ขอเอาโพสต์นี้ให้ความกระจ่างแก่น้องๆ เนื่องจากมีน้องๆทั้งนักศึกษาแพทย์และน้อง intern มาถามผมกันมาเรื่อยๆ และบางครั้งก็พิมพ์เหมือนๆเดิมจนเริ่มเมื่อยมือ จึงจะขอใช้โพสต์นี้ให้ข้อมูลไปเลยละกันนะครับ มันคงยาวมากไปถ้าทำให้จบในทีเดียว พี่เลยจะขอตัดเป็นตอนๆไปละกัน พวกนี้เป็นคำถามที่ most common ที่พบได้บ่อยตลอด 1 ปีที่ผ่านมาครับ
- Travel medicine คืออะไร?
คำถามนี้คลาสสิกที่สุดแล้ว เป็น most common ที่พบได้บ่อยที่สุด และทุกๆคนที่มาถามผมมักจะนำด้วยเรื่อง “การท่องเที่ยว” ก่อนเสมอ จนไปคิดว่ามันคือการแพทย์ที่เกี่ยวแต่กับการท่องเที่ยว จะได้เดินทางรอบโลกไปยังที่ต่างๆ ไปทำงานยังจุดต่างๆของโลก บลา บลา ซึ่งถามว่าถูกไหม ก็คงตอบว่าถูกครับ แต่ถูกเพียง 5% เอง อีก 95% คือผิด คือน้องยังไม่รู้นั่นเองว่าน้องยังไม่รู้อะไร ส่วนที่ผิดเมื่ออ่านตรงนี้จบน้องก็จะเข้าใจความถูกต้องได้เอง
Travel medicine เป็นเรื่องของ “การเดินทาง” ครับ (ไม่ใช่การท่องเที่ยว) คำว่า Travel นั้นความหมายชัดเจนว่าหมายถึงการเดินทาง ถ้าเป็นการเรื่องของการท่องเที่ยวล้วนๆเราคงใช้คำว่า Tourist ไปแล้วครับ ซึ่งการเดินทางนั้นมีมากมายหลายอย่าง จะเป็นการเดินเท้า นั่งรถ นั่งเรือ นั่งเครื่องบิน ไปทำงาน ไปเที่ยว ไปค่ายผู้ลี้ภัย ไปเยี่ยมญาติ ไปหาแฟน ไปหาลูก ไปเรียนต่อ ฯลฯ พวกนี้คือการเดินทางทั้งสิ้น ซึ่งความรู้ใน field นี้จะเข้าตอบโจทย์ในทุกๆมิติของการเดินทางนั้นๆในเชิงของการแพทย์ครับ ส่วนจะเกี่ยวอย่างไรไปไว้ข้อต่อไป
- Travel medicine เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางได้อย่างไร
คำถามข้อนี้ถ้าให้ตอบแบบกำปั้นทุบดินเลยก็คือ มันเกี่ยวมาตลอดเพียงแต่เราไม่ได้คิดถึงมันเท่านั้นเอง เราในที่นี้หมายถึงคนไทยนะครับ ไม่ใช่ฝรั่ง เนื่องจากองค์ความรู้ Travel medicine เกิดขึ้นในฝรั่ง พวกฝรั่งเขาจึงตื่นตัวกับเรื่องนี้มานานแล้ว เดี๋ยวพี่จะยกตัวอย่างให้ดูสัก 2-3 ตัวอย่าง
เช่นจะมีคนๆหนึ่งไปอินเดีย เดินทางแบบ Backpacker จากกัลกัตตาไปที่นิวเดลี 1 เดือน ถ้าเราไม่คิดอะไรมาก ก็ไปเที่ยวเลย อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด พกยาติดตัวไปหน่อยมีอะไรก็ค่อยไปหาหมอเอาแถวนั้นก็ได้ คิดแบบนี้ก็ไม่ผิดครับ แต่ถ้ามองในแง่ของสุขภาพแล้ว เรามีจุดที่ เช่น Malaria risk อยู่ตรงไหนบ้าง ตรงไหนจำเป็นต้องกินยาเพื่อป้องกันมาลาเรีย ตรงไหนไม่ต้อง วัคซีน Typhoid/Cholera จำเป็นไหมขนาดไหน Traveler’s diarrhea ในอินเดียกับในประเทศไทยแตกต่างกันอย่างไร ใช้ยาตัวเดียวกันรักษาเหรอไม่ พวกนี้เป็นตัวอย่างง่ายๆนะครับ ถ้าเป็นโจทย์ยากกว่านี้ก็คือกลุ่มคนที่มีแผนการเดินทางที่ complex กว่านี้ ขึ้นรถ ลงเรือ ขึ้นเขา ดำน้ำ จนเราต้องคุยกันเป็นชั่วโมงเลยทีเดียว
แล้วถ้าไม่ใช่นักท่องเที่ยวละครับ ตัวอย่างที่เห็นชัดสุด คือกลุ่มคนที่ทำงานในกระทรวงการต่างประเทศหรือ NGOs ต่างๆที่ต้องเข้าไปทำงานที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลานานๆ เช่น ท่านทูตต้องไปอยู่ที่ Niger เป็นเวลา 6 เดือน เราต้อง advice อะไรบ้าง มีประเด็นมากมายที่ต้อง assess ครับ เช่นตอนนี้มี outbreak อะไรอยู่ตรงนั้น ยามาลาเรียต้องใช้แน่ๆแต่ต้องใช้ตัวไหนดี มีอยู่ 3 ตัวให้เลือก คือ Chloroquine, Mefoquine, Atovaquone-Proguanil อะไรแบบนี้ครับ
- Travel medicine เราเรียนอะไรกัน?
