ธนาคารในทุกๆสกุลเงิน

ถ้าเราแลกเงินเพียงเล็กน้อย (หลักพันบาท) ส่วนต่างนี้จะน้อยมาก จนบางทีเราอาจจะไม่สังเกตเห็นเลยก็ได้ครับ

แต่ในบางสกุลเงินเช่น Indonesia Rupiah หรือ Vietnamese Dong ถือว่ามีความแตกต่างกันพอสมควร ประมาณ 5-6% เลยทีเดียว ถ้าจะไปเที่ยวอินโดนีเซียหรือเวียดนาม แม้อาจจะแลกเงินไม่เยอะ แต่การแลกที่ร้านแลกเงินก็ค่อนข้างจะได้เรทที่ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัดครับ

money-1578510_640
ถ้าวางแผนการแลกเงินให้ถูกต้อง ก็จะช่วยประหยัดต้นทุนค่าเดินทางไปได้อีกครับ

ร้านแลกเงิน

ปัจจุบันมีร้านแลกเงินต่างๆมากมายในเมืองไทยครับ วิธีการแลกเงินที่ร้านถือเป็นวิธีที่เรามักจะได้ “เรทถูกที่สุด” เมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ ซึ่งแต่ก่อนในสมัยอดีตเราก็ต้องกระเสือกกระสนไปที่แถวๆราชดำริ ประตูน้ำ ที่ถือว่าเป็นพื้นที่ๆร้านแลกเงินไปกระจุกตัวกันอย่างหนาแน่น แต่ปัจจุบันร้านแลกเงินต่างๆเหล่านี้ ได้ขยายสาขากระจัดกระจายออกมาทั่วแล้ว จึงเพิ่มความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น มารู้จักร้านแลกเงินเจ้าดังๆกันดีกว่า ซึ่งโลโก้แต่ละร้านจะมีสีสันที่ฉูดฉาดสร้างความแตกต่างให้คนจดจำได้ต่างๆกันไป

โดยผมขอยกตัวอย่างร้านแลกเงินที่ดังๆ ของเมืองไทยมานะครับ

Superrich ซูเปอร์ริช
Superrich Thailand สาขาสยามพารากอน อีกหนึ่งแห่งที่เดินทางมาได้ง่ายมากครับ สามารถแลกเงินและขายคืนได้ในทุกสกุลเงินหลัก

Superrich Thailand

  • อันนี้ดูง่ายๆจะเป็นสีเขียว เป็นร้านแลกเงินที่ให้เรทดีที่สุด เมื่อเทียบกับร้านอื่น ในเทุกสกุลเงินดูข้อมูลได้ที่ http://www.superrichthailand.com
  • จริงๆจะมี Superrich หลายชื่อมาก แต่สังเกตดูจะเห็นว่าสีไม่เหมือนกัน หลายคนอาจคิดว่าเป็นแบรนด์เดียวกัน แต่ความจริงก็คือคนละแบรนด์ คนละเจ้าของครับ
  • สาขาใหญ่สุดคือที่ราชดำริและถนนวิภาวดีตรงหลังตึกการบินไทย และมีสาขาย่อยๆอีก 12 สาขา โดยทุกสาขาใช้เรทเดียวกันในการนำเงินบาทไปแลกเป็นเงินสกุลต่างประเทศ แต่ถ้าเอาเงินสกุลต่างประเทศไปแลกคืนเป็นเงินบาท จะได้เรทจะต่างกับสาขาราชดำริเล็กน้อย ซึ่งหากเราแลกคืนตามสาขาต่างๆ จะถือว่าคุ้มมากเมื่อเทียบส่วนต่างกับค่าเดินทางฝ่ารถติดเข้าไปย่านประตูน้ำ
  • สามารถที่จะถือเงินบาทเพื่อไปแลกเป็นเงินสกุลนั้นๆได้ที่ทุกๆสาขาในกรุงเทพ หรือจะเอาเงินสกุลต่างประเทศไปแลกคืนเป็นเงินบาทก็ได้เช่นกัน
  • ถ้าไม่สะดวกไปที่ร้านใหญ่ที่ราชดำริ ก็สามารถที่จะโทรแจ้งสกุลเงินที่ต้องการก่อน แล้วนัดเวลาเพื่อไปรับเงิน ในสาขาที่เราสะดวกได้ครับ โดยเฉพาะบางสกุลเงินที่เราอาจต้องการจำนวนมากๆ เค้าอาจไม่มีสำรองไว้ตามสาขา เช่น Indonesia Rupiah เราจะได้ไม่เสียเวลาที่ต้องรอและคอยครับ
  • สำหรับคนที่ต้องไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิพอดี สามารถไปนัดรับเงินที่สถานีสุวรรณภูมิ ตรงชั้น Airport Link เลยก็สะดวกครับ หรือถ้าสะดวกในสาย BTS ก็มีที่สถานีช่องนนทรีครับ
  • สาขาตามห้างที่มีก็คือ Siam Paragon, Emporium, เซ็นทรัลพระราม 9, เซ็นทรัลปิ่นเกล้า, พาราไดซ์พาร์ค, เอเชียทิคส์
Superrich ซูเปอร์ริช
Superrich Thailand สาขาเซ็นทรัลพระราม 9 ที่เดินทางสะดวกจาก MRT

