“ปากีสถาน” ปลอดภัยสำหรับการท่องเที่ยวจริงไหม

0
2645

ปากีสถานปลอดภัยสำหรับการท่องเที่ยวจริงไหม?

ต้องถามว่า นิยามคำว่า “ปลอดภัย” สำหรับเรานั้นหมายถึงอย่างไรครับ เพราะไม่มีที่ๆปลอดภัย 100% บนโลกใบนี้ ต่อให้เรานั่งอยู่ในบ้านของเราใจกลางเมืองหลวงหรือส่วนใดๆของประเทศไทยครับ เวลาเราใช้คำว่า “ปลอดภัย” เราต้องเทียบกับความเสี่ยงของการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ผมจึงขอใช้นิยามความปลอดภัย เทียบกับคนทั่วไปที่ทำงานทั่วไป นั่งรถไฟฟ้าไปทำงาน กินข้าวข้างทาง ไปเที่ยวต่างจังหวัดบ้างตามสมควร
ในทีนี้ผมจะหมายถึงเฉพาะ “ปากีสถานในภาคเหนือ” ที่จังหวัด Gilgit-Baltistan หรือคาราโครัมไฮเวย์ครับ จากนี้ไปผมจะเรียกจังหวัด Gilgit-Baltistan ย่อๆว่า GB นะครับ


  • เรื่องแรก “ภัยธรรมชาติ”
    ปากีสถาน ตั้งอยู่ตรงแนวรอยแยกของแผ่นเปลือกโลก นั่นแปลว่าที่มีนี่โอกาสเกิด “แผ่นดินไหว” อย่างแน่นอน ถ้าเอาเหตุการณ์สดๆร้อนๆเลยก็คือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในแคชเมียร์ เมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมา และก็ส่งผลกระทบบางส่วนต่อปากีสถานครับ ข้อมูลเรื่องแผ่นดินไหวจาก Wikipedia พบว่าตั้งแต่ปี ค.ศ.1852 มา มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ศูนย์กลางเกิดในบริเวณนี้เพียง 2-3 ครั้งเท่านั้น (https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_earthquakes_in_Pakistan)นอกเหนือจากแผ่นดินไหวก็อาจจะมีเรื่องของ “น้ำท่วม” และ “ดินถล่ม” อันนี้ ก็ต้องเลือกช่วงเวลาเดินทาง อย่าไปช่วงฤดูฝนที่มีโอกาสพบเหตุการณ์นี้ได้มากขึ้น และเลือกที่พักและการเดินทางที่ได้รับการแนะนำจากบริษัททัวร์ที่เชี่ยวชาญเท่านั้น ดังนั้นแล้วเรื่องของภัยธรรมชาติอาจจะไม่น่าเป็นกังวลมากนัก
  • เรื่องที่สอง “การก่อการร้าย”
    อันนี้น่าจะเป็นเรื่องที่คนไทยเรากังวลกันมากที่สุด คนท้องถิ่นบอกว่า ตั้งแต่ปากีสถานตั้งประเทศมา ในเขตของจังหวัด GB นั้นเหตุการณ์ก่อการร้ายนั้นแทบไม่มีหรือเรียกว่าน้อยมากๆ เราแทบไม่ต้องกังวล เหตุการณ์ก่อการร้ายที่คนไทยรับรู้นั้นเกิดในจังหวัดอื่นๆของประเทศ (โดยเฉพาะจังหวัด Balochistan แต่นั่นไม่ใช่จุดหมายหลักของคนไทย) ทีนีถ้าลองหาข้อมูลเพิ่มเติมเช่น

