เที่ยวเมืองเก่าภูเก็ต

0
2186

พาเที่ยวภูเก็ตกับ 5 สถานที่ในเขตเมืองเก่า ใครมีโอกาสได้มาภูเก็ตแต่ยังไม่รู้ว่าไปไหนดีในเมืองเก่า ตามผมมาครับกับ 5 สถานที่ๆใช้เวลาประมาณครึ่งวันพอดีครับ

เที่ยวเมืองเก่าภูเก็ต

เมืองเก่าภูเก็ต#1 : เข้าครัวบาบ๋ากับเมนูเลื่องชื่อหมี่ผัดฮกเกี้ยน ต้นตำหรับเมืองทุ่งคา ณ.บ้านเลขที่ 92
บ้านเลขที่ 92 ตั้งอยู่ที่ถนนถลาง ด้านหน้าเป็นร้านกาแฟบรรยากาศแบบบ้านโบราณ ด้านในมีเรื่องราวของบ้านโบราณที่ตกแต่งร้านด้วยของใช้ในสมัยโบราณ ก่อนจะเข้าไปที่ครัวบาบ๋าหลังย้าน ทำอาหารเมนูเลื่องชื่อ หมี่ผัดฮกเกี๊ยนต้นตำหรับเมืองทุ่งคา โดยทางเจ้าบ้านนั้นจะเตรียมวัตถุดิบไว้ให้หมดแล้วครับ หน้าที่ของผมคือผัดและกินเท่านั้น
  • ชุมชน ย่านเมืองเก่าภูเก็ต Old Phuket Town Community


เมืองเก่าภูเก็ต#2 แอนนี่ นางฟ้ากูเจิง

นางฟ้ากู่เจิง Annie Guzheng “นักดนตรีกู่เจิงผู้พิการสายตาคนเดียวของประเทศไทย” แอนนี่บอกว่าหัดกูเจิงเองตนเองทาง Youtube แกะโน๊ตเพลงเองทั้งหมด กู่เจิงคือเครื่องดนตรีจีนปราบเซียนชนิดนี้ที่มีถึง 21 สายทำเอาคนที่เคยหัดเล่นกีต้าร์แล้วล้มเหลวแบบผมอายม้วนเสื่อไปเลย

ใครมาภูเก็ตหลังจากนี้อย่าลืมมาเที่ยวกับชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ตนะครับ จะได้พบกับน้องแอนนี่ด้วย เป็นหนึ่งในโปรแกรมหลักเลยครับ


เมืองเก่าภูเก็ต#3 โรงแรมที่เป็นพิพิธภัณฑ์ หรือ พิพิธภัณฑ์ที่เป็นโรงแรม
“หวู แกลเลอรี่ แอนด์ บูติกโฮเทล (Woo Gallery & Boutique Hotel)”
WOO Gallery & Boutique Hotel,The Old Town, Phuket
ณ บ้านเลขที่ 79 แห่งถนนถลางแห่งนี้ คือสถานที่บ่งบอกว่าผู้คนบนถนนถลางในอดีตนั้นเขาเป็นอยู่กันอย่างไร บ้านที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 103 ปี จะเปิดเผยทุกแง่มุมให้ทุกคนได้เห็นว่าบ้านสไตล์ ชิโน-ยูโรเปียน ในภูเก็ตที่ได้รับอิทธิพลมาจากปีนังนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร
บ้านหลังนี้ในอดีตคือร้านขายนาฬิกานำเข้าจากต่างประเทศ และรับซ่อมนาฬิกา ที่ชื่อร้าน “MOH SENG & Co.” กาลเวลาผ่านไป ผู้สืบทอดบ้านเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ได้เข้ามาดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงบ้านที่เก่าทรุดโทรมให้กลับมามีชีวิต ใครที่ไม่เห็นบ้านที่มีความกว้างเพียงประมาณ 5 เมตร แต่กลับมีความยาวถึง 106 เมตร ก็จะได้เห็นกันที่นี่ ถ้าได้ลองมาเดินในตัวบ้าน เราจะเจอห้องแรกคือห้องรับแขกต่อด้วยห้องพระ และจะทะลุมายังพื้นที่นอกอาคารที่เปิดโล่งเพื่อให้อากาศถ่ายเท ระบายความอับชื้น และนำแสงสว่างให้สาดส่องได้โดยทั่วถึง บริเวณนี้เรียกว่า ‘ฉิ่มแจ้’ ซึ่งบ้านหลังนี้มีถึง 3 ฉิ่มแจ้ (บ้านคนภูเก็ตทั่วๆไปในอดีตมีเพียง 1 ฉิ่มแจ้ เท่านั้น การมีถึง 3 แสดงถึงความเป็นคนมั่งคั่งของคนภูเก็ตในอดีต)
ต้องบอกก่อนว่าอาคารแห่งนี้นั้น มีทั้งโรงแรมที่สร้างสไตล์บูทิค ผสมผสานไปกับพิพิธภัณณ์ที่ประกอบด้วยของจำนวนมากมายที่คุณเผด็จ เจ้าของบ้านแห่งนี้ได้เก็บสะสมไว้ให้เป็นมรดกของคนรุ่นหลัง ไม่ว่าจะเป็น เครื่องดนตรี หีบเพลง ตู้ เตียง แจกัน ฯลฯ อายุอานามหลักสิบถึงร้อยปีทั้งนั้นครับ
ดังนั้น แขกที่มาพักที่นี่ จึงเสมือนหนึ่งได้พักในโรงแรมย่านใจกลางเมืองเก่าที่เสมือนหนึ่งย้อนเวลากลับมา หรือถ้าเป็นคนที่อยากชมเรื่องราวก็จะได้รับความประทับใจและซาบซึ้งไปกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของภูเก็ตอย่างแน่นอนครับ
ท่านที่สนใจอ่านบทความแบบละเอียดเพิ่มเติมได้จาก The Cloud ที่นี่ครับ https://readthecloud.co/woo-gallery-and-boutique-hotel…
WOO Gallery & Boutique Hotel,The Old Town, Phuket

