จัดของใส่เป้พร้อมลุยคินาบาลู (Kinabalu) & รินจานี (Rinjani)
บทความนี้จะพูดถึงการจัดของเอาไปที่ภูเขาสองลูกที่กำลังเป็นที่นิยมในการเดินทางของคนไทยในเวลานี้เลยครับ และยังสามารถนำไปใช้ได้กับเขาลูกอื่นๆได้อีกเช่นเดียวกัน
เป้ (Backpack)
เนื่องจากเราต้องแบกของเองทั้งหมด เป้ที่เอาไปก็ควรจะใส่ของไม่เกิน 7-10 กิโลกรัมขึ้นกับขนาดและความแข็งแรงของร่างกาย และทริปส่วนใหญ่จะประมาณ 4-5 วัน ดังนั้นเอาเป้ไปใบเดียวพอครับ ใช้เป็นทั้ง Day pack และ Backpack ในเวลาเดียวกัน
ถ้าเป็นคนไทยทั่วๆไปผู้ชายที่สูง 175 cm หรือผู้หญิงที่สูง 165 cm น้ำหนักที่เหมาะสม และไม่ทำให้ร่างกายหรือบ่าร้ามากเกินไปนักคือราวๆ 7-8 กิโลกรัม ซึ่งเป็นน้ำหนักที่พอดีมากสำหรับการเดินทางประมาณ 2-3 วันที่รินจานี (Rinjani) หรือคินาบาลู (Kinabalu)
เป้ (Backpack) ที่เหมาะสมขนาดก็จะอยู่ในช่วงระยะ 24-32 ลิตรครับ ซึ่งถือว่ากำลังดี ไม่ใหญ่หรือไม่เล็ก เหมาะกับการเดินทางช่วงสั้นๆที่ของไม่มากและต้องการความกระฉับกระเฉงในการเดิน
และเป้สำหรับทริปเดินเขาที่มักจะชุ่มฉ่ำไปด้วยพายุหรือฝนที่พร้อมจะกระหน่ำเราตลอดเส้นทางในคินาบาลู (Kinabalu) หรือรินจานี (Rinjani) ควรจะกันน้ำได้ (Waterproof) หรือมีผ้ากันฝน (Rain cover) ติดมาด้วยครับ
แนะนำเป้ที่น่าเอาไปใช้
Deuter Act-Trail มีทั้งรุ่น 24 กับ 28 ลิตร
เป้รุ่นนี้ดีตรงที่ขนาดที่ไม่ใหญ่เหมาะกับการเดินทางในระยะเวลาไม่เกิน 5 วันได้เป็นอย่างดี และตัวเป้ถูกออกแบบเพื่อใช้สำหรับการเดินเขาหรือปีนเขาโดยเฉพาะ โครงสร้างระบบ support ที่หลังจึงออกแบบได้อย่างเหมาะเจาะ มาพร้อมกับช่องข้างเอาไว้ใส่ขวดน้ำ และสามารถใส่ water bag ได้ครับ มีห่วงเอาไว้สำหรับคล้องไม้เท้าเดินเขาได้ และมี rain cover ติดมาให้กับตัวเป้เลย การใช้เป้ที่ดีจะช่วยทำให้การเดินเขาของเราฟินขึ้นอย่างมาก
Osprey Kestrel 32 เป้ขนาด 32 ลิตร
เป้อีกรุ่นหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ Osprey Kestrel 32 เป้อาจจะขนาดใหญ่ไปนิดนึง แต่ด้วยยี่ห้อขอ Osprey แล้ว ชื่อนี้ไม่เคยทำให้ผิดหวังครับ
Columbia TRAIL PURSUIT™ 30L เป้ขนาด 30 ลิตร
อีกรุ่นที่น่าสนใจก็เป็นของยี่ห้อ Columbia ครับ ขนาด 30 ลิตรก็กำลังโอเคเลย
เอาอะไรใส่ไปในเป้ (Backpack) ดี???
