ถ้าใครจะเดินเขาที่คิลิมานจาโร (Kilimanjaro) ประเทศแทนซาเนีย (Tanzania) บทความนี้คือบทความที่ละเอียดที่สุดเท่าที่เคยมีมา ไม่ว่าจะเป็น การเริ่มต้น การเตรียมตัว สิ่งที่ต้องรู้ ช่วงเดือนที่น่าไป สภาพอากาศ เส้นทางที่เหมาะสม และการแต่งกายที่ควรจะเป็น

ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครทำรีวิวการเดินเขาที่คิลิมานจาโร (Kilimanjaro) มาก่อน ทีนี่เป็นเหมือนหลุมดำที่ขาดข้อมูลให้คนไทยค้นหามานาน ไม่ว่าจะเป็นใน pantip หรือช่องทางอื่นๆ

เมื่ออ่านรีวิวในตอนนี้จบ ทุกๆคำถามที่ทุกคนสงสัยจะได้รับคำตอบ

หัวข้อของรีวิวนี้

  • ทำไมต้องคิลิมานจาโร
  • ไป “คิลิมานจาโร” เดือนไหนดี
  • ไป “คิลิมานจาโร” สายการบินไหนดี
  • วีซ่าแทนซาเนีย
  • การแลกเงิน
  • ราคาของ “คิลิมานจาโร” เท่าไร
  • “คิลิมานจาโร” โหดไหม
  • ไม่มีเพื่อน ไปคนเดียวได้ไหม
  • การเตรียมร่างกาย
  • เส้นทางไหนดี

ทำไมต้อง “คิลิมานจาโร”

  • คิลิมานจาโร คือยอดเขาที่อยู่ในกลุ่มเซเว่นซัมมิต (Seven summit)
  • คิลิมานจาโร คือยอดเขาที่สูงที่สุดของทวีปแอฟริกา (World highest peak of African continent)
  • คิลิมานจาโร คือยอดเขาโดดๆที่สูงที่สุดในโลก (World tallest free standing mountain)
  • และที่สำคัญคือ คิลิมานจาโร เป็นยอดเขาสูงที่ใครๆก็มาได้ ขอแค่มีสภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์

ยอดเขาอื่นอาจจะต้องไปฝึกปีนผา ใช้ขวานจามน้ำแข็ง เดินลุยหิมะ แต่ไม่ใช่สำหรับคิลิมานจาโร เราใช้เพียงแค่สองเท้า กับเสื้อกันหนาวที่พอดี ทุกคนก็จะไปถึงจุดสูงสุดได้อย่างแน่นอน


ไป “คิลิมานจาโร” เดือนไหนดี

Image result for moshi weather season

ที่นี่สามารถมาเดินเขาได้ตลอดทั้งปี ยกเว้นอยู่ช่วงเดียวคือช่วงฤดูฝน ระหว่าง เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมของทุกๆปี

  • ช่วงเดือน 7-9 ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด สำหรับการมาเทรคที่นี่ เพราะ ฝนไม่ค่อยจะตก อากาศอาจจะหนาวไปเล็กน้อย แต่ฟ้าบนยอดมักจะใสปิ๊งทุกวันครับ
  • ช่วงเดือน 12-1 เป็นอีกช่วงที่เวลาดีเช่นเดียวกัน ฝนไม่ค่อยมี แต่อากาศจะใสสู้ช่วงกลางปีไม่ได้ แต่ช่วงคนชอบหิมะอาจจะหลงรัก เพราะเป็นเดือนที่หิมะตกบ่อยและมีโอกาสที่จะเห็นหิมะท่วมบนยอดสูงมาก

คำแนะนำเพิ่มเติม บางคนที่มาแทนซาเนียและอาจจะมีการแถมซาฟารีตอนปิดท้าย แนะนำให้วางแผนมาเทรคในช่วงระหว่างเดือน 8-10 ครับ เพราะเป็นช่วง the great migration ของฝูงสัตว์ที่จะข้ามไปยังประเทศเคนยา ถ้าใครได้มาเซเรงเกติช่วงนี้อาจจะได้เห็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่เคลื่อนที่ได้อีกด้วย


ไป “คิลิมานจาโร” สายการบินไหนดี

ใครที่ต่อเครื่องมาจากเคนยา นั่งด้านซ้ายสถานเดียวนะครับ คิลิมานจาโรอยู่ทางฝั่งซ้ายมือของเรา ถ้านับเริ่มต้นจากกรุงเทพมาถึงสนามบินนานาชาติคิลิมานจาโร (Kilimanjaro international airport – KIA) ไม่มีไฟลต์บินตรงจากกรุงเทพครับ เราต้องไปเปลี่ยนเครื่องที่เมืองใดเมืองหนึ่งก่อนเสมอ สายการบินที่บินในเส้นทางนี้หลักคือ

Kenya airways

  • สายการบินประจำชาติเคนยา
  • ขาออก บินออกจากกรุงเทพทุกวัน ออกเดินทางช่วงประมาณตี 1 มาถึงกรุงไนโรบี (Nairobi) ประเทศเคนยา ช่วงเช้า > สนามบิน Nairobi ไม่มี free internet ครับ
  • ไฟลต์ต่อจากกรุงไนโรบี จะมีหลักๆคือของ Kenya airways เหมือนเดิม มีบินวันละหลายไฟลต์ หรืออีกสายการบินคือ Precision air ครับ
  • เป็นสายการบินระดับ 4 ดาว ชั้น Economy class มีทีวีส่วนตัวให้เลือกดูภาพยนตร์ เสิร์ฟอาหารสองมื้อแบบสบายๆ
  • ค่าใช้จ่ายของไฟลต์ ไป-กลับ จะอยู่ที่ประมาณ 18,000 – 33,000 บาท แล้วแต่โปรโมชั่นที่ได้

Ethiopia airline

รายละเอียดจะคล้ายๆกับ Kenya airways ครับ เพียงแต่เปลี่ยนจุด transit มาเป็นที่ Addis Ababa แทน

Qatar

สายการบินของตะวันออกกลาง เราสามารถ via Doha ได้ครับ ถ้าใครได้โปรของกาต้าร์ก็จัดไปอย่าให้เสีย (ส่วนสายการบินบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง Emirates หรือ Etihad ไม่มีบินลง Kilimanjaro แต่ไปลงที่ Dar es Salaam แทนครับ)

ใครที่ต่อเครื่องมาจากเคนยา นั่งด้านซ้ายสถานเดียวนะครับ คิลิมานจาโรอยู่ทางฝั่งซ้ายมือของเรา แต่ถ้าใครมาจากดาร์เอสซาลาม ต้องนั่งฝั่งขวาเท่านั้นเช่นเดียวกัน


วีซ่าแทนซาเนีย

ขั้นตอนการทำวีซ่าแทนซาเนีย (Tanzania) ที่สนามบินคิลิมานจาโร (Kilimanjaro)

ประเทศไทยเรามีสถานทูตแทนซาเนียก็จริงอยู่ แต่ไม่จำเป็นต้องมาขอวีซ่าที่สถานทูตให้เหนื่อยและเสียเวลา เราสามารถมาทำ visa on arrival ได้เลยที่สนามบินนานาชาติ Kilimanjaro ครับ ทันทีที่เดินเข้ามาถึงอาคารผู้โดยสาร เราจะเห็นเคาท์เตอร์ทำวีซ่าพอดี ขั้นตอนจะเป็นแบบนี้

  1. เดินไปยังอาคารด้านขวา แจ้งว่าต้องการวีซ่าแบบไหน ก็ตอบไป “Tourist visa” ราคาจะเป็น 50 USD แล้วชำระเงินสดเท่านั้นนะครับ แล้วเขาจะให้ใบเสร็จเรามา
  2. เดินไปยืนต่อแถวตรวจคนเข้าเมืองในช่องของทำ visa on arrival
  3. พอถึงคิวก็ยื่นหนังสือเดินทางกับใบเสร็จรับเงินให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เท่านั้นไม่นานทุกอย่างก็สำเร็จเรียบร้อย

ต้องแลกเงินอะไรก่อนมาไหม

สกุลเงินประจำชาติของแทนซาเนีย คือ “ชิลลิ่ง” ชื่อเต็มๆคือ “แทนซาเนีย ชิลลิ่ง” (Tanzanian shilling) ตัวย่อคือ TSH อย่าสับสนกับชิลลิ่งของประเทศเคนยา และอูกันดานะครับ ชื่อเหมือนกันจริงแต่ค่าเงินไม่เท่ากัน

ค่าเงินชิลลิ่งจะอยู่ที่ 1 USD = 2,300 TSH โดยประมาณ สำหรับคนไทยเราต้องแลกเงิน USD ติดตัวมาก่อนถึงจะมาแลกเงิน TSH ได้ครับ ที่นี่ไม่รับแลกเงินไทย ***เงิน USD ส่วนใหญ่ที่นี่จะไม่รับธนบัตรที่พิมพ์ก่อนปี ค.ศ. 2010 ทั้งหมด เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ตอนแรกเงินให้ขอธนบัตรปีล่าสุดทั้งหมดนะครับ***

