“7 วัน ไม่มีวันลืม” บนหลังคาโลกที่ “ปามีร์” ตอนจบ

0
3817

ตอนที่ 1 https://worldwantswandering.com/pamir-highway/

มาถึงตอนนี้ เข้าสู่วันที่ 4 ของการดินทางบนทางปามีร์ไฮเวย์

ยังคงความทุลักทุเลเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน

อย่าถามหาถึงภัตตาคารที่เต็มไปด้วยเมนูอาหารสุดหรู

อย่าถามหาถึงโรงแรมที่เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก

และอย่าถามหาถึงความสบายแบบที่ไม่ต้องออกแรง

ถ้าคุณไม่ได้ถามหาถึง 3 อย่างด้านบน ถือว่ามาได้ถูกที่ ถูกทาง และถูกเวลาแล้วครับ

เพราะเดี๋ยวผมจะพาไปเดินทางกันต่อบนถนนที่ผจญภัยบนหลังคาโลกที่ผ่านภูเขาสูงเทียมฟ้า ทะเลสาบที่กลายเป็นน้ำแข็ง ความชนบทอย่างสุดขั้วในพื้นที่ๆห่างไกลที่สุดแห่งหนึ่งของโลกใบนี้

วัฒนธรรมที่หาไม่ได้ที่ไหนอีกแล้วบนใบนี้และอัธยาศัยของคนปามีร์แห่งหลังคาโลก

JOE_3969

วันที่ 4  : หนึ่งวันสามฤดู

ผมตื่นนอนมาด้วยความสดชื่น นอนหลับอย่างเต็มอิ่ม

เช้าวันใหม่ก็จริง แต่บรรยากาศภายนอกมันชวนน่าหลับต่อ

เดินออกจากที่พัก น้ำฝนจากฟ้าก็ตกใส่หัวเราอย่างจัง

ทุกอย่างต้องเป็นไปตามแผน เราต้องเดินทางกันต่อไป

แต่ไม่มีวันไหนที่ธรรมชาติจะสร้างความสับสนให้กับพวกเราได้มากเท่านี้อีกแล้ว

อากาศที่แปรปรวน ทั้งลม ทั้งฝัน ความเปียกแฉะ ทำให้บรรยากาศเต็มไปด้วยความเหนอะนะมากที่สุด

JOE_4085

สภาพอากาศที่แปรเปลี่ยนรวดเร็วอย่างกับคนใจร้อน

จะลงก็ลงไม่ได้ จะถ่ายรูปก็ถ่ายไม่ได้

ได้แต่นั่งมองกระจกทำตาปริบๆไป

ไม่เคยไม่มีที่ไหนที่จะไม่พบอุปสรรคของการเดินทาง

รสชาติของการเดินทางก็คือการรอค้นพบสิ่งที่ไม่เคยคาดหวังนี่ละครับ

JOE_4069

หนทางที่ไม่มีจุดสิ้นสุด

ถนนเส้นนี้ก็เช่นเดียวกัน

ถึงแม้สภาพถนนมันจะห่วยแตก เลวร้ายขนาดไหนก็ตามที

ตราบใดที่มันยังพาเราไปถึงจุดหมายได้มันก็โอเค

JOE_4029

พื้นที่ตรงบริเวณวาคันด์ ในสมัยโบราณก็มีอาณาจักรทีตั้งกันอยู่แถวๆนี้

เนื่องจากดิน ทราย และน้ำแถวนี้ถือว่าอุดมสมบูรณ์มาก

มันเลยกลายเป็นที่หมายปองของกลุ่มคนส่วนใหญ่ไปทันที

ป้อมปราการถูกสร้างขึ้นอย่างมากมายเพื่อคอยป้องกันการรุกรานจากศัตรู

JOE_4116

ชาวปามีร์

คือชาวทาจิกทั่วๆไป แต่ด้วยความที่พวกย้ายมาอยู่กันในแถบหุบเขาปามีร์มานานมากแล้ว

เขาเลยปรับตัวเข้ากับภูมิประเทศซึ่งต่างจากชาวทาจิกที่อาศัยในเขตเมืองอย่างมาก

JOE_4095

แก๊งค์แฟนฉัน

กล้องถ่ายรูปเป็นหนึ่งในเครื่องมือเชื่อมมิตรภาพที่ดีที่สุดในโลก

ขอเพียงแค่คุณยกมันขึ้นมา กดปุ่มชัตเตอร์เพียงแค่ครั้งเดียว

แล้วก็ส่งรูปนั้นให้คนที่อยู่ในกล้องเขาดู

เท่านี้มิตรภาพก็บังเกิดแล้ว

JOE_4097

ป้อมยัมชุน (Yamchun fortress)