มีกฎข้อเดียวสำหรับคินาบาลู (Kinabalu) หรือรินจานี (Rinjani) คือ “ห้ามแบกบ้านไปด้วย”
ของอะไรที่ไม่มีประโยชน์ให้โยนไว้ที่บ้านครับ เอาไปเท่าที่จำเป็นและจะได้ใช้จริง ทุก 1 กิโลกรัมที่เกิดขึ้นบนภูเขามันจะรู้สึกหนักเหมือนมากขึ้น 10 กิโลกรัม!!!
หลักการจัดของคือ เอาของที่สามารถใช้ประโยชน์ได้หลายๆอย่างในเวลาเดียวกัน เช่น เสื้อก็สามารถเอาไปใส่ตอนเดินหรือนอนในเวลาเดียวกัน เสื้อกันฝนเอาไว้ใส่กันฝนตอนช่วงแรกๆหรือเอาไปใส่กันลมตอนเดินขึ้นยอดได้ในเวลาเดียวกัน อะไรแบบนี้ครับ เอาละมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
เรื่องของการจัดเสื้อผ้า สามารถไปอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ ชุดพร้อมลุยคินาบาลู (Kinabalu) & รินจานี (Rinjani)
อะไรที่ควรอยู่ในเป้ (นอกเหนือจากเครื่องแต่งกายแล้ว)
- ขนม (High-energy bar)
- จะเป็น Chocolate, Energy bar หรืออะไรก็ได้ที่กินแล้วได้พลังงานอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องเอามาเยอะนะครับ ติดมาพอเล็กน้อยเท่านั้น เพราะอาหารที่มีให้กินแน่นอนทุกมื้อ เราจะกินมันก็ตอน
- ขวดน้ำที่เก็บน้ำร้อนได้ (Water bottle)
- อันนี้สำคัญมากเลยครับ ในตอนวันขึ้นยอด Low’s Peak ที่คินาบาลู (Kinabalu) จะมีแต่น้ำร้อนให้เติมที่โรงแรม หากเรามีพวกขวดน้ำพลาสติกจะไม่สามารถบรรจุน้ำร้อนได้ครับ คือต้องหาขวดอะไรมารองน้ำก่อนแล้วเอาไปตากลมหนาวๆข้างนอกจนเย็นก่อนจึงเทกลับมาใส่ขวดพลาสติกอีกครั้งลำบากมากครับ หาขวดน้ำไปเลยดีกว่า
- เม็ดทำให้น้ำสะอาด (Water purification tablets)
- อันนี้สำคัญมากในเส้นทางคินาบาลู (Kinabalu) เพราะเราต้องรองน้ำจากภูเขามากินตลอดทางซึ่งไม่สะอาด (Untreated water) และการกินน้ำให้ได้เกินวันละ 2 ลิตรเป็นอะไรที่สำคัญมาก
- ในเส้นทางรินจานี (Rinjani) จะมีลูกหาบแบกน้ำให้ น้ำสะอาดไหม อันนี้บอกยากครับ แต่ถ้าถามความรู้สึกและสิ่งที่เห็น ไม่สะอาด 100% แน่ๆ
- พวกเม็ดที่ทำให้น้ำสะอาดมีอยู่หลายชนิดและหลายยี่ห้อมากๆ ลองดูเม็ดนี้ได้ที่นี่ครับ
- ครีมกันแดด (Sunblock)
- แดดแรงมากครับ ทั้งสองเส้นทางเลย ให้เอาแบบ SPF 50 มาเลย ทาให้หมดทั้งที่หน้าหรือตามแขนครับ กลับมาเพื่อนๆจะทักเราแน่นอนว่าทำไมหน้าเหมือนไกด์ท้องถิ่นเลย
- นกหวีด (Whistle)
- ดูเหมือนๆจะไม่มีประโยชน์ แต่ผมเห็นหลายๆติดมันไว้กับเสื้อแจ๊คเก็ตตัวนอกครับ เส้นทางรินจานี (Rinjani) ทางค่อนข้างชัดเจนโอกาสหลงยาก แต่คินาบาลู (Kinabalu) นี่มันเป็นที่ราบขนาดใหญ่บนยอดเขา โอกาสคลาดกับเพื่อนได้ครับถ้าวันที่หมอกลงจัดมากๆ
