ประวัติศาสตร์สอนอะไรเรา แล้วรวันดาสอนอะไรเรา

0
1820

ประวัติศาสตร์สอนอะไรเรา แล้วรวันดาสอนอะไรเรา

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมานี่เอง ที่ผมไปยืนอยู่ในเมืองหลวงของประเทศ “รวันดา” ที่มีชื่อว่า “คิกาลี”
“กรุงคิกาลี” ในปัจจุบัน ทุกอย่างมีความเจริญไม่ต่างจากหลายๆเมืองใหญ่ในเมืองไทย ผู้คนอารมณ์ดี เป็นมิตร เฮฮา อาจจะมีอารมณ์เสียบ้างตามปกติของมนุษย์ บรรยากาศแทบทุกอย่างไม่ต่างจากกรุงเทพที่ผมโตมาเลยสักนิดเดียว
แต่รู้ไหมครับว่า เมื่อย้อนเวลากลับไปประมาณ 25 ปีที่แล้ว กรุงคิกาลี คือ ทุ่งสังหารมนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดเหตุการณ์หนึ่งของโลกใบนี้
ตรงที่ๆผมยืนอยู่คือพื้นที่ๆเรียกว่า Camp Kigali ซึ่งเป็นจุดที่นายทหารเบลเยียมจำนวน 10 นาย โดนสังหารอย่างเหี้ยมโหดโดยกองกำลังชาวฮูตูหัวรุนแรง แต่ Camp Kigali เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆของประวัติศาสตร์บานใหญ่ในขณะนั้น
ฟังดูแล้วไม่น่าเชื่อว่าในช่วงเวลานั้นของโลก ซึ่งเป็นช่วงที่โลกของเรามีองค์กรความมั่นคงต่างๆครบหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น สหประชาชาติ (United Nation) หรือหรือองค์กรความมั่นคงอื่นๆในทวีปแอฟริกา อีกทั้งเป็นช่วงที่โลกเรากำลังเข้าสู่โลภาภิวัฒน์แล้ว การปกครองในรูปแบบต่างๆ ได้รับการพิสูจน์ผลดี-ผลเสียมาพอสมควร ผ่านพ้นช่วงปลายสุดของสงครามเย็นมาหลายปี ผ่านผ้นช่วงเปลี่ยนผ่านของยุคล่าอาณานิคมมาหลายสิบปี ทุกๆอย่างบ่งบอกเหตุการณ์ความวิปโยคขนาดนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นได้อีกแล้ว แต่ทุกอย่างกลับตรงกันข้ามกับที่ควรจะเป็นทั้งหมด
วันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2537 คือวันที่เสียงปืนแตก การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาได้เริ่มต้นขึ้น เหตุการณ์ดำเนินไประยะเวลารวมประมาณ 100 วัน มาจบที่วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 เหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศ
ชาวรวันดาตายไปทั้งหมด คาดการณ์ว่าประมาณ 800,000 – 1,000,000 คน หรือประมาณ 1 ใน 8 ของประชากรรวันดาในขณะนั้น ว่ากันว่าชาวรวันดาปัจจุบันที่อายุประมาณ 30 ปีขึ้นไป อย่างน้อยต้องเคยเห็นญาติหรือคนรู้จักของเขาที่ถูกสังหารต่อหน้าต่อตาอย่างเหี้ยมโหด
เขาว่ากันว่าคนที่ฆ่านั้นฆ่าจนเหนื่อย จนหมดแรงนอนพักไปข้างๆกองศพ ก่อนจะตื่นขึ้นมาฆ่าต่อไป อย่างไม่นับไม่ถ้วน เมื่อไปดูถึงอาวุธส่วนใหญ่ที่ใช้ ไม่ใช่ปืนนะครับ แต่เป็นมีดขนาดใหญ่ (Machete) บ่งบอกว่าต้องใช้พลังงานขนาดไหนในการทำงานชิ้นนี้ให้สำเร็จ
