ลุยไปครึ่งซีกโลก ที่เมืองโคตรประหลาดนามว่า “อาชกาบัต”

0
4636

Ashgabat

สวัสดีทุกๆคนครับ วันนี้ผมมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่จะนำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวที่สุดแสนจะพิเศษแห่งนี้

มันไม่ใช่ประเทศที่สวยที่สุดอย่างฝรั่งเศส หรือมีภูมิประเทศที่ยิ่งใหญ่อลังการอย่างเนปาล

แต่มันมีความดิบ ความลึกลับ เนื่องจากด้วยความประเทศที่ยังไม่ได้ปรากฎสู่สายตาชาวโลกมากนัก

เสน่ห์ทางการเดินทางมันจึงยังคงอยู่อย่างครบถ้วน แทบไม่ได้รับการปรุงแต่งจากวัฒนธรรมภายนอก

ยิ่งไปกว่านั้นเมืองหลวงอาชกาบัต (Ashgabat) ยังเป็นเมืองที่สุดแสนจะประหลาดจากความคิดของผู้นำประเทศคนหนึ่ง

แต่จะประหลาด พิลึกกึกกือขนาดไหน เป็นความทรงจำขนาดที่เรียกได้ว่าเอาไปเล่าให้หลาน เหลน โหลน เลยได้เหรอไม่ ต้องมาติดตามดูกัน

ลืมบอกไปว่า ประเทศที่ผมว่าคือประเทศ “เติร์กเมนิสถาน” นั่นเองครับ

map

ทีนี้คำถามแรกเลย

ทำไมต้องมาที่นี่

ตอบ เพราะมันต้องมา ถ้าจะทำทริป overland จากอิหร่านข้ามมายังเอเชียกลางหรือเอเชียใต้ เรามีตัวเลือกเพียงแค่ เติร์กเมนิสถาน อัฟกานิสถาน และปากีสถาน หลังพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในเรื่องของความปลอดภัยแล้ว ตัวเลือกอย่างเติร์กเมนิสถานจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้

วีซ่า ขอยากแค่ไหน

ตอบ ปัญหาใหญ่ของที่นี่คือการหาสถานทูตเติร์กเมนิสถานมากกว่าครับ ว่ามันมีอยู่ ณ แห่งหนตำบลใดในโลกหล้าบ้าง ทีนี้พอเจอแล้ว จะมี visa ให้ทำได้แค่สองประเภทเท่านั้น

  1. Tourist visa ต้องไปกับทัวร์เท่านั้น และจำนวนวันที่ได้เท่ากับจำนวนวันที่ทัวร์จัดให้ และที่สำคัญมันแพงมาก เพราะเกือบจะผูกขาดนั่นเอง
  2. Transit visa จะขอได้ ต่อเมื่อต้องมี visa ประเทศต้นทางและประเทศปลายทางก่อนเท่านั้น และจะเข้าออกนอกประเทศได้เฉพาะด่านชายแดนที่เรายื่นเรื่องไว้เท่านั้น จำนวนวันที่ได้สูงสุดคือ 3-5 วัน ขึ้นตามดุลยพินิจของกงสุล

และแน่นอนพวกเราเลือกวิธีหลังกันครับ และเราไปทำวีซ่ากันที่ประเทศอิหร่านนั่นเอง

JOE_1717

ข้อมูลเบื้องต้น

กรุงอาชกาบัต (Ashgabat)

เป็นเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเติร์กเมนิสถาน เมื่อปี พ.ศ. 2544 มีประชากรราวๆ 7แสนคน

เรื่องราวของเมืองนี้เริ่มต้นที่ว่า

ภายหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ได้มีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ใต้ผืนดิน

เม็ดเงินจำนวนมหาศาลได้สร้างเจริญเติบโตและเร่งสร้างอารยธรรมใหม่อย่างรวดเร็ว

มีการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน และสถานที่ราชการอย่างสวยงา