สถานที่แลกเงินชิลลิ่ง

  • เคาท์เตอร์ในสนามบิน สามารถแลกได้เลยบางส่วนครับ เรทจะแย่กว่าในเมืองประมาณ 3% ไม่ได้เลวร้ายนัก
  • ถ้าจะแลกเงินก้อนใหญ่ให้ไปแลกในเมืองโมชิ จะดีกว่ามาก เพราะเรทดีกว่าครับ

ต้องแลกเงินมากขนาดไหน

ค่าแพคเกจทัวร์คิลิมานจาโรแทบจะครอบคลุมค่าใช้จ่าย 90% ของทั้งหมดแล้วครับ ส่วนที่เราแลกคือเอาไว้ใช้ส่วนตัวกับซื้อของฝากเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นไม่ต้องแลกเยอะมากครับ

***จะมีสิ่งสำคัญอย่างนึงคือ ให้เตรียมเงิน USD เอาไว้เป็นทิปสำหรับทีมไกด์หรือลูกหาบเราด้วย อ่านข้อมูลส่วนนี้ต่อข้างล่างนะครับว่าทำไม***


ราคาของ “คิลิมานจาโร” เท่าไร

1. ค่าเครื่องบิน
อันนี้บินตรงไม่มี ต้องไปเปลี่ยนเครื่องที่ใดที่หนึ่งเสมอ ลองหาตั๋วโปรเคนยาดูนะครับ ผมได้ไปกลับ 18,000 โชคดีมากๆ โดยช่วงราคาปกติจะอยู่ที่ประมาณ 18,000 – 32,000 ในเส้นทาง กรุงเทพ-ไนโรบี-คิลิมานจาโร

2. ค่าวีซ่า
ไปทำที่สนามบินขาเข้าได้เลย คนละ 50 USD = 1,600 บาท

3. ค่าวัคซีนไข้เหลือง
อันนี้ต้องฉีดก่อนไปทุกคนก็ตกเข็มละประมาณ 1,000 บาท ถ้าใครเคยฉีดแล้วก็ตัดไปนะครับ

4. ค่าทัวร์เดินเขา
อันนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่เรียกว่าภาคบังคับ ราคาจะแตกต่างไปตามเส้นทางที่เลือกเดิน และจำนวนวันที่เราใช้ ข้างล่างนี้เป็นราคาโดยประมาณ
6 Days – Rongai/Machame/Lemosho 1300 USD = 43,000 บาท
7 Days – Rongai/Machame/Lemosho 1400 USD = 46,500 บาท

5. ค่า tip
อันนี้จำเป็นอย่างมาก “บังคับ” เราต้องจ่ายให้ทีมงานเบื้องหลังทุกคน โดยขั้นต่ำแล้วก็ประมาณ 10% ของแพคเกจที่เราจ่ายไป ก็จะตกประมาณ 130-150 USD = 4,600 บาท

6. ค่าที่พัก
ที่พักวันแรกจะอยู่ในโปรแกรมทัวร์ ไม่เสียครับ เสียคืนเดียววันกลับก็ตกประมาณไม่กี่ร้อยบาท

7. ค่าอาหาร
บนเขาไม่เสียอะไรเลย เพราะอยู่ในแพคเกจหมดแล้ว เสียเฉพาะตอนกินในเมืองในครับซึ่งก็ไม่ได้แพงมาก

8. ค่าเดินทาง
จากสนามบินมาที่เมือง ไปที่จุดเริ่มต้นเดิน รับกลับมาที่เมือง และส่งสนามบิน จะรวมในแพคเกจหมดแล้ว

สรุปแล้ว

ต่ำสุดเท่าที่จะเป็นไปได้สำหรับคิลิมานจาโรคือประมาณ 70,000 บาท สำหรับคนที่ได้ตั๋วราคาถูก และประมาณ 82,000 บาท สำหรับตั๋วราคาปกติครับ

ถ้าจะเดินแผน 7 วันซึ่งปลอดกว่า ก็เพิ่มไปประมาณ 4-5 พันโดยประมาณนะครับ

ที่นี่ไม่ใช่เขาที่ราคาประหยัดเมื่อเทียบกับหิมาลัยที่อยู่ใกล้บ้านเรา แต่ถ้าคิดว่านี่คือประสบการณ์ในทวีปแอฟริกาแล้วและเป็นเซเว่นซัมมิตที่คนธรรมดาก็ไปได้ ลองชั่งน้ำหนักดูดีๆครับ


“คิลิมานจาโร” โหดไหม

ถ้าจะให้บอกดื้อๆคงจะไม่เห็นภาพ พูดให้เห็นตัวเปรียบเทียบน่าจะดีกว่า ในความคิดของผม

  • คิลิมานจาโร โหดกว่า Rinjani
  • คิลิมานจาโร โหดกว่า Kinabalu
  • คิลิมานจาโร โหดกว่า ABC
  • คิลิมานจาโร พอๆกับ EBC or Gokyo

คิลิมานจาโร” เหมาะกับใครเหมาะกับทุกคนที่อยากมีประวัติศาสตร์ของตนเองว่า ครั้งนี้ฉันก็เคยไปพิชิตเซเว่นซัมมิตมาแล้ว


ไม่มีเพื่อน ไปคนเดียวได้ไหม

“ทำได้ครับ มาคนเดียวได้”

เราสามารถมาจอยกรุ๊ปทัวร์ที่นี่ได้มากมาย แต่ต้องรู้เวลาที่แน่ชัดแต่เนิ่นๆ แต่ละบริษัทเขาจะมีทั้งแบบ private group หรือ shared group คือเอาคนที่จะหาเพื่อนมาแชร์รวมกัน

ถ้าแบบจะไปหาเอาดาบหน้า แบบนี้ต้องมีเวลาเผื่อพอสมควร เพราะอาจจะไม่ได้ในเวลาอันสั้น

แต่ถ้าวางแผนมาก่อนเป็นเดือน ให้ติดต่อกับ agent แล้วแจ้งความต้องการไว้ก็สามารถทำได้ เพียงแต่วันอาจจะไม่ได้เป๊ะๆตามที่เราต้องการ

ถ้ามีเพื่อนคนไทยมาพร้อมกันเป็นทีมก็ง่ายเลย เพราะเราสามารถฟอร์มทีมใหม่ในวันและเวลาที่เราต้องการได้เลย

สุดท้ายนี้ ถ้าหาเพื่อนไม่ได้จริงๆ หลังจากทำทุกวิถีทางแล้ว ถ้ามาคนเดียวก็สามารถที่จ้างทีมของเราเองเพื่อพาเราขึ้นยอดเลยก็ได้เช่นเดียวกัน


การเตรียมร่างกายก่อนมาคิลิมานจาโร

ถ้าใครเคยเดินเขามาก่อน เช่น ไปคินาบาลู รินจานี ABC EBC มาแล้วจะเปรียบเทียบได้ง่ายขึ้น

ถ้าคุณเดินมาทั้ง 4 ที่ด้านต้น แล้วไม่มีอาการเหนื่อยจนจะขาดใจ หรือขาพัง น่องเสื่อมสภาพ หลังจากเดินลง ยอดคิลิมานจาโร ถือว่าไม่น่าจะไกลเกินความฝันมากนัก เพราะเส้นทางนี้บอกเลยว่า ทางก็ไม่ได้ไกลมาก ความชันโดยรวมๆก็ถือว่าไม่มากนัก แต่สิ่งที่ทำให้นักเดินเขาไปไม่ถึงส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่เพราะร่างกายไม่ฟิต แต่เป็นเรื่องของร่างกายที่ปรับตัวไม่ได้เกิดอาการแพ้ความสูงจนต้องหยุดนั่นเอง

แต่สำหรับคนที่ไม่เคยเดินเขาที่ไหนมาก่อนเลย แบบชีวิตยังอยู่แต่ในเมืองไทย แต่อยากมาคิลิมานจาโร ถามว่าต้องไปเดินเขาที่ไหนมาก่อนไหม

ถ้าในความคิดผมก็ควรครับ หลักๆเลยคือไปให้รู้ว่า อาการแพ้ความสูงเป็นอย่างไร เราจะเริ่มมีอาการที่ประมาณไหน วิธีการแก้ปัญหาเมื่อเรามีอาการแพ้ความสูง สิ่งนี้สำคัญมาก

ในเมืองไทยเราเอง ไม่มียอดเขาไหนสูงพอที่จะตอบคำถามนี้ได้ครับ ถ้าจะหาประสบการณ์ก็แนะนำยอดเขาใกล้บ้านเราเช่น รินจานี คินาบาลู หรือฟานซีปันครับ