ต้นเหตุของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คือ การไม่ลงรอยกันระหว่าง ประชากรร่วมชาติ ที่ประกอบขึ้นด้วย 2 เผ่าพันธุ์หลักๆ คือ ฮูตู (Hutu) และ ทุตซี่ (Tutsi) แต่ของพวกนี้ไม่ได้อยู่ดีๆมาไม่ลงรอยกัน เพราะเมล็ดพันธุ์แห่งความขัดแย้งเริ่มต้นตั้งแต่สมัยที่รวันดาตกเป็นอาณานิคมของเบลเยียมและ ชาติตะวันตกใช้กฎการปกครองแบบ “แบ่งแยก-แล้วปกครอง” (Divide and Rule) ในแอฟริกามานานแล้ว แต่ที่รวันดาดูจะเป็นปัญหาหนักที่สุด เนื่องด้วยเริ่มมีการทำบัตรประชาชนที่ระบุชาติพันธุ์ไว้ในบัตรใบนี้ และเจ้าบัตรใบนี้นี่เองก็คือการระบุชาวทุตซี่ที่กลายเป็นเหยื่อในอีกหลายสิบปีต่อมา
ย้อนกลับไปหนึ่งวันก่อนหน้า วันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2537 ประธานาธิบดีของรวันดาในขณะนั้น ซึ่งเป็นชาวฮูตู พึ่งจะเดินทางกลับมาจากแทนซาเนีย จากการไปลงนามสัญญาสงบศึกกับชาวทุตซี่ที่เมืองอรุชา (Arusha peace accord) แต่เครื่องยันไม่ทันได้แตะพื้น เครื่องบินก็ถูกยิงจนล่วงลงระเบิดอยู่ที่นี่ ประธานาธิบดีเสียชีวิตในทันที และในคืนนั้นปฎิบัติการกวาดล้างชาวทุตซี่ก็เริ่มต้นขึ้นแทบจะในวินาทีเดียวกัน ทุกอย่างถูกวางแผนมานานหลายปีแล้ว
กองกำลังชาวบ้านที่ติดอาวุธมีชื่อเรียกว่า “อินเตอฮัมวี” (Interhamwe) คือ ชาวบ้านวัยรุ่นที่เป็นชาวฮูตูธรรมดา ที่ได้รับการฝึกยุทธวิธีจากทหารกองทัพฮูตูในสมัยนั้น กองกำลังส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นที่ถูกปลูกฝังบ่มเพาะความเกลียดชังมาเป็นระยะเวลานาน รวมทั้งยังมีสถานีวิทยุ RTLM (Radio Télévision Libre des Mille Collines) ที่เป็นสถานีวิทยุ propaganda ขนาดใหญ่ที่จะคอยเติมเชื้อไฟให้กองกำลังเหล่านี้อยู่เสมอ แบบว่าถ้าชาวทุตซี่อยู่ที่ไหน สมาชิกในกองกำลังจะ ว. เข้าส่วนกลางหลังจากนั้นจะประกาศออกตามเสียงทันที หลังจากนั้นอีกไม่นาน ชีวิตของผู้เคราะห์ร้ายก็จะจบลงอย่างรวดเร็ว
Code word สัญญาณการเริ่มต้นที่เข้าใจกันภายในของกองกำลัง Interhamwe คือประโยคที่ว่า เมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษ ‘Crush the cockroaches’, ‘cut down the tall trees’ and ‘the graves are not yet full’ คือ ถ้อยคำที่มีพลังทำลายล้างที่สูงมาก เพราะคือสัญญาณของการเริ่มต้นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุตซี่ในรวันดา
