เจ็บป่วยระหว่างทาง ควรทำอย่างไร?

0
3315

 “เดินเตะหิน เล็บเกือบจะหลุด แต่ยังไม่หลุด จะเอาออกเองก็ไม่ได้ จะปล่อยเอาไว้ก็เจ็บ”

“ไปกินอาหารข้างทางมา ท้องเสียไม่หยุด ทานอะไรไม่ได้เลย จนร่างกายขาดน้ำ อ่อนเพลียอย่างมาก”

“วันดี คืนดี กำลังนอนสบายๆอยู่ในโรงแรม รู้สึกปวดท้องข้างขวา มาถึงโรงพยาบาลหมอบอกว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ”

“ไปเดินเล่นในหมู่บ้านคนท้องถิ่น แต่ดันมาโดนสุนัขชาวบ้านกัดเข้าที่ขามีเลือดออก”

เหตุการณ์เหล่านี้ เป็นเหตุการณ์ที่พบได้เป็นประจำสำหรับนักเดินทางท่องโลก และไม่ได้เป็นเรื่องที่ไกลตัวเราเลยแม้แต่น้อย คนเป็นหมอเองเมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้กับตัวเอง ก็ต้องพาตัวเองไปโรงพยาบาลเหมือนกัน ถ้าเราอยู่ในบ้านเราเองก็ไม่มีอะไรที่จะต้องกังวลมากนัก ทั้งหมอทั้งพยาบาลอะไรๆก็คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว

แต่คิดในทางกลับกัน ถ้าเหตุการณ์เหล่านี้ไปเกิดในต่างประเทศระหว่างที่เรากำลังเที่ยวอยู่เลย อะไรจะเกิดขึ้นครับ อุบัติเหตุหรือโรคบางอย่างเป็นสิ่งที่เราระมัดระวังได้ แต่บางครั้งมันก็เกิดขึ้นแบบไม่ทันให้เราได้ตั้งตัว บทความนี้ผมจึงจะมาพูดให้เห็นภาพกันว่า ถ้าเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยระหว่างการเดินทาง เราจะต้องทำอะไรบ้าง


 

1. เริ่มต้นทำอย่างไรดี เมื่อเราประสบอุบัติเหตุหรือไม่สบายระหว่างการเดินทาง

ถ้าเป็นอุบัติเหตุให้ปฏิบัติตามขั้นตอนของการปฐมพยาบาลพื้นฐานครับ ล้างแผลให้สะอาด แล้วหาผ้าอะไรก็ได้มาปิดแผลเอาไว้ก่อน หรือถ้าเป็นอาการอย่างอื่น เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย หรือคลื่นไส้อาเจียนมาก ก็ให้รับประทานยารักษาเบื้องต้นที่นำมาหรือรอไปพบแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีโรคประจำตัวอยู่เดิมการจดชื่อยาไว้เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เพราะจะทำให้การรักษาของแพทย์ง่ายดายขึ้นอย่างมากทีเดียว

จากนั้นให้พาไปยังโรงพยาบาลหรือคลินิกที่ใกล้ที่สุด แต่จะดีที่สุดถ้าไปสถานพยาบาลที่สามารถรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ เช่น พวก International clinic หรือ Hospital ต่างๆ เพราะว่าเจ้าหน้าที่จะคุ้นเคยกับการรักษาคนต่างชาติและมาตรฐานการรักษาได้ระดับสากล ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดคือ ถามจากคนท้องถิ่น แต่ถ้าคุยกันไม่รู้เรื่อง ก็เปิดหาจากอินเตอร์เน็ต แต่ถ้ากรณีไม่มีอินเตอร์เน็ตให้ใช้อีก เราสามารถหารายชื่อโรงพยาบาลเหล่านี้ได้จากหนังสือคู่มือ  Lonely planet ซึ่งจะมีเขียนเอาไว้อยู่ในตอนท้ายของหนังสือ

2. เมื่อไปถึงโรงพยาบาลแล้ว ทำอย่างไรต่อ

เมื่อเราได้พบกับเจ้าหน้าที่พยาบาลแล้ว ผู้ป่วยก็เข้าพบแพทย์ไปตามระบบ ส่วนผู้ติดตามซึ่งอาจจะเป็นเพื่อนควรจะรีบไปแจ้งแก่เจ้าหน้าที่พยาบาลเพื่อทำประวัติและให้ข้อมูลเบื้องต้นแก่เจ้าหน้าที่ แสดงหลักฐาน เช่น หนังสือเดินทาง และในกรณีที่มีประกันการเดินทางอยู่ให้รีบแสดงโดยทันที เพราะจะเป็นการการันตี การรักษาเบื้องต้นให้แก่เราได้ อีกทั้งในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ที่มีเจ้าหน้าที่พูดภาษาอังกฤษได้ มักจะเป็นเครือข่ายโรงพยาบาลของประกันการเดินทางด้วยอยู่แล้ว โดยจุดที่สำคัญที่สุด คือ ให้รีบติดต่อกลับมายังเจ้าหน้าที่ประกันในเมืองไทยในกรณีที่เรามีกรมธรรม์อยู่ครับ

แต่ขั้นตอนจากยากจะกลายเป็นยากขึ้นถ้าเราไม่สามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ได้ในภาษาที่ทั้งสองฝ่ายเข้าใจ ตัวช่วยแรก คือ สถานทูตไทยประจำที่นั้นๆ และตัวช่วยถัดมา คือ บริษัทประกันการเดินทางที่เราซื้อกรมธรรม์ไว้จะช่วยเราเรื่องติดต่อสื่อสารอีกทางหนึ่งผ่านทางสำนักงานตัวแทนในแต่ละพื้นที่