เพชรเม็ดงามของการท่องเที่ยวแห่งทาจิกิสถานอย่างแท้จริง

คนจะรู้จักที่นี่ได้ก็ต้องตอนที่มาถึงที่นี่เท่านั้นแหละครับ

ไม่มีกรุ๊ปทัวร์ ไม่มีทัวร์จีน ไม่มีเสียงโช้งเช้ง ไม่มีคนขายของ ไม่มีมาเฟีย

มันไม่มีอะไรเลยนอกจากกองหินที่รูปร่างเหมือนป้อมปราการ

ด้วยอารมณ์ที่ขาดการบูรณะมานานมาก แต่ร่องรอยที่เหลืออยู่ก็ยังพอเป็นหลักฐานที่ยืนยันถึงความยิ่งใหญ่นั้นได้

 

DSC_6669

พื้นที่บริเวณนี้ถือว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างมาก

ในสมัย Great game ราวๆ ปี ค.ศ. 1893

จักรวรรดิรัสเซีย และ จักรวรรดิอังกฤษ ถือเอาพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่กันชน

เพื่อแยกทาจิกิสถาน ออกจากปากีสถาน แล้วเอาอัฟกานิสถานเป็นรัฐกันชนระหว่างสองมหาอำนาจ

DSC_6644

ที่นี่ถือว่าเป็นการสร้าง landmark ของประเทศอย่างแท้จริง

ภาพ postcard ที่ขายๆกันทั่วไปของประเทศทาจิกิสถาน

ต่างต้องมีภาพของป้อมยัมชุนด้วยทั้งนั้น

ผมแทบอดนึกไม่ได้เลยว่า ในช่วงเวลาที่ป้อมแห่งนี้ถูกใช้งานจริง

มันจะยิ่งใหญ่ขนาดไหนครับ

DSC_6614

มุมมองจากบนป้อมปราการ ที่สามารถมองเห็นได้ถึงระยะไกลมากๆ

เขาจึงใช้เป็นศูนย์บัญชาการ รักษาความปลอดภัยให้กับขบวนคาราวานจากเมืองจีนที่กำลังจะเดินทางไปทวีปยุโรป

ป้องกันภัยอันตรายจากกองโจรที่มาจากฝั่งตรงข้าม

เส้นทางสายไหมสายนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

DSC_6485

แกะภูเขาที่ถึงแม้รูปร่างจะดูตุ้ยนุ้ย แต่กลับคล่องแคล่วว่องไวแบบไม่น่าเชื่อ

JOE_4301

ต่อจากป้อมยัมชุน ถนนเส้นเดิมยังคงพาเราลัดเลาะไปตามตะเข็บชายแดน

ชีวิตของผู้คนสองฝั่งประเทศยังคงดำเนินต่อไปอย่างเรียบง่าย

JOE_4289

 

ทุกๆอย่างดูเรียบง่ายไปหมด

มีอยู่อย่างเดียวที่ขรุขระ

มันคือพื้นถนนนั่นเอง

JOE_4248

ฟ้าเริ่มใสขึ้นมาก แต่หมอกยังลงหนัก

JOE_4238

หมู่บ้าน Vrang

หมู่บ้านโบราณที่เคยมีพระสงฆ์เดินธุดงค์มาจำพรรษากันที่นี่เมื่อหลายพันปีมาแล้ว

ในช่วงที่อาณาจักรแถบนี้ยังมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักอยู่

เป็นอีกศูนย์กลางการแผยแพร่ในบริเวณนี้

ก่อนที่อะไรๆจะเปลี่ยนไปในภายหลัง

JOE_4213

ไม่ต้องไปตามหาโดเรมอนเพื่อขอเครื่องไทม์แมชชีนที่ไม่มีอยู่จริงในโลกใบนี้

แค่มาถึงที่นี่ก็เหมือนกับเรานั่งไทม์แมชชีนกลับไปอดีตจริงๆแล้ว

JOE_4235

เขาว่ากันว่ามีสถูปทางพระพุทธศาสนาตั้งอยู่ที่นี่

สร้างมาตั้งแต่ 2000 กว่าปีที่แล้ว

ผมไม่นึกมาก่อนได้เลยว่าแม้แต่ตรงนี้ ก็เคยมีอิทธิพลของศาสนาพุทธเผยแพร่มาได้ไกลถึงขนาดนี้

JOE_4230

รูปทรงแลดูคล้ายพีระมิด เป็นการเอาหินมาวางๆซ้อนๆกันเหลื่อมกันขึ้นไปเรื่อยๆจำนวน 5 ชั้น

