สิ่งที่หากินที่ไหนไม่ได้ นอกจาก “ภูเก็ต”

0
1725

“เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 จังหวัดภูเก็ตได้รับประกาศให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร (Phuket City of Gastronomy of UNESCO) โดยยูเนสโก”

Phuket

โอต้าว

โอต้าวมีลักษณะคล้ายหอยทอด แต่ไม่ใส่ถั่วงอก เนื้อแป้งนุ่ม ไม่กรอบเหมือนหอยทอด ใช้แป้งสาลี ผสมกับแป้งมันทดในกระทะแบน ใส่หอยติบ(คล้ายหอยนางรมแต่ตัวเล็ก) เผือก กุ้งแห้ง กากหมู ไข่ พริกไทย และซีอิ๊วขาว มีรสชาติเผ็ดเล็กน้อย

  • โอต้าวบางเหนียว/ถนนภูเก็ตบริเวณข้างโรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว
  • โอต้าวลกเที้ยน /ศูนย์อาหารพื้นเมืองลกเที้ยน ถนนดีบุก

กะหรี่ไหมฝัน

กะหรี่ไหมฝัน เส้นหมี่ขาวหรือที่คนภูเก็ตเรียกว่า
บี้หุ้น ราดหน้าด้วยแกงกะหรี่แบบจีน เป็นที่นิยมของชาวจีนฮกเกี้ยนในรัฐปีนัง เรียกว่าหมี่ลวกไกฝัน

  • ร้านคู่ขวัญ ถนนภูเก็ต
  • ร้านจี้งวด ถนนเยาวราช

หมี่หุ้นป้าฉ่าง

หมี่หุ้นป้าฉ่าง หรือหมี่หุ้นกระดูกหมู เป็นหมี่หุ้นผัดซีอิ๊ว โรยหน้าด้วยหอมเจียวกับกุยช่าย รับประทานอาหารกับน้ำซุปกระดูกหมู ที่ได้ชื่อว่าหมี่หุ้นป้าฉ่าง เพราะคนคิดสูตรคือ ป้าฉ่าง

  • ร้านจี้ใจ /ถนนภูเก็ตบริเวณข้างโรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว
  • ร้านหมี่หุ้นป้าฉ่าง ถนนพัฒนา(หล่อโรง)
  • ศูนย์อาหารพื้นเมืองลกเที้ยน

หมี่เช็ค

หมี่เช็ค หมี่ฮกเกี้ยนน้ำ เครื่องเคียงมีทั้งหมูและกุ้ง น้ำซุปมีรสชาติหวานอร่อยเพราะต้มจากหัวกุ้ง มักรับประทานเป็นอาหารกลางวัน

หรือหมี่น้ำสูตรกวางตุ้งหลากหลายแบบ รวมถึง “ยี่หูเอ่งฉ่าย” อันขึ้นชื่อของร้านแปะเถว

  • ร้านหมี่น้ำกุ้งอ่าวเก
  • ร้านหมี่น้ำสมจิตต์
  • ร้านจิรายุวัฒน์
  • ร้านหมี่แป๊ะเถว (สูตรกวางตุ้ง)

หมี่ผัดฮกเกี้ยน

หมี่ฮกเกี้ยน บะหมี่เส้นใหญ่ นำมาผัดกับเครื่องปรุง ใส่เนื้อไก่ ปลาหมึก ลูกชิ้น เนื้อหมู ผักคะน้าหรือผักกวางตุ้ง ซีอิ้วดำ รสชาติจะออกเค็มนิดๆ เวลารับประทานจะมีผักกุยช่าย และหัวหอมเป็นเครื่องเคียง

  • ร้านหมี่ต้นโพธิ์
  • ร้านหมี่อ่าวเก
  • ศูนย์อาหารพื้นเมืองลกเที้ยน
  • ร้านหมี่โกลา

โลบะ

โลบะ ทำจาก หัวหมูและเครื่องในหมู อาทิ หู ลิ้น หัวใจ ไส้ ปอด หรือตับ นำไปพะโล้แล้วทอด นอกจากนี้ยังมี ต่าวกั้ว (เต้าหู้ทอด) ต่าวกั้วจี่ (เต้าหูเหลืองผ่าเฉียงเป็นรูปสามเหลี่ยม ปาดตรงกลาง ใส่แป้งถั่วงอก กุ้ง) แห่จี้ (แป้งผสมถั่วงอกโรยหน้าด้วยกุ้ง) เกี้ยน (ทำจากหมูสับผสมกับกุ้ง ปู มันแกว และเผือก ห่อด้วยฟองเต้าหู้) แล้วนึ่งให้สุกก่อนนำมาชุบแป้งทอดรับประทานกับน้ำจิ้มสูตรเฉพาะ

