คาราโครัมไฮเวย์ ถนนลอยฟ้ากับความสวยที่ไม่มีใครทัดเทียม

0
3726

“คาราโครัมไฮเวย์” ถนนลอยฟ้ากับความสวยที่ไม่มีใครทัดเทียม

คำเตือน !!! บทความยาวมาก แต่กระตุ้นแรงบันดาลใจแบบพุ่งทะลุล้านไปเลยย
บทสรุปของการเดินทาง 10 วัน 9 คืน บนหนึ่งในถนนไฮเวย์ที่สวยที่สุดในโลก
ผจญภัยทุกสภาพภูมิประเทศตั้งแต่ ทะเลทราย ทะเลสาบ ที่ราบสูง ทุ่งหญ้า จนถึงภูเขาหิมะ หนึ่งในเส้นทางแห่งความฝันของเหล่านักเดินทางที่ชีวิตนี้ควรต้องมาเห็นด้วยตาตนเอง สัมผัสด้วยใจสักครั้ง ความปลอดภัยในการเดินทางที่อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ในปัจจุบัน การเดินทางที่ทำได้สะดวกสบายมากขึ้นเพราะมีทั้งไฟลต์บินตรงจากกรุงเทพ และสามารถต่อสายการบินในประเทศเพื่อประหยัดเวลาการเดินทางได้อีกขั้น ที่พักที่มีให้เลือกหลากหลาย อาหารที่รสชาติถือว่าไม่เลว และที่แน่นอนอัธยาศัยไมตรีของคนที่นี่นั้นพร้อมจะมอบมิตรภาพให้เราตลอดเวลา เพียงเท่านี้ก็เพียงพอที่ผมจะชอชวนทุกๆคน มาร่วมเดินทางไปพร้อมกับผมอีกสักครั้งในเส้นทาง “คาราโครัมไฮเวย์”

ก่อนอื่นไม่ว่าจะเดินทางไปที่ใดๆก็ตามบนโลกใบนี้ อย่าลืมเตรียมความพร้อมเรื่องสุขภาพของเราให้ดีก่อนเดินทางนะครับ ปัญหาเรื่องการเจ็บป่วยของนักเดินทางมีอยู่ทุกที่ทั่วโลก หน้าที่ของเราคือเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด ปากีสถานไม่ใช่สถานที่ๆเหมาะให้เรามาเจ็บป่วยครับ การแพทย์ของที่นี่ยังไม่ถือว่าเจริญ (พูดอีกนัยหนึ่งคือของบ้านเราดีกว่ามาก) สิ่งที่เราต้องระลึกถึงเสมอมีดังนี้

  •  ยาประจำตัว ถ้ามีต้องเอาไปให้พอ และต้องเอาไปเผื่อ
  • วัคซีนต่างๆ ควรฉีดให้พร้อมก่อนเดินทาง
  • ถ้าใครจะไปเดินเทรค ควรเตรียมเรื่องป้องกันความสูงให้พร้อม
  • เรื่องด้านบนแก้ไขได้โดยไปพบแพทย์ก่อนเดินทาง
  • ส่วนเรื่องของน้ำ ควรกินน้ำดื่มจากขวดที่ซีลอย่างดี หรือถ้าไม่มีก็ควรจะเป็นน้ำที่ผ่านการกรองอย่างน้อยวิธีใดวิธีหนึ่งมาแล้วครับ
  • ประกันการเดินทาง เป็นสิ่งที่จำเป็นและควรจะมีพร้อมเสมอ ในครั้งนี้ผมใช้บริการ Cigna Travel Insurance ซึ่งมีสิทธิประโยชน์มากมายดังนี้
    • คุ้มครอง ค่ารักษาพยาบาลสูงสุดถึง 5-6 ล้านบาท*
    • ไม่ต้องสำรองจ่ายเมื่อต้องเข้ารักษาในต่างประเทศ
    • คุ้มครองเที่ยวบินล่าช้ากระเป๋าล่าช้า
    • ใช้ยื่นวีซ่าได้ทุกแผน
    • สามารถเลือกความคุ้มครองได้ตามใจ เช่น ความคุ้มครองเกี่ยวกับเที่ยวบิน หรือ ความคุ้มครองเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนตัว
    • Travel Emergency Hotline บริการช่วยเหลือฉุกเฉินระหว่างการเดินทางต่างประเทศตลอด 24 ชม. เช่น ล่ามแปลภาษา เยี่ยมผู้ป่วย คลิก
    • แถมมีสิทธิ์พิเศษ เช่น เช่า Pocket Wi-Fi ราคาพิเศษ เครดิตเงินคืนเมื่อจองห้องพักจาก Booking.com และอื่นๆอีกมากมาย ชอบตรงนี้!!

40 นาทีของไฟลต์ Islamabad – Skardu

เส้นทางคาราโครัมไฮเวย์ (Karakoram Highway) มีจุดเริ่มต้นที่เมืองหลวงอิสลามาบัด (Islamabad) ก็จริง แต่จุดที่เรียกว่าบรรยากาศดีวิวสวยนั้นเริ่มต้นจากประมาณเมืองกิลกิต (Gilgit) ขึ้นไป ซึ่งถ้านั่งรถจากอิสลามาบัดมาที่กิลกิตจะใช้เวลาประมาณ 8-12 ชั่วโมง ขึ้นกับสภาพการจราจร แต่ถ้าบินใช้เวลาเพียง 40 นาที พร้อมกับได้วิวสวยๆของยอดเขานังกาปาร์บัต (Nanga Parbat) พร้อมธารน้ำแข็ง Diamir Glacier
ยิ่งถ้าใครจะเริ่มต้นที่เมืองสกาดูร์ (Skardu) แบบผมแล้ว การใช้ไฟลต์บินในประเทศจะยิ่งเป็นตัวเลือกที่ดีกว่ามาก เพราะนอกจากบรรยากาศนอกหน้าต่างเครื่องบินแล้ว การประหยัดเวลาเดินทาง 12-18 ชั่วโมงทางรถนั้นคุ้มค่ากว่าเห็นๆครับ

นังกาปาร์บัต (Nanga Parbat) เป็นยอดเขาที่สูงเป็นลำดับที่ 9 ของโลก ความสูง 8,126 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

“ปากีสถาน” ที่อยากมาเมื่อไรก็ได้

หลายๆคนอาจจะยังไม่รู้ว่าปัจจุบัน คนไทยเราขอ E-Visa เข้าปากีสถานได้แล้วนะครับ เราไม่จำเป็นต้องพาตัวเองไปถึงสถานทูตในกรุงเทพอีกแล้ว ระบบ E-Visa พึ่งจะถูกนำเข้ามาใช้ได้ไม่กี่เดือน ผมไปลองมาให้แล้วครับ ระบบการยื่น อัพโหลดเอกสารต่างๆ เรียกว่ามีประสิทธิภาพมากทีเดียว ระบบการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตก็ดูชัดเจน มีคำถามสอบถามทางอีเมล์กับเจ้าหน้าที่ก็ตอบได้อย่างรวดเร็ว

วิธีนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่อยากมาปากีสถานมากๆ แต่ไม่มีเวลาเข้ากรุงเทพมาทำวีซ่าเช่นผมครับ ทำเรื่องส่งเอกสารไปแล้วก็นั่งจิบกาแฟทำงานไปพลางสักๆ 10-20 วัน ตัวเอกสารวีซ่าก็จะถูกส่งกลับมาที่อีเมล์ให้เราพิมพ์ใส่กระดาษถือไปใช้คู่กับหนังสือเดินทางได้เลยครับ และก็แน่นอนว่าข้อเสียคือเราจะไม่ได้สติ๊กเกอร์วีซ่าปะด้วยนั่นเอง
พอไปถึงที่สนามบินอิสลามาบัดก็ยื่นหนังสือเดินทางพร้อมกระดาษ E-Visa ได้เลยนะครับ เจ้าหน้าที่จะประทับตราใส่กระดาษให้และหน้าที่ของเราคือต้องเก็บมันอย่างดีที่สุด เพราะมันมีใบเดียวนั่นเอง ค่าวีซ่าคือ 25 USD

