Mission to Kinabalu “ภารกิจพิชิตคินาบาลู”

0
5513

ที่มาของภารกิจ

รินจานี (Rinjani) คือจุดเริ่มต้นคินาบาลู (Kinabalu) ของผม

ก่อนหน้านี้ 6 เดือนตอนนั้นเป็นช่วงวันเข้าพรรษา ผมหลงไปเดินเขาที่รินจานี (Rinjani) ด้วยคำแนะนำของเพื่อนคนหนึ่ง

กลับมาจากรินจานีด้วยความสะบักสบอม ผมยังจำความรู้สึกนั้นได้ดี ขาพัง เข่าปวด ผิวหน้าเยิน อวัยวะบางอย่างของร่างกายดูยับเยินไปพอสมควร

แต่สิ่งที่ผมได้กลับจากรินจานีคือการได้พิสูจน์สมรรถภาพร่างกายของตัวเองในสนามจริง

แต่เดิมคิดว่าตัวเองเป็นคนแข็งแรงมาตลอด จนต้องกลับมาคิดใหม่อีกครั้งเมื่อตอนอยู่ในสถานการณ์ที่เดินได้ 10 ก้าวแล้วต้องหยุดหายใจอีก 1 นาที อายุจริงๆไม่เท่าไร แต่อายุร่างกายดูจะนำไปเยอะ

และจุดสุดยอดบนยอดเขารินจานี้ มันสวยกระแทกตาจนวินาทีนี้ไม่มีทางที่จะลืม ภูเขาไฟน้อยในภูเขาไฟใหญ่ที่ล้อมรอบด้วยทะเลสาบปากปล่อง โอ้ มายก๊อด มันสวยโคตรๆ

กลับมาจากรินจานีรอบนั้น เลยได้ปักหมุดภูเขาอีกลูกหนึ่งแทบจะทันทีครับ ภูเขาลูกนี้มียอดเขาที่อาจจะเรียกได้ว่าสูงสุดใน AEC ก็ได้ครับ

และยอดเขานี้ก็มีความสวยงามในอีกแบบฉบับที่ไม่ใช่ภูเขาไฟ แต่เป็นภูเขาหินแกรนิต

ภูเขาลูกนี้คือ คินาบาลู (Kinabalu) นั่นเองครับ

เหนือสิ่งอื่นใดของทุกๆคนคือการได้พักผ่อน และการพักผ่อนของแต่ละคนมีรูปแบบที่แตกต่างกันไป

ผมทำงานแทบจะทุกวัน เจอเชื้อโรคต่างๆมากมาย ใช้ชีวิตอยู่กลางกรุงเทพวันๆเจอแต่ความวุ่นวาย สูดอากาศไม่เคยเต็มปอดเลยซักวัน

แถมบางวันทำงานรวดเดียว 48 ชั่วโมงถึงจะได้พัก ยังไม่นับวันทำงานเสาร์อาทิตย์อีก

การได้มีโอกาสเปลี่ยนชุดทำงานที่ใส่แล้วไม่สบายตัวมาใส่ชุดเดินเขาบ้างมันเป็นอะไรที่ทำให้ชีวิตเราเติมเต็มได้อย่างมากเลยครับ

Mission to Kinabalu เริ่มต้นที่ดอนเมือง

แต่ก่อนไม่นานมากนัก ประเทศไทยเรามีเคยมีไฟลต์บินตรงของสายการบินหางแดงบินระหว่างกรุงเทพมาถึงโคตา คินาบาลู (Kota Kinabalu) แต่เปิดได้ไม่นานก็ปิดไปแล้ว จากความง่ายเลยกลายสภาพเป็นความยากแทน เพราะเราต้องมาเปลี่ยนเครื่องที่ KL ก่อนเสมอ

ผมเลือกที่จะเดินทางตั้งแต่ตอนกลางคืนหลังจากเลิกงานเลย เพื่อจะมาถึง KL ในตอนดึกๆจะได้นอนสนามบิน นานๆได้นอนพื้นสนามบินบ้าง รู้สึกดีกว่านอนบนเตียงมากมายครับ อิอิ

รู้ตัวอีกทีก็เช้าแล้ว ขึ้นไฟลต์ต่อบินจาก KL มาถึงโคตา คินาบาลู (Kota Kinabalu) ในเวลาราวๆสองชั่วโมงกว่าเท่านั้นเอง ถึงทีนี่ประมาณเกือบๆสิบโมงครับ

แต่ล่าสุดข่าวล่ามาเร็วในเดือนมีนาคม 2559 นี้ เราจะเห็นสายการบิน Thai Smile มาทำการบินเส้นทางบินตรงกรุงเทพโคตา คินาบาลู (Kota Kinabalu) เลยละครับ น่าตื่นเต้นสุดๆ

ขอพูดถึงเรื่องการจองตั๋วเครื่องบินนิดนึงนะครับ

เนื่องจากการจองตั๋วไปคินาบาลู (Kinabalu) จะไม่มีการบินตรง และส่วนใหญ่เรามักต้องการไฟลต์ที่มีราคาบินที่ถูกที่สุด และสุดท้ายมักจะจบด้วยการจองแยกเสมอ เพราะสายการบินหลักๆเลยคือ Air Asia และ Malindo มีไฟลต์บินที่ค่อนข้างมาก ทำให้เรามีตัวเลือกในการจองค่อนข้างเยอะครับ

แนะนำเช็คราคาตั๋วเครื่องบินแอร์เอเชียผ่านเว็บไซต์ Traveloka นะครับ การจองแต่ละครั้งจะไม่มีค่า booking fee เลยถึงแม้จะทำผ่านบัตรเครดิตก็ตาม และก็ไม่ใช่แค่ AirAsia นะครับ สายการบินอื่นๆที่จองผ่าน Traveloka ก็ไม่มีค่า booking fee ทั้งหมดครับ

การจองทั้งหมดจะถูกเก็บเอาไว้ใน app Traveloka ซึ่งทำให้เราจัดการทุกอย่างผ่านที่เดียวกันได้ทั้งหมด ไม่ต้องเปิด app ของแต่ละสายการบินเองต่างหากครับ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งความสะดวกที่เราจะได้รับ