Superrich 1965

  • อันนี้ดูง่ายๆจะเป็นสีส้ม เรทแลกเงินก็ประมาณกับสีเขียว พอฟัดพอเหวี่ยงกัน แต่สีเขียวชนะไปได้เล็กน้อย
  • Rate สามารถเช็คได้จาก Superrich1965
  • มีเรทที่หลากหลายมาก แลกเงินแต่ละที่จะได้เรทไม่เท่ากัน คือที่สาขาใหญ่ราชดำริ ก็มีเรทของตัวเอง สาขาสีลมก็มีเรทของตัวเอง สาขาหลังการบินไทยก็มีเรทของตัวเอง เลยเป็นการยากที่จะเทียบกับแบรนด์อื่นๆได้ชัดเจนครับ และถ้าเป็นสาขาย่อยๆต้องโทรไปเช็คด้วยตัวเองก่อนเสมอ
  • สาขาย่อยเล็กๆ (Sub branch) ส่วนมากจะรับซื้อเงินกลับ (Buying) อย่างเดียว คือเราเอาเงินไทยไปแลกไม่ได้ครับ และเรทก็จะสู้ที่สาขาใหญ่ไม่ได้ ดังนั้นต้องเช็คให้ละเอียดจากแต่ละสาขาให้ชัวร์ก่อนจะได้ไปแล้วไม่เสียเที่ยวนะครับ

Grand Superrich

  • อันนี้ดูง่ายๆจะเป็นสีฟ้า เรทแลกเงินก็ประมาณกับสีเขียวหรือส้ม
  • Rate สามารถเช็คได้จาก http://www.grandsuperrich.com
  • มีสาขาเดียวที่ราชดำริเท่านั้น อาจจะไม่สะดวกสำหรับคนทั่วๆไป ที่ไม่ได้เดินทางมาแถวนี้ครับ

การแลกเงินที่สนามบินสุวรรณภูมิ

สำหรับคนที่มาจากต่างจังหวัด และไม่มีเวลาไปแลกเงินที่อื่นจริง เราก็สามารถที่จะมาแลกที่สนามบินสุวรรณภูมิได้เช่นกันครับ โดยทั้งหมดจะตั้งอยู่ในกระจุกเดียวกันที่ทางเข้าออกของ Airport link โดยมีร้านแลกเงินทั้งหมด 4 เจ้าคือ

1.) Superrich Thailand 

สาขานี้ตั้งขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ผู้ที่ไม่มีเข้าเมืองครับ โดยเราสามารถที่จะโทรเข้าไปที่สำนักงานใหญ่เพื่อนัดเวลามารับเงินได้ที่สาขาสนามบินสุวรรณภูมิเลยครับ สะดวกมากสำหรับผู้ที่บินมาจากต่างจังหวัดและต่อเครื่องไปต่างประเทศที่นี่