สถูปตั้งตะหง่านอยู่ท่ามกลางหุบเขา ที่มีหมู่บ้านและภูเขาหันหน้าเขาหากัน

ที่หมู่บ้านนี้ผมได้แก๊งค์เด็กแฟนฉันประมาณ 3 คน เข้ามาประกบพวกเราทันที

พร้อมกับขออาสานำทางพาทัวร์ ผมก็โอเค

จริงๆจะเดินไปเองก็ยากหรอกครับ แต่ก็ถือว่าผมจะได้ตอบแทนอะไรเขาได้อย่างสบายใจมากยิ่งขึ้น

เงินจำนวนไม่มากของเรา มันช่วยอะไรเขาได้มาก

ผมคิดอย่างนั้นนะ

JOE_4246

ใบหน้าที่ไม่ได้บ่งบอกถึงอายุ

ถ้าคุณต้องใช้ชีวิตในพื้นที่ๆสภาพอากาศมันสุดขั้ว ร้อนแทบดิ้น หนาวแทบตาย

นอนกลางดิน กินกลางทราย

ตัวแปรต่างๆเหล่านี้ล้วนแต่เร่งให้สภาพผิวพรรณเราแปรเปลี่ยนสภาพได้เร็วกว่าความเป็นจริงมาก

ถ้าผมบอกว่าเด็กคนนี้อายุ 14 ปี

ทุกๆคนจะเชื่อผมไหม

JOE_4244

ด้วยความที่มีไกด์ท้องถิ่นตามมาด้วย

สถานที่บางแห่ง มุมบางมุม ที่ไม่มีทางหาได้เจอได้ด้วยตนเอง

เราก็เลยมีโอกาสได้เห็นอยู่บ้าง

ไอถ้ำที่ผมอยู่ตอนนี้ น้องเขาบอกว่าเป็นที่หลบภัยของพระสงฆ์ในสมัยนั้นครับ

นอกจากนี้ยังเป็นที่บำเพ็ญเพียรของเหล่าพระสงฆ์อีกด้วย

DSC_6679

ออกเดินทางกันไปต่อ

วันนี้พวกผมพักกันที่หมู่บ้าน Langar

สถานที่ทางสามแพร่งของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำปามีร์

JOE_4322

วันที่ 5 : 8 ชั่วโมง 240 กิโลเมตร

อยากจะอยู่ให้นานกว่านี้ก็ทำไม่ได้ เวลาไม่เคยคอยใคร

คนที่คอยเวลา ก็คือคนไม่เคยทันใคร

วันนี้พวกเราต้องออกเดินทางให้เร็วกว่าปกติ

เพราะระยะทางมันไกลที่สุด กันดารที่สุด และแห้งแล้งที่สุด

ทำยังไงก็ได้ ต้องถึงที่หมายก่อนพระอาทิตย์ตกครับ

DSC_6712

ฝั่งนี้เป็นถนนฝั่งอัฟกานิสถาน

ขอคำนับวิศวกรเขานะ ออกแบบไปได้ขนาดนี้

 

JOE_4337

ถนนที่ใช้ร่วมกันกับเพื่อนร่วมโลก

มีอยู่เลนเดียวใช้มันทั้งคน ทั้งรถ ทั้งแกะ ทั้งแพะ

อยู่กันแบบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันแบบนี้

DSC_6714

สีของท้องฟ้ากำลังบ่งบอกถึงอะไรบางอย่าง

กับสิ่งที่พวกเรากำลังจะเผชิญอยู่ในเบื้องหน้าJOE_4364

ท้องฟ้าที่ทำหน้าทำตาเหมือนกับคนอมทุกข์มานาน

วันนี้ก็ได้เวลาปลดปล่อยเสียที

จากฟ้ากลายเป็นขาว จากน้ำตาลก็กลายเป็นขาว

ทุกอย่างมันกลายเป็นสีขาวไปเกือบหมดไม่ว่าจะท้องฟ้าหรือผืนดิน

JOE_4363

ที่เขาบอกกันว่าที่นี่เป็นหนึ่งในถนนที่อันตรายที่สุดในโลก

ผมก็พึ่งจะเข้าใจจริงๆก็ตอนนี้เนี่ยแหละครับ

JOE_4362

ถ้าได้ขับรถแบบบรรยากาศหิมะๆในยุโรปคงจะฟินเป็นแน่แท้

แต่ไม่ใช่ในทาจิกิสถานแน่ๆ

ไหล่ทางไม่เห็น มีแต่กองหิมะโตๆกองๆกันอยู่ ข้างๆมีแต่ขอบเหวลึก

ถ้าขับพลาด ไถลออกไปนิดนึง สภาพคงไม่ต้องตามหาร่องรอยกันเลยทีเดียว

ชีวิตของพวกเราสองคนในตอนนี้

จึงต้องไปขึ้นกับชีวิตของคนอีกหนึ่งที่อยู่หลังพวกมาลัยของรถในตอนนี้

DSC_6777

ด้วยความถี่ของรถที่วิ่งสวนกันอยู่ที่ราวๆ 1 คันต่อ 3 ชั่วโมงที่รถวิ่งไป

สัญญาณมือถือที่ความแรงและเสถียรภาพเหมือนกับเมืองไทยเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว

ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด บอกได้คำเดียวว่าโชคร้าย

เพราะตอนนี้เรากำลังอยู่ในพื้นๆที่ห่างไกลจากโลกภายนอกมากที่สุดพื้นที่หนึ่งในโลกอยู่

ถ้าไม่นับกับรถที่นานๆมากๆกว่าจะมีสวนมาสักครั้ง

ก็ไม่มีใครในโลกนี้ที่รู้ความเป็นไปของเรานอกจากพวกเรากันเองอีกแล้วครับ

DSC_6773

คนขับเราหน้าเครียดมากครับตอนนี้

ผมสังเกตดูเขาจับพวกมาลัยไม่ปล่อยเลย

เพลงจากแผ่นซีดีที่กำลังเล่นอยู่ ถึงแม้จะเพราะขนาดไหน แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครสนใจเลย

ทุกคนกำลังสนใจกันแต่ทางที่อยู่ข้างหน้า

ว่าเมื่อไรมันจะหมดไอโค้งเสียวๆแบบนี้ไปเสียที

DSC_6762

ปราศจากก้อนหินหรือก้อนกรวด

 

มันมีเพียงแต่กองหิมะที่ถูกเทเรี่ยราดอยู่บนพื้น

DSC_6795

ผจญภัยอยู่บนถนนสีขาวมาได้ครึ่งวัน เราก็มาถึงที่ Khargush

ทางสามแพร่ง ที่เป็นทางแยกระหว่างเดินทางต่อไปในเขตอัฟกานิสถาน

หรือว่าจะเลือกทางที่จะข้ามช่องเขา Khargush ผ่าเข้าสู่ใจกลางเทือกเขาปามีร์ หลังคาโลก

ตรงนี้เป็นด่านตรวจของทหารทาจิกิสถานด้วยครับ

แต่ก็ไม่ได้ตรวจอะไรมากมาย มาเปิดๆแง้มๆพาสปอร์ตดู พร้อมกับตรวจความเรียบร้อยพอเป็นพิธี

DSC_6821

หลังจากผ่านจากด่านตรวจมา

จะเป็นถนนที่จะไต่ระดับขึ้นเรื่อยๆ เพื่อผ่านช่องเขา Khargush pass ที่ระดับความสูง 4,344 เมตร

การเดินทางผ่านช่องเขานี้จะเป็นการเข้าสู่ใจกลางของเทือกเขาปามีร์ที่แท้จริง

DSC_6876

เดินทางสู่หลังคาโลก

ณ บัดนี้ ในที่สุดเราก็ข้ามช่องเขาสูงที่ขาวโพลนไปด้วยหิมะ

ทิ้งแม่น้ำาปามีร์และเทือกฮินดูกูซทางฝั่งอัฟกานิสถานไว้เบื้องหลัง

มาสู่ที่ราบสูงที่แห้งแล้ง ไร้ต้นไม้ ไร้สรรพสิ่งใดๆ

ยกเว้นเพียงแต่สายลมแห่งความว่างเปล่าที่ฟุ้งกระจายไปทุกๆตารางเมตร

DSC_6888

มีคนบอกผมว่าถ้าเราไม่มีปัญญาไปถึงดวงจันทร์ได้

ให้มาที่นี่ คุณจะได้บรรยากาศแบบเดียวกันไม่มีผิด

11984479_10205039176794189_948459662_o

DSC_6906

เมื่อภูมิประเทศเปลี่ยน ผู้คนก็เปลี่ยนไปตาม

ถึงแม้จะยังอยู่กันในทาจิกิสถาน

แต่คนที่อยู่แถวนี้ส่วนใหญ่กลายเป็นคนคีร์กิซไปหมดแล้ว

ด้วยสภาพภูมิประเทศและสภาพอากาศที่เอาแน่เอานอนไม่ได้

ชีวิตแห่งการเร่รอนไปตามฤดูกาลจึงกลายเป็นสิ่งที่ต้องนำมาใช้

แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเพราะนั่นเป็นสิ่งที่คนคีร์กิซถนัดมากที่สุด