ทางไปทำวีซ่าที่นี่ https://visa.nadra.gov.pk/tourist-visa

แผนการเดินทาง ปากีสถาน – คาราโครัมไฮเวย์

ผมขอเอาแผนที่ผมพึ่งเดินทางกลับมาแชร์นะครับ และแนะนำบางส่วนให้เผื่อให้ทุกคนได้ลองเอาไปปรับใช้กัน

  • วันที่ 1 : ออกเดินทางจากสุวรรณภูมิ ถึง อิสลามาบัดตอนกลางคืน เช็คอินเข้าโรงแรม
  • วันที่ 2 : เช้า เดินทางไฟลต์ในประเทศมาที่ Skardu ด้วยสายการบิน Pakistan International Airline ไฟลต์ 451 (ในแต่ละวันเวลาของไฟลต์บินนี้จะไม่เหมือนกัน ต้องเช็คดูนะครับ แต่โดยรวมคือจะมาถึง Skardu ก่อนเที่ยง) ถึง Skardu ก็เที่ยวในเขตเมืองรอบในดังนี้
    • ทะเลสาบ Kachula Lake lower / upper
    • เดินทางไปที่ Shigar fort ผ่าน Cold desert
      ค้างคืน Shigar Fort Serena Residence
  • วันที่ 3 : เที่ยว Skardu
    •  เที่ยว Shigar fort และรอบเขตหมู่บ้าน
    • บ่ายๆเดินทางกลับมา Skardu เที่ยว Katpana Desert และป้อม Kharpocho Fort  ค้างคืน Summit Hotel Skardu
  • วันที่ 4 : เดินทางไป Hunza Valley
    •  ออกเดินทางไกล ไปยังที่ราบสูง Deosai Plain แวะเข้าไปส่องหมีหิมาลัยสีน้ำตาล (Himalayan Brown Bear)
    • หลังจากนั้นผ่านหมู่บ้าน Astore และเมือง Gilgit มาจบที่เมือง Karimabad
      ค้างคืน Hunza Serena Inn
      **จริงๆแล้ว ทางจาก Skardu มาที่ Hunza มีถนนเส้นหลักอยู่ แต่ว่าทางมีการทำถนนอยู่ เลยมาทาง Deosai แทนซึ่งถนนอ้อมกว่า ทางสวยกว่า และแน่นอนมันไกลมากครับ วันนี้ใช้เวลาไปบนรถ 12 ชั่วโมงพอดี ลองเก็บไปวางแผนดูครับ
  • วันที่ 5 : เที่ยวในเมือง Karimabad ในเขต Hunza valley
    • ป้อม Baltit fort และป้อม Altit fort
    • หลังจากนั้นไปล่องเรือทะเลสาบ Attabad Lake
    • บ่ายๆไปที่สะพานแขวน Hussaini Suspension bridge
    • ปิดท้ายวันที่หมู่บ้าน Passu  ค้างคืน Passu Tourist Lodge (PTL)
  • วันที่ 6 : เดินทางไปช่องเขาคุนจีราบ
    • ผ่านเมือง Sostไปที่ด่านชายแดนปากีสถาน/จีน ที่ Khunjerab pass
    • กลับมาพักที่ Karimabad แต่ขึ้นไปดูพระอาทิตย์ตกที่ภูเขา Duiker ค้างคืน Fairyland hotel
  • วันที่ 7 : เดินทางไปหุบเขา Gupis valley
    •  แวะเที่ยว Rakaposhi view point
    • พักทานข้าวเที่ยงที่ Gilgit
    • เดินทางถึงหมู่บ้าน Gupis  ค้างคืน PTDC Gupis
  • วันที่ 8 : เที่ยว Phander Valley
    • เที่ยว Khalti Lakeเที่ยว Phander Lake
    • เดินทางกลับ Gilgit ค้างคืน Gilgit Serena hotel
      ***วันที่ 7-8 อาจจะเลือกมาที่ Fairy Meadow แทนได้ครับ แต่ต้องเผื่อเวลาไว้อีก 1 วัน เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจมากๆ***
  • วันที่ 9 : กลับมายังเมืองละฮอร์
    •  บิน Pakistan Airline ไฟลต์เช้ามาอิสลามาบัด
    • เดินทางต่อไปเมืองละฮอร์พอด
    • ถึงละฮอร์ไปที่ด่านชายแดนปากีสถาน/อินเดีย ที่ Wagha border ชมพิธีปิดด่านตอนเย็น  ค้างคืน Pearl Continental Hotel
  • วันที่ 10 : เดินทางกลับอิสลามาบัด
    •  เที่ยวละฮอร์ในตอนเช้าที่ Walled City of Lahore
    •  เดินทางกลับอิสลามาบัด มาถึงตอนเย็น ขึ้นเครื่องกลับกรุงเทพพอดีครับ
      ***วันที่ 9-10 การเดินทางมาละฮอร์ถือว่าเหนื่อยมาก ถ้าให้แนะนำก็คิดว่า 2 วัน กับการนั่งรถไปกลับ 4-5 ชั่วโมง ระยะทาง 350 กิโลเมตร ไม่ค่อยคุ้มเท่าไร อยู่เที่ยวในเขตอิสลามาบัดหรือเมืองตักศิลา (Taxila) อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าครับ

การท่องเที่ยวปากีสถานใน 10 ข้อ (จากมุมมองของผม)