เมืองเก่าภูเก็ต#4 ตำนานขนมพื้นเมือง
เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าภูเก็ตมีขนมพื้นเมืองจำนวนมากที่มีเฉพาะในจังหวัดภูเก็ตเท่านั้นและปัจจุบันการหากินนั้นยากมากๆ ตามร้านทั่วไปไม่มีขายแล้วครับ สำหรับใครที่กำลังจะมาภูเก็ตผมแนะนำให้มาลองชิมขนมพื้นเมืองดูสักครั้ง ตามมาครับ
ที่ถนนกระบี่ มีบ้านโบราณแห่งหนึ่งชื่อว่า I-46 (อ่านว่า ไอ-46) ต้องเรียกว่าเป็นบ้านเพราะเป็นสถานที่ๆมีคนอาศัยอยู่จริงๆ เจ้าของบ้านคือ พี่น้อง เริงเกียรติ หงษ์หยก ทายาทรุ่นที่ 5 ของขุนนิเทศจีนารักษ์ (ต้นตระกูลหงษ์หยกในปัจจุบัน) ผู้ซึ่งได้กลับมาพัฒนาบ้านโบราณแห่งนี้ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตพร้อมต้อนรับแขกด้วย ขนมโบราณของภูเก็ตที่มีชื่อเรียกว่า “ปุ้นเต่โก้ย“
ปุ้นเต่โก้ย“ คำว่า “ปุ้นเต” หมายถึง พื้นเมือง คำว่า “โก้ย” หมายถึง ขนมสด รวมกันเป็น “ปุ๊นเตโก้ย” หมายถึง ขนมสดพื้นเมือง ขนมเหล่านี้ถูกสืบทอดมาจากบรรพบุรุษรุ่นต่อรุ่น แต่ละชนิดมีความโดนเด่นและที่สำคัญชื่อนั้นล้วนแต่ฟังไม่คุ้นหูทั้งนั้น แต่เพราะแบบนี้ละครับ เป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องมาลอง
“โกปี๊ช๊าม” หรือ กาแฟผสมชา
เซล้องอูเล้ง หรือ ชาร้อนแบบภูเก็ต
“ขนมอังกู๊” หรือ ขนมเต่า
“ต๋าวป่าวอ๊ะโก้ย” หรือ ขนมหัวล้าน
“โก้ยตาล้าม” หรือ แป้งกวนนึ่ง
“โกสุ้ย” หรือ ขนมถ้วย
“เตาส้อ” หรือ คล้ายๆขนมเปี๊ยะข้างในไส้ถั่ว
“ซี่เต้าส้อ” หรือ คุ๊กกี้จีน
“ขนมพริก”
ภายในบ้าน I-46 ถือว่าไม่ใหญ่นักมีโต๊ะตั้งอยู่ 3-4 โต๊ะ แต่ให้ความอบอุ่นเป็นกันเอง กินไป ชมบรรยากาศของบ้านไป เพลินไปกับวิถีชีวิตของชาวภูเก็ต ท่านใดมีแพลนจะไปภูเก็ตอย่าลืมแวะมานะครับ

ทางไปร้านครับ

ตำนานขนมพื้นเมือง

  • โกปี๊ช๊าม หรือ กาแฟผสมชา
  • เซล้องอูเล้ง หรือ ชาร้อนแบบภูเก็ต
  • ขนมอังกู๊ หรือ ขนมเต่า
  • ต๋าวป่าวอ๊ะโก้ย หรือ ขนมหัวล้าน
  • โก้ยตาล้าม หรือ แป้งกวนนึ่ง
  • โกสุ้ย หรือ ขนมถ้วย
  • เตาส้อ หรือ คล้ายๆขนมเปี๊ยะข้างในไส้ถั่ว
  • ซี่เต้าส้อ หรือ คุ๊กกี้จีน
  • ขนมพริก