อันนี้ก็เป็นคำถามที่โดนถามเป็นระยะๆ พี่ขอตอบแบบนี้ละกันนะว่า สายของ Travel medicine จริงๆแล้วเป็นสาย preventive medicine เหมือนกับ Occupational medicine, Aviation, Public health ซึ่งส่วนใหญ่เราจะเน้นป้องกันเป็นหลักไม่ได้พบเจอหรือ approach คนไข้เหมือนสาขาอื่นๆมากนัก แต่ของ Travel medicine จะแปลกไปหน่อยเพราะเราจะได้พบกับคนสุขภาพดีที่มาหาเราแทน จะเป็นนักท่องเที่ยว ข้าราชการ นักเรียนหรืออะไรก็ตามแต่
แต่ในหลักสูตร Travel medicine ที่เวชศาสตร์เขตร้อนจะมีส่วนของ Tropical medicine ที่เป็นปริญญาโทที่เราต้องเรียนควบคู่ระหว่างที่เป็น resident ไปด้วย และในส่วนของ Tropical medicine ที่จะเป็นการเจอคนไข้เป็นหลัก (เรื่องของ Tropical medicine จะเอาไว้พูดถึงในตอนต่อไป)
ทุกอย่างเรียนรู้จาก case based learning เหมือนสาขาอื่นๆครับเช่น ถ้าโจทย์เป็นนักท่องเที่ยว เราก็เอาแผนการเดินทางมากางลง แล้วก็ assess ไปทีละปัญหา สถานที่แต่ละแห่ง โรคระบาดที่เกิดขึ้น ซึ่งก็จะเรียนรู้ผ่านระบบรุ่นพี่สอนรุ่นน้อง อาจารย์สอน resident ผ่านทางกิจกรรมวิชาการคือ Travel clinic round, Journey club, Journal club, Interesting case, Grand round, Topic review ในแต่ละสัปดาห์
ส่วนของ Tropical medicine ก็จะมีหลักสูตรที่ขึ้นตรงกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเอาไว้ค่อยพูดอีกที เพราะรายละเอียดเยอะอยู่ครับ
- Travel medicine มีอะไรให้รู้มากจนถึงขั้นต้องกลายเป็น Board certification เลยเหรอ
ซึ่งความรู้ในเรื่องของการป้องกันนี่แหละครับที่มันมากมายก่ายกองถ้าน้องๆกลัวว่าเนื้อหามันจะน้อย จนไม่มีอะไรให้เรียนรู้ จนต้องไปนั่งอิจฉาเพื่อนที่เรียน medicine ว่าเขามี Harrison ให้อ่าน ไปอิจฉาเพื่อนที่เรียน Surgery ว่าเขามี Schwartz น้องก็เลิกกังวลไปได้เลย เพราะใน field นี้ก็มี standard textbook ให้อ่านเหมือนกันเช่น Travel medicine 3rd edition ของ Jay S.Keystone หรือว่า CDC Yellow book 2016 นี่ยังไม่นับสาขาย่อยๆ ที่แตกกิ่งก้านสาขาลงไปอีกเช่น Mountain medicine, Wilderness medicine ซึ่งจะเห็นได้ว่าองค์ความรู้มันกว้างมากพอๆกับมหาสมุทรที่เราต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆจนวันวันสุดท้ายในชีวิตเหมือนหมออายุรกรรมนั่นเอง
เอาแค่เรื่อง “วัคซีน” ที่เป็นอาวุธประจำตัวเรา ไม่ต่างจากหมอศัลย์ที่ถือมีด เราต้องรู้ทุกอย่างในวัคซีน ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของมัน ส่วนประกอบของมันยัน adjuvant ผลข้างเคียง วัคซีนทุกตัวที่มีอยู่บนโลกใบนี้ efficacy ของแต่ละตัว regimen ในการฉีดมีอะไรบ้าง วัคซีนบางตัวเราไม่เคยเห็นแต่ไปคิดว่ามันไม่มี แต่จริงๆมันมีอยู่เช่นพวก TBE (Tickborne encephalitis) vaccine ที่ใช้กันเยอะๆในทวีปยุโรป แบบนี้ก็ต้องรู้ ตารางการฉีดวัคซีนในคนแต่ละชาติที่ประหลาดๆเช่น รัฐบาลอังกฤษไม่เคยฉีดวัคซีน Hepatitis B ให้แก่เด็กตัวเองเลย ซึ่งแต่ละชาติก็จะมีสไตล์ของตัวเองไป เราก็ต้องไปจำมาให้หมด