DSC_6937

กระโจมอันเป็นลักษณะเด่น จะเริ่มโผล่มาให้เราเห็น

ถ้าโชคดีก็จะเห็นฝูงยัคมาเดินเล่นส่ายสะโพกให้เราดูอีกเช่นเดียวกัน

DSC_6933

หนทางข้างไหนจะลำบากอีกแค่ไหน ผมไม่รู้

ผมรู้เพียงแต่ว่าถ้าเราพยายามมันอย่างเพียงพอ

ต่อให้ลำบากแค่ไหน เราก็ไปถึงเป้าหมายอย่างแน่นอน

DSC_6998

จริงๆฤดูท่องเที่ยวของปามีร์ไฮเวย์ คือ ฤดูร้อน

เพราะอากาศที่ไม่หนาวจนเกินไป ถนนปลอดภัย ต้นไม้เบ่งบาน

แต่พวกเรากลับดันเลือกมาทรมานในช่วงเวลาที่เขาไม่เที่ยวกันอีกแล้ว

DSC_6975

ในช่วงโค้งสุดท้ายวัน

ด่านทดสอบด่านสุดท้ายคือช่องเขา Ak-Baital pass ที่ถือว่าสูงที่สุดที่ระดับ 4,655 เมตร

ช่องเขานี้ ตามทฤษฎีผ่านได้ทั้งปี

แต่ในทางปฎิบัติ โอกาสผ่านทางฤดูหนาวอาจจะเหลือเพียงแค่ 50%

ฤดูหนาวอันทารุณจะพัดเอาหิมะกองโตมาขวางทางเอาไว้

ต้องรอจนกว่าพระอาทิตย์มาละลายมันไปนั่นแหละครับ เราถึงไปต่อได้

DSC_6972

คำว่าหลังคาโลกอยู่ไม่ไกลจากคำกล่าวจริงๆ

จากจุดนี้คือจุดที่ถนนตั้งอยู่บนจุดที่สูงที่สุดของเขตปามีร์

JOE_4477

สุดทางแต่ยังไม่สุดแรง

ผ่านเส้นทางที่หฤโหดสายหนึ่งในชีวิตการเดินทางมาได้

“Murghab” มูร์กาบ เป็นเพียงเมืองเดียวที่ไม่ได้เรียกว่าหมู่บ้าน

ถ้าความหมายว่า เมือง คือสถานที่ๆประกอบไปด้วยหน่วยงานราชการ ตลาดขายของ สถานพยาบาลพื้นฐาน ที่พักแรม มูร์กาบก็คงอยู่ในความหมายนั้น

ท่ามกลางพื้นที่หลายพันตารางกิโลเมตร มีเพียงแค่มูร์กาบที่เดียวเท่านั้นที่มีคนอาศัยอยู่อย่างถาวร

JOE_4449-Edit

เมืองนี้พึ่งเกิดได้ไม่นาน ในช่วงที่สหภาพโซเวียตกำลังแผ่ขยายอิทธิพลในเอเชียกลาง

เพื่อมาต่อสู้กับอาณานิคมอังกฤษ (ปากีสถาน) ทางด้านใต้ และจีนทางด้านตะวันออก

Murghab จึงกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ใช้สำหรับตุนเสบียงและสะสมกำลังพลก่อนเดินทางต่อไป

x

ค่ำคืนที่แสนวิเศษ

ราตรีของวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา ณ หมู่บ้าน Murghab ประเทศทาจิกิสถาน
อุณหภูมิในตอนนั้นประมาณ -5 องศาเซลเซียส พร้อมกับความแรงลมอีก 10-12 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

โคตรหนาวครับ หนาวจนเข้ากระดูก หนาวจนไม่อยากทำอะไรนอกจากซุกตัวอยู่ในผ้าห่มข้างๆเตาผิง

แต่วันที่ฟ้าเปิดจนสามารถเห็นดาวบนท้องฟ้าได้ ตั้งแต่ที่เราสองคนเดินทางกันมา 3 เดือนกว่าแล้ว วันนี้คือ “วันแรก” ที่สถานที่พร้อม คนพร้อม อุปกรณ์พร้อม

เวลาตีสามกว่าๆ ผมจึงตัดใจ ยอมทิ้งความขี้เกียจไว้กับผ้าห่ม แล้วลุกขึ้นเอาเสื้อหนาวใส่ไปจนครบชุด ถุงมือ ไฟฉาย ทุกอย่างพร้อม

เดินเปิดประตูบ้านออกไป (เราพักกันที่โฮมสเตย์) ไม่มีเสียงอะไรเลย นอกจากเสียงของลมที่วิ่งเข้าชนใส่ใบหน้าอย่างจัง วินาทีนี้แทบอยากจะกระโดดกลับไปที่เตียง แต่ใจมันบอกว่ามาถึงขนาดนี้แล้วก็ต้องไปต่อ