นอกเหนือจากเรื่องของอาการแพ้ความสูงแล้ว การไปเดินเขาพวกนี้มาก่อนจะทำให้เราเรียนรู้วิธีการเตรียมร่างกายที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้นไปอีก

อันนี้เป็นสภาพร่างกายของคนที่ถือว่าฟิตพอจะเดินเขาได้แบบสบายๆ ควรจะทำได้ประมาณนี้

  • วิ่งระยะทางไม่น้อยกว่า 5 กิโลเมตร โดยที่ไม่หยุดพักได้
  • สามารถเดินได้วันละ 6-14 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่องได้
  • สามารถเดินแบกเป้หนัก 2-3 กิโลกรัม ในความชันประมาณ 30 องศาเป็นระยะทางนานๆได้

ถามว่า ควรจะเตรียมตัวก่อนกี่เดือนดี

  • อย่างน้อย 8 สัปดาห์ เป็นอย่างน้อยครับ
  • กล้ามเนื้อที่ต้องพัฒนาให้มากที่่สุดคือ ช่วงล่างทั้งหมด ขา น่อง เท้า
  • ถ้ามีโอกาสให้วิ่งบนลู่ที่ปรับความชันได้จะเวิคมาก

ถ้าไม่ฟิตมา มาได้ไหม

มาได้แน่นอน แต่ลองมองให้เห็นภาพ ยังไม่ทันเดินจะถึงวันขึ้นยอด ขาก็เดี้ยงแล้ว สุดท้ายเดินไม่ไหวไปได้แค่ base camp ร่างพัง ได้แต่มองตาปริบๆเห็นเพื่อนไปพิชิตยอดกันมา เป็นอะไรที่เฟลแบบสุดๆ หรืออีกทางหนึ่งคือฟิตระดับหนึ่งแต่ยังไม่พอ พิชิตยอดได้จริง แต่พอลงมาถึงพื้นร่างกายแหลกสลาย กลับไปนอนป่วยที่เมืองไทยอีก อันนี้ก็ไม่ไหว

สรุปแล้วเตรียมร่างกายมาให้พอดี ทุกอย่างจะเป็นใจอย่างแน่นอน


สมุดเล่มเหลือง วัคซีนที่ควรเตรียมพร้อม

นอกเหนือจากร่างกายที่ต้องเตรียมพร้อมแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นภาคบังคับ นั่นคือการฉีดวัคซีนไข้เหลือง

“แทนซาเนีย”ถือเป็นประเทศที่อยู่ในเขตติดต่อโรคไข้เหลือง

โรคไข้เหลือง หรือ Yellow fever คือโรคที่ติดต่อโดยยุงลาย ถ้าเราโดนกัดโดยที่เราไม่มีภูมิ โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่มีอาการ แต่ถ้ามีอาการขึ้นมาคือถึงตายและปัจจุบันยังไม่มียารักษา การป้องกันจึงดีกว่ามาก

มีอยู่สิ่งหนึ่งที่คนไทยมักไม่ให้ความสำคัญคือ วัคซีนไข้เหลืองจำเป็นต้องได้รับอย่างน้อย 10 วันก่อนเดินทาง เพื่อให้ร่างกายมีเวลาได้สร้างภูมิต้านทานอย่างเพียงพอก่อนจะเดินทางไปถึงยังพื้นที่เสี่ยง

โดยเมื่อเราฉีดวัคซีนไข้เหลืองแล้ว เราจะได้ตราประทับลงในสมุดวัคซีนเล่มสีเหลืองมาเป็นหลักฐานประจำตัวที่ต้องแสดงให้เจ้าที่สาธารณสุขตอนเดินทางถึงสนามบินคิลิมานจาโรครับ

สถานที่ฉีดวัคซีนไข้เหลือง

ผมแนะนำไปที่ Travel clinic โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน นะครับ ตั้งอยู่ใกล้ๆ BTS อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง จะได้ปรึกษาขอคำแนะนำเรื่องวัคซีนและเรื่องอาการแพ้ความสูงได้ในเวลาเดียวกัน


คิลิมานจาโร เส้นทางไหนดี

การเดินขึ้นสู่ยอดเขาคิลิมานจาโร มีทั้งหมด 6 เส้นทางโดยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ครับ

ขึ้นสู่ยอดเขาทางทิศใต้ จะมี 5 เส้นทาง

  1. มารังกู (Marangu route)
  2. อุมเว (Umbwe route)
  3. มาชาเม (Machame route)
  4. เลโมโช (Lemosho route)
  5. ชิระ (Shira route)

ขึ้นสู่ยอดเขาจากทางทิศเหนือ จะมี 1 เส้นทาง

  1. ลองไก (Rongai route)

เส้นทาง Northern circuit จะเป็นเส้นทางลูกผสมที่เริ่มต้นจากทิศตะวันตกของยอดเขา แล้วมาบรรจบกับทางทิศเหนือของเส้นทาง Rongai อีกครั้ง อันนี้สำหรับผู้ที่มีเวลามากมายแบบสุดๆคือ 8-10 วันขึ้นไป

ส่วนการเดินลงจะมี 2 เส้นทาง คือ (ทางขึ้นกับทางลง เป็นคนละทางกัน)

  1. เอมวีก้า (Mweka route)
    • เป็นเส้นทางลง สำหรับคนที่ขึ้นโดยใช้เส้นทาง Shira, Lemosho, Machame หรือ Umbwe
  2. มารังกู (Marangu route)
    • เป็นเส้นทางลง สำหรับคนที่ขึ้นโดยใช้เส้นทาง Rongai หรือ Marangu
    • นั่นแปลว่าคนที่ขึ้นทาง Marangu ก็ต้องลงทาง Marangu เป็นเส้นทางเดิมครับ

แต่ละเส้นทาง แตกต่างกันอย่างไร

อันนี้เป็นคำถามโลกแตกเลย เพราะตอบได้ยากมาก ผมให้ข้อมูลเอาไว้ แล้วลองไปตัดสินใจกันดูนะครับ

Marangu

  • เส้นทางสายคลาสสิก เป็นเส้นทางแรกของการบุกเบิก มีชื่อเล่นว่า โคคา โคล่า รูท (Coca Cola route) เพราะตอนแรกบริษัทโค๊กมาเป็นสปอนเซอร์การทำเส้นทาง
  • เป็นเส้นทางเดียวที่นักเดินเขาจะได้นอนในบ้านทุกคืนระหว่างเดินเขา เพราะเส้นทางอื่นต้องนอนในเต๊นท์ทุกคืน
  • ทางขึ้น – ทางลง เป็นเส้นทางเดียวกัน เพราะฉะนั้นความแตกต่างของวิวจะลดลงเมื่อเทียบกับเส้นทางอื่นๆ ถ้าคนที่อยากได้ความหลากหลาย Marangu คงไม่ใช่คำตอบ
  • เป็นหนึ่งในเส้นทางที่สามารถพิชิตยอดเขาได้ในเวลา 5 วัน (ขึ้น 3.5 วัน ลง 1.5 วัน) แต่เสี่ยงกับภาวะแพ้ที่สูง AMS มาก >>> ไม่แนะนำครับ
  • จะใช้ base camp ที่ Kibo hut ซึ่งวันที่เดินขึ้นยอด จะระยะทางไกลกว่าอีกด้านที่มาจาก Barafu hut

Rongai

  • เป็นเส้นทางเดียวที่มาจากทางด้านเหนือ ชายแดนเคนยา จะให้บรรยากาศที่แตกต่างจากเส้นทางอื่นมากที่่สุด
  • ต้องนอนในเต๊นท์ทุกคืนตั้งแต่ต้นยันจบ
  • จุดเริ่มต้นของการเทรค ต้องนั่งรถประมาณ 2-3 ชั่วโมงไปถึงชายแดนเคนยาทางด้านเหนือ
  • ทางขึ้น กับ ทางลง คนละทางกัน เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ
  • ระยะทางที่เดินต่อวัน ถือว่าไม่มาก เฉลี่ยในช่วงขาขึ้นเพียงวันละ 6-7 กิโลเมตร ทำให้ร่างกายมีเวลาพักผ่อนต่อวันสูงกว่าเส้นทางอื่นๆ
  • ใช้เวลาได้ตั้งแต่ 5-7 วันโดยเฉลี่ย ถือเป็นเส้นทางที่ระดับความสูงเปลี่ยนแปลงไปเร็วมากนัก ลดความเสี่ยงของอาการแพ้ความสูงได้ดี
  • จะใช้ base camp ที่ Kibo hut ซึ่งวันที่เดินขึ้นยอด จะระยะทางไกลกว่าอีกด้านที่มาจาก Barafu hut