ตอนนี้ในต่างประเทศ Travel medicine เป็น Diploma ที่เปิดสอนในหลายๆที่เช่นที่ Glasgow,Scotland ประเทศไทยเป็นที่แรกที่ผลักดันจน Travel medicine ได้รับการ recognize ขึ้นเป็น board ประเทศแรกในโลกนี้ และในอนาคตอันใกล้ก็คงจะมีที่อื่นๆตามมาอีกครับ
นอกจากนี้แล้วในส่วนของการโรคที่เกิดกับ Traveler ก็มักจะเป็น infectious diseases ที่ Traveler ไปได้มาจากที่ต่างๆ ซึ่งตรงส่วนนี้วิชา Tropical medicine ที่ต้องเรียนคู่กันก็จะมาจัดการกับปัญหานี้แทน
- Travel medicine เราอยู่ตัวคนเดียวหรือเปล่า เรามีเพื่อนไหม?
คำถามที่คนถามๆผม คือน้องเขาอยากจะรู้ว่าไอสังคม Travel medicine มันมีรูปร่าง เป็นตัวเป็นตน จับต้องได้ขนาดไหน เพราะว่าบอร์ดอื่นๆเช่น Medicine, Surgery, OB-Gyn, Ped และอื่นๆ ดูเขามีสมาคมเอย ราชวิทยาลัยเอย ไหนจะ American society นู่น นั่น นี่ มากมาย ไหนจะ Journal อีกเยอะแยะ หมอผู้เชี่ยวชาญในระดับโลกก็เพียบ ดูเขาเป็นการเป็นงานนะ แล้วของ Travel medicine มีอย่างนั้นบ้างไหม
คำตอบของคำถามคือ ตอนนี้วงการ Travel medicine มีสิ่งแบบที่ว่าแล้วครับเรามี International society of travel medicine (ISTM) ที่เป็นเหมือนศูนย์กลางของ Travel medicine specialist จากทั่วโลก จัดงานวิชาการ สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ทำงานวิจัย มีจัดงานประชุมใหญ่ทุกๆ 2 ปีวนไปตามแต่ละที่ในโลกนี้ มี journal รายเดือนทุกๆเดือน ในชื่อ The Journal of Travel medicine ที่เกี่ยวข้องกับ field นี้โดยเฉพาะ
ถ้ามาดูในส่วนของระดับ Region ก็จะแบ่งแยกย่อยไปตามทวีปเช่น Asia-Pacific travel health society (APTHS) หรือ National Travel Health Network and Centre (NATHNAC), South African Society of Travel medicine (SASTM) หรือในส่วนของ WHO ก็จะมี Collaborating Centers on Travel and Health
ในส่วนของประเทศไทยเองเราก็มี “ชมรมเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยวแห่งประเทศ” อยู่ครับ โดยในปีที่ 2018 ที่จะถึงนี้กรุงเทพเราก็จะเป็นที่จัดงานประชุมวิชาการ Asia-Pacific Travel health conference อีกด้วย ในเวลานั้นถ้าน้องๆได้มาเข้าร่วมงาน ก็จะเห็นภาพที่แจ่มแจ้งกว่านี้ว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นในวงการ
จะเห็นได้ว่าสังคม Travel medicine นี้ไม่ใช่สังคมเล็กๆ แต่มันคือสังคมใหญ่ที่กำลังขยายตัวออกไปเรื่อยๆครับ เพียงแต่เพื่อนร่วมงานเราไม่ใช่เพียงแต่หมอในเมืองไทยอีกแล้ว แต่เป็นหมอจากทั่วโลก เพราะงานในด้านนี้มันคือ International health ครับ
ขอจบคำถาม 5 ข้อแรกก่อน อันนี้เป็นภาพรวมของ Travel medicine เดี๋ยวตอนต่อไปพี่จะมาเขียนถึงเรื่องว่าเราสามารถเรียน Travel medicine ได้ที่ไหนบ้าง และหลักสูตร resident ที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนเป็นอย่างไร