  1. ที่ภาคเหนือของประเทศ จังหวัด Gilgit-Baltistan นั้น พูดให้แคบก็คือเขตถนนเส้นหลักของคาราโครัมไฮเวย์นั้นมีความปลอดภัยสูงมาก ไม่เคยมีเหตุการณ์ความไม่สงบ การประท้วง หรือเหตุการณ์ที่ไม่ปกติกับนักท่องเที่ยว (ต่างจากแคว้นแคชเมียร์ที่อยู่ด้านตรงข้าม) จะมีก็แต่เหตุการณ์ภายนอกที่ส่งผลกระทบโดยตรง เช่น ข่าวการปิดน่านฟ้า ฯลฯ ทำให้การท่องเที่ยวซบเซาไปอย่างมาก ทั้งๆความปลอดภัยไม่เคยเป็นปัญหาของที่นี่
  2. ไฟลต์บินดีที่สุดแล้วก็คงเป็น การบินไทยอย่างแน่นอนเพราะเป็นบินตรงไปกลับได้เลย สะดวกสบายครับ จะเลือกขึ้นลงที่ อิสลามาบัด (Islamabad) หรือ ละฮอร์ (Lahore) ก็ได้ครับ แต่อย่างไรต้องใช้อิสลามาบัดเป็นฐานในการเดินทางครับ ถ้าได้ตั๋วชั้นประหยัดของการบินไทยจองเนิ่นๆไฟลต์ราคาไปกลับรวมกันไม่น่าเกิน 17,000 บาท
  3. คาราโครัมไฮเวย์ (Karakorum Highways) หรือทางหลวงหมายเลข N-35 ปัจจุบันถนนดีมากพื้นผิวอย่างเรียบมีไหล่ทางรถวิ่งสวนกันสบาย ไม่มีหุบเหวอะไรให้ต้องหวั่นใจอีกแล้วครับ เพราะทางรัฐบาลจีนมาอัพเกรดถนนให้ไม่แพ้เมืองไทยแถมทำอุโมงค์ยาวๆเจาะทะลุภูเขาให้อีก อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ถนนสวยที่สุดจะเป็นช่วงที่เริ่มต้นจากเมืองกิลกิต (Gilgit) ไปจนถึงด่านชายแดน Khunjerab ดังนั้น ถ้าต้องการประหยัดเวลาเดินทางและไม่อยากเหนื่อย ก็ใช้ไฟลต์บินในประเทศ ไป/กลับ อิสลามาบัด/กิลกิต จาก 10+ ชั่วโมง จะเหลือ 1 ชั่วโมงพร้อมวิวภูเขาสวยๆตลอดทางครับ
  4. ในถนนเส้นหลัก N-35 จุดแวะพักๆหลักที่น่าสนใจก็มี เมืองหลัก Gilgit, หุบเขา Hunza valley ที่เมือง Karimabad, เมือง Passu และแยกลงไปทางใต้จะมีทางแยกเข้า Fairy Meadow ถ้าใช้เวลาเพียงแค่คาราโครัมไฮเวย์จริงๆก็น่าจะใช้เวลาได้ 5-6 วันเป็นอย่างน้อยสำหรับโซนนี้
  5. นอกเหนือจากถนนเส้นหลักคาราโครัมไฮเวย์แล้ว ยังมีอีก 2 เส้นหลักที่แยกออกไป มีจุดตัดที่เมือง Gilgit คือ ทางไปเมือง Skardu เพื่อไปเที่ยวโซน K2 ครับ และอีกทางแยกไปทาง Gupis valley เราเลือกได้ว่าจะแยกไปทางไหน หรือจะไปทั้งหมดเลยก็ได้ครับ
  6. เมือง Skardu คือเมืองใหญ่ทางภาคตะวันออกของ Gilgit-Baltistan ที่นี่มีสนามบิน มีเครื่องบินตรงมาจากอิสลามาบัดทุกเช้า จึงเป็นแผนที่ดีสำหรับคนที่จะมาเริ่มต้นทริปที่นี่ แล้วค่อยวิ่งย้อนกลับไปทางคาราโครัมครับ (ถ้ามาทางรถจากอิสลามาบัดจะใช้เวลา 12-16 ชั่วโมงกว่าจะมาถึง จึงคุ้มค่าเครื่องบินเป็นอย่างมาก) เมือง Skardu เป็นโซนที่ภูเขาไม่เหมือนกับเส้นหลัก สวยคนละแบบ มีทะเลทราย Cold desert และแน่นอนที่นี่คือจุดเริ่มต้นของการเดินทางไป K2 นั่นเองครับ ที่นี่อยู่แวะเที่ยวได้สบายๆ 2-3 วัน การไม่มาที่นี่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง
  7. ฤดูกาลที่น่าเที่ยว สำหรับคนไทย (ผู้ซึ่งไม่ชอบอากาศร้อน) เราก็คงจะส่ายหน้าหนีฤดูร้อนของเขา ก็จะมีช่วงแรกคือ มีนาคม (Blossom) และช่วง ใบไม้ร่วง ใบไม้เปลี่ยนสี ราวๆปลายกันยาจนถึงพฤศจิกายนครับ ยิ่งปลายปีก็ยิ่งหนาว แต่ถ้าเน้นชอบเที่ยวเมืองอย่างละฮอร์ต้องปลายๆปีเลยครับจะมีความสุขในการเที่ยว แต่ถ้าสายภูเขาไม่ควรปลายปีมากไป หนาวเกินเที่ยวไม่สนุกครับ บางทีเครื่องทำอุ่นไม่ทำงานในโรงแรม 555+
  8. วีซ่า แต่ก่อนเป็นปัญหา ตอนนี้รัฐบาลปากีสถานจัดให้แล้วกับ E-Visa จ่ายเงินตัดบัตรเครดิต 25 USD แล้วนั่งรอรับวีซ่าที่บ้านได้เลยครับ สะดวกมาก
  9. ค่าใช้จ่าย สรุปยาก เพราะที่พักมีหลายเกรดมากๆ แต่ผมว่าที่พักเขาตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าได้ทุกกลุ่มนะครับ ถ้าเน้นนอนสบาย อาหารดี ที่พักหรู วิวเทพ ก็เลือกเครือ Serena เลยครับ มีอยู่ 4 แห่งในโซนนี้ ถ้าเอา budget หน่อยก็โรงแรมเจ้าของท้องถิ่น หรือเครือรัฐบาลเช่น PTDC แต่ต้องไปอ่านรีวิวให้ดีก่อนนะครับ เดี๋ยวผมจะมาแชร์รีวิวโรงแรมอีกที นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายยังขึ้นอยู่กับไฟลต์ในประเทศของเราอีก ถ้าให้ตีคร่าวๆ ผมว่าน่าจะอยู่ที่ 20,000 – 45,000 บาทต่อคน (ไม่รวมตั๋ว TG) สำหรับกลุ่ม 3 คนที่ใช้รถคันเดียว เที่ยว 8-10 วันครับ “ที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ทริปเราสนุกคือ พาหนะที่ไว้ใจได้ คนขับรถที่ไว้ใจได้ และบริษัทนำเที่ยวที่ไว้ใจได้ครับ” อย่าเลือกที่ถูกมากจนผิดปกติ เดี๋ยวทริปเราอาจจะพังได้ครับ
  10. ข้อสุดท้ายเอาเป็นเรื่องอาหารละกัน ที่นี่ “อาหารเอเชียใต้ (แขก)” ชัดเจน ถ้าไม่ชอบกลิ่นเครื่องเทศ ก็จะเริ่มกินได้ลำบากขึ้น ที่พักในเมืองใหญ่มักจะมีเมนูอาหารจีนอยู่ ซึ่งก็แตกต่างจากอาหารจีนในความรู้สึกเราพอควรครับ 555+ ถ้าเป็นคนกินง่าย ผมว่าน่าจะสบาย แต่ถ้าเป็นคนพิถีพิถันเรื่องกินมาก ก็เอาอาหารส่วนตัวมาด้วยน่าจะดีที่สุดครับ
  11. ข้อนี้งอกออกมา เพราะอยากบอกไว้ว่า อินเตอร์เน็ตในโซนภูเขานั้นเรียกได้ว่า “ย่ำแย่อย่างมาก” แนะนำว่าห้ามพกงานอะไรไปทำที่ต้องมีการติดต่อเด็ดขาด ไม่งั้นงานคุณอาจพังได้ ต้องเคลียร์ทุกอย่างให้เรียบร้อยก่อนมาเท่านั้น (ย้ำอีกรอบ) เน็ตดีสุดที่เรียกว่าพอทำงานได้คือที่เมืองกิลกิต (Gilgit) ที่เดียวเท่านั้นครับในเขตภูเขา ส่วนในเขตพื้นที่ราบ (เช่นอิสลามาบัดหรือละฮอร์) นั้นเน็ต 4G ใช้ได้งานได้ครับ (แต่ถ้าเทียบกับมาตรฐานคนไทยก็ยังถือว่าช้าแบบน่าหงุดหงิดอยู่ดี 555+)

สรุปสุดท้าย สำหรับปากีสถานนั้น คือ ภูเขาเทพ บรรยากาศเทพ คนน่ารัก ค่าใช้จ่ายเหมาะสมกับทุกคนๆที่อยากมาครับ มาเที่ยวปากีสถานกันเถอะ พร้อมแล้วไปพร้อมๆกันเลยครับ