และมีการนำเข้าหินอ่อนสีขาวมาจากอิตาลีเพื่อมาใช้เป็นวัสดุหลักในงานสถาปัตยกรรมในเมืองหลวง

อาคารจำนวนที่ได้รับการสร้างขึ้นใหม่ในกรุงอาชกาบัตล้วนใช้หินอ่อนในการปูพื้นและผนังอย่างงดงาม

โดยคาดว่าเมืองใหม่ที่ถูกสร้างอย่างอู้ฟู่ใช้หินอ่อนไปทั้งสิ้นจำนวน 1.1 ล้านลูกบาศ์กเมตร ด้วยจำนวนเงินหลายพันล้าน US Dollar

จนเข้าให้คำนิยมกันเลยว่า มันเหมือนกับไม่ใช่เมืองที่มีอยู่บนโลกใบนี้เลยจริงๆ

JOE_1734

ถ้าจะบอกเมืองอาชกาบัต คือเมืองที่ถูกเนรมิตด้วยเงินจริงๆก็ไม่ผิดนัก

ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นทะเลทราย Karakum อันแสนแห้งแล้ง ไม่ต่างจากตะวันออกกลางเช่น ดูไบ อาบูดาบี หรือรัฐอาหรับอื่นๆ

แต่เบื้องล่างลงไปหลายร้อยเมตรกลับเป็นขุมก๊าซธรรมชาติจำนวนมาก

มันจึงได้เนรมิตให้เมืองหลวงแห่งนี้เปลี่ยนจากหมู่บ้านกลางทะเลทราย

กลายเป็นเมืองที่สร้างด้วยหินอ่อนสีขาวสะท้อนแสงพระอาทิตย์ตั้งตระหง่านท้าทายธรรมชาติอยู่ทุกๆวัน

 

JOE_1731

Theme ของเมืองนี้คือสีขาว ทำให้สมชื่อกับความหมายของชื่อที่แปลว่า “City of Love”

เรียกได้ว่าทุกคนที่มาเมืองนี้จะหลงรักเข้าอย่างหัวปักหัวปำเลยละ

โดยเฉพาะในส่วนของใจกลางเมือง

นี่เรียกว่าสะอาดมาก ไม่มีรถติด ไม่มีเสียงแตร ผู้คนใช้ชีวิตกันอย่างไม่รีบเร่ง

อ่าาาา นี่มันโลกยูโธเปียหรือเปล่าาา ผมคิดในใจ

JOE_1729

แถวๆนี้ เป็นโซนโรงเรียนและมหาวิทยาลัย

มีเด็กมากมายวิ่งออกมา ยังกับมดที่กำลังแตกรัง

เด็กทุกคนวิ่งไปรอรถเมล์กันที่ป้าย ส่วนบางคนพ่อแม่ก็มารอรับอยู่แล้ว

JOE_1730

สถานที่บางแห่งก็ก่อสร้างออกมาตามแต่จินตนาการของคนวางผังเมือง

JOE_1724

สีขาวของเมือง กับสีฟ้าของท้องฟ้า

มันช่างเข้ากันได้ดีและกลมกลืนกันมากครับ

มลพิษน่าจะน้อยมาก เพราะการจราจรเขาคล่องตัว

คนที่นี่น่าจะมีความสุขน่าดู (จากการที่เห็นในเบื้องต้น)

