คู่มือพาพ่อ พาแม่ ไปตะลุยโลก

0
4066

เมื่อผมพาแม่ไปตะลุยโลก

หายไปนาน แต่ไม่ได้หายไปไหน เพราะผมพึ่งพาคุณแม่ไปตะลุยโลกกันที่ไต้หวันมาเองครับ
ถือว่าเป็นครั้งแรกที่จัดทัวร์เองแบบครบทุกกระบวนท่าตั้งแต่พาแม่เดินออกจากบ้านจนกลับมาส่งถึงบ้าน
ตอนจบแม่บอกว่า “ผมสอบผ่านครับ 555+ ครั้งหน้าให้จัดใหม่ได้อีก”

ผมเลยมีเทคนิคเล็กๆมาฝาก สำหรับการพาผู้ใหญ่ไปเที่ยวต่างประเทศครับ


DSC_5129
พาผู้ใหญ่เที่ยวเหมือนจะง่ายแต่ไม่ง่าย

คู่มือการพาพ่อ-พาแม่ไปเที่ยวฉบับนี้

จุดประสงค์คือ จะได้พาคนที่คุณรักไปเที่ยวได้อย่างสนุกสนานและปลอดภัย 100%

โดยผมจะขอแบ่งคู่มืออกเป็น 2 ส่วนครับ คือ ส่วนของการเตรียมตัวทางสุขภาพ และส่วนของเรื่องทั่วไปในการท่องเที่ยว

โดยเราเอง (คุณลูกนั้น) ต้องทำตัวเป็นทั้งหัวหน้าทัวร์ที่ดีจัดแผนเอาใจลูกทัวร์ และทำตัวเป็นผู้ดูแลพ่อแม่ที่ดีคือทำยังไงก็ได้ให้แกไปเที่ยวได้ปลอดภัยและสุขภาพแข็งแรงตลอดการเดินทางครับ

เอาละไม่พูดมากแล้วครับ เริ่มกันเลยดีกว่าครับ


DSC_5276-2
ไต้หวัน เป็นประเทศที่น่าพาพ่อแม่มาเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง
  1. เลือกจุดหมายปลายทางที่เหมาะกับพ่อแม่

แกชอบอะไร ก็พาแกไปที่นั่นครับ แต่คงไม่ใช่แบบชอบภูเขาดันจะชวนแกไปเดินเขาที่เนปาลไรแบบนี้ ยกเว้นก็แต่ถ้าพ่อแม่แข็งแรงฟิตปั๊งอยู่ก็ว่าไป

จุดหมายปลายทางที่เหมาะกับพ่อแม่เลยคงไม่พ้นบรรดาประเทศที่เจริญแล้ว เนื่องจาก เหตุผลด้านความสะอาด ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินนั่นเอง ที่พักก็ดี อาหารก็ดี เดินทางก็สะดวก

ถ้าเป็นในทวีปเอเชียก็เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า สิงค์โปร์  ไกลออกไปหน่อยก็ออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์ครับ

ส่วนในทวีปยุโรปถ้าไม่ติดปัญหาเรื่องอยู่บนเครื่องบินนานแล้วละก็ ในยุโรปพาท่านไปได้เกือบทุกประเทศละครับ


 

  1. แกแข็งแรงพอไปเที่ยวหรือเปล่า

มีโรคประจำตัวไม่ได้แปลว่าเที่ยวไม่ได้ แต่ที่กำลังหมายถึงอยู่คือ แกมีอาการหรือโรคที่กำลังแสดงอาการอยู่ หรือว่าพึ่งพักฟื้นหายมาจากโรคที่อาการรุนแรง เช่น พึ่งพาตัดที่บริเวณท้องมาหมาดๆ หรือพึ่งกำลังหายดีจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อันนี้ควรเลื่อนการเดินทางทุกชนิดออกไปก่อน


 

