เรื่องที่ห้ามไม่รู้ ถ้าคิดจะไป Trekking กับอาการแพ้ความสูง

0
8491

Survival Guide : “Mountain Sickness”

กำลังจะเข้าฤดูกาลเดินเขาที่เนปาลกันแล้ว และคนไทยจำนวนมากกำลังจะไปที่นั่น มีอยู่อย่างเดียวที่คนไทยทุกคนต้องมีความรู้ในการป้องกันและการรักษาเบื้องต้นได้ครับนั่นคือ กลุ่มอาการเล่นของสูง เอ้ย แพ้ความสูง ต่างหากละครับ

ผมได้รับคำถามมามากมาย วันนี้ผมขอเอามาเล่าให้ฟังแบบเข้าใจง่ายๆนะครับ อาการนี่เกิดเฉพาะคนที่ชอบเล่นของสูงเท่านั้น อยู่บนที่ราบแบบประเทศไทยไม่มี โดยจะเน้นเฉพาะกลุ่มเดินเขาเป็นหลักนะครับ พวกนักปีนเขาจะมีรายละเอียดที่มากขึ้นเอาไว้พูดคุยกันทีหลัง

พื้นที่ๆคนไทยไปเที่ยวกันมาก แล้วมีโอกาสเกิดอาการนี้คือ

  • การไปเดิน Trekking ที่เนปาล โดยเฉพาะฝั่งด้าน Everest
  • การไป Machu Pichu ที่เปรู โดยไม่ได้วางแผนให้ดีก่อน
  • ไปเที่ยวอินเดียในส่วนของ Leh และ Ladakh
  • บินตรงจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ากรุง Lhasa

อาการเป็นยังไง?

ความรู้สึกทุกอย่างที่ไม่ปกตินั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าเรากำลังถูกอากาสแพ้ความสูงจู่โจมเข้าให้แล้ว

  • อาการจะเริ่มต้นแบบง่ายๆ เช่น เหนื่อยง่าย ปวดหัว เวียนหัว นอนไม่หลับ และอาการรู้สึกไม่สบายตัวอื่น อาการเหมือนคนกินเหล้ามาแล้วมันแฮงค์ๆอยู่ แบบนั้นละใช่เลย
  • แต่ถ้าอาการเริ่มเป็นรุนแรงขึ้นจะเป็นพวก ซึมลง ปวดหัวรุนแรง เดินเซ อาเจียน
  • ถ้ารุนแรงไปอีก ก็จะหายใจลำบาก หมดสติ ไรแบบนี้เลยครับ

อาการจะเริ่มเกิดที่ระดับความสูงมากกว่า 2,500 เมตร ขึ้นไป แต่อาการจะเริ่มเห็นได้ชัดที่ความสูง 3,000 เมตร ขึ้นไปครับ


เตรียมตัวและวางแผนไงดี?

เมื่อเราเข้าสู่พื้นที่มีระดับความสูงมากกว่า 2,750 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลเป็นต้นไป

  1. ให้ค่อยๆไต่ระดับขึ้นไป ความสูงไม่ควรแตกต่างกันเกิน 500 เมตรในแต่ละวัน
  2. ทุกๆระดับความสูง 1,000 เมตรที่ผ่านไป ให้เราพักอยู่ที่ระดับความสูงนั้นๆ 1-2 วันเพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัว เรียกว่า “Acclimatization”
  3. หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องบินขึ้นที่ราบสูงทันทีเช่น จาก Beijing ไป Lhasa หรือจาก Lima ไป Cusco
  4. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกฮอล์เป็นส่วนผสมใน 2 วันแรก
  5. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หักโหมใน 2 วันแรก
  6. ใช้ยาป้องกัน จะขอพูดด้านล่างครับ

ควรใช้ยาป้องกันหรือไม่

ผมขอสรุปคนที่ควรจะใช้ยาป้องกันมีดังนี้คือ

  1. เคยมีอาการแพ้ความสูงมาก่อนในอดีต ร่วมกับต้องขึ้นพื้นที่สูงมากกว่า 2,500 เมตรใน 1 วัน
  2. เคยมีอาการแพ้ความสูงชนิดรุนแรงมาก่อนในอดีต
  3. ผู้ที่ต้องขึ้นสู่พื้นที่สูงมากกว่า 2,800 เมตรใน 1 วัน เช่น กรณีบินจาก Beijing มาที่ Lhasa
  4. ผู้ที่เปลี่ยนระดับความสูงอย่างรวดเร็วทุกวัน เช่น ปีนขึ้นยอด Kilimanjaro ภายในเวลาน้อยกว่า 7 วัน
  5. ผู้ที่เปลี่ยนระดับความสูงมากกว่า 500 เมตรต่อวัน โดยที่ไม่มีวันพัก (No Acclimatization)