    • ถ้าอิงตามข้อมูลของทางรัฐบาลอังกฤษที่แจ้งแก่คนสัญชาติอังกฤษ จะไม่ห้ามเรื่องการเดินทางไปที่จังหวัด GB (แต่ไม่แนะนำให้เดินทางทางรถยนต์ระหว่างเส้นทางคาราโครัมไฮเวย์ช่วง อิสลามาบัด > Gilgit เนื่องจากต้องผ่านเขตจังหวัด Khyber Pakhtunkhwa) ซึ่งแปลว่าถ้าเราใช้ไฟลต์บินในประเทศ ไป/กลับ Gilgit หรือ Skardu ก็จะถือว่าบินผ่านพื้นที่เสี่ยงในทันที (https://www.gov.uk/foreign-travel-advice/pakistan)อย่างปี ค.ศ.2018 ที่ผ่านมา มีชาวอังกฤษเยือนปากีสถานถึง 484,000 และเกือบทั้งหมดไม่มีปัญหาใด
    • ถ้ามาอิงตามข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ไม่พบว่ามีข้อมูลที่ห้ามเดินทางไปที่จังหวัด GB เช่นเดียวกัน ( https://travel.state.gov/content/travel/en/404.html) โดยจัดปากีสถานอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้อง Reconsider Travel คือให้พิจารณาก่อนเดินทางอีกครั้ง
      ข้อมูลจากเว็บไซต์ที่รวบรวมเหตุการณ์ก่อการร้ายต่างๆที่เกิดขึ้นทั่วโลก ก็แทบจะไม่พบเหตุการณ์ที่เกิดในจังหวัด GB เช่นเดียวกัน (https://storymaps.arcgis.com/stories/dcbb5c9e009442b99944bd1ef6158bda )
      และก็แน่นอนว่านอกเหนือจากจังหวัด GB แล้ว ในเขตเมืองใหญ่อย่าง อิสลามาบัด หรือ ละฮอร์ นั้น มีความเสี่ยงอย่างแน่นอนและเราก็ต้องใช้ความระมัดระวังตัวขั้นพื้นฐาน
    • โดยสรุป ถ้าอิงตามคำแนะนำของรัฐบาลอังกฤษหรืออเมริกัน ก็ต้องถือว่าอยู่ในข่ายที่เรียกว่า “ไม่แนะนำให้เดินทาง (ถ้าไม่มีเหตุจำเป็น)” แต่ละท่านคงต้องใช้วิจารณญาณกันด้วยตนเองอีกขั้นครับ
      ผมเติมข้อมูลให้อีกนิดหน่อยว่า การเดินทางในเขตจังหวัด GB เราจะผ่านด่านตรวจของทั้ง ตำรวจ + ทหาร เยอะมากครับ เรียกได้ว่า เดินขึ้น/ลง รถ หลายๆรอบต่อวัน แต่การทำแบบนี้เป็นผลดีของนักท่องเที่ยวนะครับ ไกด์ผมบอกว่า ทุกๆครั้งที่ผ่านด่านตรวจ เขาจะลงชื่อของเราไว้ และเขาจะถามจุดหมายปลายทางกับไกด์ของเราทุกครั้ง ว่าในวันนั้นๆ จุดหมายปลายทางคือที่ใด และทางตำรวจจะติดต่อสอบถามในสิ้นวันอีกครั้งว่า คนต่างชาตินั้นๆถึงจุดหมายปลายทางดังกล่าวจึงหรือไม่กับไกด์ทางโทรศัพท์อีกครั้งครับ
  • เรื่องที่สาม “ความปลอดภัยบนท้องถนน”
    อันนี้น่าจะเป็นประเด็นที่ต้องเอามาคิดด้วยครับ เพราะอุบัติเหตุบนถนนเป็นหนึ่งในสาเหตุการตายที่มากที่สุดของนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปต่างแดน (มากกว่าโรคติดเชื้อที่เรากลัวกันมากครับ) และประเทศโลกที่สามอย่างปากีสถานที่มีเส้นทางท่องเที่ยวหลักอย่าง Karakoram Highway ย่อมหลีกเลี่ยงสิ่งนี้ไม่พ้น
    สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดในความคิดผมที่เราทำได้คือ

    • คนขับรถที่ไว้ใจได้ (ไม่ควรขับเองในถนนเขตภูเขาที่เราไม่ชำนาญเส้นทาง)
    • ยานพาหนะที่ได้คุณภาพ ได้รับการตรวจเช็คและดูแลก่อนออกเดินทางอยู่เสมอ สภาพล้อ สภาพรถต้องสมบูรณ์
    • เดินทางช่วงหลังพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงก่อนพระอาทิตย์ตกเท่านั้น
    • ต้องทำตัวเป็นตาสัปปะรดติดตามข่าวสารที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะจากคนท้องถิ่นที่จะทราบสภาพถนนในแต่ละช่วงเป็นอย่างดี