  1. เตรียมข้อมูลการเดินทางล่วงหน้าให้พร้อม

ขอแบ่งเป็น 2 ด้านนะครับ คือเรื่องของสุขภาพ และ สถานที่ท่องเที่ยว

  • สุขภาพ ถ้ารู้จุดหมายปลายทางแน่นอนแล้ว เผื่อเวลาไว้อย่างน้อย 8 สัปดาห์ สำหรับการเตรียมตัว เพราะบางประเทศจำเป็นต้องฉีดวัคซีน เช่น ฉีดวัคซีนไข้เหลืองก่อนไปทวีปอเมริกาใต้
  • สถานที่ท่องเที่ยวของ Backpacker กับพ่อแม่ มันต่างกันราวฟ้ากับดิน สำหรับวัยรุ่นไม่ต้องมีแผนอะไรมากมาย เพราะเราสามารถยืดหยุ่นได้ ที่นี่ปิด ก็เดินไปที่อื่นแทน ถ้าปิดหมดก็ไปเดิน แต่อุตส่าห์ได้พาพ่อแม่ไปทั้งที ก็เตรียมสิ่งดีๆไว้ให้แกครับ คัดสรรสถานที่ 5 ดาวเก็บเอาไว้เป็นตัวหลัก ถ้าเกิดปิดขึ้นมาก็เตรียมสถานที่ 4 ดาวเอาไว้เป็นแผนสำรอง

 

  1. ทำประกันการเดินทาง (Travel insurance) ให้ท่านด้วย

อย่าให้เรื่องเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย มาทำให้เราต้องเสียใจในภายหลัง ไม่ว่าจะเดินไปทางที่ใดๆในโลก ถ้าระยะเวลาการเดินทางไม่เกิน 2 อาทิตย์ ค่าใช้จ่ายสำหรับประกันการเดินทางถือว่าเล็กน้อยมาก ไม่ถึง 5% ของงบการเดินทางทั้งหมดแน่ๆครับ เราจะได้สบายใจไปตลอดการเดินทาง

คำแนะนำเล็กน้อย พยายามหาประกันที่เราไม่ต้องสำรองเงินล่วงหน้า เช็คเบี้ยประกันดีๆว่าครอบคลุมอะไรบ้าง เช่น เป็นค่ารักษาพยาบาลเท่าไร เป็นค่าขนย้ายผู้ป่วยกลับประเทศเท่าไร ฯลฯ


  1. ฉีดวัคซีนที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ

จริงๆไม่จำเป็นต้องเดินทางก็ควรต้องฉีดครับ สำหรับพ่อๆแม่ๆเราที่ปัจจุบันอายุอานามน่าจะเกิน 50-60 ปีขึ้นไปแล้ว โดยวัคซีนที่แนะนำทั่วไปเลยคือ เช่น

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza) – ฉีดประจำทุกปี (แต่อันนี้ทางรัฐบาลสนับสนุนให้ฉีดฟรีในทุกๆปีในผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปี)

วัคซีนนิวโมคอคคัส (Pneumococcal)– วัคซีนนิวโมคอคคัสมีหลายชนิด ควรไปปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดเสมอ


 

  1. วัคซีนบางตัวสำคัญมาก แต่พ่อแม่เราดันฉีดไม่ได้

สำหรับคนที่จะพาพ่อแม่ไปเที่ยวอเมริกาใต้ เช่น บราซิล เปรู อะไรแบบนี้ เราจะถูกบังคับให้ต้องฉีดวัคซีนไข้เหลือง (Yellow fever) ตามกฎหมายขององค์การอนามัยโลก ซึ่งสำหรับหนุ่มสาวๆไม่มีปัญหาอะไรครับ

แต่สำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปี การฉีดวัคซีนไข้เหลือง จะทำให้เรามีความเสี่ยงจากตัววัคซีนคือกลายเป็นโรคซะเองมากขึ้นได้ ดังนั้นแพทย์จึงไม่ยอมฉีดวัคซีนให้เด็ดขาด (สรุปคืออดไปนั่นเอง)

สรุปเลย ถ้ามีแผนจะพาพ่อแม่ไปเที่ยวทวีปอเมริกาใต้หรือแอฟริกา ควรวางแผนไว้แต่เนิ่นๆและไปปรึกษาแพทย์ครับ


 