สามารถดาวน์โหลด Traveloka app ได้ที่นี่ครับ Android version / IOS version

และข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ การที่เราสามารถเช็คราคาแบบ real time ผ่านเว็บไซต์ได้ในเวลาเดียวกัน ทำให้ผมเลือกไฟลต์บินที่เหมาะสมกับตัวเองได้พร้อมๆกัน ไม่จำเป็นต้องมาเปิดเว็บไซต์ของทั้ง Air Asia และ Malindo Air แล้วมาเทียบกันเอง สร้างความงงงวยไปยิ่งกว่าเดิมอีก

อีกทั้ง Traveloka ยังชอบปล่อย Promotion มาเรื่อยๆ ประหยัดค่าเครื่องบินไปอีกครับ

ข้อด้อยของการจองผ่าน Traveloka อันเดียวที่ผมพบคือ ถ้าเราจอง AirAsia เราจะไม่ได้แต้ม Big point เท่านั้นเองครับ แต่ถ้าลองมาเทียบๆกับค่า booking fee ที่เสียแล้ว เรื่องของคุ้มไม่คุ้ม คุณต้องเป็นคนตัดสินใจเอง (แต่เรื่องแต้มของบัตรเครดิตเราได้เหมือนตามปกตินะครับ)

พอมาถึงสนามบิน ก็รีบเดินออกไปที่ด้านโซนประตูขาออก เพื่อขึ้น Airport Shuttle bus ที่มีให้บริการอยู่ตลอดเวลา

โดยเจ้ารถคันนี้จะวิ่งรับส่งระหว่างสนามบินและในเมือง ออกทุกๆประมาณ 45-60 นาทีครับ ค่าโดยสารคนละ 5 RM เท่านั้น

สถานีปลายทางของนักปีนเขาทุกคนคือ “Padang Medeka”  ไม่ต้องกลัวหลงทาง เพราะที่นี่คือป้ายรถเมล์ป้ายสุดท้ายน้่นเอง

ที่ Padang Medeka แปลว่าอะไรผมไม่รู้หรอก ผมรู้เพียงแต่ว่ามันคือสถานีรถตู้สำหรับคนที่จะไปที่ Kinabalu national park อารมณ์มีเป็นวินๆคล้ายที่อนุสาวรีย์บ้านเรา ไปถึงก็บอกคนแถวนั้นว่าไป Kinabalu national park ครับ

คำแนะนำคือควรจะมาแต่เช้า เพราะคนจะออกเดินทางเยอะ เพราะที่นี่ไม่รอบเวลา เต็มเมื่อไรออก ไม่เต็มไม่ออก ยิ่งมาถึงสายรถก็ยิ่งต้องรอนานเพราะคนที่อยากจะไปเขาไปหมดแล้ว

อ่านต่อเรื่อง บทความการเดินสำหรับคนที่จะมีคินาบาลู

จาก Padang Medeka มาถึงที่ Kinabalu national park จะใช้เวลาประมาณ 2-2.5 ชั่วโมงขึ้นกับสภาพการจราจร

ในขามา ผมแนะนำให้นั่งทางฝั่งซ้ายของรถนะครับ เพราะในช่วง 20-30 กิโลเมตรก่อนถึงอุทยานนั้นวิวเทพมาก เราจะอยู่กับภูเขาคินาบาลูไปตลอดทางเลยครับ

ทีนี้รถตู้ที่เรานั่งมาเขาจะวิ่งไปสุดทางที่เมือง Ranau ซึ่งเราจะเลือกลงรถตรงไหนก็ได้ตามความต้องการ (เหมือนวินบ้านเราครับ)

ถ้าใครพักโรงแรมที่ไหนก็บอกคนขับเผื่อเขาแวะจอดให้ ส่วนของผมพักที่ Jungle Jack backpacker ซึ่งอยู่ใกล้กับตัวทางเข้าอุทยานเลย สะดวกดีครับ

อ่านต่อเรื่อง บทความเรื่องการจองที่พักที่คินาบาลู

อากาศที่คินาบาลูก็เหมือนกับคนที่อารมณ์แปรปวน เอาแน่เอานอนไม่ได้

วันหนึ่งอาจจะมีฝนตกสลับฝนหยุดเหมือนคนท้องเสียเป็นๆหายๆวันละ 3-4 ครั้งได้ครับ

อากาศทีนี่เลยชุ่มชื้นไปด้วยไอน้ำ รุ้งกินน้ำนี่โผล่ให้เห็นกันจนเบื่อไปข้าง สอง สาม สี่ รุ้งซ้อนกันไปมามั่วไปหมดครับ

เตรียมกล้อง เตรียมแบตกันมาเยอะๆนะครับ

วันแรกส่วนใหญ่ทุกคนก็จะมาหาที่พักกันแถวๆนี้

อ่านต่อเรื่อง บทความที่พักที่คินาบาลู

นอนกันให้เต็มอิ่มนะครับในคืนแรก เพราะคืนที่สองจะเป็นการเริ่มต้นของจริง

ถ้ามากับทัวร์ เขาก็พาเรามาเทกันที่ตรงที่ทำการอุทยานครับ ถ้ามากันเองก็ต้องมาเคลียร์เอกสารกันให้เรียบร้อย

ลำดับขั้นจะเป็นตามนี้นะครับ สำหรับผู้ที่มาเอง ดูจะยุ่งยากนิดนึง แต่รับรองว่าเหนื่อยน้อยกว่าเดินขึ้นยอดมาก

  1. เข้าไปที่ทำการอุทยาน เพื่อยืนยันชื่อเรากับที่พักบนยอดว่าเราไม่ได้มั่วมา
  2. ไปที่ Visitor center เพื่อทำ climbing permit คนละ 200 RM
  3. ในอาคารเดิม ไปที่เคาท์เตอร์ข้างๆจ้าง Mountain guide 230 RM (จะหารกี่คนก็ได้ แต่ไม่เกิน 5 คนครับ)
  4. ถ้าใครจะจ้างลูกหาบแบกของก็ต้องจ้างตรงนี้เลยนะครับ แต่ถ้าของไม่เยอะก็คุยกับไกด์ได้เลย เขาเป็นได้ทั้งผู้นำทางและผู้แบกของในเวลาเดียวกัน
  5. ไปที่ Belsum cafe ที่อยู่ข้างๆที่ทำการเพื่อเอาชุดอาหารกลางวันแบกไปเอง
  6. ไปที่สำนักงานขนส่งที่ตั้งอยู่ข้างๆที่ทำการอุทยานฯ เพื่อจ้างรถ Taxi ไปส่งเราที่ Timpohon gate จุดเริ่มต้นเดิน
  7. Let’s go!!! รออะไรอยู่ละครับพี่น้อง

