นพ.อรรควิชญ์ หาญนวโชค
วว.เวชศาสตร์ป้องกัน (เวชศาสตร์การเดินทาง), อายุรศาสตร์เขตร้อนคลินิกมหาบัณฑิต , Certificate in Travel Health™
โรคจากการขึ้นที่สูง (Altitude sickness หรือ Altitude illness หรือ Mountain sickness)
เป็นกลุ่มอาการความผิดปกติที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเดินทางไปอยู่ในพื้นที่ๆมีความสูงตั้งแต่ประมาณ 2,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป โดยชื่อโรคจากการขึ้นที่สูง ปัจจุบันยังไม่มีชื่อเรียกที่เฉพาะ ภาษาอังกฤษของโรคนี้จะเรียกว่า “Mountain sickness” หรือ ‘Altitude sickness” หรือ “Altitude illness” ก็ได้ ซึ่งถือว่าเข้าใจได้ตรงกัน
พื้นที่สูงหลายๆแห่งของโลกใบนี้ เป็นพื้นที่ๆถือว่าเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมากัน เช่น หลังคาโลกทิเบต การไปเดินเขาแถบเทือกเขาหิมาลัยที่ประเทศเนปาล หรือการไปยังมาชูปิคชูในประเทศเปรู ซึ่งความสูงในสถานที่ต่างๆเหล่านี้ถือว่าเพียงพอที่จะทำให้นักเดินทางผู้มาเยือนจากพื้นที่ราบน้ำทะเล เกิดความผิดปกติของร่างกายในระบบต่างๆได้
สูงเท่าไหน จึงเรียกว่าสูง
ระดับความสูงที่เพียงพอที่จะทำให้คนส่วนใหญ่เริ่มเกิดอาการแพ้ความสูงขึ้นได้จะอยู่ที่ประมาณ 2,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป ทีนี้ลองมาดูตัวอย่างสถานที่เที่ยวต่างๆที่มีความสูงเกินระดับนี้กันครับ
- กรุงเทพมหานคร ความสูง 0 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล
- ภูกระดึง จังหวัดเลย ความสูง 0 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล
- ยอดดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ความสูง 2,565 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล
- เมืองเลห์ (Leh) ประเทศอินเดีย ความสูง 3,500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล
- ยอดเขาคินาบาลู (Kinabalu) ประเทศมาเลเซีย ความสูง 4,096 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล
- ทะเลสาบปันกอง (Pangong) ประเทศอินเดีย ความสูง 4,500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล
- เอเวอเรสต์ เบส แคมป์ (Everest Base camp) ประเทศเนปาล ความสูง 5,350 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล
ทำไมถึงป่วย เวลาอยู่ที่สูง
เชื่อกันว่า เกิดจากการที่ความดันอากาศของก๊าซออกซิเจนในชั้นบรรยากาศที่ลดลง (แปรผันกับระดับความสูงที่มากขึ้น) ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ ถ้าเราไปยืนอยู่บนยอดเขาคิลิมานจาโร ประเทศแทนซาเนีย ที่ระดับความสูงประมาณ 5,800 เมตร ความดันออกซิเจนในอากาศตอนนั้นจะมีเพียงประมาณ 50% เมื่อเทียบกับการที่เราอยู่ที่กรุงเทพ
เมื่อความดันออกซิเจนลดลง ความดันออกซิเจนที่เราหายใจเข้าไป รวมถึงในเลือดก็จะลดลงไปตามกัน ทั้งหมดจึงส่งผลให้เกิด ภาวะร่างกายขาดออกซิเจน (Hypoxia) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาต่างๆที่จะกล่าวถึงต่อไป
อาการของโรคจากการขึ้นที่สูง
โดยปกติถ้าเรามีเวลาให้ร่างกายอย่างเพียงพอเมื่อขึ้นสู่ที่สูง คือ ค่อยๆขึ้นอย่างช้าๆ ไม่ควรเปลี่ยนความสุงของที่นอนในแต่ละคืนมากเกินไป ร่างกายเราจะค่อยๆปรับตัวเข้ากับความดันบรรยากาศใหม่ๆ และระบบต่างๆของร่างกายจะดำเนินไปได้อย่างปกติ แต่ถ้าร่างกายเราปรับตัวไม่ทัน อาการต่างๆก็จะเริ่มแสดงให้เห็น ซึ่งโรคจากการขึ้นสู่ที่สูง จะมีกลุ่มอาการย่อย 3 ชนิดที่เราควรจะต้องเข้าใจและรู้วิธีป้องกัน คือ