Superrich ซูเปอร์ริช
Superrich Thailand สาขาสนามบินสุวรรณภูมิจะตั้งอยู่ตรงบริเวณชั้นใต้ดินทางเข้า-ออกของ Airport Link ครับ ถือว่าสะดวกมากที่สุดสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาไปแลกเงินในเขตเมือง

2.) Superrich 1965

3.) Yenjit

4.) Value+

โดยที่ที่เรทของแต่ละร้านก็ใกล้เคียงกัน ห่างกันเล็กน้อย ให้ลองเช็คจากเว็บไซต์ของแต่ละเจ้าอีกครั้งครับ

นอกเหนือจากการแลกเงินที่ร้านแลกเงินในสนามบินแล้ว ที่สุวรรณภูมิก็ยังมีสาขาย่อยของธนาคารตั้งอยู่เพื่อบริการแลกเงินด้วยเช่นกัน แต่ว่าเรทจะน้อยกว่าตามมาตรฐานร้านแลกเงินทั่วไปอยู่มากครับ


FAQs

คำถามที่หลายๆคนมักจะสงสัย รวมถึงตัวผมเองด้วยแต่ก่อนก็คือ ทำไมเรทราคาในร้านแลกเงินถึงดีกว่าธนาคาร ฟอกเงินหรือไม่? เป็นเงินที่ผิดกฎหมายหรือไม่?

คำตอบ คือ เงินพวกนี้ถูกกฎหมายทั้งหมดครับ แต่ที่เรทแลกเงินมันต่ำกว่าธนาคารก็เพราะว่า ธุรกิจแลกเงินเขาหากินกับส่วนต่างของการแลกเงินครับ ถ้าไม่เกิดการแลกเงินไปมา กำไรก็ไม่เกิด ดังนั้นเขาต้องลดเรทลงมาให้ต่ำกว่าธนาคาร ไม่งั้นทุกคนก็แห่กันไปแลกที่ธนาคารหมดสิครับ ถูกไหมครับ ลองสังเกตส่วนต่างจอง Buying / Selling ในร้านแลกเงินกับธนาคารดูนะครับ จะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนมาก พวกร้านแลกเงินส่วนต่างจะอยู่ในหลัก 1-1.5% เท่านั้น แต่ถ้าเป็นตามเรทธนาคารส่วนต่างจะอยู่ที่ประมาณ 3-3.5%

Superrich ซูเปอร์ริช

สรุปคำแนะนำ

  • การแลกเงินที่ร้านแลกเงินมีข้อดีคือ เรทโดยทั่วไปจะดีกว่าการแลกเงินจากธนาคาร ถ้าแลกน้อยๆจะไม่เห็นความแตกต่างมาก แต่ถ้าแลกเยอะๆและได้เดินทางบ่อยๆ อันนี้จะเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนมาก
  • สามารถแลกเงินได้โดยง่ายจากสาขาต่างๆที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ
  • ควรจะใช้เงินสดแลก เพราะถ้าใช้บัตรเครดิต เราจะต้องเสียค่าธรรมเนียม โดยประมาณ 2% ครับ ร้านแลกเงินทั้งหมดคิดค่าธรรมเนียมครับ ถ้าจะใช้บัตรเครดิตเดินไปแลกที่ธนาคารอาจจะโอเคกว่า
  • เราควรจะวางแผนแลกเงินไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะสกุลยอดฮิตในช่วงเทศกาล คนไทยเราไปต่างประเทศกันเยอะมาก บางทีเงินหมดครับ กลายเป็นเราต้องไปแลกเงินที่ธนาคารแทน T_T