เจ้านี้คือ Climbing permit ที่มีค่ายิ่งชีพ เราจะทำอะไรกับมันก็ได้ทุกอย่าง ยกเว้นทำหายครับ

เขาจะมีจุดตรวจตลอดทาง ถ้าหายคือจบเห่ กลับบ้านได้เลยครับ

“บิลลี่” ไกด์ของผมในการปีนป่ายครั้งนี้

หนุ่มบิลลี่อายุ 22 ปีเองครับ แต่ก่อนก็เป็นลูกหาบมาก่อน อาศัยภาษาอังกฤษเก่งค่อยๆขยับมาเป็นไกด์ในที่สุด

เป็นไกด์มาประมาณจะ 3 ปีได้แล้วครับ ขึ้นคินาบาลูมามากกว่า 300 ครั้ง o_O

ผมว่าผมอยู่กับคนที่่ถูกต้องแล้วครับ

แผนที่การเดินเท้า (บางช่วงอาจจะเรียกเดินมือแทน เพราะมีการใช้แขนด้วย)

วันแรก

จุดเริ่มต้น : Timpohon Gate (ความสูง 1866 m) , ตอนนี้ Mesilau gate ทางปิดยาวครับไม่อนุญาตให้เดิน

จุดพัก : จะมีทุกๆ 500 เมตร จาก S1 ถึง S6 โดยจะแวะพักทานข้าวกันที่ Layang Layang hut

เวลาเริ่มต้น : ประมาณ 08.00 – 09.30 ไม่ควรช้ากว่านี้ครับ

ปลายทาง : Laban Rata (3272 m)

ระยะเวลา : 4 – 12 ชั่วโมง แล้วแต่สภาพร่างกาย

วันที่สอง

จุดเริ่มต้น : Laban Rata (ความสูง 3272 m)

จุดพัก : พักได้ตลอดทาง จะมีจุด Check point ที่ S7 Sayat-sayat

เวลาเริ่มต้น : ประมาณ 02.00 – 03.00 ไม่ควรช้ากว่านี้ครับ

ปลายทาง : Low’s peak summut (4096 m)

ระยะเวลา : 3 – 5 ชั่วโมง แล้วแต่สภาพร่างกาย

ในวันที่สองหลังจากพิชิต Low’s peak summit แล้วก็ต้องเดินรวมเดียวกลับมาที่ Timpohon gate เลย ถือว่าเป็นวันที่ใช้คำว่าเหนื่อยไม่ได้ ต้องเรียกว่าน่วมมากกว่า

แผนการเดินทางในวันแรกคือ

“6 กิโลเมตร” ในทางราบ กับ “1.4 กิโลเมตร” ในทางสูง

จาก Timpohon gate สู่ Labab Rata

สัมภาระที่จะแบกแล้วแต่ความฟิตครับ ถ้าเอาไปเยอะมันจะกลายสภาพเป็นภาระไปแทน

ไม่ควรเกิน 7 kg ในความคิดผมนะ ทางเดินจะขึ้นแบบรัวๆ ไม่มีทางราบหรือทางลงเลย

อ้อ อย่าลืม ไม้เท้า trekking pole นะครับ สำคัญมากกก มันจะช่วยไม่เรามีอาการเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควร

คินาบาลู (Kinabalu) ถ้าให้เปรียบกับคนมาเลเซียแล้วก็เหมือนกับภูกระดึงของบ้านเราครับ

“ครั้งหนึ่งในชีวิต พิชิตคินาบาลู” มอตโต้ของมาเลเซียน เราจึงเห็นคนมาเลเซียมาที่นี่มากมาย หลายรุ่นอายุเลยครับ

บางคนอาจจะไม่ชอบบันได เพราะมันทำให้จังหวะการก้าวเท้าของแต่ละคนถูกจำกัด แต่ไม่มีทางเลือก เพราะส่วนใหญ่บันไดทั้งนั้น

บางช่วงต้องใช้ความเร่งในการเดิน เพราะมักจะมีหินหล่นลงมาทับบ่อย เหรออออออ ไกด์บอกแบบนี้ เสียวค้าบบบ

หลักการเดินคือ ไม่ต้องมองปลายทางครับ เพราะมองแล้วเหนื่อย – -” ทำร้ายกำลังใจตัวเองเปล่าๆ

จงอยู่กับปัจจุบัน เท้าที่เรากำลังจะก้าวออกไป หายใจให้เป็นจังหวะ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ

ไกด์ที่มาจะประกับผู้ที่อ่อนแอที่สุดของกลุ่ม ถ้าใครเดินเร็วก็เหมือนจ้างไกด์ให้เพื่อนนะครับ 555+

ระหว่างทางเดินทุกๆ 500 เมตร

จะมีศาลาพักใจ เอ้ย ไม่ใช่ ศาลาพักกายต่างหากละ

คนทุกๆคนจะพร้อมใจกันนั่งหอบที่นี่เมื่อเดินมาถึงครับ

มีห้องน้ำบริการให้พร้อมที่ฉีดก้น ความสะอาดก็ขึ้นอยู่กับอัธยาศัยของผู้ใช้บริการก่อนหน้าเราว่าใจดีขนาดไหน จะเหลืออะไรเป็นของฝากให้เราดูต่างหน้าหรือไม่

และจะมีถังกักเก็บน้ำจากภูเขาที่เอาไว้ใช้ล้างมือ ล้างหน้า ล้างตัว หรือเอาไว้กิน!!!