Umbwe

  • เป็นเส้นทางที่ระยะทางสั้นที่สุดจากจุดเริ่มต้นจนถึงยอดเขา ประมาณ 20 กว่ากิโลเมตรเท่านั้น
  • ความชันของเส้นทางถือว่าสูงมาก โอกาสเกิดอาการแพ้ความสูงมาก
  • โดยทฤษฎีเส้นทางนี้สามารถพิชิตยอดได้ภายใน 3-4 วัน แต่ตามกฎของอุทยานกำหนดไว้ 5 วันคือขั้นต่ำสำหรับการเดิน ถ้าเดินเร็วกว่า 5 วันก็ต้องจ่ายเงิน 5 วันอยู่ดี
  • ไม่ได้เป็นเส้นทางที่ยอดนิยมนักด้วยเหตุผลด้านต้น
  • จะใช้ base camp ที่ Barafu hut ซึ่งวันที่เดินขึ้นยอด จะระยะทางใกล้กว่าอีกด้านที่มาจาก Kibo hut

Machame

  • เส้นทางที่ยอดนิยมที่สุดของนักเดินเขา ว่ากันว่าวิวสวยที่สุดเมื่อเทียบกับทุกๆเส้นทาง
  • ชื่อเล่นคือ “Whiskey route” เพราะเดินจนเหนื่อยแล้วเมา (สมัยก่อน)
  • นอนในเต๊นท์ทุกคืนเช่นเดียวกัน
  • ระยะเวลา 7-8 วัน คือระยะเวลาที่เหมาะสม สำหรับให้ร่างกายปรับตัวกับความสูงที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
  • จะใช้ base camp ที่ Barafu hut ซึ่งวันที่เดินขึ้นยอด จะระยะทางใกล้กว่าอีกด้านที่มาจาก Kibo hut

Lemosho

  • ระยะทางยาวไกลที่สุด ควรจะมีเวลาอย่างต่ำ 7-8 วันเป็นอย่างน้อย
  • จุดเริ่มต้นอยู่ที่ Londorossi gate ใช้เวลาเดินทางจากโมชิประมาณ 2-3 ชั่วโมง
  • ระยะทางเดินต่อวันถือว่าไกลมาก เดินแล้วเหนื่อย มีเวลาพักน้อย
  • นอนในเต๊นท์ทุกคืนเช่นเดียวกัน
  • จะใช้ base camp ที่ Barafu hut ซึ่งวันที่เดินขึ้นยอด จะระยะทางใกล้กว่าอีกด้านที่มาจาก Kibo hut

Shira (บางที่เขียน Shira plateau route)

  • ระยะทางยาวไกลที่สุด ควรจะมีเวลาอย่างต่ำ 7-8 วันเป็นอย่างน้อย
  • เส้นทางเหมือน Lemosho 90% ต่างกันแค่ช่วงวันแรกที่เริ่มต้นกันคนละจุด หลังจากเส้นทางจะมารวมกันและไปทางเดียวกัน
  • จุดเริ่มต้นอยู่ที่ Londorossi gate ใช้เวลาเดินทางจากโมชิประมาณ 2-3 ชั่วโมง
  • ระยะทางเดินต่อวันถือว่าไกลมาก เดินแล้วเหนื่อย มีเวลาพักน้อย
  • นอนในเต๊นท์ทุกคืนเช่นเดียวกัน
  • จะใช้ base camp ที่ Barafu hut ซึ่งวันที่เดินขึ้นยอด จะระยะทางใกล้กว่าอีกด้านที่มาจาก Kibo hut
  • ถ้ามองจากแผนที่ดูดีๆจะพบว่า Shira, Lemosho, Machame, Umbwe นั้นสุดท้ายก็จะมาบรรจบเป็นเส้นทางเดียวกัน ต่างกันแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น

สรุป

  • เน้นนอนสบาย > Marangu
  • ชอบเดินเยอะๆ > Lemosho , Shira
  • เส้นทางยอดฮิต > Machame
  • ชอบของแปลก > Rongai
  • พวกน่องเหล็ก > Umbwe

ทุกอย่างเริ่มต้นที่ “โมชิ”

ไม่ว่าจะไปเส้นทางไหนก็ตาม นักเดินเขาทุกคนจะถูกพามารวมกันที่เมืองไม่ใหญ่ ไม่เล็ก ที่มีชื่อว่า โมชิ (Moshi)

โมชิตั้งอยู่ทางตอนใต้ของยอดเขาคิลิมานจาโรห่างจากยอดเพียงไม่กี่สิบกิโลเมตร ที่นี่จึงเป็นชัยภูมิที่ดีที่สุดในการเป็นจุดเริ่มต้นและจุดพักในตอนท้าย

โดยปกติแล้วแพคเกจทัวร์ที่เราซื้อไว้ ควรจะมีรถรับส่งเราตลอดทาง จากสนามบินคิลิมานจาโรมาถึงเมืองโมชิ และราคาห้องพักสำหรับคืนแรกที่มาถึงก็มักจะถูกรวมเอาไว้

ตัวเมืองโมชิ อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ต่อให้ไม่ได้มาเดินเขา มานอนแช่ลมอยู่ที่นี่ก็ฟินไม่แพ้กัน

ถ้ามีเวลาว่างพอเดินเล่น ผมแนะนำให้เดินไปที่สถานีรถไฟประจำเมือง ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้ว ตอนเย็นพีคมาก ไปนั่งจิบชากาแฟดูยอดเขาคิลิมานจาโรได้ในมุมที่สวยที่สุดมุมหนึ่งของเมืองครับ

การเดินทางจากสนามบินเข้าเมืองโมชิ (สำหรับคนที่จะเข้าเมืองด้วยตัวเอง)

  • สายการบิน Precision Air จะมีตัวรถ shuttle bus ที่คอยรับไฟลต์ผู้โดยสารของตัวเองเข้าเมืองโมชิทุกไฟลต์ครับ
  • วิธีนี้ราคาถูกสุดคือ เที่ยวละ 10,000 TSH ต่อคน/เที่ยว
  • จะเป็นผู้โดยสารสายการบินอะไรมาไม่สน ขึ้นได้หมดครับ
  • ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมงจากสนามบินถึงเมือง
  • ตารางเวลารถให้อิงตามเวลาลงของไฟลต์บิน Precision Air เลยครับ

ในกรณีที่ถ้ามากันหลายคน การใช้ Taxi จะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า

  • แต่ปัญหาคือสนามบินคิลิมานจาโร ไม่มีเคาท์เตอร์ Taxi ครับ เราต้องเรียกไว้ก่อนแล้ว
  • ถ้าที่พักคืนแรก สามารถคุยกับคนดูแลที่เราจองมาล่วงหน้าได้ ให้นัดเวลากับเขาให้เรียบร้อย
  • โดยปกติค่า Taxi จะอยู่ที่ประมาณ 50,000 – 70,000 TSH ต่อรถเก๋ง 1 คันครับ

ต้องซื้อ ซิมโทรศัพท์ ไหม

  • ถ้ามาเพื่อจะเดินเขาเป็นหลัก เดินเสร็จก็กลับบ้าน ไม่ต้องซื้อก็ได้ครับ เพราะสัญญาณบนภูเขาไม่มี อาจจะมีในช่วงต้นๆของการเดินในวันแรกๆของแต่ละเส้นทาง แต่ความแรงของสัญญาณทำได้เพียงโทรเข้าหรือโทรออกเท่านั้น ไม่สามารถใช้ data ได้ครับ
  • แต่ถ้ามีแพลนจะเที่ยวที่อื่นๆในแทนซาเนียด้วย การซื้อซิมจะเป็นทางเลือกที่ดี
  • เครือข่ายหลักๆเลยคือ Vodacom, Tigo, Airtel และ Halotel แต่ที่ครอบคลุมสุดพอๆกันคือ Vodacom และ Airtel ครับ ยิ่งถ้าอยู่ในโมชิ (Moshi) จะแนะนำ Airtel เป็นหลัก
  • วิธีการหาซื้อซิม ก็แบบลูกทุ่งเลย เดินหาตามซุ้มเอาครับ มีเยอะมาก โดยเฉพาะที่ตรงสถานีขนส่ง เราไม่ต้องไปตามหาเขา เพราะเขาจะตามหาเราเอง
  • ส่วนใหญ่แพคเกจที่พ่อค้าแม่ค้าขายซิมเรา จะเป็นแบบ data + ค่าโทรมา ไปตกลงกันเอาเองว่าจะเอาแค่ไหน
  • ถ้าเงินในมือถือหมดก็เติมไม่ยาก เดินไปที่ซุ้มเหมือนเดิม แล้วซื้อบัตรโทรศัพท์มา ขูดเอาตัวเลขไปพิมพ์ส่งคล้ายๆกับวิธีการเติมเงินของบ้านเราครับ

ไปกับบริษัททัวร์ไหนดี

คิลิมานจาโร ไม่สามารถเดินเอง แบกเต๊นท์เอง ทำอาหารเองได้ ไม่ใช่เพราะว่าเราทำไม่ได้นะครับ แต่เพราะเขาห้ามมมมมมมม ย้ำรอบที่ล้าน