  1. จดยาสามัญประจำทริป + ยาประจำตัวที่กินทุกวัน

จดชื่อยาทั้งหมดใส่กระดาษ ขนาดยาที่กิน อย่าแกะเม็ดยาออกจากซองเด็ดขาด เวลาโดนตรวจเช็คจะได้ไม่มีปัญหา แล้วก็เตรียมยาไว้ให้จำนวนเกินกว่าจำนวนวันที่เราเดินทางเสมอ

ในกรณีที่ต้องมียากินบนเครื่องบินก็แยกที่บรรจุออกมาให้เรียบร้อย และก็เช่นเดิมอย่าแกะยาออกจากฉลากถ้าเป็นไปได้

ทั้งนี้ต้องเช็คก่อนให้ดีอีกครั้งว่ายาที่เอาไปด้วยนั้นถูกห้ามจากประเทศปลายทางหรือไม่ กดที่ลิงค์นี้ครับ

Medication check list-page-001

ส่วนยาสามัญประจำเป้ ก็ต้องจัดไว้ให้เรียบร้อย กดที่ลิงค์นี้ครับ

06


This image is licensed under Public Domain.
เห็นดูไม่รู้เรื่องแบบนี้ สำคัญมากนะครับ อย่างน้อยควรมีสำเนา
  1. ไปพบแพทย์ที่เรารักษาด้วยประจำก่อนเดินทาง

ถ้ามีโรคประจำตัวอยู่เยอะ และมีแพทย์ที่ดูแลประจำ ให้แจ้งหมอท่านนั้นเขียนจดหมายสรุปโรคและอาการที่สำคัญเอาไว้ด้วยจะดีมากครับ (ภาษาที่หมอเขียนให้ เป็นภาษาสากลที่แพทย์ทั้งโรคเข้าใจตรงกัน)

ซึ่งข้อมูลบางอย่าง ถ้าคนเป็นลูกสามารถขอถ่ายภาพเก็บเอาไว้ได้จะเยี่ยมมากเช่น

  • คลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ EKG สำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจ ใบนี้สำคัญมากครับ ใครที่มีพ่อแม่เป็นโรคหัวใจจะรู้ดี ถ้าเราได้ถ่ายภาพใบนี้เก็บไว้ก่อน เกิดไปมีปัญหาที่นู่น เราจะได้ส่งใบนี้ให้หมอที่นู่นดูเปรียบเทียบได้ครับ ว่าผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่
  • ภาพถ่ายรังสีปอด อันนี้อาจจะขอถ่ายยากหน่อย แต่ถ้าแจ้งกับหมอดีๆผมว่าไม่มีปัญหา คนที่เป็นโรคปอดมักจะมีปัญหาภาพถ่ายรังสีปอดที่ผิดปกติอยู่แล้ว แต่ถ้าเราไปพบแพทย์ต่างประเทศ เขาไม่รู้ภูมิหลังเรามาก่อน เวลาเห็นอะไรผิดปกติเดี๋ยวจะทำให้รักษาผิดพลาดได้ (เพราะจริงๆมันผิดปกติอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ผิดปกติมากขึ้นไงครับ)

 

  1. หาข้อมูลสถานพยาบาลเบื้องต้น

การเจ็บป่วยเป็นเรื่องไม่คาดคิด ต้องเก็บข้อมูลแบบนี้ไว้กับตัวเราเสมอ และที่สำคัญ เมืองแต่ละแห่งที่ไป หาข้อมูลเตรียมไว้เลยครับว่า สถานพยาบาลเบื้องต้นอยู่ที่ไหน กรณีอุบัติเหตุต้องทำอย่างไร ติดต่อเบอร์อะไร สำคัญมาก ยกตัวอย่าง

ญี่ปุ่น ให้เราติดต่อเบอร์ 119 ในขณะที่ของประเทศไทยคือ 1669 อะไรแบบนี้ครับ

หรือในกรณีของพ่อแม่ท่านใดที่ต้องฟอกเลือกล้างไตอยู่เป็นประจำ แต่ได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ ถึงแม้เราจะกะคำนวณวันไว้อย่างดีแล้ว เกิดไม่สบายและต้องฟอกเลือดฉุกเฉินที่นู่นต้องทำอย่างไร ดังนั้นเราจึงควรจะมองหาศูนย์ล้างไตเอาไว้ในเมืองที่เราจะเดินทางไปไว้ล่วงหน้าด้วยครับ