แลกเงินที่ธนาคาร

bureau_de_change

  • เรทแลกเงินที่ธนาคารจะสู้เรทการเงินจากร้านไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเรทเงินสกุลใหญ่ๆ เช่น US Dollar, Euro จะต่างกันเพียง 1-2% เท่านั้น แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าเป็นเงินสกุลเล็กๆเช่น Indonesia Rupiah อาจจะต่างกันถึง 5-6% เลย ชั่งน้ำหนักกันดูว่าวิธีไหนดีกว่ากันครับ
  • ถ้าต้องการไปแลกเงินที่ธนาคารจริงๆต้องเทียบแต่ละธนาคารไปเลย เพราะบางธนาคารอาจจะดีกว่าหรืออาจจะแย่กว่าอีกธนาคารอย่างเห็นได้ชัด เปิดเทียบทุกๆธนาคารไปเลยครับ
  • การแลกเงินที่ธนาคารดีอย่างคือ เราสามารถใช้บัตรเครดิตเพื่อแลกเงินได้ ซึ่งบางธนาคารมีโปรโมชั่นผ่อนคืนย้อนหลังได้อีก แต่ส่วนสำคัญที่ต้องรู้คือเราจะไม่ได้แต้มสะสมจากการใช้บัตรเครดิตแลกเงินนะครับ
  • ไม่ใช่ทุกสาขาของธนาคารที่แลกเงินได้ ต้องเช็คทุกครั้งนะครับ และบางธนาคารอาจจะไม่ได้สต๊อคเงินไว้มากพอดี ควรโทรไปขอข้อมูลล่วงหน้าด้วยครับ

สรุปข้อดีและข้อเสีย

ร้านแลกเงิน ธนาคาร
อัตราแลกเปลี่ยน ดีกว่า น้อยกว่าร้านแลกเงิน
ความสะดวกสบาย เท่าๆกัน เท่าๆกัน
โปรโมชั่นพิเศษ บางร้านจะมีของที่ระลึก หรือ ส่วนลดแลกเงินในบางช่วง ถ้าแลกด้วยบัตรเครดิตอาจมีโปรผ่อน 0%

credit-card-1080074_1280

การเอาบัตรเครดิต (Credit) ไปใช้ที่ต่างประเทศ

บางคนไปเที่ยวอาจจะแลกเงินติดตัวไว้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่เหลือคือไปใช้บัตรเครดิตรูดเอาหน้างานล้วนๆ ซึ่งส่วนใหญ่ในประเทศที่พัฒนาไปมากๆ ก็มักจะเป็นแบบนี้กัน เขาแทบจะไม่ได้พกเงินสดใช้กันเลยครับ (Cashless society) แต่นั่นเขาใช้บัตรเครดิตในประเทศตัวเองไม่มีส่วนต่างของค่าเงินเหมือนของคนไทย ถ้าเราจะไปทำแบบเขาก็ต้องมาเทียบดีๆว่า สุดท้ายจะจ่ายมากขึ้นหรือน้อยลงกันแน่เมื่อคิดจะใช้บัตรเครดิตครับ

พูดถึงเรื่อง “อัตราแลกเปลี่ยน” ปกติการไปรูดบัตรเครดิตที่ต่างประเทศ แทบจะทุกธนาคารจะคิดเป็นเงิน US Dollar ก่อนเสมอ ถ้าประเทศนั้นใช้เงิน USD เป็นหลักแล้วก็สบายจบเลย แต่ถ้าประเทศนั้นใช้เงินสกุลอื่น เช่น เยน หยวน ยูโร ก็จะถูกคิดเป็น เงิน US Dollar ก่อนแล้วก็ค่อยเอามาแปลงเป็นเงินสกุลท้องถิ่นนั้นๆ แล้วสุดท้ายในใบสลิปที่เราได้ตอนครบรอบบิลจะถูกเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินไทย ซึ่งการที่โดยสลับไปมาหลายครั้งเนี่ย แล้วอิงกับเรทแลกเปลี่ยนของธนาคารอยู่ ทำให้สุดท้ายแล้วอัตราการแลกเปลี่ยนที่ใช้ผ่านบัตรเครดิตจะสู้การแลกเงินสดจากเมืองไทยไม่ได้ครับ

เรื่องต่อมาคือ “ค่าธรรมเนียม” อันนี้เหมือนกับเป็นค่าบริการที่เราดันไปใช้บัตรเครดิตเขา ปัจจุบันเท่าที่ผมเห็นคือทุกธนาคารแทบจะไม่คิดเงินส่วนนี้กันแล้ว ด้วยความที่สภาพการแข่งขันสูงมาก ถ้ามีบัตรไหนคิดส่วนนี้ก็มองข้ามไปเลยละกันนะครับ