JOE_1722

การเดินชมเมืองเป็นอะไรที่สุนทรีย์อย่างมาก

เนื่องจากทางเดินเท้าริมถนนจะไม่มีอะไรมากวนใจเลยแม้แต่น้อย

เดินไป พร้อมกับดูบรรยากาศของเมืองไปพลางๆ

แต่ทั้งหมดนี้เหมือนกับเป็นแค่น้ำจิ้มเท่านั้น

เพราะหลังจากที่ผมเดินออกจากเขตนี้เข้าสู่ใจกลางเมือง

ทุกอย่างมันแทบจะเปลี่ยนไปมากแบบสุดๆ

JOE_1733

ทางเดินข้ามถนน

อย่าเที่ยวไปเดินข้ามบนถนนกัน เพราะมันไม่มีทางม้าลาย ไม่มีสะพานลอย

สร้างบนดินแล้วมันเสียทัศนียภาพ เขาเลยมาสร้างทางลอดใต้ดินให้ในเกือบทุกๆแยก

ตรงกำแพงก็จะเอาพวกภาพศิลปะมาติดไว้ ไม่มีโฆษณาขายสินค้าแบบบ้านเรา

อีกทั้งคนเดินยังน้อยมาก จนผมได้ยินเสียงหายใจตัวเองทุกครั้งที่เดินผ่านอุโมงค์ข้ามถนน

JOE_1645

หาที่พัก หายากแทบขาดใจ ที่นี่ไม่ใช่ประเทศสำหรับ Backpacker

อย่าไปตามหา Hostel หรือ guesthouse เพราะมันไม่มี

แถมโรงแรมก็มีอยู่แสนน้อยนิด บางทีก็ไม่รับชาวต่างชาติ ต้องเช็คกันไปดีๆ

สุดท้ายก็เลยมาจบที่โรงแรมแห่งหนึ่งจากคำแนะนำของ Lonely planet

ทีนี้มาดูที่พักกันดีกว่าครับ

เมืองสวยขนาดนี้แล้ว โรงแรมมันจะสวยขนาดไหน

สถาปัตยกรรมสไตล์โซเวียต ที่ไร้ซึ่งความโค้ง

มีแต่แท่งสี่เหลี่ยมที่ไร้ที่แสดงถึงความเท่าเทียมและเข้มแข็ง

อายุอานามก็เท่าๆกับสมัยของรัฐโซเวียตที่บ่งบอกถึงความมั่นคงของอาคารได้เป็นอย่างดี

JOE_1644

…….

ผมเดินเข้าไปข้างใน แต่ผมกลับหาทางเข้าประตูโรงแรมไม่เจอ

เพราะประตูทุกบานมันล็อคหมด มีอยู่สิบบานแต่เปิดได้บานเดียว

พอเปิดเข้าไป บรรยากาศนี่มันหนังรัสเซียชัดๆ

อึมครึมอย่างกับบ่อนคาสิโน พนักงานที่หน้าตามุ่ยไร้ซึ่งความเอ็นดูนักท่องเที่ยวอย่างพวกเรามาก

ผมเดินไปที่ Reception เพื่อถามรายละเอียดข้อมูลต่างๆ

พบว่าค่าที่พักสูงมาก 60 US dollar (ถ้าเป็นคนท้องถิ่นจะได้ลดราคาลงไปมาก)

ไม่มีการต่อราคา ไม่มีอาหารเช้า ไม่มีคนยกกระเป๋า ไม่มีอะไรทั้งนั้น

มีเพียงแต่ที่ซุกหัวนอนทีเขามอบให้แก่เราในคืนนี้

JOE_1639

หลังจากที่เราถูกบังคับจ่ายเงินให้กับ reception เป็น US dollar เท่านั้น (ทั้งๆที่ประเทศตัวเองใช้สกุลเงิน Manat)

เขาก็จะให้เศษกระดาษที่บ่งบอกเป็นหลักฐานแทนใบเสร็จ แล้วเราก็เอาเจ้าใบที่ว่านั่นถือขึ้นมาที่ชั้นห้องพัก

โรงแรมมีหลายชั้นครับ ถ้าเดินไม่ไหวก็ใช้ลิฟต์ได้ แต่ แต่

ลิฟต์นี่ก็อายุน่าจะหลายสิบขวบได้แล้ว กว่าจะขึ้นได้แต่ละครั้ง ลุ้นแทบขาดใจ ชีวิตนี้ยังต้องเดินทางอีกไกล