Aga Khan IV

กลับมาจากปากีสถาน ถ้าใครได้ไปเที่ยวภาคเหนือ ผมว่าต้องเห็นภาพของบุคคลหนึ่งที่จะพบได้ตลอดในเขตจังหวัด Gilgit-Baltistan ไม่ว่าจะเป็นในโรงแรมหรือในบ้านคน หรือแม้กระทั่งคำยินดีต้อนรับชื่อ Aga Khan ที่เห็นได้ตามบนภูเขา
Aga Khan IV (นามเต็มคือ Prince Shah Karim Al Hussaini) เป็นหนึ่งในกษัตริย์ที่มีทรัพย์สินมากที่สุดในโลก (แต่ว่าไม่มีแผ่นดินหรือประเทศราชอาณาจักร) นอกจากเป็นกษัตริย์แล้วยังเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของศาสนาอิสลามนิกาย Isma’ilism เรียกว่า Imam of Nizari-Ismaili Shia Islam (เป็นส่วนที่แยกมาจากชีอะห์อีกครั้ง) ซึ่งชาวบ้านที่นับถืออิสลามนิกาย Isma’ilism นั้นส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตภูเขาของปากีสถาน ทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน นั่นเลยเป็นที่มาว่าทำไมถึงพบเรื่องราวของ Aga Khan IV เมื่อเดินทางมาบริเวณนี้
ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ความรู้สึกที่ได้ทราบเรื่องราวของ Aga Khan IV ที่ได้ช่วยให้มีการพัฒนามีโครงการต่างๆมากมายในพื้นที่บนภูเขา ผ่านเครือข่ายที่เรียกว่า AKDN (Aga Khan Development Network) เกิดโครงการพัฒนาการศึกษา การแพทย์ วัฒนธรรมให้แก่ชาวบ้านบนภูเขาและในประเทศเอเชียกลาง (ถ้าพูดให้เห็นภาพก็จะคล้ายๆกับโครงการหลวงของในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่ว่าเกิดกันคนละพื้นที่คนละประเทศ) ถ้าจะให้หาคำเฉพาะอธิบายก็คงต้องใช้คำว่า “Philanthropist” คำนี้คนไทยก็ไม่คุ้นอีกเพราะบ้านเรายังไม่มีใครที่ถูกเรียกในเชิงนี้
ด้วยความที่มีทรัพย์สินอันมหาศาลผ่านการลงทุนในธุรกิจด้านต่างๆ จึงทำให้การพัฒนาโครงการต่างๆในพื้นที่ห่างไกล “โรงแรมเครือ Serena” ที่เป็นเชนโรงแรมหรูในเขตเอเชียใต้/แอฟริกา ก็มีส่วนที่ AKFED (Aga Khan Fund for Economic Development) ลงทุนถือหุ้นผ่านบริษัทที่บริหารโรงแรมอีกที ลองสังเกตดูดีๆจะพบว่า ที่ตั้งของโรงแรม Serena ก็คือสถานที่ๆ Aga Khan IV นั้นไปพัฒนาโครงการต่างๆให้แก่ชาวบ้านนั่นเองครับ ซึ่งที่ตั้งนั้นถือว่าอยู่ในพื้นที่ๆแปลกมากๆ เมื่อเทียบกับเครือโครงแหลมหรูอื่นๆ เช่น

  • Khorog Serena Inn อยู่ที่เมือง Khorog บนเส้นทางปามีร์ไฮเวย์
  • Kabul Serena โรงแรมที่ดีที่สุดของกรุงคาบูล อัฟกานิสถานที่รัฐบาลอัฟกันได้ขอร้องให้ช่วยมาพัฒนาโรงแรมมาตรฐานให้

Shigar Fort Serena ที่เมือง Shigar เป็นการพัฒนาป้อมปราการโบราณที่อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมเต็มที่จนกลายมาเป็นมรดกโลกก่อนจะเอาโรงแรมใส่เข้าไปในป้อมเพื่อให้มันดูแลตัวเองได้ อืม เจ๋งมากครับ ยังไม่นับเครือ Serena ที่ตั้งอยู่ในเขตซาฟารีของแอฟริกาตะวันออกอีก ผมว่า Aga Khan IV เป็นบุคคลที่น่าสนใจมากๆแต่คนไทยรู้จักน้อยมากๆเช่นกัน ในภาพคือ Shigar Fort Serena ที่พักในคืนแรกของผมที่เดินทางมาถึง Skardu

“ปากีสถาน” ปลอดภัยสำหรับการท่องเที่ยวจริงไหม

ต้องถามว่า นิยามคำว่า “ปลอดภัย” สำหรับเรานั้นหมายถึงอย่างไรครับ เพราะไม่มีที่ๆปลอดภัย 100% บนโลกใบนี้ ต่อให้เรานั่งอยู่ในบ้านของเราใจกลางเมืองหลวงหรือส่วนใดๆของประเทศไทยครับ
เวลาเราใช้คำว่า “ปลอดภัย” เราต้องเทียบกับความเสี่ยงของการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ผมจึงขอใช้นิยามความปลอดภัย เทียบกับคนทั่วไปที่ทำงานทั่วไป นั่งรถไฟฟ้าไปทำงาน กินข้าวข้างทาง ไปเที่ยวต่างจังหวัดบ้างตามสมควร
ในทีนี้ผมจะหมายถึงเฉพาะ “ปากีสถานในภาคเหนือ” ที่จังหวัด Gilgit-Baltistan หรือคาราโครัมไฮเวย์ครับ จากนี้ไปผมจะเรียกจังหวัด Gilgit-Baltistan ย่อๆว่า GB นะครับ


เรื่องแรก “ภัยธรรมชาติ”
ปากีสถาน ตั้งอยู่ตรงแนวรอยแยกของแผ่นเปลือกโลก นั่นแปลว่าที่มีนี่โอกาสเกิด “แผ่นดินไหว” อย่างแน่นอน ถ้าเอาเหตุการณ์สดๆร้อนๆเลยก็คือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในแคชเมียร์ เมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมา และก็ส่งผลกระทบบางส่วนต่อปากีสถานครับ ข้อมูลเรื่องแผ่นดินไหวจาก Wikipedia พบว่าตั้งแต่ปี ค.ศ.1852 มา มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ศูนย์กลางเกิดในบริเวณนี้เพียง 2-3 ครั้งเท่านั้น https://en.wikipedia.org/…/List_of_earthquakes_in_Pakistan

นอกเหนือจากแผ่นดินไหวก็อาจจะมีเรื่องของ “น้ำท่วม” และ “ดินถล่ม” อันนี้ ก็ต้องเลือกช่วงเวลาเดินทาง อย่าไปช่วงฤดูฝนที่มีโอกาสพบเหตุการณ์นี้ได้มากขึ้น และเลือกที่พักและการเดินทางที่ได้รับการแนะนำจากบริษัททัวร์ที่เชี่ยวชาญเท่านั้น ดังนั้นแล้วเรื่องของภัยธรรมชาติอาจจะไม่น่าเป็นกังวลมากนัก


เรื่องที่สอง “การก่อการร้าย”
อันนี้น่าจะเป็นเรื่องที่คนไทยเรากังวลกันมากที่สุด คนท้องถิ่นบอกว่า ตั้งแต่ปากีสถานตั้งประเทศมา ในเขตของจังหวัด GB นั้นเหตุการณ์ก่อการร้ายนั้นแทบไม่มีหรือเรียกว่าน้อยมากๆ เราแทบไม่ต้องกังวล เหตุการณ์ก่อการร้ายที่คนไทยรับรู้นั้นเกิดในจังหวัดอื่นๆของประเทศ (โดยเฉพาะจังหวัด Balochistan แต่นั่นไม่ใช่จุดหมายหลักของคนไทย) ทีนีถ้าลองหาข้อมูลเพิ่มเติมเช่น