ส่วนเรื่องของโรงพยาบาลนั้น ควรจะมองหาโรงพยาบาลที่เป็น international เป็นหลัก เนื่องจากส่วนใหญ่จะพูดภาษาอังกฤษได้ทำให้เราคุยรู้เรื่อง และก็มักจะรับ Travel insurance ที่เราทำมาจากเมืองไทย ส่วนจะหาที่ไหน เบื้องต้นสามารถหาได้จากหนังสือ Lonely planet แล้วก็ในอินเตอร์เน็ตครับ


Cartoon_doctors

  1. สำหรับผู้ที่ต้องพาพ่อแม่ที่มีปัญหาโรคประจำตัวอยู่ > ข้อนี้สำคัญมาก

แนะนำมาขอรับคำปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางด้าน Travel medicine ครับได้ที่

คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง
โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่คลินิกจะให้คำปรึกษาถึงโรคประจำตัว ยาที่กินประจำ จุดหมายปลายทางที่เดินทาง จนถึงวัคซีนและยาที่จำเป็นสำหรับจุดหมายปลายทางนั้นๆโดยเฉพาะ

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ที่ http://www.thaitravelclinic.com/th/

โทรศัพท์

  • 02-306-9100 ต่อ 3034, 02-3069145 (ในเวลาราชการ)
  • 02-306-9199 (วันเสาร์ 9.00-12.00น.)

Map-T


 

DSC_4329-2
เตรียมตัวมาดี มีชัยไปกว่าครึ่งครับ

เอาละครับ หลังจากเตรียมตัวด้านสุขภาพกันพร้อมแล้ว คราวนี้เรามาเริ่มมาวางแผนพาพ่อพาแม่เที่ยวกันเลยดีกว่า

  1. ผู้ใหญ่จะกลัวมาก ถ้าไม่ได้นั่งด้วยกันบนเครื่องบิน

จะด้วยเหตุผลอะไรก็สุดแล้ว ถ้าไม่ได้นั่งข้างกันแล้ว พ่อแม่จะมีความไม่สบายใจอย่างมาก แต่โดยปกติถ้าเราจองตั๋วใน booking เดียวกันแล้วมักไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องที่นั่งเท่าไร ยกเว้นแต่บิน low cost ที่อาจจะมีโอกาสกระเด็นหลุดออกจากกันได้ ถ้าจะเอาให้ปลอดภัยก็คงต้องซื้อที่นั่งล่วงหน้าไปด้วยครับ

  1. ที่พักต้องสะอาดมาก่อนเสมอ

เนื่องจากเหล่าผู้ใหญ่ๆทั้งหลาย รักความสะอาด ความสบาย และบรรยากาศที่ดีของห้อง เราจึงควรจะหาห้องพักที่คะแนน review ด้านนี้ให้สูงมากๆเอาไว้ก่อน (มากกว่า 8-9 คะแนนขึ้นไป) และรีวิวที่ได้รับมาควรจะมาจากนักท่อเที่ยวกลุ่มครอบครัวเช่นเดียวกัน ไม่ใช่คะแนนรีวิวมาจากเด็กนักเรียน หรือคู่รักฮีนนีมูนที่ความคาดหวังต่างกัน คะแนนที่รีวิวออกมาจึงอาจจะสะท้อนความชอบที่ไม่เหมือนกันได้ เช่น ห้องพักที่ต้องเดินแบกกระเป๋าขึ้นไป 4-5 ชั้นคงไม่เหมาะกับพ่อแม่เราเท่าไร แต่สำหรับเด็กๆคงไม่เคยคิดว่านี่เป็นปัญหา อะไรแบบนี้

DSC_4992-Edit

  1. ทำเลที่พักอาจจะไม่ต้องติด MRT เสมอไป

เพราะอะไร เพราะว่าถ้าจะเอาให้แม่เที่ยวสบาย ส่วนใหญ่ก็ใช้ Taxi หรือจ้างรถเป็นหลักอยู่แล้วครับ จะพาท่านเดินขึ้นเดินลง MRT ไปสูดกลิ่นตัวแออัดกันในนั้นคงไม่ค่อยจะเวิร์คเท่าไร ดังนั้น location อาจจะไม่ต้องแบบเป๊ะเว่อร์ๆเช่น ติดกับ MRT ไรแบบนี้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกอย่างดีหมดแต่โรงแรมดันไปตั้งอยู่ข้างชานเมืองอะไรแบบนี้นะครับ ดังนั้นทำเลที่พักน่าจะเป็นเรื่องของความเหมาะสมในด้านของความสบายในการนอนและความปลอดภัยมากกว่า