เลยขอแค่ครั้งเดียวแล้วมาขึ้นบันไดแทนดีกว่า ขึ้นมาถึงด้านบน

บรรยากาศข้างล่างว่าหลอนแล้ว เดินขึ้นมาถึงชั้นห้องพักกลับหลอนยิ่งกว่า

เศษกระดาษใบนั้น จะต้องยื่นให้สาวใหญ่ผมบลอนด์ที่เป็นคนเฝ้าประจำชั้นนี้อยู่ แล้วเขาก็จะไปเปิดประตูให้เรา

ธรรมชาติของโรงแรมสไตล์โซเวียตจะเป็นแบบนี้ครับ

แต่ละชั้นจะมีผู้ดูแล ซึ่งจะกินอยู่นอนกันตรงนั้น เขาจะเป็นคนทำความสะอาด เปิดประตู ให้กับแขกทุกคน

แขกมาใหม่ก็มายื่นใบเสร็จแล้วเขาก็จะให้กุญแจไปเปิดห้อง ถ้าจะออกก็ล็อคห้องแล้วก็เอากุญแจมาคืน

เรียกได้เลยว่า ความปลอดภัยขั้นสูงสุดจริงๆ  T_T

JOE_1628

อึ้งไปสักเล็กน้อยกับห้องพักราคา

เบาะที่แข็งอย่างกับหินปูน ช่วยทำให้หลังเราไม่ผิดรูป

หมอนที่มีคราบสีดำ สีน้ำตาล ติดอยู่ ช่วยให้เรานอนหน้าตรง อากาศจากปอดจะได้ถ่ายเทดี

ฮีตเตอร์ ตู้เย็น ที่ใช้ไม่ได้ ทีวีที่ไม่มีปลั๊ก ช่วยทำให้เราประหยัดไฟให้กับประเทศเขามากขึ้น

พื้นพรมข้างหลังที่เหมือนไม่ได้รับการทำความสะอาดมานาน ก็เป็นการช่วยประหยัดพลังงานของคุณป้าผู้ดูแล

เรียกได้เอาความคิด Think positive เข้าสู้สถานการณ์เป็นหลัก

เหมือนกับว่าเรากำลังมาพักโรงแรมวิถีชุมชนอยู่เลยครับ

JOE_1636

แอบไปดูห้องน้ำหน่อย ของถูกและดีอาจจะมีจริงอยู่ในโลก

แต่ของที่ไม่ถูกและไม่ดีมันก็อาจจะมีจริงอยู่ในโลกเช่นเดียวกัน

คราบตะไคร่น้ำที่เกาะอยู่ตามพื้น หรือคราบสีดำตามชักโครกหรืออ่างอาบน้ำช่วยสร้างฟีลลิ่งในการใช้บริการได้เป็นอย่างดี

ยังดีที่ยังมีกระจกให้ส่องหน้าตัวเอง แต่กลับไม่มีอ่างล้างหน้าหรือชั้นวางของให้ เหลือแต่ตอที่ทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้า

ประตูที่ไม่ต้องลงกลอนให้เสียแรง เพราะมันไม่มีกลอนให้ลงแรงตั้งแต่ต้น เขาก็เลยเจาะรูตรงตรงประตูเอาไว้ให้ดูต่างหน้าว่ามีใครอยู่ในห้องน้ำเหรอเปล่า

JOE_1650

หลังจากที่อิ่มเอมกับบรรยากาศห้องพักกันพอหอมปากหอมคอชวน

ผมคิดได้ทันทีเลยว่า ถ้าขนาดโรงแรมยังขนาดนี้

แล้วบรรยากาศภายนอกมันน่าจะผจญภัยขนาดไหนกัน

จึงรีบเคลียร์กระเป๋าเข้าที่ให้เรียบร้อยแล้วก็ออกตะลุยโลกทันที

JOE_1651

แต่ปัญหาใหญ่อย่างมากของการท่องเที่ยวในอาชกาบัต

ถึงแม้สถานที่ทุกแห่ง ถนนทุกสาย จะไม่มีป้ายติดว่า “ห้ามถ่ายรูป”

แต่ที่นี่คือ “มันเป็นเมืองที่ห้ามถ่ายรูปครับ”