- ไฟฉายคาดหัว (Headlight)
- อันนี้สำคัญมากในวันที่จะขึ้นสู่ยอดทั้งคินาบาลู (Kinabalu) และรินจานี (Rinjani) ครับ เพราะเราต้องตื่นกันตอนประมาณตีหนึ่งกว่าๆแล้วก็ออกเดินครับ
- มีไฟฉาดคาดหัวหลายยี่ห้อ ไม่แนะนำชนิดถือนะครับ เพราะว่าเราต้องใช้มือทั้งสองข้างในการปีนป่ายหรือจับไม้เท้าเดินเขา คาดหัวไปเลยสะดวกกว่ามากครับ
- ไฟฉายที่ยอดนิยมก็ยี่ห้อ Petzl ครับ ความสว่างของหลอดไฟ อย่างต่ำควรมี 80 Lumen เป็นอย่างน้อยครับ
- ไม้เท้าเดินเขา (Trekking pole)
- ทั้งที่รินจานี (Rinjani) และคินาบาลู (Kinabalu) การมีไม้เท้าเดินเขาเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้ข้อเข่าเราเสื่อมก่อนกำหนด
- ไม้เท้าหนึ่งข้างสามารถช่วยประคองน้ำหนักให้เข่าได้ถึง 20% อีกทั้งยังสามารถใช้มันเป็นตัวเช็คสภาพทางเดินก่อนก้าวเท้าในช่วงที่ฝนถล่มจนเส้นทางเปียกเละเทะได้อีกครับ
- การเลือกความยาวของไม้เท้า (Trekking pole) มีความสำคัญมากนะครับ ให้ดูจากตารางนี้โดยประมาณ เช่นถ้าเราสูงประมาณ 170 cm ความยาวของไม้เท้าต้อง 115 cm เป็นอย่างน้อย ถ้าเลือกไม้เท้าที่ไม่พอดี แทนที่จะทำให้เดินง่ายขึ้นกลายเป็นลำบากขึ้นไปอีก
- ผ้าคลุมกันฝน (Rain cover)
- เอาไปให้หมดนะครับ คลุมเป้ คลุมตัวอะไรก็ว่าไป อันนี้จำเป็นมาก เพราะที่รินจานีกับคินาบาลู ฝนตกง่ายมาก และฝนหลงฤดูบ่อยมากครับ
- ถ้าไม่แน่ใจว่า jacket กันลมกันฝนที่เรามีมันกันได้ดีขนาดไหน ก็ให้แวะไปที่ 7-11 ข้างบ้านท่านแล้วก็ซื้อเสื้อกันฝนพลาสติคบ้านๆมาเก็บไว้สวมทับอีกครั้งกันเหนียวเอาไว้ก่อนครับ ลองดูได้ที่นี่นะครับ
ยาที่แนะนำควรติดเอาไปตอนเดินเขาด้วย
ไม่ได้เป็นสูตรตายตัว เป็นแค่อีกหนึ่งคำแนะนำนะครับ (วิธีการรับประทาน โปรดปรึกษาแพทย์ของท่าน)
- ยาแก้ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อขาทั้งสองข้างจะระบมอย่างหนักในแต่ละวัน สำหรับคนทั่วๆไป แนะนำให้ติดยามาดังนี้นะครับ
- ชนิดกิน : Diclofenac, Meloxicam
- ชนิดทา : แนะนำ Uniren spray
- ยาแก้ท้องเสีย เนื่องจากโอกาสท้องเสียมีค่อนข้างมากจากการกินน้ำไม่สะอาดบนภูเขา (ผมเองยังเป็นเลย – -“) ให้เริ่มทานได้เมื่อมีอาการปวดบิดท้อง และมีท้องเสียร่วมด้วย
- ยาฆ่าเชื้อ : Norfloxacin
- เกลือแร่ : ORS
- ยาแก้ปวดท้อง : Buscopan
- ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน : Domperidone
- ยาป้องกันโรคแพ้ความสูง (High altitude illness) ขนาดยาการรับประทานให้ปรึกษาแพทย์
- สำหรับป้องกัน : Diamox
- สำหรับรักษา : Diamox