มี 2 ทางเลือกครับ แล้วแต่สถานการณ์และความสะดวก

ซื้อทุกอย่างให้เรียบร้อยโรงเรียนจีนจากอินเตอร์เน็ต

  • เกือบจะมากกว่า 90% ของเว็บทัวร์คิลิมานจาโรที่เราเห็นบนอินเตอร์เน็ต ส่วนใหญ่จะเป็น agent ที่ส่งต่อลูกทัวร์ให้ทัวร์ท้องถิ่นอีกครั้งครับ
  • การจองกับบริษัทที่มีชื่อเสียงเช่น Zara tour จะค่อนข้างโอเคมาก แต่สิ่งที่ตามมาคือราคาสูงกว่ามาตรฐานประมาณ 20%
  • ราคาโดยทั่วๆไปจะแพงกว่าการไปเดินหาเองที่เมืองโมชิประมาณ 10 – 15% ครับ
  • วิธีนี้สะดวกสบายที่่สุด หน้าที่ของเราคือเที่ยวอย่างเดียว ไม่ต้องคิดอะไรมาก มีคนบริการตลอดเส้นทาง

ไปลุยเอาดาบหน้า เป็นไงเป็นกัน

  • ออกจะห่ามๆหน่อยวิธีนี้ เหมาะกับคนที่มีเวลาเผื่อเหลือเผื่อขาดได้พอสมควร
  • เราต้องรถเข้าเมืองโมชิ เองจากสนามบินครับ
  • หลังจากเอาของเข้าที่พักในเมืองแล้ว วิธีการหาทัวร์ก็คือ เดินเล่นในเมืองนั่นแหละ เดี๋ยวจะมีคนมาทักเรามากมาย ไปต่อรองราคากันตามสะดวกครับ
  • วิธีนี้ถ้ามาคนเดียว เราอาจจะต้องไปแจมกับทีมอื่น หรือถ้าหาคนแจมไม่ได้ คราวนี้ละ ราคาจะสูงกว่าเดิม ยกเว้นมากันเป็นแก๊งค์แบบนี้ต่อราคาได้สบายครับ

วิธีการเดินทางเข้าเมือง อ่านได้จากหัวข้อด้านบนครับ

ผมแนะนำบริษัททัวร์ที่ผมไปใช้บริการมาชื่อ “Kiliexcursion” โดยเจ้าของชื่อ Willium Msack อดีตไกด์เดินเขาที่ตอนนี้ผันตัวมาเป็นเจ้าของบริษัททัวร์ ผมรู้จักวิลเลียมก็ตอนที่ทำงานที่เมืองโมชิ เป็นคนเชื่อถือและไว้ใจได้เลย เลยตัดสินใจไปกับวิลเลียมนี่ละ ก็เลยแนะนำให้ต่อละกันนะครับ ราคาของเขาถูกกว่าการไปจองเองหน้าเว็บทั่วๆไปแน่นอน อันนี้รับประกันได้ ติดต่อวิลเลียมได้ที่เมล์นี้ครับ williammsack@gmail.com

สำหรับท่านที่สนใจเดินทางไปกับทัวร์ของหมอๆตะลุยโลกที่ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ชาวแทนซาเนียแล้ว สามารถติดต่อได้ที่นี่


อาการแพ้ความสูง AMS

เรื่องที่สำคัญที่สุดของการมาคิลิมานจาโร สิ่งสำคัญที่สุดที่จะบอกว่าเราจะพิชิตยอดได้หรือไม่ได้อยู่ที่ตรงนี้

อาการแพ้ความสูงเกิดจากการที่ร่างกายปรับตัวเข้ากับความสูงใหม่ไม่ทัน เลยเกิดเป็นอาการเหมือนคนที่ออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายไม่เพียงพอครับ

อาการเป็นยังไง?

ความรู้สึกทุกอย่างที่ไม่ปกตินั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าเรากำลังถูกอากาสแพ้ความสูงจู่โจมเข้าให้แล้ว

  • อาการจะเริ่มต้นแบบง่ายๆ เช่น เหนื่อยง่าย ปวดหัว เวียนหัว นอนไม่หลับ และอาการรู้สึกไม่สบายตัวอื่น อาการเหมือนคนกินเหล้ามาแล้วมันแฮงค์ๆอยู่ แบบนั้นละใช่เลย
  • แต่ถ้าอาการเริ่มเป็นรุนแรงขึ้นจะเป็นพวก ซึมลง ปวดหัวรุนแรง เดินเซ อาเจียน
  • ถ้ารุนแรงไปอีก ก็จะหายใจลำบาก หมดสติ ไรแบบนี้เลยครับ
  • อาการจะเริ่มเกิดที่ระดับความสูงมากกว่า 2,500 เมตร ขึ้นไป แต่อาการจะเริ่มเห็นได้ชัดที่ความสูง 3,000 เมตร ขึ้นไปครับ

ที่ความสูงของ base camp ประมาณ 4,600 – 4,700 เมตร ถือว่าสูงมากเพียงพอที่จะทำให้ร่างกายน๊อคได้ในคนที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้

ส่วนความสูงบนยอดที่เกือบ 6,000 เมตรนั้นถือว่ายิ่งอันตรายกว่ามาก ถ้าวันที่อยู่ที่ base camp อาการดูทรงไม่ดี ไม่ควรขึ้นยอดเด็ดขาดนะครับ

โดยประมาณแล้วทุกๆ 100 คนที่มาเดินเขาที่นี่จะมีประมาณ 20 คนที่มีอาการ

ความเสี่ยงมากน้อย ให้ประมาณจากจำนวนวันที่เราเดิน เพราะมันสะท้อนถึงเวลาที่เรามีให้ร่างกายได้ปรับตัวครับ

ใครเดิน น้อยกว่า 6 วันขึ้นไป ถือว่าความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดอาการ

ส่วนถ้าใครเดินอย่างน้อย 8 วันขึ้นไป ถือว่าเป็นการลดความเสี่ยงที่ดีพอสมควร (การเดินนานมีข้อเสียอย่างเดียวคือ ต้องจ่ายมากขึ้นครับ)

วิธีการป้องกัน

  • เลือกแผนที่ใช้เวลาอย่างน้อย 7 วันขึ้นไป
  • ถ้ามีอาการที่รู้สึกไม่ดี ให้รีบแจ้งหัวหน้าไกด์โดยเร็ว
  • ทานน้ำเยอะๆ อย่างน้อยวันละ 2 ลิตร
  • พิจารณาทานยา Diamox > ปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานครับย

สภาพอากาศที่คิลิมานจาโร

คิลิมานจาโร คือหนึ่งในไม่สถานที่ในโลก ที่ถ้าได้มาเราจะได้เห็น 5 ภูมิประเทศ 5 ภูมิอากาศ ในเวลาเพียง 5 วัน ฟินอะไรแบบนี้ เหมือนได้เห็นตั้งแต่เขาใหญ่ยันขั้วโลกเหนือเลยทีเดียว

1. ทุ่งหญ้าสะวันนา (Bushland)

  • ความสูง : 2,600 to 6,000 ft (800 to 1,800 m)
  • เป็นที่อยู่ของมนุษย์ สัตว์ และสรรพสิ่งมีชีวิตต่างๆ

2. ป่าดิบชื้น (Rain Forest)

  • ความสูง : 6,000 to 9,200 ft (1,800 to 2,800 m)
  • Precipitation: 79 to 40 in (2,000 to 1,000 mm)
  • บรรยากาศป่าดงดิบชื้นๆคล้ายๆแบบในบ้านเราครับ ตรงบริเวณโอกาสที่จะเจอฝนตกสูงมาก ฟ้ามักไม่ค่อยเคลียร์เพราะอยู่ตรงความสูงบริเวณเมฆหมอกพอดี

3. มัวร์แลนด์ (Moorland)

  • ความสูง : 9,200 to 13,200 ft (2,800 to 4,000 m)
  • อากาศเริ่มเย็นมากขึ้น ต้นจากต้นสูงๆกลายเป็นพุ่มเตี้ยๆ

4. ทะเลทรายอัลไพน์ (Alpine Desert)

  • ความสูง : 13,200 to 16,500 ft (4,000 to 5,000 m)
  • ถ้าจะเรียกว่าทะเลทรายก็คงไม่ผิด เพียงแต่มันตั้งอยู่บนภูเขา ตั้งแต่บริเวณนี้ขึ้นไปแทบจะไม่มีฝนแล้วเพราะเราอยู่เหนือเมฆแบบเต็มตัว อากาศต่ำกว่าจุดเยือกแข็งได้ในเวลากลางคืน ตรงนี้จะเป็นความสูงประมาณ base camp ของคิลิมานจาโร ตรงบริเวณนี้ความดันของออกซิเจนในอากาศลดลงมากแล้วเหลือประมาณ 70% ของระดับน้ำทะเล อาการแพ้ความสูงจะเริ่มพบได้เป็นปกติที่ความสูงประมาณนี้