เรื่องต่อมาคือ “ค่าความเสี่ยงของการแปลงสกุลเงิน” อันนี้ธนาคารจะชาร์ตที่ผู้ใช้เพราะว่า การใช้บัตรเครดิตเหมือนเป็นการยืมเงินธนาคารมาใช้ล่วงหน้า มีความเสี่ยงเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนที่ขึ้นๆลงๆตลอดเวลา ธนาคารเจ้าของบัตรเราก็เลยไม่ขอรับความเสี่ยงนี้ไว้จึงโยนความเสี่ยงกลับมาให้ผู้ใช้บัตรแทนครับ T_T โดยปกติจะอยู่ที่ไม่เกิน 2-2.5% แล้วแต่ธนาคารครับ ทีนี้บางบริษัทบัตรเครดิตอาจจะออกโปรโมชั่นดึงดูดเช่นลดค่าความเสี่ยงลงมาถึง 1% ก็มีมาแล้วเพื่อดึงดูดผู้ใช้ครับ

percent-1188490_640

อ่านมาถึงตรงนี้ คงจะเริ่มสงสัยแล้วว่าบัตรเครดิตมันดีตรงไหน โดนค่าธรรมเนียมแทบจะในทุกขั้นตอน แต่จริงๆแล้วการใช้บัตรเครดิตก็มีข้อดีอยู่ค่อนข้างมากครับ เช่น

  1. เราไม่จำเป็นต้องพกเงินสดติดตัว

อันนี้เป็นข้อดีที่สุดของการพกบัตรครับ บางคนวางแผนจะไปช็อปปิ้ง ถ้าจะให้ขนเงินเป็นเป็นแสนออกนอกประเทศน่าจะเป็นอะไรที่เก็บลำบากมาก เอาบัตรไปดูแลง่ายกว่า

  1. ถ้าเราไปประเทศที่หาเงินสกุลนั้นๆในประเทศไทยไม่ได้

ตัวอย่างเช่น ประเทศไอซ์แลนด์ ซึ่งเขาใช้สกุลเงิน Icelandic Króna (ISK) ทั้งประเทศ และไม่รับเงิน Euro, USD, Norwegian Krone อะไรทั้งนั้น ถ้าเกิดเราอยากจะแลกเงินสดไป หมายความว่าเราต้องเอาเงินบาทไปแลกเป็นเงิน USD หรือ Euro ก่อน แล้วก็เอาเงินที่แลกไปแลกเป็น Icelandic Krona อีกครั้งที่ธนาคารในประเทศไอซ์แลนด์ เท่ากับโดนค่าส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนถึง 2 ครั้งครับ เท่านี้ไม่พอ เกิดตอนกลับเงินเหลือในมือเป็นฟ่อนทำไงครับ เงิน Icelandic Krona ไม่มีใครในโลกใช้ยกเว้นไอซ์แลนด์ เราก็ต้องทำการแลกเงินกลับมาเป็น USD หรือ Euro อีกครั้ง เพื่อจะแลกกลับมาเป็นบาทต่อ สรุปเสียค่าส่วนต่างอีก 2 ครั้ง ไปกลับ 4 ครั้ง  สบายใจเลยครับแบบนี้ เราไปใช้บัตรเครดิตอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

  1. ได้สะสมแต้มไปในตัว

อันนี้เป็นอีกหนึ่งข้อดีของบัตรเครดิตครับ ยิ่งถ้าไปเที่ยวยุโรปที่เราจะใช้เงินกันอย่างสนุกมือ บางทีกลับมาแต้มในบัตรเครดิตโผล่มามากมายจนเราไม่รู้ตัว