ทั้งๆที่ตึกรามบ้านช่องเขานี่สวยมากครับ เอาไปทำรีวิว ทำสารคดี นี่ปารีสก็เถอะ แพ้แน่นอน

แต่เหตุผลที่ทำไมถึงห้ามถ่าย ถามไปก็ไม่มีใครตอบได้

ไม่ใช่เพราะเขาไม่ตอบนะครับ แต่เพราะเขาคุยกับเราไม่รู้เรื่องมากกว่า 555+

แถมตำรวจที่นี่ยืนกันชุกชุมยิ่งกว่ายุงลายในบ้านเราเสียอีก

ทุกสองแยก สามแยก หรือสี่แยก มีมันทุกแยก และเขาจะเพ่งเล็งกับนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษ

เรียกได้ว่าถ้าเรายกกล้องขึ้นเมื่อไร

JOE_1674

“ปรี๊ดดดดดดดดด”

เสียงนกหวีดความดังระดับ 90 เดซิเบล จะลอยมาจากทิศไหนก็ไม่รู้

ทันใดนั้นตำรวจนายนั้นก็โผล่มาจากทิศทางที่ไม่ทราบสัญญาณพร้อมกับเข้าประชิดตัวทันที

ตำรวจบางคนก็แค่โบกมือ เป็นแค่การเตือนว่าห้ามถ่าย

บางคนก็เดินเข้ามาประชิดตัวเพื่อขอดูว่าถ่ายอะไร

บางคนหนักกว่านั้นคือมาสั่งให้กดลบรูป delete กันตรงนั้นเลยทีเดียว

ไม่ว่าจะบ้านคน อาคารราชการ สัตว์เลี้ยง หรือแม้แต่ผมนั่งลงข้างทางเพื่อหยิบอะไรมากินเข้าปาก

ก็ยังโดน “ปรี๊ดดดดด”

JOE_1671

ผมก็เดินลัดเลาะไปตามเขตเมืองชั้นใน กล้องที่ซุกเอาไว้ในกระเป๋า ถูกหยิบมาถ่ายอย่างรวดเร็ว

โฟกง โฟกัส อะไรไว้ทีหลัง เอาภาพมาก่อนเป็นใช้ได้

จนผมเจอชายชาวเติร์กเมนคนหนึ่ง เป็นชาวบ้านที่เดินผ่านผมมา และเห็นผมทำกิจกรรมที่ผิดกฎหมายอย่างร้ายแรงอยู่นั่นคือการถ่ายรูป

“Photo Big problem” นี่คือสิ่งที่เขาพูดกับผมมา เป็นภาษาอังกฤษคำเดียวที่เขาพูดได้

และความหมายของมันก็ชัดเจน

“นี่มันปัญหาระดับชาติเลยเหรอวะเนี่ย” ผมคิดในใจ กล้องก็เลยเก็บลงไว้ในกระเป๋าแล้วลุยต่อไป

JOE_1668

ความหรูหรา จะแปรผันตรงกับ ระยะห่างจากทำเนียบของประธานาธิบดี

ยิ่งเข้าใกล้มากเท่าไร ความหรูหราอลังการยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