5. อาร์คติค (Arctic)

  • ความสูง : 16,500+ ft (5,000+ m)
  • ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดๆที่อาศัยอยู่อย่างถาวรได้ เราจะได้เห็นมันตอนในวันขึ้นสู่ยอด อากาศหนาวสุดขั้ว ลมแรงบาดใจ ปริมาตรออกซิเจนเหลืออยู่เพียงประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่ราบ แสงแดดแสงยูวีแรงขั้นสูงสุดเพราะไม่มีอะไรปกป้องจากชั้นบรรยากาศที่ลดน้อยลง เราจะได้พบกับธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่ไม่อยากจะเชื่อว่ามาตั้งในทวีปแอฟริกาได้อย่างไร

ลูกทีมที่เราจะเจอเป็นอย่างไร

โดยปกติทีมงานปีนเขาจะมีรูปร่างหน้าตาแบบนี้

  • หัวหน้าไกด์ (Leader guide) : ทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยทุกอย่าง ทำทุกวิถีทางให้เราขึ้นไปถึงยอดได้
  • ผู้ช่วยไกด์ (Assistant guide) : ทำหน้าที่เหมือนหัวหน้าไกด์ทุกอย่าง
  • พ่อครัว : หน้าที่อย่างเดียวคือแบกอาหาร และทำอาหารให้เรากินทุกมื้อ
  • ลูกหาบ : ทำหน้าแบกของ แบกเต๊นท์ แบกโต๊ะ แบกอาหาร และแบกน้ำให้เรา

จำนวนสมาชิก โดยเฉลี่ยจะคิดจากจำนวนลูกทัวร์ครับ โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1:4 เช่น ถ้ามากัน 2 คน ก็จะมีทีมงาน 8 หรือถ้ามา 3 ก็จะมี 10-12 แล้วแต่ครับ


อาหารที่จะเจอบนยอดเขา

ค่าอาหารและน้ำจะรวมมาในแพคเกจทัวร์ปีนเขาอยู่แล้ว เราไม่ต้องเตรียมอาหารแต่อย่างใด

ตอนที่จะจองทัวร์ให้แจ้งกับคนติดต่อให้ชัดเจน ว่าเรากินอะไร เราไม่กินอะไร

อาหารมาตรฐานจะเป็นอาหารที่ออกแบบให้พวกนักเดินทางฝรั่งเป็นหลัก ส่วนใหญ่จะเป็นขนมปัง เส้นสปาเก็ตตี้อะไรแบบนี้ครับ เนื้อสัตว์ส่วนใหญ่จะเป็นไก่เราต้องคิดว่าอาหารทุกอย่างต้องเตรียมไปจากพื้นราบแล้วใช้ตลอดเวลาที่อยู่บนเขา ทุกอย่างเมื่อเริ่มต้นเดินไปแล้วไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

คนไทยเราถ้าชอบกินข้าว ให้บอกเลยว่าขอข้าวเป็นอาหารหลักแล้วเขาจะจัดให้ครับ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นกลุ่ม private ของเราเองนะครับ ถ้าเป็นกลุ่มกับต่างชาติก็ขอไม่ได้ เพราะยึดตามคนส่วนใหญ่

ถ้าเป็นคนกินง่ายก็ไม่ต้องคิดมากครับ อร่อยสมคำร่ำลือแน่นอน เขาจัดเต็มให้ทุกมื้อครับ ตั้งแต่ เช้า กลางวัน เย็น จัดกันในเต๊นท์อาหารที่พวกลูกหาบแบกกันขึ้นมาให้เรานี่ละ


ห้องนอนละ กินดีแล้วนอนสบายไหม

ทุกคนจะได้อยู่ในเต๊นท์แต่ละคนครับ จะนอน 1 คน หรือ 2 คนขึ้นกับขนาดเต๊นท์หรือจำนวนคนที่มาด้วย

โดยที่ลูกหาบจะมีหน้าที่แบกเต๊นท์มาตั้งให้เราทุกวันและเก็บให้เราเรียบร้อยเมื่อเราเริ่มออกเดินทางในแต่ละวัน

นอกจากเต๊นท์แล้ว เขายังมีแผ่นรองนอนแบบหนานุ่มให้เราอีกด้วย และถุงนอนอย่างหนาอีกคนละลูก สรุปนอนสบายครับ


ห้องน้ำละ สภาพเป็นอย่างไร

ตามสถานที่ตั้งแคมป์ของแต่ละวัน (campsite) จะมีห้องน้ำที่สร้างเอาไว้ ด้านในเป็นส้วมหลุมที่ขุดไว้ค่อนข้างลึก เอาไม้มาสร้างเป็นห้องปกปิดมิดชิดเป็นส่วนตัวดีครับ ปกติจะมี 2-4 ห้องแล้วแต่เส้นทางและขนาดของแคมป์ ทุกคนต้องช่วยกันดูแลความสะอาดครับ ถ้าคนแรกทำเละ คนหลังก็ซวย และถ้าทุกคนไม่สนใจ ก็แปลว่าทุกคนจะไม่มีห้องน้ำที่สะอาดใช้ได้นั่นเอง ส่วนถ้าผู้ชายจะถ่ายเบาก็ทำที่ไหนก็ได้ครับ

จะมีความแตกต่างเล็กน้อยสำหรับคนที่ใช้เส้นทาง Marangu เพราะในเส้นทางนี้จะมีส้วมที่เป็นห้องหับมิดชิดตลอดเส้นทาง และมีน้ำให้ใช้จนถึง Horombo hut หรือแคมป์ที่สองเลยทีเดียว ส่วนเส้นทางอื่นจะเป็นส้วมธรรมชาติตั้งแต่วันแรก

สำหรับคนที่ไปทัวร์ที่แพงหน่อย เขาจะแบกห้องน้ำเคลื่อนที่ไปด้วยครับ (portable toilet)  โดยจะกางเป็นเต๊นท์ห้องน้ำพร้อมกับขุดหลุมเอาไว้ให้และเอาชักโครกไปตั้ง โดยเจ้าส้วมเคลื่อนที่นี้จะมีลูกหาบแบกไปพร้อมกับเราตลอดเส้นทาง

ถ้าถามว่าส้วมธรรมชาติมันจะโอเคไหมสำหรับผู้หญิงไทย ผมว่าโอเคเลยนะครับ มันไม่ได้แย่อย่างที่ผมคิดไว้ตั้งแต่ต้น เพื่อนผู้หญิงผมอีกสองคนก็ใช้งานมาแบบสบายๆไม่ได้มีปัญหาอะไร จะได้ประหยัดไม่ต้องเสียเงินจ้างคนแบกส้วมขึ้นไปอีกครับ


ควรจัดของไปอย่างไร

ถ้าจุดประสงค์หลักๆมาเพื่อเดินขึ้นยอดคิลิมานจาโร ลงมาแล้วก็กลับบ้านเลย ไม่ได้ไปท่องเที่ยวที่อื่นต่อ

ให้เอาเป้หลักๆมาแบบนี้กระเป๋าใส่ของหลัก

เป็นใบที่เราจะฝากของบางส่วนไว้ที่โรงแรมในคืนแรก คือของที่เราไม่ได้เอาขึ้นเขาไปด้วย

ใบนี้จะเป็นเป้ลากมีล้อ หรือจะเป็นเป้สะพายหลัง (backpack) ก็ได้ครับ ไม่ซีเรียส

กระเป๋าสะพายหลังเวลาเดินเขา (Daypack)

ใบนี้คือใบที่เราจะใช้สะพายเองเวลาเดินเขา (Daypack)

ขนาดก็ประมาณ 18-30 ลิตร แล้วแต่ความพอดี ความชอบของแต่ละคน

เอาไว้ใส่กล้อง เลนส์ น้ำดื่ม ขนมขบเคี้ยว ยา หรือของอะไรเล็กๆน้อย

ดูตัวอย่างเป้ ได้ที่ร้านของพวกเราเลยที่นี่ครับ

สัมภาระหลักๆที่จะให้ลูกหาบแบก > ไม่ควรหนักเกิน 10 Kg ต่อคนครับ คือน้ำหนักมาตรฐาน

ให้หาถุงแยกไปให้พอดี เพราะลูกหาบจะเอาของๆเราไปรวมกับของเขาแล้วมัดรวมกันและขนทีเดียวครับ

พวกถุงแยกใส่ผ้าจะเป็นอะไรที่แนะนำอย่างมาก

แนะนำพวกถุงของ Eagle creek compression sac หรือแบบ Eagle creek cube set อะไรแบบนี้