ประเด็นที่สำคัญมากกว่าคือโรงแรมบางแห่งอยู่กลางเมืองและมีหลายชั้น แต่ดันไม่มีลิฟต์ ต้องแบกของเอง ถ้าเราคิดว่าเราแบกเองได้ทั้งหมดก็โอเค แต่ถ้าสัมภาระมากจริงๆ คิดดูดีๆนะครับ

  1. ต้องทำการบ้านเรื่องอาหารก่อนเสมอ

ไอผมก็เป็นที่กินง่ายโคตรๆ แบบว่าซื้อเดินไปกินไปให้จบๆมื้อนี่ก็พอแล้ว รสชาติไม่ได้มีความสำคัญ เพราะเอาแค่อิ่มท้อง แต่พอพาแม่มาด้วยแล้ว มันทำแบบนั้นไม่ได้ ผมต้องมองหาร้านที่ดีและอร่อย อันนี้ต้องถามคนท้องถิ่นหรือท่าน Google เอานะครับเวลากินอาหารก็เช่นกัน พยายามไปก่อนเวลาที่คนปกติเขาจะแห่มากัน เช่นมื้อเที่ยงก็กินกันตอน 11.00 จะได้ไม่ต้องพบกับกองทัพคนตอนช่วงเที่ยงวันครับ เราจะได้กินอาหารอย่างสุนทรียภาพ

DSC_4047-Edit
ท่องเอาไว้ให้ขึ้นใจว่า พาพ่อแม่มาเที่ยวครับ
  1. คิดเสมอว่าพาพ่อแม่มาเที่ยว

แผนการเดินทางเราจึงจะไม่แน่นขนัดไปด้วยโปรแกรมจำนวนมากมาย เพราะถ้าเที่ยวแบบนั้นคนแก่เหนื่อยแน่นอนครับ วันๆหนึ่งเที่ยวสัก 3-4 ที่กำลังดี จะได้มีเวลาให้แกได้เดินได้พักในระหว่างวันไปด้วยครับ สถานที่บางอย่างเราคงต้องตัดใจตัดมันทิ้งไปอย่างมีเหตุผลแบบนี้แหละ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกบรรดาที่สูงๆที่ต้องใช้เข่าเยอะๆ เช่น พวกบรรดาหอคอย เนิน ภู ยอดเขา หรือพวกบันได 400-500 ขั้นอะไรแบบนี้ เอาออกไปเถอะครับจะได้ไม่เป็นภาระลูกหลานนะ 555+

  1. เราเป็นคนกำหนดเวลาก็จริง แต่ต้องเผื่อเวลาไว้เสมอ

การเคลื่อนที่ของผู้สูงอายุไม่กระฉับกระเฉงเหมือนคนหนุ่มๆ สถานที่บางแห่งต้องเดินขึ้นบันได เราอาจจะเดินแค่ 15 นาที แต่พอเป็นผู้ใหญ่อาจจะปาเข้าไปมากกว่าครึ่งชั่วโมงก็ได้ครับ แล้วไหนจะเวลานั่งพักอีก ดังนั้นเราต้องเผื่อเวลาเอาไว้เสมอ จะเที่ยวแบบเก็บรวดเดียวในวันเดียวกันทำไม่ได้แน่ๆครับ

การเดินทางไปที่สนามบินก็เช่นเดียวกัน มันจะต้องเกิดเรื่องวุ่นๆแน่นอนเวลาพาคนอื่นไปเที่ยว ดังนั้นไปล่วงหน้าครับสักอย่างน้อย 3 ชั่วโมงกำลังดี เกิดมีอะไรต้องแก้ไขขึ้นมา เราจะได้ปรับเปลี่ยนหาวิธีการได้ทัน