นายกรัฐมนตรีของรวันดาซึ่งเป็นฮูตูสายกลาง เริ่มรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย จึงขอความช่วยเหลือไปทาง UN เพื่อขอลี้ภัย ทาง UN จึงส่งนายทหารเบลเยียมจำนวน 10 นาย มาช่วยคุ้มกันตัวออกไป แต่ผลสุดท้ายคือนายทหารเบลเยียมถูกล่อมาที่ Camp Kigali เพื่อสังหารหมู่ ส่วนนายกรัฐมนตรีและครอบครัวก็ถูกสังหารในเวลาเดียวกัน
ภายในอาคาร Camp Kigali ร่องรอยต่างยังคงอยู่ครบถ้วน ร่องรอยของกระสุน ร่องรอยของระเบิดมือยังคงเตือนความจำผู้ที่มาพบเห็นได้เป็นอย่างดี
การเสียชีวิตของนายทหารเบลเยียมทั้ง 10 นาย เป็นผลให้กองกำลังของสหประชาชาติที่อยู่ในรวันดาตอนนั้น (UNAMIR) ในภารกิจ Peacekeeper เลยทำได้แค่การมองการฆ่าล่างล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง โดยที่ตนเองไม่สามารถทำอะไรได้เพราะชาติตะวันตกไม่สนับสนุนการทำภารกิจใดที่ๆจะไปก้าวก่ายกิจการภายในขณะนั้น รวันดาเป็นประเทศเล็กๆที่ไม่มีทรัพยากรใดๆที่ควรค่าแก่การเข้าไปแลกเปลี่ยน
เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จบลงเมื่อกองกำลังชาวทุตซี่ ซึ่งนำโดย พอล คากาเม (Paul Kagame) ประธานาธิบดีรวันดาคนปัจจุบันเข้ายึดครองเมืองหลวงคิกาลีได้ และชาวฮูตูระหว่างนั้นก็พากันหนีออกไปตามชายแดนประเทศต่างๆข้างเคียง เหตุการณ์เหมือนจะจบลงที่ตรงนี้
แต่ไม่ใช่ครับ!!!
เพราะชาวฮูตูส่วนใหญ่ (หรืออีกนัยหนึ่งก็คือกลุ่มกองกำลัง Interhamwe) ที่กลัวการตามล้างเช็คบิลของกองกำลังทุตซี่ที่ได้หนีเข้าไปในประเทศ DR Congo ก็ได้ไปตั้งกองกำลังกบฎอยู่ที่ชายแดนอีกครั้ง และสุดท้ายก็ตามมาด้วยสงครามครั้งใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา แต่โลกภายนอกกลับรู้จักน้อยที่สุด
นั่นคือ Africa’s First World War และตามมาด้วย Great War of Africa ซึ่งทำให้ประชากรของโลกใบนี้หายไปอีกเกือบล้านคน ไม่นับถึงปัญหาเรื้อรังของฝั่งชายแดนตะวันออกของคองโก (DRC) ที่ยังคงไม่เคยสงบมาจนถึงทุกวันนี้
บทสรุปของเรื่องราวบทย่อนี้ก็คือ
ความเกลียดชัง ทำให้เกิด การทำลายล้าง
และการทำลายล้าง ย่อมไม่เกิดผลดีอะไรกับชาติแม้แต่นิดเดียว
ปัจจุบันประเทศรวันดา ก้าวผ่านความเกลียดชังเหล่านี้มาอย่างสมบูรณ์ ไม่มีการแบ่งแยกเผ่าพันธุ์อีกต่อไป รวันดากลายเป็นชาติแอฟริกาที่เป็นตัวอย่างของการพัฒนาในด้านต่างๆ ประเทศนี้ไม่มีถุงพลาสติก มีกิจการ startup เกิดขึ้นในประเทศ ถนนจำนวนมากได้รับการราดยาง ไม่มีหลุมไม่มีบ่อ มีทางเท้าข้างถนน ไม่มีฝุ่น ซึ่งต่างจากประเทศอื่นๆในแอฟริกาเกือบทั้งหมด และเขากำลังดำเนินนโยบายการพัฒนาประเทศแบบสิงค์โปร์ คือ
“เล็กแต่พริกขี้หนู

อ่านผลงานอื่นๆของเราได้ที่ >>>https://worldwantswandering.com/
หรือสนใจศึกษาโปรแกรมทัวร์ประเทศรวันดา อ่านที่นี่เลยครับ >>> ทัวร์อูกันดา-รวันดา