 

ยาที่ใช้ป้องกันได้คือ Acetazolamide (ชื่อการค้าคือ Diamox)

ขนาดยา

เม็ดขนาด 125 mg 1 เม็ดต่อทุก 12 ชั่วโมง ถ้ายาที่ซื้อมาขนาด 250 mg ก็ให้กินครึ่งเม็ดแทนครับ

กินอย่างไร

  • กินก่อนขึ้นภูเขาสูง 24 ชั่วโมง (ยังอยู่พื้นที่ราบ)
  • หลังจากเข้าสู่พื้นที่แล้วให้กินต่ออีก 2 วัน
  • ในกรณีที่ความสูงไม่ได้เปลี่ยนหรือลดลง ให้หยุดกินได้ครับ
  • ในกรณีที่ยังคงเดินขึ้นสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ให้กินแบบเดิมต่อไป อย่าหยุด

ผลข้างเคียง

  • ลิ้นจะรับรสผิดไปชั่วคราว (บางคน)
  • ฉี่แตกทั้งคืน (บางคน)

ข้อห้าม

  • ห้ามใช้ในคนที่แพ้ยา Sulfa

ถึงจะกินยาป้องกันแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เป็น ถ้าเป็นแล้วควรจะทำอย่างไรดี


เราทำอะไรได้บ้างเมื่อมีอาการเหล่านี้แล้ว?

ถ้าเป็นแบบไม่รุนแรง

  1. ให้หยุดอยู่ที่ระดับความสูงเดิม และนอนพัก จะเริ่มช่วยบรรเทาอาการได้
  2. ออกซิเจนกระป๋อง ช่วยได้เนื่องจากในที่สูงอากาศจะน้อย การหายใจทำได้ไม่เต็มที่
  3. กินน้ำเยอะๆ อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ
  4. Acetazolamide (Diamox) เจ้าเก่าแต่เพิ่มขนาดยา กินขนาด 250 mg ทุกๆ 12 ชั่วโมง
  5. ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ให้รีบเดินลงพื้นที่ล่างโดยเร็วครับ

ถ้าเป็นแบบรุนแรง (ควรมีแพทย์เป็นผู้ร่วมดูแลแล้ว)

  1. ลง ลง ลง และ ก็ลง ให้เร็วที่สุดและมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (มากกว่า 500-1,000 เมตร)
  2. ออกซิเจนกระป๋อง ช่วยได้เนื่องจากในที่สูงอากาศจะน้อย การหายใจทำได้ไม่เต็มที่
  3. Acetazolamide (Diamox) เจ้าเก่าแต่เพิ่มขนาดยา กินขนาด 250 mg ทุกๆ 12 ชั่วโมง
  4. Dexamethasone ชนิดเม็ด มีขนาด 5, 1 mg หาซื้อยากหน่อย มีตามโรงพยาบาลใหญ่ๆมากเท่านั้นครับ ใช้ในกรณีที่อาการเป็นรุนแรงกินในขนาดยา 4 mg ทุกๆ 6 ชั่วโมงครับ
  5. Nifedipine SR ขนาด 30 mg ทุกๆ 12 ชั่วโมง

กฎสำคัญมากๆที่ต้องจำไว้เสมอ คือ
1.) ถ้ารู้สึกร่างกายไม่สบาย โดยที่หาสาเหตุไม่ได้ นั่นคืออาการของ Mountain sickness
2.) ห้ามเดินขึ้นสูงกว่านี้ถ้าเริ่มมีอาการ
3.) ให้เดินลงทันที ถ้าอาการเริ่มมีมากขึ้น
จำไว้ครับ Don’t die on the mountain” เท่านั้น
Reference : CDC Yellow book version 2016


หากใครสนใจอุปกรณ์การเดินทาง เป้แบคแพค เสื้อแจ็คเก็ตกันลมกันฝน เสื้อขนเป็ด ลองจอน ถุงมือกันหนาว
สามารถเข้าไปเลือกชมสินค้าได้ที่ ร้านของพวกเรา The Puffin House

ติดตามการเรื่องราวการเดินทางของพวกเราได้ที่ >>> https://worldwantswandering.com/