หินอ่อนจากประเทศไหนต่อไหนถูกขนเข้ามาเติมเต็มความยิ่งใหญ่

ความเงาวับของพื้นนี่ไม่อยากจะบอก เขาจ้างคนมายืนเฝ้า ยืนถู ยืนเช็ดกันทุกวัน

แบบว่าเอาหน้าไปส่องดูรูขุมขนแทนกระจกได้เลยละครับ

JOE_1666

อาคารรูปทรงที่ไม่สามารถระบุชนิดสถาปัตยกรรมได้ชัดเจน

ต่างมากระจุกรวมกันในพื้นที่ไม่กี่สิบตารางกิโลเมตรนี้

JOE_1664

อนุสาวรีย์ของเลนิน จะพบได้ทั่วไปในเอเชียกลาง

เนื่องจากเป็นเขตอิทธิพลเก่าของโซเวียตนั่นเองครับ

JOE_1661

ผมเดินมาถึงสวนสาธารณะขนาดใหญ่

ที่แทบจะปราศจากผู้คน มีเพียงแต่สายลมและตัวผมเท่านั้นเอง

JOE_1658

ด้านนี้ยังพอจะมีคนอยู่บ้าง

JOE_1656

น้ำพุเต้นระบำที่เต้นไปมายังไม่มีวันจบ

แสดงถึงความงดงามของผู้นำที่ต้องการเผยแพร่ให้ชาวโลกได้รับรู้

IMG_20150303_173006

สวนนี้ขึ้นชื่อว่าสาธารณะก็จริง

แต่คนที่มาใช้บริการนอกจากผมแล้ว ก็มีแต่คนทำความสะอาดเท่านั้นเอง

ผมไม่รู้จริงๆว่า คนท้องถิ่นที่นี่เขาไปอยู่ที่ไหนกันหมด

JOE_1652

ไม่มีคนมาเต้นแอโรบิค วิ่งจ๊อกกิ้ง ปั่นเรือเป็ด หรือทำอะไรทั้งสิ้น

นี่สวนนี้สร้างขึ้นมาเพื่ออะไรกันแน่นะ

JOE_1654

สวนสาธารณะก็ทำเสร็จแล้ว ทางเดินก็ทำเสร็จแล้ว

ผมยืนดู ผมก็เห็นว่าทุกๆมันก็ทำเสร็จหมดแล้ว

แล้วเขาจะเอาพลาสติกมาหุ้มเก้าอี้ไว้ทำไม กลัวนั่งแล้วเลอะเหรอ

แต่ก็เป็นไปได้นะครับเพราะเมืองนี้มันสะอาดมากจริงๆ

JOE_1670

ทางเดินสู่ทำเนียบประธานาธิบดี

ตอนนี้กล้องถ่ายรูปของพวกผมมันถูกซุกเอาไว้ในเสื้อหนาวตัวใหญ่

ที่มีเพียงช่องมองลอดกล้องออกมาพอดีกับรูป

ผมแทบไม่ได้เล็งเลยว่ารูปมันชัด มันเบลอ มันเบี้ยว หรือมันจะเพี้ยนขนาดไหน

ขอเพียงให้กดยิงชัตเตอร์ให้รูปมาก่อน แล้วเราค่อยมาเลือกทีหลัง

JOE_1672

นี่เป็นเขตแดนสุดท้ายที่คนธรรมดาจะเดินเข้าไปได้

อีกเพียงแค่หนึ่งก้าวจากตรงนี้ ขอเพียงแค่ขาเราก้าวข้ามไป

“ปรี๊ดดดดดดด” จะดังขึ้นมาทันที จากบรรดาตำรวจและนายทหารที่อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา

IMG_20150303_173251

ผมจึงเดินลัดเลาะไปอีกด้านหนึ่งแทน มุมนี้ชัดเจนกว่ามาก

อาคารสีขาว มีโดมสีทอง พื้นที่โล่งเป็นลานกว้างขนาดใหญ่ ตรงศูนย์กลางการปกครองของประเทศ

ณ จุดที่ผมยืนอยู่ นับตำรวจที่ยืนวนรอบได้หลายสิบนาย ทั้งที่แบบยืนแช่คอยตรวจจับความเคลื่อนไหว

และแบบที่เคลื่อนไหวไปมาเพื่อคอยดูพฤติกรรมของคนที่กำลังทำอะไรที่ผิดสังเกต

ตอนนี้กล้องใหญ่ไม่สามารถใช้ได้แล้ว กล้องมือถือถูกนำขึ้นมาแทนที่

มันถูกหยิบขึ้นมาและก็อย่างรวดเร็วแบบ multishot เพื่อสร้างโอกาสเก็บภาพมาให้มากที่สุด

