วัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง (Yellow fever vaccination)

4
3325

นพ.อรรควิชญ์ หาญนวโชค

วว.เวชศาสตร์ป้องกัน (เวชศาสตร์การเดินทาง), อายุรศาสตร์เขตร้อนคลินิกมหาบัณฑิต , Certificate in Travel Health™

วัคซีนโรคไข้เหลือง (Yellow fever vaccine)

วันนี้ผมจะมาขอสรุปเรื่องราวเกี่ยววัคซีนโรคไข้เหลือง (Yellow fever vaccine) ซึ่งถือว่าเป็นวัคซีนบังคับฉีดให้กับนักเดินทางทุกคนที่มีแผนจะไปเที่ยวประเทศในกลุ่มเสี่ยงในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ ถ้าใครไม่ฉีดอาจจะได้รับการปฎิเสธไม่ให้เข้าประเทศหรือไม่ได้รับอนุมัติการทำวีซ่าประเทศนั้นๆได้ครับ

ท่านสามารถอ่านบทความก่อนหน้าเกี่ยวกับ


วัคซีนโรคไข้เหลือง (Yellow fever vaccine) คืออะไร

ไข้เหลืองเป็นโรคติดต่อโดยยุงลายชนิดหนึ่งที่ถือว่ามีความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตที่ถือว่าสูงในผู้ที่ติดเชื้อและมีอาการเกิดขึ้น โดยโรคติดต่อไวรัสไข้เหลืองเป็นโรคประจำถิ่นมากกว่า 40 ประเทศรวมกันในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ แต่ปัจจุบันมนุษย์เรามีวัคซีนที่ได้รับการพัฒนามาเป็นระยะเวลาและมีประสิทธิภาพที่ดีในการป้องกันร่างกายของเราไม่ให้ติดเชื้อไวรัสไข้เหลืองได้ครับ


ประวัติของวัคซีนไข้เหลือง (Yellow fever vaccine history)

โรคไข้เหลืองถือว่าเป็นโรคที่โบราณและมีการบันทึกไว้ในบันทึกของนักเดินทางจำนวนมากในยุคการบุกเบิกครั้งในอดีตไม่ว่าจะเป็นการรุกรานของชาวสแปนิชบนผืนแผ่นดินทวีปอเมริกาในช่วงคริสต์ศตรวรรษที่ 16-17 ทุกคนต่างรับทราบกันดีถึงความร้ายแรงของโรค แต่อย่างไรก็ตามกว่าการพัฒนาวัคซีนจะเริ่มเป็นรูปร่างก็เริ่มขึ้นเมื่อตอนการเปิดใช้งานคลองปานามา (Panama canal) ในช่วง ค.ศ.1912 ซึ่งถือเป็นการทำให้คนทั้งโลกรู้จักโลกนีได้อย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น (ต้องคิดถึงภาพของเรือเดินทะเลพร้อมคนจำนวนมากที่ผ่านไปมาระหว่างคลองนี้รวมถึงการพักจอดเรืออยู่ที่เมืองท่าเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งซึ่งถือว่าอยู่ในเขตรังโรคไข้เหลือง)

วัคซีนไข้เหลืองครั้งแรกสุดได้พัฒนามาจาก สายพันธุ์ที่ชื่อว่า “Asibi” ซึ่งเป็นชื่อของชายชาวกานา (Ghananian) ซึ่งเป็นผู้ที่ติดเชื้อและร่างกายได้พัฒนาระบบภูมิคุ้มกันมาจัดการไวรัสให้หายไป โดยนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อว่า Max Theiler เป็นผู้สกัดเอาไวรัสไข้เหลืองจากเลือดของชายคนนี้มาพัฒนาและสุดท้ายท่านก็ได้รางวัลโนเบลสาขาการแพทย์จากการค้นพบวัคซีนไข้เหลืองในปี ค.ศ.1951 หลังจากนั้นเป็นต้นมาโลกเราก็มีวัคซีนไข้เหลืองที่มีประสิทธิภาพเพื่อใช้ในการป้องกันโรคมาจนถึงปัจจุบัน


ประสิทธิภาพของวัคซีนไข้เหลือง

  • หลังจากฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 10 วัน ประมาณ 80-100% ของผู้ที่ได้รับวัคซีนจะมีภูมิต้านทานต่อไวรัสไข้เหลืองไปตลอดชีวิต
  • หลังจากฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 30 วัน ประมาณ 99% ของผู้ที่ได้รับวัคซีนจะมีภูมิต้านทานต่อไวรัสไข้เหลืองไปตลอดชีวิต

ต้องฉีดวัคซีนไข้เหลืองก่อนเดินทางนานกี่วัน

  • คำตอบคือ 10 วันก่อนเดินทางเป็นอย่างช้า
  • เพราะว่าต้องให้ร่างกายได้มีระยะเวลาที่เพียงพอในการสร้างภูมิต้านต่อเชื้อไวรัสหลังจากฉีดวัคซีนเข้าไปในร่างกาย

ปัจจุบันจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไข้เหลืองกระตุ้นซ้ำหรือไม่