สิ่งที่บอกๆมา ถ้าให้ผมสรุปก็คือ เราต้องบริษัททัวร์ฯ ที่มีคุณภาพนั่นเองครับ แล้วของพวกนี้มันจะตามมาเอง
ปัจจุบันสภาพถนนเส้นทาง KKH ตั้งแต่ช่วงเมือง Gilgit ไปจนถึงด่าน Khunjerab นั้นอยู่ในสภาพที่ดีมากๆ ความเป็นถนนสุดอันตรายในสมัยก่อนอาจจะไม่เหมือนในสมัยนี้ครับ

  • เรื่องที่สี่ “เรื่องของสุขภาพ”
    ปัญหาเรื่องการเจ็บป่วยของนักเดินทางมีอยู่ทุกที่ทั่วโลก หน้าที่ของเราคือเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด ปากีสถานไม่ใช่สถานที่ๆเหมาะให้เรามาเจ็บป่วยครับ การแพทย์ของที่นี่ยังไม่ถือว่าเจริญ (พูดอีกนัยหนึ่งคือของบ้านเราดีกว่ามาก)

    • ยาประจำตัว ถ้ามีต้องเอาไปให้พอ และต้องเอาไปเผื่อ
    • วัคซีนต่างๆ ควรฉีดให้พร้อมก่อนเดินทาง
    • ถ้าใครจะไปเดินเทรค ควรเตรียมเรื่องป้องกันความสูงให้พร้อม
    • เรื่องด้านบนแก้ไขได้โดยไปพบแพทย์ก่อนเดินทาง
    • ส่วนเรื่องของน้ำ ควรกินน้ำดื่มจากขวดที่ซีลอย่างดี หรือถ้าไม่มีก็ควรจะเป็นน้ำที่ผ่านการกรองอย่างน้อยวิธีใดวิธีหนึ่งมาแล้วครับ
  • สุดท้าย ทีนี้ลองมามองในแง่ดัชนีตัวชี้วัดบ้าง ผมยกตัวอย่างดัชนี Global Peace Index 2019 จากทั้งหมด 163 ประเทศทั่วโลก (มีบางส่วนที่ไม่มีข้อมูล) อันดับ 1 ของโลกที่สงบสุขที่สุดคือ ไอซ์แลนด์ (แน่นอน) แต่พอมาดูปัจจุบันปากีสถานอยู่อันดับที่ 153 ฟังดูเริ่มไม่ดีใช่ไหมครับ แต่พอมองแถวๆนั้น รัสเซียอยู่ต่ำกว่าปากีสถานอีกที่อันดับ 154 แล้วประเทศไทยละ เราอยู่ที่ 116 (เหลือเชื่อ แม้แต่บ้านเราเองที่คิดว่าปลอดภัยมากๆ) ข้างๆบ้างเรา เมียร์มาร์อยู่ที่อันดับ 125 อินเดียอยู่ที่อันดับ 141 และที่เซอร์ไพรส์มากๆคือ ตุรกีอยู่ที่อันดับ 152

“ถ้าเราคิดว่าตุรกีปลอดภัย ปากีสถานก็ควรจะอยู่ในชุดความคิดเดียวกันครับ”

ผมคงไม่มีข้อสรุปให้นะครับว่า “ปากีสถาน” ปลอดภัยขนาดไหน เพราะแต่ละคนรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน คงต้องให้เป็นหน้าที่ของทุกคนที่อยากจะเดินทางพิจารณาดูกันอีกทีครับว่า เราพร้อมจะเสี่ยงที่จะไปหรือไม่ นั่นเองครับ
ภาพนี้ถ่ายกับเด็กๆที่ Phander Valley ครับ

สนในโปรแกรมทัวร์ >>> ทัวร์ปากีสถาน