ผมค่อยๆพากล้องกับขาตั้งกล้องขึ้นไปยังเนินเขาที่เล็งไว้เอาไว้แล้วตั้งแต่ตอนเย็น

ฟ้าใสมาก ใสจนเห็นทุกอย่างทะลุปรุโปร่งไม่มีหมกเม็ด พร้อมกับทางช้างเผือกอันใหญ่โตที่ขนาดใส่เลนส์ตาปลาถ่ายรูปแล้วก็ยังเก็บมาไม่หมด

มันเป็นคืนมหัศจรรย์ที่คุ้มค่าความทรมานด้วยประการทั้งปวงจริงๆ

JOE_4557

วันที่ 6 : เริ่มต้นที่ความเรียบแต่ไปจบที่ความง่าย

ผมตื่นเช้าเข้าสู่วันใหม่ด้วยความสดชื่น ถึงแม้ทั้งคืนที่ผ่านจะนอนไปเพียงไม่กี่ชั่วโมง

อาหารเช้าถูกเตรียมเอาไว้ให้พวกเราแล้ว เป็นขนมปังแผ่นแข็งๆที่ถ้าไม่เอาไปจุ่มกับน้ำก็คงกัดไม่ลง

เสิรฟ์พร้อมกับชาร้อนๆที่เหมาะกับอากาศหนาวๆในตอนนี้ได้เป็นอย่างดี

บรรดาเสบียงที่ผมตุนกันมาตั้งแต่ที่ Dushanbe ตอนนีเกลี้ยงไปหมดแล้ว

ผมเลยขอให้เจ้าถิ่น คนขับรถของนั่นเอง ให้ช่วยพาเราไปที่ตลาดประจำเมือง

และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น กับบรรยากาศของตลาดที่ผมไม่เคยนึกถึง

JOE_4544

ผมถามเจ้าถิ่น ว่าผมอยากไปตลาด

เขาก็พาผมมาที่ตลาด แต่ตลาดที่เขาพาผมมา ทำให้ผมอึ้ง

เพราะนี่มันไม่ใช่บรรยากาศของตลาดที่อยู่ในจินตนาการของผมเลยแม้แต่นิดเดียว

ผมไม่รู้ว่าไอเดียการเอาตู้คอนเทนเนอร์มาทำเป็นตลาดขายของไปได้มาจากไหน

แต่มันโคตรจะลงตัวสำหรับบรรยากาศแห้งๆ และเดาใจท้องฟ้ายากๆอย่างนี้

คนเดินกันบางตา ถ้าไม่นับพ่อค้าที่แอบซุ่มตัวเองอยู่ในตู้แล้ว

ก็คงมีแต่พวกเราสองคนที่ยังคงเดินกันอยู่ตรงนี้

JOE_4550

น้ำดื่มที่สะอาดบรรจุขวด คือสิ่งที่หายากมาก

คนที่นี่เขาเอาน้ำจากภูเขา จากบ่อน้ำบาดาล มาชงชาร้อนๆกินกันทั้งนั้น

ไม่มีใครเขาดื่มน้ำบรรจุขวดกัน

น้ำดื่มที่บรรจุขวดดูจะขายได้แต่ผู้ผ่านทางอย่างพวกเรา

แต่โรงงานผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดที่อยู่ใกล้ที่สุดก็คือเมืองหลวงดูซานเบที่อยู่ห่างไปเกือบหนึ่งพันกิโลเมตร

เท่านั้นไม่พอเมื่อเทียบกับความหฤหรรษ์ในการขนส่งแล้ว

เครื่องดื่มที่มีสูตรเคมี H2O เลยมีมูลค่าเทียบเท่าทองคำเลยทีเดียว

น้ำ 600 cc มีราคาเท่ากับ 50 บาทเลยครับ

ส่วนสินค้าอย่างอื่นก็ต้องขนส่งกันมาอย่างยากลำบากจากเมืองอื่นๆเช่นเดียวกัน

JOE_4548

ลมพัดดัง ฟิ้วววว ผ่านหูผมไป

เสียงของประตูตู้คอนเทนเนอร์ที่ขึ้นสนิมดังเอี๊ยดๆเสียดสีกัน

ร้านค้าบรรยากาศทึมๆ เหมือนจะไม่มีคนขายของอยู่

มันโคตรให้อารมณ์เหมือนกับเรากำลังอยู่ในโลกอีกใบหนึ่ง

ที่มันโคตรจะแตกต่างกับชีวิตในเมืองไทยมากเหลือเกิน

JOE_4652

ในบางเวลา

ถ้าไม่บอกว่าเราอยู่ตรงไหน

เราก็ไม่รู้จริงๆว่าเราอยู่ตรงไหน

รู้เพียงแต่ว่าเรากำลังจะเดินทางสู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้นJOE_4636