ถ้าอิงตามข้อมูลของทางรัฐบาลอังกฤษที่แจ้งแก่คนสัญชาติอังกฤษ จะไม่ห้ามเรื่องการเดินทางไปที่จังหวัด GB (แต่ไม่แนะนำให้เดินทางทางรถยนต์ระหว่างเส้นทางคาราโครัมไฮเวย์
ช่วง อิสลามาบัด > Gilgit เนื่องจากต้องผ่านเขตจังหวัด Khyber Pakhtunkhwa) ซึ่งแปลว่าถ้าเราใช้ไฟลต์บินในประเทศ ไป/กลับ Gilgit หรือ Skardu ก็จะถือว่าบินผ่านพื้นที่เสี่ยงในทันที (https://www.gov.uk/foreign-travel-advice/pakistan)

อย่างปี ค.ศ.2018 ที่ผ่านมา มีชาวอังกฤษเยือนปากีสถานถึง 484,000 และเกือบทั้งหมดไม่มีปัญหาใด

ถ้ามาอิงตามข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ไม่พบว่ามีข้อมูลที่ห้ามเดินทางไปที่จังหวัด GB เช่นเดียวกัน
https://travel.state.gov/…/pakistan-travel-advisory.html โดยจัดปากีสถานอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้อง Reconsider Travel คือให้พิจารณาก่อนเดินทางอีกครั้ง
ข้อมูลจากเว็บไซต์ที่รวบรวมเหตุการณ์ก่อการร้ายต่างๆที่เกิดขึ้นทั่วโลก ก็แทบจะไม่พบเหตุการณ์ที่เกิดในจังหวัด GB เช่นเดียวกัน (https://storymaps.esri.com/stories/terrorist-attacks/)

และก็แน่นอนว่านอกเหนือจากจังหวัด GB แล้ว ในเขตเมืองใหญ่อย่าง อิสลามาบัด หรือ ละฮอร์ นั้น มีความเสี่ยงอย่างแน่นอนและเราก็ต้องใช้ความระมัดระวังตัวขั้นพื้นฐาน
โดยสรุป ถ้าอิงตามคำแนะนำของรัฐบาลอังกฤษหรืออเมริกัน ก็ต้องถือว่าอยู่ในข่ายที่เรียกว่า “ไม่แนะนำให้เดินทาง (ถ้าไม่มีเหตุจำเป็น)” แต่ละท่านคงต้องใช้วิจารณญาณกันด้วยตนเองอีกขั้นครับ

ผมเติมข้อมูลให้อีกนิดหน่อยว่า การเดินทางในเขตจังหวัด GB เราจะผ่านด่านตรวจของทั้ง ตำรวจ + ทหาร เยอะมากครับ เรียกได้ว่า เดินขึ้น/ลง รถ หลายๆรอบต่อวัน แต่การทำแบบนี้เป็นผลดีของนักท่องเที่ยวนะครับ ไกด์ผมบอกว่า ทุกๆครั้งที่ผ่านด่านตรวจ เขาจะลงชื่อของเราไว้ และเขาจะถามจุดหมายปลายทางกับไกด์ของเราทุกครั้ง ว่าในวันนั้นๆ จุดหมายปลายทางคือที่ใด และทางตำรวจจะติดต่อสอบถามในสิ้นวันอีกครั้งว่า คนต่างชาตินั้นๆถึงจุดหมายปลายทางดังกล่าวจึงหรือไม่กับไกด์ทางโทรศัพท์อีกครั้งครับ


เรื่องที่สาม “ความปลอดภัยบนท้องถนน”

อันนี้น่าจะเป็นประเด็นที่ต้องเอามาคิดด้วยครับ เพราะอุบัติเหตุบนถนนเป็นหนึ่งในสาเหตุการตายที่มากที่สุดของนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปต่างแดน (มากกว่าโรคติดเชื้อที่เรากลัวกันมากครับ) และประเทศโลกที่สามอย่างปากีสถานที่มีเส้นทางท่องเที่ยวหลักอย่าง Karakoram Highway ย่อมหลีกเลี่ยงสิ่งนี้ไม่พ้น

สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดในความคิดผมที่เราทำได้คือ

  • คนขับรถที่ไว้ใจได้ (ไม่ควรขับเองในถนนเขตภูเขาที่เราไม่ชำนาญเส้นทาง)
  • ยานพาหนะที่ได้คุณภาพ ได้รับการตรวจเช็คและดูแลก่อนออกเดินทางอยู่เสมอ สภาพล้อ สภาพรถต้องสมบูรณ์
  • เดินทางช่วงหลังพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงก่อนพระอาทิตย์ตกเท่านั้น
  • ต้องทำตัวเป็นตาสัปปะรดติดตามข่าวสารที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะจากคนท้องถิ่นที่จะทราบสภาพถนนในแต่ละช่วงเป็นอย่างดี
    ****สิ่งที่บอกๆมา ถ้าให้ผมสรุปก็คือ เราต้องไปบริษัททัวร์ฯ ที่มีคุณภาพนั่นเองครับ แล้วของพวกนี้มันจะตามมาเอง ปัจจุบันสภาพถนนเส้นทาง KKH ตั้งแต่ช่วงเมือง Gilgit ไปจนถึงด่าน Khunjerab นั้นอยู่ในสภาพที่ดีมากๆ ความเป็นถนนสุดอันตรายในสมัยก่อนอาจจะไม่เหมือนในสมัยนี้ครับ

สุดท้าย ทีนี้ลองมามองในแง่ดัชนีตัวชี้วัดบ้าง ผมยกตัวอย่างดัชนี Global Peace Index 2019 จากทั้งหมด 163 ประเทศทั่วโลก (มีบางส่วนที่ไม่มีข้อมูล) อันดับ 1 ของโลกที่สงบสุขที่สุดคือ ไอซ์แลนด์ (แน่นอน) แต่พอมาดูปัจจุบันปากีสถานอยู่อันดับที่ 153 ฟังดูเริ่มไม่ดีใช่ไหมครับ แต่พอมองแถวๆนั้น รัสเซียอยู่ต่ำกว่าปากีสถานอีกที่อันดับ 154 แล้วประเทศไทยละ เราอยู่ที่ 116 (เหลือเชื่อ แม้แต่บ้านเราเองที่คิดว่าปลอดภัยมากๆ) ข้างๆบ้างเรา เมียร์มาร์อยู่ที่อันดับ 125 อินเดียอยู่ที่อันดับ 141 และที่เซอร์ไพรส์มากๆคือ ตุรกีอยู่ที่อันดับ 152
“ถ้าเราคิดว่าตุรกีปลอดภัย ปากีสถานก็ควรจะอยู่ในชุดความคิดเดียวกันครับ”

ผมคงไม่มีข้อสรุปให้นะครับว่า “ปากีสถาน” ปลอดภัยขนาดไหน เพราะแต่ละคนรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน คงต้องให้เป็นหน้าที่ของทุกคนที่อยากจะเดินทางพิจารณาดูกันอีกทีครับว่า เราพร้อมจะเสี่ยงที่จะไปหรือไม่ นั่นเองครับ

ทะเลทราย Cold Desert
หรืออีกชื่อคือ ทะเลทราย Katpana ถึงแม้จะได้ชื่อว่าทะเลทรายแต่ในฤดูหนาวที่นี่กลับถูกปกคลุมด้วยหิมะจนกลายเป็นสีขาวกลายเป็นที่มาของชื่อ ด้วยความสูงจากระดับน้ำทะเลกว่าสองพันเมตร ทำให้ที่นี่เป็นอีกหนึ่งทะเลทรายที่อยู่บนพื้นที่ๆสูงที่สุดของโลก การท่องเที่ยวในพื้นที่ Skardu จะออกมาในแนวผจญภัยเล็กน้อย ถนนที่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ฉาบด้วยยางมะตอยหรือซีเมนต์ทำให้การวิ่งไปมาของรถนั้นคลุกเคล้าไปด้วยฝุ่น แต่นั่นก็เป็นเสน่ห์ที่สำคัญของการเที่ยวที่นี่