เครื่องแต่งกายที่ควรเตรียมพร้อม

สภาพอากาศจะแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ

  1. จากจุดเริ่มต้นถึง base camp
  2. จาก base camp ถึง summit

ช่วงแรก จากจุดเริ่มต้น > Base camp

  • ความสูงจากประมาณ 1,800 – 4,500 เมตร
  • ใช้เวลาประมาณ 3-5 คืน (แล้วแต่เส้นทาง)
  • อุณหภูมิในช่วงเช้า ประมาณ 10-20 องศาเซลเซียส
  • อุณหภูมิในช่วงกลางคืน ประมาณ 5-10 องศาเซลเซียส
  • โดยคืนที่พักที่ base camp ก่อนขึ้นยอด อาจจะหนาวได้ถึงประมาณ 2-3 องศาครับ
  • ฝนตกเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะช่วงที่อยู่บริเวณป่าดิบชื้น (Rain forest)

การแต่งกายจะเป็นประมาณนี้ ตอนเช้าๆเดินแล้วเหงื่อออก ความหนาวจึงไม่ได้เป็นปัญหามากนัก

  • เสื้อ : แนะนำเป็นเสื้อที่ใส่แล้วไม่อับ ระบายอากาศได้ดี จะเตรียมมากี่ตัวแล้วแต่ความซกมกของเราเองครับ ไม่ต้องเอามาเยอะ จะได้ไม่ต้องแบกเยอะครับ
  • เสื้อกันฝน : อันนี้สำคัญมาก เพราะฝนตกแบบไม่คาดคิดได้เป็นประจำ โดยส่วนตัวไม่แนะนำเสื้อกันฝนแบบ 7-11 เท่าไร เพราะอย่างแรกมันกันฝนได้จริงๆ แต่มันระบายอากาศได้แย่มาก ใส่แล้วร้อนเดินแล้วเหนื่อง่ายกว่าเดิม ควรจะติด outer layer ที่กันน้ำและระบายอากาศได้ดีไปครับ
  • กางเกง : กางเกงแบบเดินป่าเดินเขาบ้านเราได้เลย แต่ควรจะมีกางเกงกันน้ำไว้ใส่ตอนที่เจอฝนตกหนักๆครับ เพิ่มเติมคือ กางเกงนั้น ถ้าเลือกตัวที่หนาในระดับหนึ่งก็จะดีมาก สามารถใช้เป็นตัวขึ้นยอดได้เลย
  • ปลอกคลุมแขน (Arm Sleeves) เอาไว้ใส่ในช่วงแรก เพื่อกันแสงแดดไม่ให้ผิวไหม้ ป้องกันรังสี UV ที่จะทำร้ายผิวหนังของเรา โดยรุ่นที่แนะนำคือ Columbia Freezer Zero™ Arm Sleeve ที่มีค่า UPF 50 ช่วยกรองแสง UV ที่จะมาถึงผิวหนังของเราจนเหลือแค่ 2% และยังมีเทคโนโลยี Omni-Freeze ที่จะแปลงเหงื่อของเราที่ออกมาช่วยทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นและรู้สึกเย็นมากขึ้นครับ
  • ปลอกคลุมคอ (Neck Gaiter) เอาไว้ใส่ในช่วงแรก เพื่อกันแสงแดดไม่ให้ผิวไหม้ ป้องกันรังสี UV ที่จะทำร้ายผิวหนังของเรา โดยรุ่นที่แนะนำคือ Columbia Freezer Zero™ Neck Gaiter ที่มีค่า UPF 50 ช่วยกรองแสง UV ที่จะมาถึงผิวหนังของเราจนเหลือแค่ 2% และยังมีเทคโนโลยี Omni-Freeze ที่จะแปลงเหงื่อของเราที่ออกมาช่วยทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นและรู้สึกเย็นมากขึ้นครับ
  • หมวกกันแดด : แดดแรงมาก ถ้าไม่กลัวดำก็ไม่ต้องใช้ได้ เอาแบบที่มีที่ปิดด้านข้าง ด้านหลัง ด้วยนะครับ
  • แว่นกันแดด : เหมือนด้านบน

ช่วงหลัง จาก base camp ถึง summit

  • ความสูงจากประมาณ 4,500 – 5,900 เมตร
  • เราจะเจออากาศทรมานทรกรรมแบบนี้แค่ประมาณ 8 ชั่วโมงเท่านั้น (ออกเดินเที่ยงคืน ถึงยอด 8 โมงครับ)
  • อุณหภูมิในช่วงกลางคืน ประมาณ -10 ถึง 0 องศาเซลเซียส (ติดลบสิบ)
  • ทุกอย่างจะต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง น้ำกลายเป็นน้ำแข็งหมด
  • ชุดที่เอามาใส่ต้องเตรียมพร้อมแบบสุดๆ เอาไปไม่พร้อมงานเข้าแน่นอน

การแต่งกายชุดจัดเต็ม

Base layer (ลองจอน)

  • เป็นเสื้อชั้นที่อยู่ในสุดติดกับผิว เป็นชั้นที่ทำหน้าที่ในการระบายเหงื่ออย่างรวดเร็วเพื่อให้รู้สึกสบายตัวเวลาเดินเทรค และเพื่อป้องกันภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ
  • จุดประสงค์คือป้องกันไม่ให้ความร้อนออกจากร่างกาย และคุณสมบัติอีกอย่างที่สำคัญมากคือต้องมีการระบายที่ดีมาก
  • ลองคิดภาพ ถ้าเราใส่เสื้อในที่หนามาก กันหนาวได้ดีมาก แต่กลายเป็นว่าไม่สามารถระบายอากาศได้ดี สุดท้ายเหงื่อของเราก็จะขังอยู่ในเสื้อ กลายเป็นทำให้หนาวทั้งข้างนอก เย็นทั้งข้างใน อุณหภูมิร่างกายจะต่ำลงไปได้อีกครับ เหนื่อยยิ่งกว่าเดิม
  • Base layer ที่จะเอาไปใช้ควรเลือกประเภทที่ทำจากผ้าใยสังเคราะห์ประเภท Nylon หรือ Polyester ที่ตอบโจทย์ในคุณสมบัติทุกอย่าง
  • เสื้อที่ผมเอาไปใช้คือ Columbia Midweight stretch ทั้งตัวเสื้อและกางเกง โดยเสื้อรุ่นนี้มีคุณสมบัติอย่างหนึ่งคือเทคโนโลยี Omni heat ที่จะมีจุดสะท้อนความร้อนเล็กอยู่ด้านในเสื้อทำให้เสื้อรุ่นนี้สามารถกักเก็บความร้อนเอาไว้ใต้ผิวหนังเราได้อย่างดีที่สุด และยังมี Omni wick ที่ทำให้เม็ดเหงื่อของเราระเหยออกจากเสื้อได้เร็วที่สุดเช่นเดียวกัน
  • Base layer รุ่น Flashdry ของ The North face ก็เป็นอีกรุ่นที่คุ้มค่าคุ้มราคาในระดับกลางครับ
  • เสื้อชั้นในที่ห้ามเอาไปใช้เด็ดขาดคือผ้าที่ทำจาก cotton หรือผ้าฝ้ายครับ เพราะมันอมน้ำ สุดท้ายเราจะหนาวกว่าเดิมเพราะเสื้อนี่แหละ

Insulating layer (ชั้นกลาง)

  • ชั้น Insulating layer ถือเป็นชั้นที่มีความสำคัญ เพราะมันคือชั้นที่ใช้กักเก็บความร้อนไม่ให้ออกไปนอกร่างกาย พร้อมทั้งป้องกันความเย็นไม่ให้สัมผัสกับผิวหนังอีกด้วย
  • เสื้อชั้นนี้จะเป็นเสื้อ Fleece (ฟรีซ) ควรจะเลือกแบบที่หนาหน่อยครับ เราเอาไว้ใส่ตอนที่นอนตอนกลางคืนตอน base camp
  • เสื้อขนเป็ดควรจะมีปริมาณขนเป็ดที่มากพอสมควรเพื่อกันหนาวได้ดีและน้ำหนักจะได้ไม่มากจนเกินไป
  • Kaemp8848 รุ่น Chilli เป็นเสื้อขนเป็ดที่ fill power 775 CUIN กันหนาวได้ดีมากในระดับติดลบระดับนี้ น้ำหนักไม่มาก ถือว่าเป็น ultralight down ที่เหมาะกับคิลิมานจาโรครับ

Shell jacket or Outer layer (เสื้อกันฝน+กันลม)