JOE_1696

ตอนนี้ผมกลายเป็นโรคกลัวเสียงนกหวีดไปแล้ว หลังจากโดนเตือนทางเสียงมาหลายรอบ

จึงเดินออกจากเขตศูนย์กลางแห่งอำนาจ

จำนวนปริมาณของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยลดลงอย่างชัดเจน

ในทางตรงกันข้ามจำนวนของประชาชนที่เดินผ่านไปมาเริ่มเห็นได้มากขึ้น

แต่ก็น้อยมากๆอยู่ดีๆ ทุกๆ 100 เมตรที่เดินผ่าน เจอคนสัก 1 คนได้เองมั๊งครับ

ผมจึงเริ่มสงสัยว่าเมืองนี้มันสร้างให้คนอยู่จริงๆเหรอ อย่างกับเมืองร้างจริงๆ

JOE_1695

ตรงนี้คือไฮไลท์ของประเทศนี้เลยก็ว่าได้ครับ

อนุสาวรีย์ตรงกลาง คือ อนุสาวรีย์ทองคำของประธานาธิบดีคนก่อน  “Saparmurat Niyazov

โดยเจ้าอนุสาวรีย์อันแสนประหลาดนี้สามารถหมุนได้ 360 องศา เพื่อจะหันยังทิศทางของแสงอาทิตย์เสมอ

โดยผลงานของสุดยอดประธานาธิบดีคนนี้ก็เช่น

  • ออกกฎหมายให้ทุกคนต้องเรียกตนเองว่า “Turkmenabashi” หรือแปลว่าบิดาของชาวเติร์กเมนทั้งมวล
  • รวมอำนาจเข้าศูนย์กลางทั้งหมด สถาปนาตำแหน่งประธานาธิบดีตลอดชีวิต
  • เป็นผู้แต่งหนังสือ “Ruhnama” ที่เป็นการผสมผสานของศาสตร์หลายด้าน รวมทั้งความดีของท่านผู้นำ และบังคับให้นักเรียนเรียนในทุกระดับชั้น รวมทั้งบริษัทบางแห่งต้องใช้ตำรานี้ในการสมัครงาน
  • เป็นผู้เปลี่ยนชื่อเมือง  “Krasnovodsk” เป็น “Türkmenbaşy” ตามชื่อของตนเอง
  • เป็นผู้เปลี่ยนชื่อเดือน  “January” เป็น “Türkmenbaşy” ตามชื่อของตนเอง
  • เป็นผู้เปลี่ยนชื่อเดือน  “April” เป็น “Gurbansoltan” ตามชื่อมารดาของเขา
  • เปลี่ยนชื่อคำเรียก “Bread” เป็น “Gurbansoltan” ตามชื่อมารดาของเขา
  • สื่อสารมวลชนทุกชนิดกลายเป็นสิ่งต้องห้าม และการพูดเรื่องการเมืองในที่สาธารณะกลายเป็นสิ่งที่อันตรายต่อสวัสดิภาพเป็นอย่างมาก
  • ปิดบริการโรงพยาบาลในเขตชุมชนไปอย่างมากมาย ส่งผลให้ระบบสาธารณสุขสำหรับประชาชนอยู่ในขั้นเลวร้าย

JOE_1693

แต่ปัจจุบันนี้ท่าน Niyazov ได้ถึงแก่อสัญกรรมไปอย่างกระทันในเดือนธันวาคม 2006 ด้วยอาการหัวใจวาย

และตำแหน่งนั้นได้ถูกแทนที่นี่ด้วย  Gurbanguly Berdimuhamedow ที่เห็นในรูปนั่นเองครับ

ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาอย่างถล่มทลายจากประชาชนชาวเติร์กเมน

และกฎหมาย ความเข้มงวดต่างๆก็ถูกผ่อนคลายลง แต่ประเด็นเรื่องการเมืองก็ยังคงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเหมือนเดิม

 

JOE_1682

อาคารแท่งๆพวกนี้คือคอนโดมิเนียมหมดเลยครับ เขาสร้างมาแทบจะรูปทรงแบบเดียวกันเป็นชุดๆ