ฝูง Yaks กลุ่มใหญ่ที่กำลังเล็มแทะหญ้าที่อยู่กลางทุ่งกันสบายใจ

JOE_4617

เส้นทางในช่วงนี้มันทำให้ผมหยุดหายใจไปชั่วขณะ

เพราะอาการหวัดของคืนที่ผ่านมาทำให้ผมหายใจไม่ออก

JOE_4606

ทะเลสาบที่ควรจะเป็นน้ำสี

แต่บัดนี้ได้เปลี่ยนสถานะเป็นน้ำแข็งหมดแล้ว

เนื่องด้วยความเย็นอย่างสุดขั้วของฤดูหนาวอันแสนโหดร้าย

JOE_4576

โค้งสุดท้ายก่อนเข้าสู่หมู่บ้าน Karakul

จุดหมายปลายทางของพวกเรา

DSC_7169

Back to basic

ทีหมู่บ้าน Karakul แห่งนี้ ทุกอย่างเหมือนสูงสุดกลับสู่สามัญ

หมู่บ้านที่มีจำนวนคนไม่ถึงพันคน น้อยกว่าจำนวนนักเรียนในสมัยมัธยมของผมซะอีก

DSC_7161

ความเงียบสงบ slow life คือจุดเด่นของการท่องเที่ยวที่นี่ครับ

ใครต้องการความตื่นเต้น ผมต้องขออภัยที่ต้องบอกว่า

คุณมาผิดที่แน่นอนครับ

DSC_7117

เด็กๆที่นี่ยังคงตื่นเต้นกับคนแปลกหน้าอย่างเราสองคน

โบกไม้ โบกมือ ทักทายกันตามประสาเพื่อนร่วมโลก

DSC_7223

โรงแรมของผมก็คือบ้านของเขา

ห้องนอนของผมก็คือห้องนอนของเขา

อาหารที่ผมกินก็คืออาหารที่เขากิน

ห้องน้ำที่ผมใช้ก็เป็นห้องน้ำเดียวกับที่เขาใช้

เขาอยู่กันอย่างไร เราสองคนก็อยู่กันอย่างนั้น

เป็นคำอธิบายที่ดีที่สุดแล้วสำหรับหมู่บ้าน Karakul

DSC_7240

ทะเลสาบคาราคูล (Lake Karakul)

ที่เกิดจากอุกกาบาตพุ่งเข้าชนโลกเมื่อกว่า 25 ล้านปีที่แล้ว

แล้วน้ำแข็งจากภูเขาหิมะละลายจนกลายเป็นทะเลสาบ

ที่ถือว่าอยู่สูงที่สุดในโลกที่ระดับความสูง 3,900 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

และที่นี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้หมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้

เป็นการผ่านทางที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ทางผ่าน

DSC_7190

จามรี เป็นสิ่งมีชีวิตประจำถิ่นที่พบได้เฉพาะในเขตที่ราบสูงเท่านั้น

มันแทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ไปแล้ว

เพราะทั้งร่างกายของจามรี มนุษย์เราสามารถเอามาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมดทั้งสิ้น

11130328_816545761748336_4013346453362191138_o

DSC_7295

ช่วงบ่ายแก่ๆของแต่ละวัน ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีในการมายืนดู

ต้นตำรับวิถีชีวิต slow life ของชาวคีร์กิซกัน

DSC_7273

ชีวิตประจำวันของเขาจะเริ่มต้นด้วยการพาเหล่าสัตว์เลี้ยงออกหากิน

และก็จบวันด้วยการพาสัตว์เลี้ยงเข้าบ้าน

หนึ่งวันของพวกเขามีเท่านี้จริงๆ

การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ล้วนเกี่ยวพันกับธรรมชาติ

เขาเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติเกือบจะ 100%

ถ้าเกิดน้ำท่วมโลกแบบภาพยนตร์เรื่อง 2012 ขึ้นมาจริงๆ

ผมว่าคนกลุ่มนี้ที่ทรหดอดทนแบบนี้แหละ ที่น่าจะเป็นกลุ่มแรกที่เอาตัวรอดได้

DSC_7252

หัวหน้าทีมมักจะเป็น ลาตัวเล็กที่แบกสิ่งของเครื่องมือของคน อย่างเจ้าตัวเกือบจะซ้ายมือสุด