กลับมาที่เมือง Skardu จะมีอีก 1 สถานที่ที่เรามักจะไปดูพระอาทิตย์ตกกัน แต่เป็นสถานที่ๆต้องใช้เรี่ยวแรงกันเล็กน้อย เมื่อเทียบกับความสูงของเมืองนี้แล้ว การเดินขึ้นป้อมปราการที่สูงประมาณ 100 เมตรจะพื้นราบก็ทำให้เราเหนื่อยไม่น้อยเลยทีเดียว

“ป้อมปราการ Skardu” หรืออีกชื่อว่า “Kharpocho fort” หรือแปลเป็นไทยได้ชื่อว่า ราชาแห่งป้อมปราการ ด้วยทำเลชัยภูมิของป้อมที่ตั้งอยู่บนหน้าผาเป็นจุดรวมของแม่น้ำทำให้ที่เหมาะอย่างยิ่งในการสังเกตการณ์ข้าศึกหรือผู้มาเยือน ปัจจุบันป้อมปราการแห่งนี้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา มีเพียงชายชราเพียงคนเดียวที่ดูแลป้อมปราการแห่งนี้อยู่ ผมใช้เวลาอยู่ภายในเมือง Skardu เป็นเวลาสองวันเต็ม ในเช้าวันที่ 3 ผมจึงวางแผนเดินทางไปต่อยังเส้นทางถนนคาราโครัมสายหลัก ไกด์ท้องถิ่นแนะนำเส้นทางผ่านที่ราบสูงเดวไซ (Deosai Plain) ซึ่งจะพาผมไปยังอีกหนึ่งช่องเชาที่สูงทีสุดของปากีสถาน พอออกจากนอกเมืองมาไม่นาน เราจะผ่าน Satpara Lake หรือทะเลสาบเหนือเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าที่ส่งต่อไปยังเมืองเบื้องล่าง สีน้ำยังคงใสเหมือนภาพที่เราคิดไว้ ธรรมชาติยังสัมผัสได้ตลอดการเดินทาง

เมื่อเข้าใกล้ที่ราบสูง Deosai ภูมิประเทศจะเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดเพราะที่ความสูงระดับสี่พันเมตรเหนือระดับน้ำทะเล ทำให้ไม่มีต้นไม้สูงๆที่เจริญเติบโตได้อีกแล้ว มีเพียงหญ้าพุ่มเตี้ยๆ และสัตว์ประจำถิ่นอย่าง มาร์มอต ที่จะคอยออกมาทักทายนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านไปมา แต่ทำได้เพียงแค่มองผ่านหน้ากระจก เพราะทันทีที่มาร์มอตสังเกตได้ถึงการเข้ามาประชิดของมนุษย์โลกมันก็พร้อมที่จะวิ่งกลับเข้ารูกลับรังของมันโดยทันที

กิจกรรมตามดูหมีหิมาลายันสีน้ำตาล (Himalayan Brown Bear)
หนึ่งในไฮไลท์ของการมาที่ราบสูง Deosai ก็คือการมาดูหมีประจำถิ่นที่พบได้เฉพาะในพื้นที่ราบสูงเท่านั้น ก่อนจะเข้าไปในเขตดูหมี เราจะต้องจ้างหน่วยเรนเจอร์ท้องถิ่นที่คุ้ยเคยกับเส้นทาง พร้อมกับสิ่งของประจำตัวนั่นคือ กล้องส่องทางไกลนั่นเองครับ เป็นที่น่าเสียดายว่าวันที่ผมไป ถึงแม้เราจะนั่งเฝ้าเป็นเวลานานก็ไม่พบร่องรอยการมีอยู่ของหมีสีน้ำตาลแม้แต่ตัวเดียว

หมู่บ้าน Astore
หลังจากกิจกรรมตามดูหมีได้จบลง ผมก็เดินทางต่อตามถนนเส้นเดิม แต่ด้วยความสูงที่มากขึ้นเรื่อยๆ ความกดอากาศของออกซิเจนที่ลดลงในชั้นบรรยากาศก็ทำให้ตัวผมเองหลับไปโดยไม่รู้ตัว มารู้ตัวอีกทีก็พบว่าตนเองเหมือนกำลังเดินทางอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์แต่ที่นี่คือปากีสถานที่มีนามหมู่บ้านว่า “หมู่บ้าน Astore” หมู่บ้านเล็กๆ ที่คนส่วนใหญ่มักใช้เป็นเพียงทางผ่าน แต่จากที่ผ่านมาแล้วคิดว่าที่นี่สวยพอจะเป็นอีกหนึ่งจุดพักที่สำคัญได้เลยทีเดียวครับ
อีกทั้งการเดินทางจาก Skardu ไปยังจุดปลายทางของวันนี้ที่ Karimabad นั้นกินระยะเวลาเกือบ 10 ชั่วโมงบนถนน การจะมีจุดแวะพักอีกสักหนึ่งวันระหว่างทางจึงเป็นไอเดียที่ดีไม่น้อยครับ

หุบเขาฮุนซา (Hunza Valley)
หุบเขาฮุนซ่าตั้งอยู่ทางเหนือของแม่น้ำฮุนซ่า อยู่ในระดับ 2,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เป็นเมืองใหญ่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามอุดมด้วยประวัติศาสตร์ที่ถูกโอบล้อมไปด้วยยอดเขาสูงเกิน 6,000 เมตร เรียงรายอยู่รอบด้านไม่ว่าจะเป็น Ultra Sar, Rakaposhi, Hunza Peak, Diran Peak, Ladyfinger

ป้อมบัลติท (Baltit Fort)
ตั้งตระหง่านอยู่เหนือเมืองคาริมาบัด (Karimabad) โดยป้อมบัลติท ได้ถูกสร้างขึ้นมานานกว่า 700 ปี โดยในช่วงเริ่มต้นนั้นผู้ปกครองของเมืองคาริมาบัดได้แต่งงานกับเจ้าหญิงแห่งรัฐบัลติสถาน (Baltistan) ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากฝั่งของทิเบตค่อนข้างมาก ทำให้การสร้างป้อมแห่งนี้มีภาพที่ปรากฎไม่ต่างจากป้อม Shigar Fort ที่เห็นที่ Skardu เท่าไรนัก  ป้อมบัลติทเป็นหนึ่งในป้อมที่ถูกบรรจุเข้าสู่โครงการการบูรณะซ่อมแซมกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงถึงเรื่องราวในอดีตที่น่าสนใจจำนวนมาก จากบริเวณเราจะสามารถมองเห็นทัศนียภาพของหุบเขาฮุนซาได้อย่างสวยงามอีกจุดหนึ่งของเส้นทางคาราโครัมไฮเวย์

ภาพของหุบเขาฮุนซาเมื่อมองจากป้อมบัลติท

Karakoram Highway พลังของพี่ใหญ่แห่งเอเชีย “จีน”
ประเทศไทยเรายังมีข่าวเรื่องการที่จีนพยายามหาทางออกสู่ทะเลทางด้านใต้ผ่านทางประเทศต่างๆไม่ว่าจะเป็น ลาว พม่า หรือ ไทยก็ตามทีภาพอาจจะยังไม่ชัด แต่ที่ “คาราโครัม ไฮเวย์” (Karakoram Highway) นั้นภาพของจีนนั้นชัดมากๆ เพราะถนนสายนี้เดิมทีก็มีมานานแล้ว แต่มาได้รับการอัพเกรดเป็นถนนราดยางอย่างดี พร้อมกับทำอุโมงค์ทะลุภูเขา สะพานข้ามแม่น้ำจำนวนมากก็ในยุคมีสิ่งที่เรียกว่า CPEC (China Pakistan Economic Corridor) หรือการหาทางออกสู่ทะเลของประเทศจีนด้านมณฑลซินเกียงสู่ทะเลอาหรับที่เมือง Gwadar ประเทศจีนลงทุนกับถนนสายนี้ไปอย่างมาก พยายามเอาชนะธรรมชาติในหลายๆข้อจำกัด