  1. โปรโมชั่นพิเศษ

เช่น ผ่อน 0% นานกี่เดือนก็ว่าไป หรืออาจจะเป็นเครดิตเงินคืนเมื่อใช้จ่ายเงินในต่างประเทศ โปรโมชั่นสะสมไมล์การเดินทาง อะไรแบบนี้ครับ ซึ่งแต่ละธนาคารก็จะพยายามโฆษณาอยู่ตลอดเวลา หน้าที่ของเราก็คือไปเช็คดูว่าเราเหมาะกับเขาไหมครับ

ตัวอย่างการคิดเงินด้วยบัตรเครดิต > อันนี้สำคัญ

ตัวอย่าง (อัตราแลกเปลี่ยนของบัตรแต่ละชนิดจะไม่เหมือนกัน Visa, Mastercard แต่จะขอพูดแค่ 2 อันแรกที่ใช้บ่อยสุด)

ค่าธรรมเนียมของ Visa

ค่าธรรมเนียมของ Mastercard

visa1 visa2

ถ้าเราต้องการเงินไปเที่ยว Iceland ล่าแสงเหนือ วางแผนไว้ว่าจะเอาไปสัก 50,000 บาท

ถ้าใช้บัตรเครดิตก็เข้าไปที่เว็บของ Visa แล้วก็ใส่ตัวเลขและสกุลเงินที่เราจะแปลงเข้าไปครับ

อย่างของ Visa ถ้าเราใช้บัตรของธนาคารกรุงเทพที่คิดค่า Fee ที่ 2.5%

แล้วก็กดคำนวณไป ระบบก็จะคำนวณออกมาให้ว่าที่ 100 ISK เท่ากับ 31 บาท

ถ้าเอาไปเทียบกับการแลกเงินบาทเป็นยูโร แล้วเอายูโรแลกเป็น ISK จะได้ที่ 100 ISK เท่ากับประมาณ 30.3

ห่างกันอยู่ประมาณ 2-2.5% ครับ แต่ถ้าเราคิดเผื่อว่าเราต้องแลกเงินกลับด้วย ส่วนต่างนี้ก็แทบจะหายไปเลย เลยเป็นว่าเจ๊ากันไป สู้แบบนี้ถือบัตรไปใช้ที่ไอซ์แลนด์อาจจะสะดวกกว่าก็ได้ครับ เพราะฉะนั้นต้องดูเป็นสกุลเงินไปนะครับ


money-256319_1280

การเอาบัตรเดบิต (Debit) ไปใช้ที่ต่างประเทศ หรือกดเงินจากตู้ ATM

บัตรเดบิตหรือบัตร ATM เมื่อเราไปอยู่ที่ต่างประเทศ คุณสมบัติของมันจะคือเครื่องเก็บเงินของเราที่อยู่ทั่วโลก ที่จะกดมาใช้เมื่อไรก็ได้ เป็นการหักเงินคงเหลือจากบัญชีที่เรามีอยู่ โดยที่บัตรของเราต้องเป็นบัตร Debit ที่มีสัญลักษณ์ Plus, Cirrus อยู่ด้านหลังบัตร

การใช้บัตร Debit เพื่อถอนเงินผ่านตู้ ATM จะมีหลักการประมาณนี้

  • ค่าธรรมเนียมการถอนเงินคือ 100 บาทต่อรายการ
  • อัตราการแลกเปลี่ยนเงินหลักเดียวกับบัตรเครดิตเลยครับ คือ ถ้าเป็นเงินสกุล US ก็จบเลย แต่ถ้าไปใช้เงินที่ไม่ใช่ US จะต้องถูกแปลงเป็น US ก่อนแล้วก็แปลงเป็นเงินสกุลท้องถิ่นนั้นๆอีกครั้ง
  • ค่าความเสี่ยงของการแลกเปลี่ยน เรทเดียวกับบัตรเครดิตครับ คือประมาณ 2-2.5%
  • ตู้ ATM แต่ละประเทศ จะชาร์ตค่าธรรมเนียมเพิ่มอีกต่างหาก ซึ่งอันนี้บอกไม่ได้ครับว่าเท่าไร อาจจะมากหรือน้อย แต่จากประสบการณ์อยู่ที่ 100 – 150 บาทต่อการถอน 1 ครั้ง
  • ตู้ ATM แต่ละประเทศ จะถูกกำหนดจำนวนเงินที่ถอนได้ไม่เท่ากัน บางประเทศให้ 20,000 แต่บางประเทศอาจจะให้แค่ 6,000 ก็เคยเจอมาแล้วครับ เพราะฉะนั้นบางทีเราต้องการเงินจำนวนมาก ก็ต้องกดหลายที โดยค่าธรรมเนียมการถอนเงินไปหลายร้อยเลยครับ