  • เวลาเลือกเสื้อ shell เราต้องสนใจกับสิ่งที่เรียกว่า Waterproof rating กับ Breathability
  • เสื้อกันลมกันฝน บางรุ่น มักจะเคลมว่าตัวเองกันน้ำกันลมได้ดี แต่บางทีมันดีพอกับในสถานการณ์ที่เราจะไปหรือไม่ ต้องมาดูตามรายละเอียดตามนี้
  • Waterproof rating คือสิ่งที่บ่งบอกถึงคุณสมบัติของเสื้อในการทนน้ำได้ขนาดไหน ยิ่งมากยิ่งดี ให้ดูตามตารางนี้นะครับ
    Waterproof Rating (mm)สภาวะ0-5,000 mmฝนตกเพียงเล็กน้อย, หิมะแห้งๆ6,000-10,000 mmฝนตกเพียงเล็กน้อย, หิมะปานกลาง11,000-15,000 mmฝนตกปานกลาง, หิมะปานกลาง16,000-20,000 mmฝนตกหนัก,หิมะตกหนักจนเปียก20,000 mm+ฝนตกหนัก, หิมะตกหนักจนเปียก
  • Breathability อันนี้จะบ่งบอกถึงความสามารถในการให้เหงื่อ (น้ำ) ผ่านชั้นเสื้อแล้วระบายออกไปนอกร่างกายและนอกเสื้อได้ ถ้าเสื้อมีคุณสมบัติอันนี้ต่ำก็ให้คิดภาพเหมือนกับพวกนักมวยที่ใส่เสื้อ jacket แล้วออกไปวิ่งกลางแดดครับ เหงื่อท่วมตัวอยู่ด้านใน แต่เราคงไม่ต้องการสภาพนี้เมื่อเราอยู่บนภูเขาสูงที่อากาศหนาว เพราะมันจะกลายเป็นข้างในร้อนจัด ข้างนอกหนาวตาย สุดท้ายจะเหมือนกับเราแช่อยู่ในน้ำเหงื่อของเราเอง นำไปสู่ภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ (Hypothermia)
  • ถ้าต้องการแบบกระชับและตัวเดียวจบ Kaemp8848 Icetube ซึ่งมีคุณสมบัติครบตามที่ต้องการทั้งหมดและราคาถือว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับคุณภาพระดับเดียวกับแบรนด์ยุโรป ที่อุณหภูมิและลมแรงๆบนยอดเขาไม่สามารถทำอะไรเราได้เลย แถมมาเจอฝนตกหนักตอนระหว่างขาลงก็เดินลุยฝนสบายๆ คนอื่นต้องไปหลบใต้ศาลากันหมดครับ

กางเกง Trekking

  • ถ้าเสื้อใส่ 4 ชั้น กางเกงก็ประมาณเดียวกันไม่มีข้อยกเว้น เพราะไม่มีกางเกงใดๆบนโลกใบนี้ที่ใส่แล้วตอบโจทย์ชีวิตได้ทั้งหมด
  • ชั้นแรก > Base layer
  • ชั้นสอง > กางเกงผ้า fleece
  • ชั้นสาม > กางเกงเทรคผ้าหนาๆหน่อย (ตัวเดียวกับที่ใส่มาตลอดทางนั่นแหละครับ) แนะนำตัวนี้เลย FjallRaven – Vidda Pro Trousers
  • ชั้นสุดท้าย > กางเกงกันน้ำ อันนี้จะมีประโยชน์ก็เวลาที่เจอฝนตก (ดวงจู๋มาก) หรือหิมะตกแบบหนักๆ (ดวงจู๋อีกเช่นกัน)
  • หลักการเหมือนเสื้อเลย แต่ว่าอาจจะไม่จริงจังเท่ากับเสื้อ เพราะอุณหภูมิร่างกาย (core temperature) อยู่ที่ร่างกายส่วนบนทั้งหมด แต่ถ้าปล่อยให้ร่างกายส่วนร่างหนาว ประสิทธิภาพการเดินเราก็แย่ลงเช่นเดียวกัน

หมวกคลุมหัว (Bonnie)

  • ควรจะเป็นหมวกที่สามารถปิดหูทั้งสองข้างด้วยนะครับ
  • ผมใช้รุ่น Columbia Thermarator™ Hat สามารถใช้งานได้ดี

ปลอกคอ (Neck gaiter)

  • เอาไว้ใช้ตอนวันขึ้น summit เลยครับ
  • ปิดทุกส่วนของใบหน้าให้เหลือแต่เพียงลูกกะตาพอแล้ว กันเวลาที่ลมวิ่งผ่านมาทีตัวไม่งั้นจะหนาวสะท้านฟ้า เอาไว้คู่กับ bonnie
  • Columbia Thermarator™ Neck Gaiter เป็นอีกรุ่นที่มีคุณภาพที่ดีและราคาที่เหมาะสมครับ

ถุงมือ (Glove)


ไฟฉาย (Head lamp)

ถุงน้ำ (Water bag)

  • ถุงน้ำมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะอุทยานแห่งชาติคิลิมานจาโรไม่อนุญาตให้นำขวดพล
  • ถุงน้ำจะทำให้การกินน้ำของเราสะดวกขึ้นมาก ไม่ต้องคอยหยิบขวดเข้าๆออกๆ
  • ถุงน้ำขนาด 3 ลิตร จะกำลังดี เก็บไว้ในเป้กำลังดี ไม่หนักมาก เติมตอนเช้าให้เต็ม เติมอีกทีก็ตอนถึงแคมป์ครับ

ขวดน้ำเก็บน้ำร้อน 

  • ใช้หลักๆเลยวันสุดท้าย เพราะเราไม่สามารถเก็บน้ำในขวดปกติได้ >>> มันกลายเป็นน้ำแข็งหมดครับ ถ้าใครไม่เคยเห็นภาพว่าของเหลวกลายเป็นของแข็งต่อหน้าเป็นอย่างไร ก็คราวนี้ละ
  • ห้ามเอาขวดพลาสติกขึ้นเขานะครับ เป็นข้อห้าม

ไม้เท้าเดินเขา (Trekking pole)

  • เอาไปอย่างน้อย 1 ข้าง ถ้าให้ดีก็เอาไป 1 คู่เลยครับ
  • มีประโยชน์อย่างมากในวันที่เดินขึ้นยอด และตอนช่วงขาลงจากยอดครับ
  • จะเลือกแบบไหนก็ได้ แต่สำคัญคือเอาที่มันใช้ได้ตลอดรอดฝั่งครับ ดูรุ่นที่น่าสนใจได้ทีนี่

รองเท้าที่ควรเตรียมพร้อม

รองเท้าที่เดินคิลิมานจาโร ควรมีคุณสมบัติดังนี้

  • กันน้ำได้ดี (waterproof) ดูพวกคุณสมบัติว่ามี Gore-tex หรือเทียบเท่า
  • เป็นรองเท้าสำหรับเดินเขา (hiking) ส้นควรหนาและรับน้ำหนักได้ดี
  • รองเท้าเป็นอะไรที่เรามักจะละเลยไปทั้งที่ๆสำคัญที่สุด
  • แนะนำเป็นรุ่น ASOLO – Drifter GV Men  ออกแบบไว้สำหรับการเดินเขาโดยเฉพาะ
  • ให้เตรียมถุงเท้าอย่างหนาเอาไว้อีก 1 คู่ครับ เอาไว้ใส่ตอนวันขึ้นยอดโดยเฉพาะ

จะไปซื้อของเตรียมตัวที่ไหนดี

เดอะ พัฟฟิน เฮาส์ (The Puffin House) เป็นชุมชนนักเดินทาง (Travel community) ที่ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเดินทางมือใหม่อ่อนประสบการณ์ หรือมือเก๋าผ่านมาครึ่งโลก เราก็สามารถที่จะมาพบปะทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ หรือจะเป็นการต่อประสบการณ์ของตนเองที่ร้านได้ทุกเวลา หรือจะผ่านกิจกรรมที่พวกเราจะจัดขึ้นมาเพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องและแบ่งบันประสบการณ์สู่เพื่อนๆทุกคน ผ่าน กิจกรรมเสวนา หรือ Talk เช่น Iceland Talk, Trans-siberian Talk โดยแต่ละครั้งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากเหล่านักเดินทางทุกท่าน

ร้านเราเป็นร้านที่จำหน่ายสินค้าที่เป็น “ของแท้” จากผู้ผลิตโดยตรงทุกชิ้น เพื่อการันตีถึงคุณภาพและประสบการณ์ใช้งานที่พวกเรากล้ารับประกัน สินค้าทุกชิ้นมีประกันตามมาตรฐานแบรนด์ระดับโลกทุกประการ ไม่ว่าจะเป็น Deuter, Columbia, Gregory, The North Face, Osprey, Nature hike, PacSafe หรือ Eagle Creek

เราจำหน่ายสินค้าทั้งในรูปแบบหน้าร้าน (Offline) และ ออนไลน์ (Online) มั่นใจได้ว่าคุณลูกค้าทุกท่านจะได้รับบริการสินค้าที่ ส่งเร็ว, ส่งไว, ได้ของจริง, ไม่โกง, ไม่หลอก, ตอบแชทไว, มีประกัน, คุ้มค่า, ราคาถูก, คุณภาพดี ในสินค้าของทางร้านที่เราคัดสรรมาอย่างดี จากประสบการณ์การใช้จริงของเรา

นอกจากนี้