ณ หลักฐานทางการแพทย์ปัจจุบัน เราพบว่าวัคซีนไข้เหลือง 1 เข็ม จะทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานไปตลอดชีวิต แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโรคประจำตัวและสภาวะทางร่างกายของแต่ละท่าน การจะฉีดกระตุ้นหรือไม่ขอให้ปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ


ข้อควรระวัง – ข้อห้ามสำหรับการฉีดวัคซีน

การฉีดวัคซีนไข้เหลืองทั่วไปแล้วสามารถให้ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ แต่สามารถผู้ที่มีข้อควรระวัง-ข้อห้ามดังนี้ ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่จะได้รับอาการค้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ดังนั้นการฉีดวัคซีนไข้เหลือง ควรทำภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะข้อแนะนำ

ข้อควรระวัง

  • ผู้ที่อายุอยู่ระหว่าง 6 เดือน – 8 เดือน
  • ผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์บุตร
  • ผู้ที่กำลังให้นมบุตร
  • ผู้ที่ติดเชื้อไวรัส HIV แต่ยังไม่แสดงอาการ (ระดับเม็ดเลือดขาว CD4+ ระหว่าง 200–499/mm3 (หรือ 15%–24% of total lymphocytes)

ข้อห้าม

  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ส่วนประกอบของวัคซีนมาก่อนในอดีต เช่น ไข่ เจลาติน
  • ผู้ที่อายุน้อยกว่า 6 ปี
  • ผู้ที่เป็นผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะใหม่
  • ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง
  • ผู้ที่โรคที่เกี่ยวข้องกับต่อมไตมัส (Thymus disorder)
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคทางระบบภูมิคุ้มกัน
  • ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยการกดภูมิต้านทาน (Immunosuppressive therapies)
  • ผู้ที่มีอาการแสดงของการติดเชื้อไวรัส HIV หรือผู้ติดเชื้อที่มีระดับเม็ดเลือดขาว CD4+ น้อยกว่า 200/mm3 (หรือน้อยกว่า 15% of total lymphocytes ในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 6 ปี)

ผลของค้างเคียงของการรับวัคซีนไข้เหลือง

  • ปัญหาที่พบได้บ่อย

ปฏิริยาของร่างกายต่อวัคซีนที่ได้รับส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงและหายได้เอง ประมาณ 10-30% ของผู้ที่ได้รับวัคซีนจะมีอาการในระบบต่างๆของร่างกายแบบไม่รุนแรง เช่น ไข้ต่ำๆ ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งจะเริ่มปรากฎได้ตั้งแต่วันแรกหลังจากได้รับวัคซีนและมีอาการเหล่านี้ได้นาน 5-10 วัน หลังจากนั้นจะหายไปได้เองโดยไม่ต้องได้รับการรักษาใดๆ

  • ปัญหาที่รุนแรง

  1. อาการแพ้ (Hypersensitivity)
    • เช่น ผื่นลมพิษ หลอดลมตีบ และอาการแพ้รุนแรง (anaphylaxis) จะเกิดได้ประมาณ 1.3 ครั้งต่อ 100,000 วัคซีนที่ฉีดไป
  2. Yellow Fever Vaccine–Associated Neurologic Disease (YEL-AND) 
    • เป็นกลุ่มอาการที่คล้ายกับเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มักจะพบในผู้ที่ได้รับวัคซีนไข้เหลืองเป็นครั้งแรก
    • ระยะเวลาการเกิดจะอยู่ที่ประมาณ 2-56 วัน หลังจากการได้รับวัคซีนครั้งแรก
    • โดยอุบัติการณ์การเกิดของคนอเมริกันที่ได้รับวัคซีนคือ 0.8 ต่อ 100,000 คนที่ได้รับวัคซีน โดยผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี จะเพิ่มความเสี่ยงเป็น 2.2 ต่อ 100,000 คนที่ได้รับวัคซีน
  3. Yellow Fever Vaccine–Associated Viscerotropic Disease (YEL-AVD)
    • เป็นกลุ่มอาการของโรคที่เหมือนกับการติดเชื้อโดยธรรมชาติ (wild-type disease) ซึ่งจะมีอาการของระบบร่างกายล้มเหลวและเสียชีวิต
    • มักจะพบในผู้ที่ได้รับวัคซีนไข้เหลืองเป็นครั้งแรกเช่นเดียวกัน
    • ระยะเวลาการเกิดจะอยู่ที่ประมาณ 1-18 หลังจากการได้รับวัคซีนครั้งแรก
    • โดยอุบัติการณ์การเกิดของคนอเมริกันที่ได้รับวัคซีนคือ 0.3 ต่อ 100,000 คนที่ได้รับวัคซีน โดยผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี จะเพิ่มความเสี่ยงเป็น 1.2 ต่อ 100,000 คนที่ได้รับวัคซีน และความเสี่ยงจะยิ่งมากขึ้นไปอีกในผู้ที่อายุมากกว่า 70 ปี

ท่านสามารถอ่านบทความก่อนหน้าเกี่ยวกับ

4 COMMENTS

  1. […] ท่านต้องมีเวลาอย่างน้อย 10 วันก่อนเดินทางไปยังพื้นที่ระบาดต่อโรคไข้เหลือง ท่านสามารถดูเขตพื้นที่ระบาดของโรคไข้เหลือง ได้ที่นี่ […]

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.