DSC_4364-2

  1. เวลาจะไปซื้อตั๋วอะไร ลองหาข้อมูลดูว่า มีบัตรผู้สูงอายุเหรอป่าว

ในหลายๆประเทศ เขาให้อภิสิทธิ์แก่คนสูงอายุเป็นพิเศษ เช่นที่ไต้หวันนี่หลายๆสถานที่ ถ้าใครอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป เราสามารถแสดง passport แล้วได้ส่วนลด 50% ได้เลยนะครับ ส่วนใหญ่ข้อมูลพวกนี้สังเกตได้จากตอนที่กำลังเข้าคิวเพื่อรอซื้อตั๋วนั่นเอง

  1. เรื่องง่ายๆ บางทีเป็นเรื่องยาก

โดยเฉพาะอะไรที่มันงงๆ เช่น ไอช่อง ตม. อัตโนมัติตอนออก/เข้าประเทศ ตามสนามบิน มันดูเหมือนง่ายกับผม แต่กับผู้ใหญ่แล้วมันคือสมการคณิตศาสตร์เล็กๆเลยนะครับถ้าจะเอาให้สบาย พาแกไปยืนรอช่องธรรมดาแล้วประทับตราธรรมดาจะสุนทรียภาพกว่าเยอะ เวลาไม่ได้แตกต่างกันมาก โดยที่เราควรจะยืนประกบด้านหลัง เผื่อมีปัญหาจะได้เข้าไปช่วยเหลือได้ เพราะถ้าเราทำไปก่อนแล้ว อาจจะโดนไล่ไม่ให้เข้ามาได้ครับ

  1. กรณีหลงทาง ทำอย่างไร

อันนี้ผมย้ำกับแม่เสมอว่า ถ้าเกินพลัดหลงกันจริงจะทำยังไง แต่จริงๆคงไม่หลงหรอก เพราะมือหนึ่งเกาะชายกระเป๋าผมอยู่ตลอดเวลา อิอิ แต่ยังไงเราต้องมีแผนสำรอง ถ้าแม่ทันสมัยก็ซื้อซิมโทรหากันไปเลย ง่ายดี แต่ถ้าแม่คุณทำไม่เป็นละ ผมเลยบอกแม่ผมว่า ถ้าหลงเมื่อไร ให้ยืนอยู่ตรงนั้น ห้ามไปไหน ไม่ต้องมาเดินตามหาผม เพราะเดี๋ยวผมจะเดินตามหาเอง รับรองเจอกันแน่นอน เพราะผมจะเดินย้อนกลับทางเดิมที่ตัวเองเดินมา อีกวิธีหนึ่งขอนามบัตรโรงแรมเอาไว้ครับ แล้วให้แกเก็บไว้กับตัว ในกรณีที่หากันไม่เจอจริงๆ ก็ให้ใช้นามบัตรแทนนี่แหละ

DSC_4235-2
“Motherscape”
  1. สำหรับคนที่ชอบถ่ายรูป

แบบประเภทพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก แสงทไวไลท์ ทางช้างเผือกไรแบบนี้ เราอาจจะต้องลืมไปก่อน เพราะแม่เราคงไม่อาจจะทรหดอดทนแบบนี้ได้ เราเปลี่ยนสไตล์กันครับ จาก Landscape มาเป็น Motherscape แทน พวกเลนส์ถ่ายวิวเอาไว้ที่บ้าน เอาแต่เลนส์ฟิกซ์มาถ่ายแม่ตัวเองก็พอ นานๆทีจะได้มีโอกาสแบบนี้ ช่วงเวลาหัวค่ำจะได้ไม่ไปมัวถ่ายแต่รูป แต่เราจะได้นั่งกินอาหารพร้อมกับชมวิวสวยๆแทน

ข้อสุดท้ายคือ Plan A, Plan B, Plan C, Plan….Z

พาผู้ใหญ่ไปเที่ยว อะไรก็เกิดขึ้นได้ครับ เตรียมทางหนีทีไล่เอาไว้ให้พร้อมทุกทาง แล้วก็เดินทางให้สนุก โชคดี และปลอดภัยนะครับ ด้วยความปรารถนาดีอย่างสูง

Mom