และสิ่งที่ตามมาอย่างชัดเจนนอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจก็คือ เรื่องการท่องเที่ยวที่ทำให้เดินทางง่ายขึ้นอย่างมาก รถยนต์สามารถวิ่งทำความเร็วได้ โรงแรมที่เกิดขึ้นตามเมืองรายทางมีการพัฒนาพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมากยิ่งขึ้น

Attabad Lake
ทะเลสาบสีเทอร์ควอยส์ที่แสนงดงาม แรกเริ่มเดิมที่ไม่ได้มีทะเลสาบมาก่อนเพราะตรงนี้คือบริเวณของแม่น้ำฮุนซา แต่ด้วยเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของปากีสถาน เมื่อปี ค.ศ. 2009 ดินที่ถล่มลงมายังเบื้องล่างได้ขวางกั้นทางน้ำธรรมชาติที่เคยมีอยู่ให้กลายเป็นเขื่อนดินธรรมชาติขนาดใหญ่เกิดเป็นทะเลสาบเหนือเขื่อนขึ้นมา ทะเลสาบ Attabad เป็นศูนย์รวมกิจกรรมทางน้ำที่หลากหลายของประเทศปากีสถาน ผ่านจากทะเลสาบ Attabad มาไม่นานนัก จะมีอีกหนึ่งทะเลสาบที่หลบซ่อนตัวอยู่หลังภูเขาเก็บตัวโลว์โปรไฟล์ คนไม่ค่อยรู้จักแต่มีรีสอร์ทเล็กๆน่ารักตั้งอยู่หลายแห่งจำนวนมาก ในวันที่ท้องฟ้าเปิดและน้ำนิ่งเราจะสามารถเห็นภาพสะท้อนของยอดเขาลงสู่ผืนน้ำได้ราวกับกระจกเลยทีเดียวครับ ที่นี่คือ “ทะเลสาบ Borith” 

สะพานแขวนฮุซซานี (Hussaini Suspension Bridge)
ที่นี่คือสะพานเชือกชื่อดังของปากีสถาน ที่การเดินข้ามแผ่นไม้แต่ละแผ่นที่ปูรองไว้เป็นทางเดินนั้นเต็มไปด้วยความเสียวทางกายและใจ อีกทั้งสภาพการณ์ของลมและความแรงของน้ำที่อยู่เบื้องล่างพร้อมจะทำให้จิตใจของเราเต้นไม่เป็นจังหวะได้ตลอดเวลา

ถัดจากสะพานแขวนฮุซซานีมาไม่ไกล เราจะพบกับแนวเทือกเขารูปร่างประหลาดรูปร่างคล้ายโบสถ์ของยุโรป
เทือกเขาเทือกนี้จึงได้ชื่อว่า “Passu Cathedral” 

ธารน้ำแข็งพาสสุ (Passu Glacier)
ธารน้ำแข็งระยะประชิดที่ทุกคนสามารถเดินเท้าเข้าไปดูในระยะใกล้ได้

ทางหลวงสายคาราโครัม หนึ่งในช่วงที่ประทับใจที่สุดคือ ช่วงที่ถนนมุ่งหน้าเป็นเส้นตรงไปที่ภูเขา Passu Cathedral ยอมในความอลังการของธรรมชาติ มุมนี้จะถ่ายได้จากบริเวณหน้าที่พัก Passu Tourist Lodge ครับ

เมือง Sost
เมืองหน้าด่านแห่งสุดท้ายของประเทศปากีสถานก่อนที่จะเข้าสู่ชายแดนประเทศจีน ที่นี่จึงเปรียบเสมือนชุมทางขนถ่ายสินค้าขนาดใหญ่ พ่อค้าวานิชทั้งสองฝั่งประเทศต่างมาแลกเปลี่ยนสินค้ากันในเมืองนี้ ที่นี่คือส่วนหนึ่งของการขยายอิทธิพลของประเทศจีนในการแพร่สินค้าและการพาณิชย์ลงมายังเอเชียใต้ เราจะพบเห็นคนจีนจำนวนไม่น้อยหรือแม้กระทั่งรถบรรทุกที่มีภาษาจีนติดอยู่ครับ

รถบรรทุกปากีสถาน
อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของประเทศปากีสถาน ที่ใครหลายๆคนมาก็จะต้องสะดุดตากับการตกแต่งรถให้ดูแปลกตาเหมือนราวกับรถขนส่งนักแสดงมหรศพมากกว่าเสียอีก เรื่องราวของการแข่งขันตกแต่งรถให้แปลกตานั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่ในสมัยอดีตที่รถบรรทุกเหล่านี้เคยถูกใช้เป็นพาหนะขนส่งโดยสารสาธารณะมาก่อนสำหรับชาวบ้าน เจ้าของรถจึงจำเป็นต้องทำให้มันน่าดึงดูดใจเพื่อจะได้โน้มน้าวผู้โดยสารมาขึ้นรถของตนเองให้มากที่สุด ถึงแม้ปัจจุบันรถบรรทุกจะไม่ได้มีจุดประสงค์เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว แต่ประเพณีก็ยังคงทำมาจนถึง ณ ปัจจุบัน

อุทยานแห่งชาติคุนจีราบ (Khunjerab National Park)
ออกจากเมือง Sost มาไม่ไกล เราจะเข้าสู่เขตอุทยานแห่งชาติคุนจีราบ (Khunjerab National Park) ถนนลอยฟ้ามุ่งหน้าสู่พรมแดนประเทศจีน แหล่งที่อยู่ของสัตว์ป่าหายากหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น แกะมาร์โคโปโล (Marco Polo Sheep) Ibex หรือแม้แต่เสือดาวหิมะ (Snow leopard) ถนนจะค่อยๆไต่ระดับความสูงอย่างรวดเร็ว จนรู้ตัวอีกทีเราก็มาอยู่ที่บริเวณ 4,600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลเสียแล้ว ฝูงจามรีเริ่มปรากฎกายให้เราเห็น ณ พื้นที่บริเวณนี้

ด่านพรมแดนคุนจีราบ (Khunjerab Pass)
ด่านพรมแดนคุนจีราบ ด่านพรมแดนที่สูงที่สุดในโลก ด้วยความสูง 4,730 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นจุดที่มีความสูงที่สุดบนถนนหลวงลอยฟ้าคาราโครัม

หุบเขาดุยเกอร์ (Duiker Valley)
หลังจากกลับมาลงจากด่านชายแดนคุนจีราบ ผมก็เดินทางรวดเดียวกลับมาที่หุบเขาฮุนซาอีกครั้ง แต่มาด้านป้อมอัลติทแทนและเดินทางขึ้นไปยังหุบเขาดุยเกอร์ (Duiker Valley) เพื่อไปชมจุดวิวพระอาทิตย์ตกที่สวยที่สุดบริเวณนี้ โรงแรมแต่ละแห่งของหุบเขาแห่งนี้ล้วนมอบวิวหลักล้านในราคาหลักร้อย ภาพของพระอาทิตย์ตกเหนือยอดเขาสะกดสายตาทุกคู่ให้อยู่เพียงจุดเดียวกันจนกระทั่งแสงลาลับหายไป

จากยอดเขาดุยเกอร์มองลงไปด้านล่างจะเห็นป้อมอัลติท (Altit Fort) อีกหนึ่งป้อมปราการของฮุนซาวัลเลย์ที่ตั้งอยู่บนหน้าผาข้างแม่น้ำฮุนซาโดยมีทางหลวงสายคาราโครัมทอดผ่านอยู่ฝั่งตรงข้าม