ผมถามว่าไกด์ว่าน้ำนี่ดื่มได้ไหม เพราะตัวผมปกติกินน้ำเหมือนอูฐครับ

ไกด์บอกว่า ถ้ายูมาจากไทยแลนด์ ยูกินได้ เพราะลำไส้เราแข็งแรงพอกัน

อันนี้คือเจ้าถังน้ำที่บอก

น้ำที่นี่จะเขียนว่า “Untreated water” คือน้ำที่ยังไม่ได้กรรมวิธีใดๆเลย รองมาจากภูเขาแล้วก็เอามาเก็บไว้เท่านั้น

ถ้าใครกินน้ำเยอะยังกับอูฐวันละ 3-4 ลิตรแบบผม ควรจะต้องเอาพวกที่กรองน้ำติดตัวมาหรือพวกเม็ดละลายทำให้น้ำสะอาดติดมาด้วยนะครับ กินน้ำกันไปเปล่าๆแบบนี้ เกิดแจ๊คพอตท้องเสียขี้แตกระหว่างทาง จบเห่กันเลยทีเดียว

นี่ละ อาหารเที่ยงที่ผมแบกมันมาเกือบ 3 ชั่วโมง อยากจะเขวี้ยงทิ้งตั้งแต่ต้นก็กลัวจะหิว ก็เลยแบกๆมันขึ้นมา

ประกอบไปด้วย Sandwich หน้าแฮม ไข่ต้ม ไก่ทอด Cracker แอปเปิ้ล และน้ำเปล่าครับ

โอเค ถือว่าอิ่มใช้ได้เลย การกำจัดถุงอาหารเที่ยง ทำให้สัมภาระเราเบาลงอย่างมีนัยสำคัญครับ หายไปเกือบโลเลยทีเดียว 555+

พอเราผ่านราวๆหลักกิโลเมตรที่ 4 ภูมิประเทศจะเริ่มแปลงสภาพ

เพราะความสูงที่เข้าสู่ระดับหลักสามพันเมตรเหนือระดับน้ำทะเล

พวกบรรดาพืชพันธุ์ต้นไม้ก็มีการสับเปลี่ยนสปีชีส์ แต่คนที่เดินยังเหมือนเดิม

แต่ที่เด็ดกว่าคือบรรดากองทัพยอดแห่งคินาบาลูจะเริ่มปรากฏกายให้เราได้ชื่นชมจนน้ำตาจิไหลตั้งแต่ตรงนี้เป็นต้นไป

จากที่เหนื่อยแบบแฮ่กๆๆๆๆ ตลอดทางที่ผ่านมา เห็นแบบนี้หัวใจเรากลับมาฟิตปั๋งเหมือนเดิม

แดดจะร้องบ้าง ไม่ร้อนบ้าง เป็นช่วงๆครับ

บางทีลมก็พัดผ่านตัวจนแทบหยิบเสื้อมาคลุมไม่ทัน

ในขณะที่อีกไม่นานฝนอาจจะเทลงมาแบบไม่ทันตั้งตัวก็ได้

นี่คือสภาพอากาศที่คินาบาลูนั่นเอง

ป่าดึกดำบรรพ์แห่งเทือกเขาคินาบาลู

บรรดาหมู่มวลพี่น้องยอดเขาต่างๆ

ที่เห็นอาคารตรงกลางภาพนั่นคือจุดหมายของผม

ชายตามองออกไปทางมุมซ้ายบนของภาพนิดๆ เราจะมองเห็นทางเดินของเราในวันรุ่งขึ้นด้วยครับ

อันนี้คือนวัตกรรมของลูกหาบที่คินาบาลู

ของใช้ทุกชิ้น อาหารทุกคำ ต้องเอาจากพื้นราบสู่ยอดเขาเสมอ

บรรดามดงานหรือลูกหาบที่นี่ขึ้นลงวันละ 2-3 รอบ เพื่อขนใหม่ขึ้นไปหรือนำของเก่ากลับลงมาครับ

Pondok Villosa ที่ระดับความสูง 2,942 เมตร

มองขึ้นไปที่กลุ่มของยอดเขาสิ มันโคตรน่าตื่นเต้นเลยครับในช่วงเวลาแบบนั้น

จุดพักแต่ละจุดพักสักประมาณ 10-15 นาทีก็กำลังโอเคแล้วก็เดินเท้ากันต่อ

ตรงนี้เป็นรอยต่อของบรรยากาศโลกจากสองพันเป็นสามพันเมตรครับ

ลมหนาวๆคอยพัดสร้างความเหงาๆให้คนเปลี่ยนๆได้เสมอ

เดินทะลุเมฆกันขึ้นมาเลยทีเดียวครับ

ดูกันให้เต็มๆตา ว่าเรามาไกลกันขนาดไหน

เมื่อเช้ายังอยู่ด้านล่างอยู่เลย ผ่านมาไม่นานมาถึงจุดนี้

จุดที่จะไปต่อก็โคตรเหนื่อย แต่ถ้าจะเดินกลับยิ่งโคตรเหนื่อยกว่าไป

ไปต่อ คือหนทางเดียวที่เราจะอยู่รอดได้ต่อไป

จากบริเวณนี้เราจะอยู่กันในบริเวณความสูงของเมฆพอดีครับ

ลมโชยมาแต่ละทีตัวสั่นกันไป ควักเสื้อกันลมกันฝนมาใส่กันได้แล้วครับ

สภาพอากาศจากตรงนี้คือเอาแน่เอานอนไม่ได้ละ

ตลอดระยะทาง 6 กิโลเมตร

มีอยู่ประมาณ 100 เมตร ที่เป็นทางเดินลงครับ

อีกประมาณ 5900 เมตรเป็นทางเดินขึ้นแบบรัวๆ

ผมยกให้ทางเดินช่วง 1000 เมตรสุดท้ายก่อนถึง Labab Rata คือจุด Climax ของวันแรกเลยครับ

วิวเทพมาก แต่ทางเดินนี่ชันมากกกก กว่าจะยกเท้าก้าวข้ามไปได้แต่ขั้น นี่ร้องอี๊ดอ๊าดตลอดทาง

เวลาเดินถ้าใครชวนเพื่อนคุย นี่ถือว่าทำร้ายจิตใจกันสุดๆ

เพราะลำพังแค่หายใจก็เหนื่อย ยังจะให้ออกเสียงพูดอีกเหรอออ

ถ้าจะแบกสัมภาระเองให้คาดคะเนน้ำหนักกระเป๋ามาให้ดีนะครับ

เพียงแค่ 1 กิโลกรัมที่หนักขึ้น เมื่อมาอยู่ตรงนี้ความรู้สึกมันจะคือ 10 กิโลกรัมครับ

ดูทางเดินกันแบบชัดๆ

ผมเริ่มต้นก้าวเท้าแรกออกเดินตอน 09.15 น.