บทสรุปของการใช้ ATM

  • บัตรเดบิต (Debit) เก็บไว้เป็นเงินก้นหีบของการเดินทางครับ การเอาบัตรเครดิต (Credit) เป็นเงินก้นหีบอาจจะโอเคเอาไว้ใช้ซื้อตั๋วเครื่องบิน หรือค่าที่พักโรงแรมแพงๆ แต่กับเงินที่ใช้ประจำวัน ควรจะเป็น ATM ดีสุด เพราะตู้ ATM นั้นหาง่ายและปลอดภัยกว่าการใช้บัตรเครดิตมากครับ โดยเฉพาะการเที่ยวประเทศสายผจญภัยทั้งหลาย ผมลองมาเกือบจะทั้งทวีปเอเชียและยุโรปแล้ว ใช้ได้กับตู้ ATM ใช้ได้หมดยกเว้นที่อิหร่าน
  • แต่เนื่องจากเพดานการถอนเงินแต่ละวัน บางประเทศให้แค่ 6000 เท่านั้น ทำให้บางทีเวลาต้องการใช้เงินฉุกเฉิน เราจะหาเงินได้ไม่พอใช้ครับ ซึ่งถ้าเงินสดหมด บัตรเครดิตไม่พร้อมใช้ ก็ต้องไปสู่หนทางต่อไปคือการใช้บริการโอนเงินข้ามประเทศครับ

การโอนเงินผ่านระบบของ Western Union หรือ Money Grams

         อันนี้เป็นไม้ตายสุดท้ายจริงๆ คือหมดสิ้นหนทางทุกอย่างแล้ว บัตรเครดิตหาย บัตรเดบิตหาย เหลือวิธีสุดท้ายคือเราต้องให้ทางบ้านโอนเงินมาให้เรา แต่การโอนเงินผ่านระบบ Western Union หรือ Money Grams มันดีตรงที่เราไม่จำเป็นต้องมีบัญชีธนาคารในประเทศนั้นๆครับ หลักการคือให้คนที่บ้านไปยังธนาคารในประเทศไทยที่มีบริการ Western Union อยู่ หรืออาจะเป็นตัวสาขาของเขาเอง ให้โอนเงินไปตามจำนวนที่ต้องการ พร้อมทั้งให้หลักฐานของผู้รับเงินปลายทางว่าเป็นใครมาจากไหน หลังจากทำเรื่องเสร็จคนที่ไปโอนเงินจะได้ code มา ซึ่งเขามีหน้าที่ต้องส่ง code นี้ให้ผู้รับที่ปลายทาง ซึ่งจะเป็นช่องทางไหนก็ได้ หลังจากปลายทางได้รับ code แล้ว เขาก็ต้องไปธนาคารที่มีบริการของ Western Union หรือสาขาของ Western Union เอง แล้วระบ code และตัวตนเช่น passport แล้วก็รับเงินได้เลย ดูเหมือนง่ายครับ แต่จริงๆยากมาก เพราะสถานการณ์ตอนที่เงินหมดระหว่างเที่ยวมันสุดแสนจะรันทดใจ แถมค่าบริการบอกเลยว่าไม่ถูกครับ

westernunion


หากใครสนใจอุปกรณ์การเดินทาง เป้แบคแพค เสื้อแจ็คเก็ตกันลมกันฝน เสื้อขนเป็ด ลองจอน ถุงมือกันหนาว กระเป๋าใส่เงินกันขโมย
สามารถเข้าไปเลือกชมสินค้าได้ที่ ร้านของพวกเรา The Puffin House

promotion at The puffin house