หุบเขากูปิส (Gupis Valley)
หลังจากออกจากหุบเขาฮุนซาผมก็เดินทางลงทางทิศใต้ของทางหลวงหมายเลข M41 หรือคาราโครัมไฮเวย์มาถึงเมืองกิลกิต (Gilgit) และแยกออกเข้าสู่ถนนเส้นรองทางทิศตะวันตกมุ่งหน้าสู่หุบเขากูปิส (Gupis Valley) อีกหนึ่งความงามที่เร้นกายอยู่ในพื้นที่อันแสนห่างไกล หุบเขากูปิสให้อารมณ์และบรรยากาศที่แตกต่างจากเทือกเขาที่ผมผ่านๆมาตลอด 7-8 วันก่อนหน้านี้ ถ้าจะให้สรุปก็จะสรุปได้ว่า

  • Skardu จะให้บรรยากาศแบบทะเลทรายผสมผสานกับยอดเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ
  • Hunza จะให้บรรยากาศที่เขียวชอุ่มที่มาพร้อมกับยอดเขาสูงท่ามกลางบ้านเรือนที่เล็กและน่ารัก
  • Gupis ให้บรรยากาศแบบหมู่บ้านๆเล็กๆ ที่เหมือนกับโอเอซิสกลางหุบเขาที่ถึงแม้จะไม่มียอดเขาสูงเทียมฟ้าปกคลุมด้วยหิมะเหมือนสองสถานที่ด้านบนแต่ที่นี่ก็ให้อารมณ์ที่แตกต่างออกไป

หุบเขาแพนเดอร์ (Phander Valley) ที่มีทะเลสาบแพนเดอร์ (Lake Phander) อันเลื่องชื่อตั้งอยู่

ถึงแม้จะเดินทางมาไกล แต่พอได้เห็นน้ำใสๆกับทะเลสาบสวยๆแบบนี้แล้ว คุ้มครับ

ผมนอนค้างที่ Gupis Valley 1 คืน ก่อนที่จะเดินทางกลับมาที่เมืองกิลกิต (Gilgit) ในวันถัดมา

กิลกิต (Gilgit) เป็นเมืองหลวงของเขตกิลกิต-บัลติสถานของปากีสถาน (Gilgit-Baltistan) เมืองตั้งอยู่ในหุบเขาใกล้จุดบรรจบกันของแม่น้ำกิลกิตและแม่น้ำฮุนซา กิลกิตเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางภาคเหนือของประเทศปากีสถานทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสำหรับการปีนเขา เป็นจุดแวะสำคัญบนเส้นทางไหมเก่า และเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญของทางหลวงสายคาราโครัมที่เชื่อมต่อปากีสถานและจีนเข้าด้วยกัน และด้วยความสำคัญขนาดนี้จึงทำให้มีโรงแรมตั้งอยู่ที่นี่เป็นจำนวนมาก  คืนนี้ผมค้างที่ Gilgit Serena อีกหนึ่งที่พักในเครือของ Serena Hotel ที่เป็นอีกหนึ่งโรงแรมที่ผมชอบที่สุดของที่นี่

เช้าวันต่อมารับประทานอาหารเช้าพร้อมรับพลังธรรมชาติจากบริเวณห้องอาหารของโรงแรม ก่อนที่จะเดินทางไปสนามบินเพื่อเตรียมตัวกลับสู่พื้นที่ราบ กลับสู่เมืองหลวงอิสลามาบัด (Islamabad) 

พอผมกลับมาถึงอิสลามาบัดก็ตีรถยาวมุ่งหน้าสู่เมืองละฮอร์ (Lahore) ทันที ด้วยความตั้งใจที่อยากจะมาดูพิธีปิดชายแดนปากีสถาน/อินเดีย อันเลื่องลือไปทั่วโลกครับ ที่ด่านชายแดน “Wagah border” โดยจะมีประชานชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางเข้ามารอชมพิธีปิดด่านประจำวันสุดแปลกตาที่คึกคักและมีสีสันที่สุด โดยเรียกว่า “Wagah Border ceremony” ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959 จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้แบบที่ไม่ใช้อาวุธของสองประเทศนี้ไปเสียแล้ว  ปิดท้ายวันที่อีกหนึ่งภัตตาคารอาหารที่ผมขอแนะนำถ้าใครที่เดินทางที่เมืองละฮอร์ (Lahore) ที่ Haveli Restaurant ครับ บรรยากาศบนดาดฟ้าของร้านนี้เอาคะแนนเต็มไปเลยทีเดียว

สุดท้ายและท้ายสุดจริงๆครับ ด้วยความที่อยากเห็น

“หมีหิมาลัยสีน้ำตาล” อย่างมาก แต่พลาดไม่เห็นที่เดวไซ (Deosai) ก็เลยขอไปเจอน้องหมีที่สวนสัตว์ประจำเมืองละฮอร์แทน และก็ไม่ผิดหวังครับ น้องหมีสีน้ำตาลนั่งอ้วนรอต้อนรับผมอยู่แล้ว การมาดูหมีในสัตว์สัตว์จึงเป็นความประทับใจสุดท้ายในปากีสถานก่อนที่ในวันเดียวกันนั้นผมจะเดินทางกลับสู่ประเทศไทยแล้วนั่นเองครับ


สำหรับบทสรุปของปากีสถานคงไม่มีอะไรไปมากกว่าประโยคสั้นๆว่า “ถ้าไม่มาปากีสถานนี่พลาดมากๆครับ”

สรุปค่าใช้จ่ายของผมสำหรับทริปปากีสถานทั้งหมด 10 วัน

  1. ค่าเครื่องบิน สายการบินไทย ไปกลับ กรุงเทพ/อิสลามาบัด ในรอบนี้ผมบินชั้น Royal Silk ทำให้ค่าตั๋วแพงกว่าปกติคือประมาณ 46,000 บาทครับ (ปกติตั๋ว TG ถ้าจองล่วงหน้านานๆ จะได้ตั๋วที่ราคาประมาณ 16,000 – 25,000 บาท สำหรับชั้น Economy ครับ)
  2. แพคเกจทัวร์ทั้งหมดพร้อมไกด์และไฟลต์ในประเทศ 2 ไฟลต์คือ 1,300 USD (ส่วนนี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามจำนวนคนที่เดินทาง ชนิดของห้องพัก และไฟลต์บินในประเทศครับ ถ้ามีคนไปเยอะและใช้รถแทนเครื่องบินอาจจะเหลือเพียง 800 – 900 USD ครับ
  3. ค่าวีซ่า 25 USD
  4. ค่าประกันการเดินทางและจิปาถะอื่นๆ ประมาณ 3,000 – 4,000 บาท สำหรับประกันการเดินทางตอนนี้ Cigna มีโปรโมชั่นสุดคุ้มที่ได้ของกำนัลเหมือนลด 50 % เลยนะ กดดูได้ที่นี่เลยนะครับ

สรุป >>> ทริปปากีสถานในครังนี้ ใช้จ่ายไปประมาณ 90,000 บาท อาจจะดูมากกว่าปกติไปนิด แต่ถ้าเทียบกับประสบการณ์ที่ได้แล้วถือว่าคุ้มมากๆครับ ถ้าจะไปแบบประหยัดหน่อยผมว่าเราทำที่ราคา 40,000 – 50,000 บาทต่อคนได้ครับ ถ้ามีจำนวนคนที่มากพอ

หรือสนใจโปรแกรมทัวร์ประเทศที่น่าสนใจ อ่านที่นี่เลยครับ >>> ทัวร์ปากีสถาน