ในที่สุดเวลา 15.00 น. ก็เดินมาถึงที่ Laban Rata ที่พักของเพื่อนร่วมทางทุกๆคนในวันนี้

บิลลี่ไกด์ของผมบอกว่า นี่คืออัตราความเร็วตามมาตรฐานของที่นี่

คนที่ร่างกายฟิตมากๆ อารมณ์น้องๆลูกหาบ นี่จะใช้เวลาเดิน 3-4 ชั่วโมง

คนที่มีร่างกายทั่วไป จะใช้เวลาประมาณ 5-6 ชั่วโมง

คนที่ร่างกายไม่พร้อมแต่ใจถึงจะใช้เวลาประมาณ 6-8 ชั่วโมง

ส่วนบางคนเคยใช้เวลาเดินถึง 12 ชั่วโมงก็มีมาแล้ว

พอเข้ามาถึง Laban Rata เหมือนกับหลุดเข้ามาอีกโลก

บุฟเฟต์อาหารมื้อเย็นรอต้อนรับเราอยู่แล้ว

บรรดานักเดินเขาจากหลากหลายสัญชาติมารวมตัวกันที่นี่แบบไม่ได้นัดหมาย

ให้รีบอาบน้ำให้เสร็จทันทีที่มาถึงเพราะไม่หนาวมากนัก แล้วก็ลงมากินข้าวให้อิ่ม

จะได้รีบไปนอนแต่หัวค่ำครับ นอนเก็บแรงให้มากที่สุด

ในคืนก่อนหน้านี้ อยู่ดีๆร่างกายของผมก็ทรุดลงแบบไม่มีสาเหตุ

จากคนที่ active อยู่ดีๆกลายเป็นกินข้าวไม่ลง อ่อนเพลีย และเวียนศรีษะในตอนเย็นของวันนั้น

ด้วยความที่คาดหวังไว้เขาลูกนี้มาก และคิดอยู่อย่างเดียวว่าต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตอนเช้าร่างกายฟื้นตัวกลับมาเหมือนปกติ

จึงต้องอัดยา Diamox และ Dexamethasone ที่เตรียมมาแล้วก็เข้านอนทันทีตั้งแต่หัวค่ำเพื่อให้ร่างกายมีเวลาพักผ่อนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

มาตื่นอีกทีก็ตอนประมาณตีหนึ่งครึ่งที่ทุกคนในบ้านพักตื่นกันหมดแล้ว กินอาหารเช้าที่เขาเตรียมไว้ให้

ล้างหน้า แปรงฟัน จัดของใส่กระเป๋าเป้เท่าที่จำเป็น ติดน้ำขึ้นไปอย่างต่ำคนละ 1 ลิตร แล้วก็กล้อง

ที่สำคัญอย่าลืม ไฟฉายคาดหัว ที่มีคุณค่าดั่งแสงที่สาดส่องนำทางชีวิตให้เราก่อนที่พระอาทิตย์จะขึ้นครับ

เราต้องเดินอยู่ท่ามกลางความมืดมิดเป็นเวลาเกือบๆ 3 ชั่วโมงจากที่พักที่ Laban Rata

สิ่งที่คอยนำทางเราคือเชือกสีขาวที่พาดเอาไว้ตลอดทาง และแสงไฟฉายของคนด้านหน้า

ความสูงที่เกือบจะ 4000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ทำให้ออกซิเจนในอากาศนั้นเบาบางกว่าที่ราบมาก

เราจะเหนื่อยง่ายขึ้น เพลียง่ายขึ้น จนบางอย่างอยากที่จะลงไปนอนแผ่ลงกับพื้นแล้วดูมวลหมู่ดาวที่สวยงามบนท้องฟ้าแทน

มีบางช่วงเวลาที่ถามกับตัวเองเหมือนกันว่า อะไรที่ทำให้เราต้องมาเหนื่อยถึงขนาดนี้ในเวลาแบบนี้

แต่พอขึ้นถึงยอดหรือจุดหมายปลายทางทีไรมันก็ทำให้ผมต้องมาเหนื่อยแบบนี้ได้ทุกทีตลอดเวลา

 

การเดินเขาในช่วงแรก ตั้งแต่ 01.30 น. – 04.00 น.

มันคือการเดินในความมืดมิด เดินไปตามคนด้านหน้า

ไม่มีเสียงพูดคุยใดๆ มีแต่เพียงเสียงลมหายใจของตัวเองที่ได้ยินอยู่

จังหวะของหัวใจเต้นเร็วจนเหมือนจะกระเด็นออกมาอยู่ข้างนอก

ท้องฟ้าเต็มไปด้วยหมู่ดาวกาแล๊กซี่ทางช้างเผือกที่สวยงามจนไม่อาจจะบรรยายได้

แต่น่าเสียดายที่ความอลังการอันนี้ผมทำได้เพียงแต่บันทึกด้วยความทรงจำ

เพราะสภาพร่างกายในตอนนั้น การจะยกกล้องกับขาตั้งออกมา มันเป็นอะไรที่เหนื่อยที่สุดในชีวิตแล้วครับ

St.John’s Peak (4,091 m)

ยอดเขาที่ตั้งตะหง่านอยู่ตรงเนินสุดท้ายก่อนขึ้นสู่ Low’s Peak summit

ตรงนี้เป็นจุดแรกที่ผมทิ้งก้นลงนั่งกับพื้นอย่างไม่เกรงใจใคร แล้วก็หยิบกล้องขึ้นมาเพื่อบันทึกภาพของวัน

เนินสุดท้ายแล้วจริงๆ

เมื่อเราผ่านจาก St.John’s peak มาแล้ว ทางด้านหน้าของเราก็คือ Low’s Peak หรือจุดสูงสุด

ไม่ว่าเราจะผ่านมากี่เนินแล้วก็ตาม อันนี้คือเนินสุดท้ายหรือด่านวัดใจที่เหลืออยู่

ถ้าคุณผ่านเนินนี้ไปได้ คุณก็คือผู้พิชิตคินาบาลูอีกคนหนึ่งของโลกใบนี้

บางคนแรงกายอาจจะหมดไปแล้ว

ก็ขอให้ใช้แรงใจเฮือกสุดท้ายในการพาร่างกายขึ้นไปสู่ยอดให้ได้

ไม่มีที่ไหนในเกาะบอร์เนียวที่จะชมแสงแรกของวันได้ดีกว่าที่นี่อีกแล้ว

ใครจะแซงเราไปไม่ต้องแคร์ครับ ค่อยๆก้าวข้ามโขดหินไปทีละก้าว เอาช้าแต่เน้นชัวร์

6.00 am

ผมค่อยๆพาร่างกายตัวเองขึ้นไปอย่างช้าๆ มีสติกับทุกลมหายใจที่ผ่านเข้าออกปากและรูจมูกทั้งสองข้าง

ความสูง 90 เมตรสุดท้ายที่เหลืออยู่ไม่มีอะไรยากอีกต่อไปแล้ว ถ้าเรามาถึงจุดนี้ได้

เดินสามเก้า – หยุดหนึ่งเก้า – แล้วก็เดินต่อไปอีกสามก้าว ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ

St.John’s Peak ในม่านหมอก

ฟินนนนนนน!!!!