  • ร้านโลบะบางเหนียว (ถนนแม่หลวน)
  • ศูนย์อาหารพื้นเมืองลกเที้ยน
  • ร้านโลบะ ถนนพัฒนา (หล่อโรง)
  • ร้านโลบะตรงข้ามศาลเจ้าแม่ย่านาง(ถนนกระบี่)

โอเอ๋ว

โอ๊ะเอ๋วทำมาจากเมล็ดพันธุ์พืชชนิดหนึ่ง นำมาแช่น้ำแล้วใช้เมือกของมันมาผสมกับเมือกของกล้วยน้ำว้า ใส่เจี่ยกอเพื่อให้โอ๊ะเอ๋ว เกาะตัวเป็นก้อน เจี่ยกอตัวนี้แหละที่คนทำเต้าฮวยกับเต้าหู้ขาดไม่ได้ เมื่อเสร็จขบวนการขั้นตอนต่างๆแล้วจะมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับวุ้นแต่อร่อยกว่า เพราะหวานหอมจากธรรมชาติจริง ๆ ไม่ได้มีสารเจือปนใด ๆ ทานแล้วยังบำรุงร่างกายอีกด้วย เพราะมีสรรพคุณแก้ร้อนใน รับประทานกับน้ำแข็งไสและถั่วแดง รสชาติหวานกลมกล่อมจริงๆ

  • ศูนย์อาหารพื้นเมืองลกเที้ยน
  • ร้านโอเอ๋วโกโรจน์ สี่แยกแถวน้ำ (ถนนเทพกระษัตรีตัดถนนถลาง)
  • ร้านใต้ต้นฉำฉ่า (หล่อโรง)

อาโป้ง

ขนมพื้นเมืองคล้ายแพนเค้ก คนภูเก็ตนิยมรับประทานกับน้ำชาตอนเช้า ส่วนผสมประกอบด้วยแป้งข้าวเจ้า ไข่ไก่(ไข่แดง) น้ำตาลทราย น้ำกะทิ น้ำ และยีสต์ เทราดบนกระทะหลุมใบเล็ก กลิ้งน้ำแป้งให้เป็นแผ่นวงกลม ปิดฝาตั้งเอาไว้บนอั้งโล่ (เตาไฟใช้ถ่าน) พอสุกเหลือง ลอกออกเป็นม้วน ความอร่อยอยู่ที่ความบางกรอบของขอบเนื้อขนม แต่ตรงกลางหนานุ่ม

  • ร้านอาโป้งซอยสุ่นอุทิศ
  • ร้านอาโป้งแม่สุนีย์ (หน้าโรงพยาบาลกรุงเทพ)

ปอเปี้ยะภูเก็ต

แผ่นแป้งห่อเครื่องปรุงต่างๆ อาทิเช่น กุนเชียง เนื้อปู หมุแดง ถั่วงอก มันแกว ราดด้วยน้ำซอสรสชาติออกหวาน สูตรดั้งเดิม

  • ศูนย์อาหารพื้นเมืองลกเที้ยน
  • ร้านปอเปี้ยะภูเก็ต ถนนพัฒนา (หล่อโรง)

ขนมจีนภูเก็ต

ขนมจีนภูเก็ต นิยมรับประทานคู่กับ น้ำยาปลา น้ำยาปู น้ำยาเนื้อ น้ำพริก(รสชาติค่อนข้างหวาน) น้ำชุบหยำ (น้ำพริกกะปิแบบเหลวใส่กุ้งต้ม) รับประทานคู่กับ ไข่ต้ม ทอดมัน ไก่ทอด พร้อมผักสดและผักต้มนานาชนิด นิยมรับประทานในช่วงเช้า

  • ร้านป้าไม (ถนนสตูล)
  • ร้านป้าติ่ง (ถนนสตูล)
  • ร้านขนมจีนจี้ลิ่ว (ถนนเทพกระษัตรี)