Cartoon_doctors

3. ค่ารักษาพยาบาลในต่างประเทศแพงอย่างที่คาดไม่ถึง

ค่ารักษาพยาบาลบ้านเราสำหรับคนธรรมดาทั่วไปแล้วไม่แพงเพราะเราเป็นคนไทยและมีบัตรทองเสียเงินนิดๆหน่อย (30 บาท) ก็ได้การรักษาที่ได้ตามหลักมาตรฐานสากลแล้ว แต่เมื่อไปอยู่ต่างประเทศ เราคือ “คนต่างด้าว” ของเขานะครับ ค่ารักษาพยาบาลต่างๆ ถูกคิดอย่างเต็มจำนวน และค่ารักษาพยาบาลโดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว เรียกได้ว่าสูงมากทีเดียว หัวแตกไปเย็บแผลในห้องฉุกเฉินอาจจะมีค่ารักษาที่เทียบเท่ากับตั๋วเครื่องบินที่เราซื้อมา หรือถ้ามีอาการปวดท้องรุนแรงที่ทานยาที่นำมาแล้วไม่ดีขึ้น แล้วจำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลจริงๆ ต้องเตรียมวางแผนเรื่องค่าใช้จ่ายให้พร้อม  โดยปกติทางโรงพยาบาลจะคำนวณค่าใช้จ่ายเบื้องต้นให้ทันที และถ้าแนวโน้มดูเป็นการเจ็บป่วยรุนแรงควรจะรีบแจ้งบริษัทประกันที่คุณซื้อประกันเดินทางไว้ หรือสถานทูตไทยที่ใกล้เคียงที่สุดเพื่อขอความช่วยเหลือร่วมด้วยอีกทาง

4. เงินค่ารักษาพยาบาลไม่พอ ทำอย่างไร

โรงพยาบาลในประเทศที่พัฒนาแล้วในอเมริกาหรือยุโรปส่วนใหญ่จะสามารถรับบัตรเครดิต แต่ในกรณีที่ไม่สามารถหักค่ารักษาผ่านบัตรเครดิตได้ เงินสดจะกลายเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่คนไปเที่ยวส่วนใหญ่โดยปกติจะไม่ได้พกเงินสดไปมากอยู่แล้ว (ซึ่งก็สมเหตุสมผล) บริการโอนเงินข้ามประเทศอย่าง Western Union หรือผ่านธนาคารต่างๆ อาจจะต้องนำมาใช้ เพราะฉะนั้นก่อนเดินทางไกลควรศึกษาเรื่องต่างๆเหล่านี้เตรียมเอาไว้ด้วยครับ

5. ถ้าเกิดต้องนอนโรงพยาบาลขึ้นมาจริงๆ ต้องทำอย่างไร

อาการเจ็บป่วยที่ไม่รุนแรง เช่น บาดแผลฉีกขาดเพียงเล็กน้อย รอยถลอกตามร่างกาย หรืออาการที่แพทย์คิดว่าสามารถให้ยารักษาเบื้องต้นได้ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยก็จะได้รับยารักษาและวิธีการปฏิบัติตัวเบื้องต้นกลับไป

แต่ในกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด หรือต้องนอนสังเกตอาการ เช่น มีกระดูกหัก หรืออาการปวดท้องที่น่าสงสัยไส้ติ่งอักเสบหรืออาการอื่นๆ ที่ผู้ป่วยอาจจะได้รับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน การอยู่โรงพยาบาลในต่างประเทศเป็นประสบการณ์ที่ไม่สนุกเลยครับ ให้รีบติดต่อบริษัทประกันในกรณีที่คุณทำประกันเดินทาง หรือเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยประจำประเทศนั้นโดยเร็วที่สุดเพื่อขอความช่วยเหลือ

และหลักฐานที่ต้องจากแพทย์ผู้ทำการรักษาเสมอ คือย้ำว่าเอกสารต้องครบถ้วน เพราะสำคัญในการเอามาใช้เป็นหลักฐานในการเบิกค่าใช้จ่ายประกันการเดินทาง ผมขอยกตัวอย่างเอกสารที่ต้องใช้การเคลมประกันของบริษัท เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัยมีดังนี้ครับ

  1. ใบรับรองแพทย์ (ระบุอาการ, ผลการวินิจฉัย, และการรักษา)
  2. ใบเสร็จรับเงิน (ตัวจริง)
  3. แบบฟอร์มการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกัน
  4. สำเนาหนังสือเดินทางของผู้เอาประกัน

ในกรณีที่จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาลเป็นระยะเวลานานและอาการรุนแรง (มากกว่า 5 วัน) และเราไปเที่ยวคนเดียว ไม่มีคนคอยช่วยเหลือ ในกรณีที่ถือประกันการเดินทางอยู่ เราสามารถติดต่อกับทางบริษัทประกันภัย เพื่อขอพิจารณาออกตั๋วเดินทางพิเศษให้ญาติผู้ป่วยจากเมืองไทยเดินทางมาดูแลผู้ป่วยเป็นกรณีเฉพาะเป็นรายๆไปได้ครับ อยากฝากให้นักเดินทางทั้งหลายอย่ามองข้ามประกันภันการเดินทาง มีติดตัวไว้จะดีกว่าครับ