ขออยู่แบบนี้สักวันได้ไหม อยู่แบบไม่ต้องคิดอะไร นอกจากขอแค่สูดลมหายใจของคินาบาลู

วินาทีตอนขึ้นถึงยอด

ผมบอกกับตัวเองว่าไม่ใช่ความสูงหรอกที่ผมเอาชนะได้

แต่เป็นใจของตัวผมเองต่างหากละ

4,095.2 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

คือความสูงของ Low’s Peak summit ยอดที่สูงที่สุดของคินาบาลู (Kinabalu)

ปักหมุดเข้าไปอีกหนึ่งแห่งกับความสถานที่ในฝันของนักเดินทางทุกคน

Alexandrea Peak – Oyayubi Iwu Peak – Dewali Pinnacles

จากบนยอด Low’s Peak summit จะเป็นจุดชมวิว 360 องศาที่สวยที่สุดในโลกอีกแห่งหนึ่ง

เราจะเห็นยอดเขาอื่นๆบนคินาบาลูอีกหลายสิบยอด

หันไปทางทิศตะวันตกก่อนครับ จะเห็นยอดเขาอีก 3 ยอด ไล่มาตามนี้ จากซ้ายไปขวาของภาพ

  • Alexandrea Peak (4,003 m.)
  • Oy0yubi Iwu Peak (3,975 m.)
  • Dewall Pinnacles อันนี้ดูไม่ค่อยเหมือน peak เท่าไร เพราะมันตั้งกันอยู่เป็นกระจุกเลยเรียกมันว่า Pinnacle

Low’s Gully

ถ้ามองออกจาก Low’s Peak ไปทางด้านทิศเหนือ เราจะเห็นหุบเหวขนาดใหญ่ที่มีความลึกลงไปในแนวดิ่งประมาณ 1,800 เมตร ตรง Low’s Gully ถือเป็นส่วนที่อันตรายที่สุดของคินาบาลูเลยครับ ถ้าพลัดตกลงไปไม่ตายก็เลี้ยงไม่โตแต่สำหรับพวกบ้าพลังอยากท้าทายความอันตรายทีนี่ก็สามารถจัดทริปโรยตัวเข้าไปในหุบเหวอันนี้ได้

King George’s Peak (4,066 m.) & King Edwards Peak (4,086)

ฝั่งตรงข้ามของ Low’s Peak หรือด้านบนของ Low’s Gully คือสองยอดของ King George และ King Edwards ถือว่าอยู่ทางด้าน Eastern plateau เป็นอีกหนึ่ง summit ที่ไปพิชิตได้ แต่ต้องฟอร์มทีมมาต่างหากและทำใบอนุญาตเป็นการเฉพาะครับ เพราะมันคือการออกนอกเส้นทางตามปกติ

Victoria Peak (4,090 m.)

ความสูงของยอด Victoria นี่เกือบจะเท่าๆกับ Low’s peak เลยครับ ถ้ามองแล้วเราจะเห็นว่ามันสะดุดตามาก

ตอนนั้นผมแทบจะสำลักความตื่นตะลึงของบรรยากาศ จนไม่รู้จะเก็บภาพยังไงดีเลยครับ

Ugly Sister Peak (4,086 m.)

ในเวลานี้ม่านหมอกได้เข้ามาแผ่ขยายปกคลุมที่ราบสูงแห่งคินาบาลูเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

พร้อมกับได้เปลี่ยนสภาพแวดล้อมจากโลกมนุษย์ให้เหมือนกับดาวอังคารเข้าไปทุกนาที

ยอด Ugly Sister ผมว่ามันสวยมากเลยนะ แต่ใครไปตั้งชื่อนี้ให้เนี่ยยยย

ผมเริ่มมีความรู้สึกว่าตอนนี้ตนเองไม่ได้อยู่ในโลกมนุษย์ครับ

แต่ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเดินอยู่บนดาวอังคารมากกว่า