JOE_1681

เขาว่ากันว่าประเทศที่มีสิทธิและเสรีภาพมากที่สุดในโลก

นอกจากเกาหลีเหนือแล้วก็มีเติร์กเมนิสถาน

หรือคนบางคนอาจจะเรียกที่นี่ว่ามันคือ เกาหลีเหนือเวอร์ชั่นที่มีทรัพยากรธรรมชาติครับ

JOE_1685

ผมหันกลับไปมองที่หมู่มวลมหาราชวังการปกครองศูนย์กลางของประเทศอีกครั้ง

ฝนกำลังตกปรอยๆ ทำให้อุณหภูมิกำลังเย็นสบาย

แต่บรรยากาศมันก็ยิ่งหงอยยิ่งกว่าเดิม

ผมไม่รู้ว่าคนที่นี่เขาจะรู้ไหมว่าโลกภายนอกเป็นอย่างไร

แค่เส้นแบ่งเขตแดนที่ถูกกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งลากมันขึ้นมา จะทำให้ประชาชนระหว่าง 2 ฝั่งประเทศจะแตกต่างกันได้ขนาดนี้

JOE_1700

เวลาผ่านไปทุกนาที ตอนนี้เย็นซะแล้ว

ทุกๆตารางเมตรที่ผ่านไป จะมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ๆให้เห็นได้ตลอด

อีกไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้เมืองอาชกาบัตจะต้องเปลี่ยนโฉมหน้าไปอีกมากแน่นอน

ผมยังรู้สึกว่าใช้เวลาในเมืองนี้ได้ไม่คุ้ม มันยังมีความประหลาดแต่น่าสนใจอีกมาก

แต่ด้วยข้อจำกัดของ Visa ที่สุดแสนจะรันทด (ลำบากยังไง ค่อยเล่าอีกทีนะครับ)

ทำให้ผมมีเวลาในเมืองนี้เพียงแค่วันเดียวเท่านั้น วันรุ่งขึ้นก็ต้องไปเมืองต่อไปแล้ว

JOE_1704

อาหารเย็นในวันนี้ ผมหมดความพยายามในการหา local food หรือ street food แล้วเพราะมันหาไม่ได้

เลยไปจบกันที่ห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของเมือง (ราวๆเดือนมอลล์รามคำแหง)

พร้อมกับจบชีวิตไปกับ fast food แสนแพง ที่หมดตังค์ไปแล้วเกือบ 300 บาทต่อคน (แต่ยังไม่อิ่มเลย)

JOE_1702

ผมเดินกลับมาที่พัก เดินไปยังหน้าต่างริมระเบียง

แล้วผมก็พบว่าพื้นที่ๆสามารถ่ายรูปได้อย่างสบายใจที่สุด

มันอยู่ ณ ตรงนี้นี่เอง

ไม่มียาม ไม่มีตำรวจ ไม่มีทหาร และไม่มีเสียงนกหวีดใดๆทั้งสิ้น

ผมจึงใช้เวลาค่ำคืนที่เหลือ ไปกับการนั่งมองแสงไฟจากเมืองหลวงกลางทะเลทรายแห่งนี้

JOE_1701

ภายใต้เมืองหลวงที่งดงามขาวสะอาด แสงไฟที่สาดส่องเผยความงามไปรอบตัวแบบนี้

แต่ปากท้องประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังยากจนข้นแค้นติดอันดับโลก ขัดกับภาพความสวยงามนี้เสียเหลือเกิน

ประชาชนส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาวะถูกกดขี่ สาธารณูปโภคและการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ทั่วถึง

การเลือกตั้งเป็นเพียงแค่เครื่องมือของนักการเมือง

ถ้าลองได้มาพูดคุยกับคนเติร์กเมนิสถานสักคน เราจะได้เข้าใจเขาจริงๆ

ว่ามันเป็นเพราะอะไรกันแน่

JOE_1716

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.