แล้วสมุนที่ตามมาก็มักจะเป็นแกะและแพะที่เป็นอาหารหลักของคนที่นี่

โดยมีมนุษย์อย่างเราๆคอยเป็นผู้จัดการทีมอยู่เบื้องหลัง

DSC_7264

พวกเขาจะคอยๆต้อนมาเรื่อย จนในที่สุดก็มาถึงบ้าน

ก็จะมีอีกคนที่ไปเปิดประตูบ้านรอไว้ พอเจ้าพวกเพื่อนร่วมโลกเหล่านี้เข้าไปครบทุก

ก็ปิดประตู เป็นอันจบกิจกรรมไปอีกหนึ่งวัน

ปิดท้ายวันด้วยกันไปผ่อนคลาย ทานอาหารร่วมกันของคนในครอบครัว

DSC_7285

เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแล้วผมก็ทึ่งกับมันจริงๆครับ

DSC_7304

ผมใช้วินาทีสุดท้ายก่อนจะหมดวันไปกับการยืนอยู่กลางถนน

ที่ไม่มีเสียงแตรรถบีบไล่ ไม่มีเสียงรถที่หนวกหู หรือเสียงคนที่โวยวาย

มีเพียงแต่เสียงลมที่พัดผ่านตัวไป

คืนนี้เป็นคืนสุดท้ายที่เราจะอยู่กันในทาจิกิสถาน

หลังจากตื่นมาในพรุ่งนี้เช้าเราก็จะจบเส้นทางหลวงสายปามีร์กันแล้วที่คีร์กิซสถานครับ

JOE_4678

วันที่สุดท้าย วันที่โลกทั้งใบกลายเป็นสีขาว

ระยะทางวันนี้ เราจะเริ่มต้นจากหมู่บ้าน Karakul

ปลายทางคือ หมู่บ้าน Sary Tash ประเทศทาจิกิสถาน

JOE_4704

อย่างที่บอกครับ พายุหิมะถล่มทุกวัน แต่วันนี้โดนถล่มหนักสุด

พื้นที่เกือบจะถูกตารางเมตรจึงถูกเติมเต็มไม่เหลือพื้นที่ให้สีใดๆอีก นอกจากสีขาว

JOE_4705

ผมบอกตามตรงผมไม่เห็นคำว่าเลนถนนอีกแล้ว

มันมีเพียงแต่รอยยางรถยนต์ของคันที่ผ่านไป

นั่นเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ไม่ทำให้เราหลงทางเข้าไปกลางทุ่งหิมะที่อยู่รอบข้างกาย

JOE_4714

JOE_4717

เฮ้ย นี่เรามาอยู่ในจุดๆนี้กันได้อย่างไร

จุดที่ไม่สามารถบอกได้เลยว่ามีอะไรอยู่ข้างหน้าบ้าง

คนขับรถต้องเชี่ยวชาญทางพอสมควร

JOE_4729

ถนนแย่ลงเรื่อยๆ และไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น

ในที่สุดพวกผมก็เดินทางมาถึงด่านพรมแดนที่ตั้งอยู่กลางหุบเขา ที่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ และไม่มีอะไรเลย

ผมยกย่องทหารที่ประจำอยู่บริเวณนี้ ความอดทนของพวกเขาต้องสูงมากพอ

ที่จะต้องมาใช้ชีวิตในพื้นที่ความกันดารระดับสูงสุดขนาดนี้

JOE_4737

เส้นทางต่อจากนี้ไป มันขาวมากจนผมไม่สามารถบันทึกภาพอะไรได้อีกแล้ว

นอกจากความทรงจำของผมเอง

มันคือหนึ่งในประสบการณ์ที่สุดจะเหลือเชื่ออย่างหนึ่งในชีวิตของพวกเราเลยครับ

ที่อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตก็เคยเดินทางมาถึงที่นี่

“ปามีร์ ไฮเวย์”

WIN_2528

ขอปิดท้ายด้วยหมู่บ้านปลายทางซารีดัซ Sary Tash ที่อยู่ตรงระหว่างชายแดน 3 ประเทศ

คือทาจิกิสถาน คีร์กิซสถาน และประเทศจีน

จุดหมายปลายทางของผมสิ้นสุดลงที่นี่ เราแยกทางกับคนขับรถที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมาตลอด 7 วัน

เขาจะขับรถกลับไปที่เมือง Osh เพื่อพักผ่อนและหาครอบครัว

ส่วนผมจะใช้เมืองนี้เป็นจุดเดินทางไปต่อสู่ดินแดนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของโลก

ประเทศที่ผมกำลังหมายถึง คือ ประเทศจีนนั่นเองครับ

แต่จะไปจีนทางคีร์กิซสถานมันทำได้เหรอ เราต้องมาติดตามกันต่อไป

แล้วจะรู้ว่าไม่มีอะไรที่ง่าย แต่ก็ไม่มีอะไรที่ยาก จริงๆครับ

WIN_2248

ประสบการณ์ ไม่ออกไปหา ไม่มีวันเจอ

 

 

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.