คนที่มาอาจจะดีใจที่ได้เจอฟ้าใสๆบนยอดเขา

แต่ตอนนี้ผมกลับชอบบรรยากาศแบบนี้มากกว่าซะอีกครับ

Take nothing but pictures อย่าเอาอะไรกลับออกไปนอกจากภาพถ่าย

Leave nothing but footprints อย่าเหลืออะไรเอาไว้นอกจากรอยเท้า

ลานหินแกรนิตขนาดใหญ่ที่อยู่ตรงหน้าตอนนี้

นี่มันไม่ใช่โลกของเราแล้วความรู้สึกของผมในตอนนั้น

มันเหมือนกับดาวสักดวงในหนังเรื่อง Star Wars ที่ผมเคยดู

เพียงแค่ 10 นาทีผ่านไปบนยอดคินาบาลู

อากาศอาจจะเปลี่ยนจากฝนตกมาเป็นแดดออก หรือจากแดดออกมาเป็นทะเลหมอกได้ในพริบตา

จุดสูงสุดของยอดเขาที่เห็นนั้นคือ Low’s Peak นั่นเอง

Rinjani VS Kinabalu มวยคู่นี้ ไม่เอามาเทียบไม่ได้ เพราะพิกัดใกล้เคียงกันมากครับ

ผมพึ่งไปรินจานีก่อนมาคินาบาลูประมาณ 5 เดือน ยังจำความรู้สึกตอนขึ้นถึงยอดได้ดี
1. ความสูง
Rinjani 3,726 m ส่วน Kinabalu 4,095 m ความสูงพอๆกัน ไม่มีความแตกต่าง
2. ความยาก
Rinjani เยินมากกกกก เดินจนเข่าพัง เอาไปเลย 5/5
Kinabalu ผมว่าเดินสบายกว่าเยอะ ให้ไป 3.5/5
3. ความโหด
Rinjani ต้องนอนเต๊นท์ ห้องส้วมธรรมชาติ ใครปวดฉี่ตอนกลางคืนนี่ซวยสุดๆ เอาไป 4/5
Kinabalu นอนเตียงนุ่มๆ ใต้ผ้าห่มนิ่มๆ อาบน้ำอุ่นๆ กินข้าวอร่อยๆ ฟิน เอาไป 2.5/5
4. Summit day
Rinjani เดินโคตรเหนื่อย ดินภูเขาไฟ เดินเท่าไรก็ไม่ถึงซักที เอาไปเลย 10/5
Kinabalu ถ้าหัวใจคุณแข็งแรงพอ ที่นี่ไม่ยากอะไร ค่อยๆขยับไปทีละก้าว ก็ไม่ไถลกลับมาลงเหมือนอันบน
5. ราคา
Rinjani ถ้าหาตั๋วโปรไปบาหลีได้ เขาลูกนี้ถือว่าไม่แพง และน่าสนใจมาก
Kinabalu ต้องรีบไป เพราะราคาสูงเอาสูงเอา เพิ่มขึ้นทุกปี
สุดท้าย ถามว่าไปที่ไหนก่อนดี
ผมแนะนำไป Kinabalu ก่อนนะครับ ไปดูว่าจังหวะการเดินเราเป็นอย่างไร มันเหนื่อยขนาดไหน จะเตรียมตัวอย่างไรดี แล้วลูกต่อไปค่อยเป็น Rinjani ครับ

ตอนนี้ไอน้ำจับตัวอยู่บนผิวหน้าเลนส์ผมเยอะมาก

ต้องคอยเอาถุงมือมาปัดน้ำออก แต่ยิ่งปัดดูเหมือนจะทำให้ยิ่งเยอะ

ภาพที่ได้เลยดูมัวๆ ให้อารมณ์แบบคนเบลอๆไปอีกแบบ

ตรงนี้เป็นด้านใต้ของ St.John’s Peak ครับ

Follow the white rope

“เดินไปตามเชือกสีขาว” เป็นประโยคที่บิลลี่ ไกด์ของผมบอกเอาไว้ตั้งแต่เริ่มต้นออกเดินจาก Laban Rata

เชือกสีขาวที่ถูกขึงเอาไว้ตลอดทางนับตั้งแต่จากที่พักที่ Laban Rata มีเอาไว้เพื่อเป็นเชือกนำทางให้นักเดินเขาในตอนเช้าที่ขึ้นสู่ยอด และเอาไว้เป็นเชือกกันหลงทางในยามที่หมอกจับตัวกันอย่างหนาแน่น

South Peak (3,922 m.)

จริงๆถ้าพูดถึงยอดเขาคินาบาลูแล้ว ยอดที่ดังที่สุดกลับไม่ใช่ Low’s Peak ที่เป็นจุดสูงสุดครับ

ยอด South Peak ต่างหากที่ดังกว่าใครเพื่อน

ตอนขาเดินขึ้นมา ตอนช่วงที่เราผ่าน South Peak มันจะยังมืดอยู่ครับ ยังไม่รู้เลยว่าตรงไหนเป็นอะไร

ส่วนใหญ่ทุกคนจะมาเห็นมันแบบเต็มๆตาก็ตอนช่วงขาลงนี่แหละ

ยอด South Peak จริงๆแล้ว ไม่ต้องถ่อมาดูถึงที่คินาบาลูก็ได้ครับ

แค่หยิบแบงค์ 100 RM มาเราก็เห็นกันแล้ว เหนื่อยน้อยกว่าด้วย 555+

ดาไลลามะ บอกว่า “ในทุกๆหนึ่งปี ให้เราทุกคนออกเดินทางไปที่ๆยังไม่เคยไปอย่างน้อยหนึ่งแห่ง”

และปีนี้ผมเลือกที่จะมาที่คินาบาลู สถานที่ๆให้ความรู้สึกเหมือนกับอยู่บนดาวอังคาร

ที่นี่ ถ้าอยากทำอะไรให้รีบทำนะครับ

หมอกมันมาเร็วมาก ถ้าทำอะไรช้าไปนาทีเดียว ยอด South Peak ที่เราอยากจะถ่ายรูปด้วยอาจจะไม่อยู่ให้เราถ่ายอีกแล้ว T_T

หมุดหลักกิโลเมตรที่ปะให้เราดูตลอดทางครับ

Donkey Ears Peak (4,054 m.)

เป็นอีกหนึ่งยอดที่ขึ้นชื่อของคินาบาลู เพราะชื่อแปลกและมีรูปร่างเหมือนใบหูของลา

พอฝนตกเมื่อไร หินแกรนิตบนนี้จะลื่นมากกกก

เราจำเป็นต้องใช้เชือกเพื่อพยุงตัวไม่ให้ลื่นไถลไปเหมือนกับใส่สเก็ตน้ำแข็งโดยไม่จำเป็นครับ

Tunku Abdul Rahman Peaks (3,948 m.)

อันนี้คือยอดแรกที่เราจะเดินผ่านในขาขึ้นจากจุด check point ที่ Sayat-sayat

Commando Cauldron

ตรงช่องว่างระหว่าง Donkey Ear peak กับ Tunku Abdul Rahman Peaks

จะมีช่องทางลงสู่หุบเบื้องล่างที่ชื่อ Low’s Gully ซึ่งอันตรายอย่างสุดๆ เอาไว้ให้ผู้กล้าท้าความตายไปพิสูจน์

Into Thin Air

เมื่อเราเดินทะลุเมฆขึ้นมาในขาขึ้น เราก็ต้องเดินทะลุเมฆกลับลงไปในขาลง

บรรยากาศยังกะในหนัง Mission to Mars

ที่ราบสูงหินแกรนิตแห่งยอดเขาคินาบาลู

ต้องบอกเลยว่าเดินค่อนข้างง่ายมากนะครับ

ตอนขาขึ้นตรงนี้จะมืดมาก สิ่งที่เราต้องทำคือเดินไปตามเส้นเชือกโดยใช้ไฟฉายที่คาดอยู่บนหัวของเรานำทาง

บางช่วงทางก็จะชันมาก นอกจากขาทั้งสองข้างแล้ว มือทั้งสองข้างก็เอามาใช้จับเชือกแล้วดึงตัวเองขึ้นไป

Sayat-Sayat hut (3,668 m.)