ภูเก็ต#5 โรงตีเหล็กแห่งสุดท้ายของภูเก็ต

ใครมาภูเก็ตรอบหน้าจะพามาตีเหล็กครับ เมื่อครั้งอดีตกาลอันรุ่งโรจน์ย่านถนนดีบุก เนื่องจากในอดีตเมืองภูเก็ตมีอาชีพทำเหมืองแร่ ต้องจัดทำวัสดุเครื่องเมืองต่างๆในการใช้ทำเหมืองแร่ อาชีพตีเหล็กจึงเกิดขึ้น ปัจุบันอาชีพทำเหมืองแร่ได้หมดไป ทางชุมชนเมืองเก่าจึงได้อนุรักษ์ไว้ ให้สัมผัสวิถีเก่าๆจากชาวภูเก็ตในการท่องเที่ยวเมืองเก่า

“ไต่สุ้นอั้น” ที่นี่คือโรงตีเหล็กแห่งสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่บนถนนดีบุกในเขตเมืองเก่า ถนนดีบุกคือร่องรอยของความรุ่งเรืองในยุคเหมืองแร่แห่งเกาะภูเก็ต และช่างตีเหล็กผู้ที่สืบทอดตำนานคนนี้ก็คือ แป๊ะโป้ ช่างตีเหล็กในตำนาน (ผมเรียกเองนะครับ อิอิ)
แป๊ะโป้ตีเหล็กมาตั้งแต่สมัยตอนวัยรุ่น ทำทุกอย่างทุกขั้นตอนตั้งแต่จุดเตาไฟให้ร้อนเพื่อเผาเหล็กให้แดงและอ่อนตัว ลงแรงตี ดึง ถู ชุบน้ำ เพื่อให้เป็นรูปร่างหรือเกิดความคมตามที่ต้องการ ตีมาจนตอนนี้อายุ 68 ปีแล้ว แต่บอกเลยว่ายังแข็งแรงมากๆ
สถานที่แห่งนี้มีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี เป็นโรงตีเหล็กมาตั้งแต่สมัยอากงของแป๊ะโป้ ตอนแรกๆราวร้อยปีก่อนช่วงยุครุ่งโรจน์ตีทุกอย่างจนเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมแบบเต็มตัวพร้อมกับการจากไปของเหมืองแร่ทำให้งานปัจจุบันของแป๊ะโป้กลายเป็นเพียงงานกลุ่มเล็กๆเช่น อุปกรณ์ทำสวน จอบ ขวาน ฯลฯ
ผมไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าในเขตเมืองเก่าภูเก็ตจะมีโรงตีเหล็กในตำนานแบบนี้อยู่ จนต้องคิดไปว่าในวันที่อาชีพช่างตีเหล็กอาจจะกลายเป็นเพียงแค่ตำนาน แต่พอมามองในยุคปัจจุบันสิ่งเหล่านี้กลับมีคุณค่ามากๆในเชิงวัฒนธรรมที่คนรุ่นหลังควรจะเรียนรู้เอาไว้ครับ
ปัจจุบัน โรงตีเหล็กไต่สุ้นอั้น ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งเรียนรู้ในชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ตที่แป๊ะโป้ยังคงรักษาสภาพของโรงตีเหล็กเอาไว้ตามแต่อดีต เราจะได้เห็น อุปกรณ์ต่างๆ ทั้ง ที่คีบ ที่เจีย ที่ตัด ที่เชื่อม ค้อน ทั่ง เตาไฟโบราณ รวมถึงถ้วนบูชาเทพเจ้าประจำเตาไฟด้วยครับ
ที่นี่เหมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เป็นชีวิตมีลมหายใจจริงๆ ของช่างตีเหล็กคนหนึ่งที่พร้อมให้ประสบการณ์แปลกใหม่ที่น่าสนใจกับผู้มาเยือนทุกๆคน การมาเองอาจจะยากนิดนึง เพราะว่าแป๊ะโป้ไม่ได้เปิดร้านทุกวันและเปิดไม่แน่นอน ไม่มีหมุดใน google map ถ้าอยากลุ้นก็ค้นหาใน google map ค้นหาลองใช้ชื่อ บ้านผู้อาวุโส อาอี้โป้เต้ง ครับ ถ้าจะมาแบบให้เจอชัวร์ต้องติดต่อ
สามารถอ่านบทความอื่นๆของผมต่อได้ที่ >>> https://worldwantswandering.com/