- Acute Mountain Sickness (AMS) หรือโรคที่เรารู้จักกันดี เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุด จากงานวิจัยพบว่านักเดินทางไปมีอาการป่วยเป็นโรคประมาณ 20% เมื่อเดินทางไปท่องเที่ยวยังที่สูง เป็นโรคที่มีความรุนแรงไม่มาก โดยนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งจะมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ซึ่งเป็นอาการเด่นของภาวะนี้ อาการอื่นๆที่พบได้คือ นอนไม่หลับ เหนื่อย หายใจเร็ว โดยอาการต่างๆเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นหลังจากขึ้นไปที่สูงประมาณ 4-10 ชั่วโมง หรือในคืนแรกที่เดินทางไปถึง และร่างกายจะค่อยๆปรับตัวได้เองภายใน 1-2 วัน
- High Altitude Cerebral Edema (HACE) หรือภาวะสมองบวมจากการอยู่ในพื้นที่สูง เป็นภาวะที่เกิดต่อเนื่องจากภาวะ AMS โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน เดินเซ เห็นภาพซ้อน ถ้ามีอาการรุนแรงมากจะมีชัก หมดสติ จนถึงเสียชีวิตได้
- High Altitude Pulmonary Edema (HAPE) คือภาวะปอดบวมน้ำจากการอยู่ในพื้นที่สูง เป็นภาวะที่รุนแรงซึ่งอาจเกิดขึ้นเดี่ยวๆหรือเกิดขึ้นร่วมกับภาวะ HACE ก็ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก อยู่เฉยๆก็เหนื่อย ภาวะนี้ทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นถ้าเกิดภาวะดังกล่าวขึ้น
แนวทางการป้องกันโรคจากการขึ้นที่สูง
แนวการทางการป้องกันจะแบ่งได้ 2 แบบ คือ
- แผนการเดินทางต้องเหมาะสม
- การใช้ยาทานเพื่อช่วยให้ร่างกายปรับตัวได้เร็วขึ้น
โดยจะขออธิบายรายละเอียดด้านล่างนี้
แผนการเดินทางที่เหมาะสม
- ไม่แนะนำให้ใช้การเดินทางด้วยเครื่องบินไปยังพื้นที่สูง ถ้าสามารถทำได้เช่น การนั่งเครื่องบินจากนิวเดลี (New Delhi) ไปยังเมือง (Leh) ซึ่งมีความแตกต่างของความสูงประมาณ 3,300 เมตร มีโอกาสความเสี่ยงที่ร่างกายจะปรับตัวได้ไม่ทันจนทำให้เกิดอาการป่วยได้สูง ทางที่ดีควรจะใช้การเดินทางด้วยรถยนต์ซึ่งจะค่อยๆไต่ระดับความสูงไปเรื่อยๆในระยะเวลา 2 วัน จะมีความปลอดภัยมากกว่า
- ไม่ควรเปลี่ยนระดับความสูงในโรงแรมที่นอนแต่ละมากเกินกว่า 300 เมตร ต่อวัน
- ควรจะต้องมีวันพัก (resting day) เอาไว้ในระหว่างการเดินทาง เพื่อให้ร่างกายได้มีเวลาปรับตัวเพิ่มเติม
- มีทีมสนับสนุนหรือเพื่อนร่วมทาง ไม่ควรเดินทางคนเดียว เนื่องจากเวลาเกิดอาการความผิดปกติ เราจะไม่มีคนช่วยเหลือ วิธีที่ดีที่สุดคือการมีไกด์ท้องถิ่นที่มีความชำนาญในเส้นทางไปด้วย
การใช้ยาทานเพื่อช่วยให้ร่างกายปรับตัวได้เร็วขึ้น
- ปัจจุบัน มียาที่มีผลรับรองทางวิทยาศาสตร์ว่าสามารถช่วยทำให้ร่างกายปรับตัวได้เร็วขึ้นเมื่อเราเดินทางไปที่สูง (Acclimatization) ยามีชื่อว่า “Diamox” หรือชื่อสามัญคือ Acetazolamide
- ยา Diamox เป็นยาที่ไม่ได้มีใช้ทั่วไป แต่เป็นยาที่มีประโยชน์ในการรักษาหลายอย่าง เช่น มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ สามารถลดความดันตา ใช้รักษาโรคต้อหิน และสามารถใช้ป้องกันรวมถึงรักษาภาวะ Acute mountain sickness
- ยา Diamox ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มซัลฟา (Sulfa allergy)
- สามารถอ่าน บทความนี้ เพิ่มเติมในเรื่องของยา Diamox ได้ครับ