จุด Check-point ในตอนขาขึ้น เราต้องเอาตัวบัตร climbing permit มาโชว์ให้เจ้าหน้าที่ดูและรวมถึงในตอนขากลับด้วย

เป็นการเช็คจำนวนยอดของนักปีนเขาไปในตัว เพื่อป้องกันกรณีที่เกิดการสูญหายของบุคคลในระหว่างวันครับ

Sayat-Sayat hut

หลังจากผ่านจาก Sayat-Sayat hut แล้ว

ทางเดินจะเปลี่ยนไปมีทั้งลูกผสมบันไดและก้อนหิน

และทางบางช่วงก็ชันและลื่นอีกตามเคย ก็ต้องต่อแถวค่อยๆผลัดกันลงไปทีละคน

อันไหนที่ชันมากหน่อย ก็จะมีบันไดที่ทำเอาไว้อย่างดีครับ

ตอนขาขึ้นนี้แทบไม่รู้เลยว่าอะไรเป็นอะไร จะได้เห็นอะไรเต็ม

ในช่วงขาขึ้นตอนตีสามนั้น เราไม่รู้เลยว่าทางเดินสภาพเป็นอย่างไร ชันแค่ไหน เยินแค่ไหน กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ตอนขาลงนี้ละครับ

ทางเดิน บันได ทางเดิน บันได สลับกันแบบนี้ไป

ถ้ามองจากในภาพ จุดปลายสุดของบันไดที่เห็นก็คือประตูทางเข้าที่ราบสูงแห่งคินาบาลูนั่นเอง

ฝนตกอีกครับ เปียกแบบแฉะๆ แต่ถ้ามาถึงขนาดนี้ได้แล้ว

ของแค่นี้จิ๊บจ๊อยมาก

ลงบันไดไปแบบรัวๆ ใครไม่ชอบบันไดก็ร้องจ๊ากกันละทีนี้

มาถึงประตูทางขึ้นแล้ว หรืออีกความหมายนึงก็คือมันคือประตูสู่ทางลงนั่นเอง

สรุปผมใช้เวลาในการเดินขึ้นคือ 3.5 ชั่วโมง และเวลาในขาลง 2 ชั่วโมงครับ

ในตอนนี้เราต้องเดินกลับไปที่พักที่ Laban Rata เพื่อกินอาหารเช้าของที่พักแบบบุฟเฟต์

เติมพลังเฮือกสุดท้าย และที่สำคัญที่สุดคือต้อง check-out ก่อน 10.30 am นะครับ

ถ้าใครไปช้ากว่านี้เขาคิดเพิ่มชั่วโมงละ 100 RM ที่ต้องรีบเพราะเขาต้องเตรียมห้องไว้สำหรับกลุ่มใหม่ที่กำลังจะเดินมาถึงในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้แล้ว

เจ้ามาทางไหน เจ้าก็เดินกลับไปทางนั้น

ในชีวิตช่วงขาขึ้นเราจะดี๊ด๊าไปกับสิ่งใหม่ๆที่กำลังรออยู่ตรงหน้า

แต่กับในชีวิตช่วงขาลง ชีวิตเราจะด่ำดิ่งสู่ก้นบึ้งอย่างไม่ได้เงยหน้ามองฟ้ากันเลยทีเดียว

เช่นเดียวกับตอนขาขึ้นที่เราไม่เคยเห็นทางลง ในตอนขาลงชีวิตเราจะไม่ได้เห็นทางขึ้นอีกเลย

เวลาเดินไปให้ดูลูกหาบไปครับ เราจะได้มีแรงมากขึ้น

เดินทางมาถึงภาพสุดท้ายของผมบนนี้

เพราะว่าวินาทีหลังจากนี้ไป พายุฝนก็ได้เทกระหน่ำจนทุกอย่างกลายเป็นสายน้ำ กล้องไม่สามารถเอาขึ้นมาใช้ได้อีกต่อไป

ผมได้แต่ก้มหน้าก้มตาเดิน ใช้สมาธิกับเท้าที่ต้องก้าวลงไปเรื่อยๆ ตอนขึ้นก็เมื่อย แต่ตอนลงเมื่อยยิ่งกว่า ทุกๆครั้งที่เท้าแตะพื้นมีแต่เสียงร้องอ๊าคในใจว่าเมื่อไรจะถึงพื้นเสียที 555+

คินาบาลู (Kinabalu) อาจจะไม่ใช่ยอดเขาที่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับรุ่นพี่อย่างหิมาลัยที่เนปาล แต่จากความรู้สึกของผมที่เคยไปมาทั้งสองที่

ผมบอกได้เลยว่าคินาบาลูไม่เหมือนใครและก็หายากที่จะมีใครมาเหมือน ภาพของลานหินแกรนิตขนาดใหญ่กับยอดเขาต่างๆบนนั้นสร้างความประทับใจให้ไม่รู้ลืม

การมีเพื่อนสักคนมาเดินด้วยกันที่นี่กลับไปรับรองว่าจะสนิทและก็รักกันมากขึ้น ใครมีแฟนพาแฟนมา ใครมีพ่อแม่ก็พาท่านมาได้แต่อย่าหักโหม มีลูกก็แบกกันขึ้น จะได้ไปฟินพร้อมๆกันนะครับ

นอกเหนือจากร่างกายและจิตใจที่เราได้จะรับการทดสอบจากธรรมชาติแล้วนั้น ความกล้าที่่ออกมาเดินทางเพื่อหาประสบการณ์ใหม่ก็เป็นสิ่งที่เราจะได้รับตอบแทนกลับไป

คินาบาลูยังตั้งอยู่ตรงนี้ไม่ไปไหนอีกนานแสนนาน แต่พวกเราจะได้กลับมาอีกครั้งตอนไหนเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ แต่ผมบอกได้เลยว่า

“คินาบาลู ครั้งเดียวไม่พอแน่นอน”

Special thanks to


หากใครสนใจอุปกรณ์การเดินทาง เป้แบคแพค เสื้อแจ็คเก็ตกันลมกันฝน เสื้อขนเป็ด ลองจอน ถุงมือกันหนาว กระเป๋าใส่เงินกันขโมย
สามารถเข้าไปเลือกชมสินค้าได้ที่ ร้านของพวกเรา The Puffin House